จากข่าวกรณีมีผู้เสียชีวิตจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Vibrio vulnificus ในต่างประเทศนั้น เชื้อนี้เติบโตในทะเลที่มีอุณหภูมิอุ่น ทะเลบ้านเราจึงมีเชื้อนี้ด้วยเช่นกัน โดยเชื้อสามารถเข้าสู่ร่างกายได้ 2 ทาง คือ การรับประทานอาหารกลุ่มหอย กุ้ง ปูและปลาหมึกที่ไม่ปรุงสุก หรือ เข้าทางบาดแผลผิวหนัง แม้แผลขนาดเล็ก เช่น การฝังเข็ม หรือรอยสักใหม่ ๆ ในปัจจุบันการรับประทานอาหารทะเลดิบได้รับความนิยม แต่อาจมีสาเหตุที่ทำให้บางท่านเสียชีวิตได้ คือ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือ กลุ่มเสี่ยงติดเชื้อรุนแรง ได้แก่ โรคตับแข็ง โรคพิษสุราเรื้อรัง ตับอักเสบเรื้อรัง รวมถึงตับอักเสบจากไขมันเกาะตับ เบาหวาน ภาวะธาตุเหล็กเกิน โลหิตจางธาลัสซีเมียเมเจอร์ โรคไตวายเรื้อรัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง และคนไข้ที่รับประทานยากดภูมิคุ้มกัน เป็นต้น
อาการ
อาการแสดงมี 2 แบบ คือ การติดเชื้อที่บาดแผล และการติดเชื้อในกระแสเลือดจากการรับประทาน ซึ่งอาการมักเกิดภายใน 3 ชั่วโมงถึง 3 วันหลังได้รับเชื้อ อาการที่พบ ได้แก่ ไข้ ท้องเสีย ปวดท้อง คลื่นไส้ อาเจียน ต่อมามีการติดเชื้อในกระแสเลือด ไข้หนาวสั่น ความดันตก ช็อกอย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่ภายใน 12 ชั่วโมงหลังเริ่มมีอาการ และมีรอยโรคทางผิวหนังเฉพาะตัว คือ ผิวหนังพองเป็นตุ่มน้ำที่แขนและขา อาจมีถุงน้ำปนเลือด เนื่องจากมีเกล็ดเลือดต่ำแทรกซ้อน ส่วนคนที่ได้รับเชื้อเข้าทางบาดแผล มีแผลอักเสบ บวมแดง อาการมักไม่รุนแรง แต่ในกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่องอาจอักเสบมากถึงผิวหนังชั้นใน เยื้อหุ้มกล้ามเนื้ออักเสบ เป็นโรคเนื้อเน่า หรือ แบคทีเรียกินเนื้อคน necrotizing fasciitis ได้
การวินิจฉัย
สามารถวินิจฉัยได้โดยการเพาะเชื้อแบคทีเรียจากเลือดหรือบาดแผล การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะ การรักษาประคับประคองทุกอวัยวะในหอบำบัดผู้ป่วยวิกฤติ และผ่าตัดเนื้อตายออกอาจถึงขั้นสูญเสียขาหรือแขน ซึ่งการรักษาโดยเร็วทันท่วงทีช่วยลดการเสียชีวิตได้ ซึ่งโอกาสเสียชีวิตในกลุ่มภูมิคุ้มกันบกพร่องมีสูงถึงร้อยละ 40-90
การป้องกัน
วิธีป้องกันการติดเชื้อ ในกลุ่มเสี่ยงควรหลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารกลุ่ม กุ้ง หอย ปู ปลาหมึก ที่ไม่ปรุงสุก หากมีบาดแผลไม่ควรสัมผัสน้ำทะเล ทำความสะอาดแผลด้วยน้ำสะอาด แอลกอฮอล์ล้างแผล และไอโอดีนล้างแผล หมั่นสังเกตอาการ หากแผลมีลักษณะปวด บวมแดง ร้อน ควรรีบปรึกษาแพทย์
แหล่งข่าว “ติดเชื้อแบคทีเรียกินเนื้อ” https://www.tnnthailand.com/news/health/155315/
โดยอาจารย์ฝน