สำหรับผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกาย มันคงจะดีไม่น้อยเลยใช่ไหม ถ้าเราสามารถออกแบบโปรแกรมออกกำลังกายที่เหมาะสมกับเราได้ และตัวช่วยที่จะเข้ามาทำการทดสอบความฟิตของร่างกาย เพื่อนำไปใช้สร้างโปรแกรมออกกำลังกายที่มีประสิทธิภาพ และยังสามารถนำมาใช้ในการฟื้นฟูสมรรภาพของร่างกายโดยเฉพาะกับผู้ที่มีโรคหัวใจ และโรคปอดอีกด้วย สิ่งนั้นก็คือเทคโนโลยีการตรวจหา VO2 max นั่นเอง
VO2 max คืออะไร ?
VO2 max ย่อมาจาก maximal oxygen consumption ซึ่งพูดง่าย ๆ คือเป็นค่าออกซิเจนที่ร่างกายใช้ในช่วงที่ออกกำลังจนเหนื่อยที่สุดนั่นเอง ผู้ที่สามารถดึงออกซิเจนไปใช้ได้มากกว่า ก็หมายความว่าสามารถสร้างพลังงานได้มากกว่า หรือเรียกว่ามีความฟิตของร่างกายมากกว่านั่นเอง
โดยเป็นการตรวจสมรรถภาพหัวใจและปอด ขณะที่ออกกำลังกายอย่างเต็มความสามารถ เพื่อหาจุดที่สูงสุดที่ร่างกายออกแรงได้ เมื่อถึงขีดจำกัด และวัดผลจากอัตราการใช้ออกซิเจนสูงสุดของร่างกายในขณะออกกำลังกาย มีหน่วยเป็นมิลลิลิตรต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัมในเวลา 1 นาที
การวัด VO2 max จึงทำให้รู้ว่าร่างกายเรานั้นฟิตมากน้อยแค่ไหน สามารถทำกิจกรรมหรือออกกำลังกายได้มากน้อยขนาดไหน และควรจะออกแบบการออกกำลังกายของเราอย่างไร
ปัจจัยที่มีผลต่อค่า VO2 max ได้แก่อะไรบ้าง ?
- จำนวนเม็ดเลือดแดงของร่างกาย
- ความสามารถของหัวใจและหลอดเลือด
- ระบบการไหลเวียนผ่านปอด (pulmonary systems) ในการส่งถ่ายออกซิเจนไปยังเนื้อเยื่อของกล้ามเนื้อส่วนต่างๆของร่างกาย
ค่า VO2 max นั้นจะขึ้นอยู่กับสมรรถภาพทางร่างกายของแต่ละคน อายุ รวมถึงกรรมพันธุ์ ซึ่งสามารถเปรียบเทียบค่า VO2 max ได้จาก ตาราง VO2 max ที่แบ่งตามเพศและอายุ
VO2 max ปกตินั้นเป็นเท่าไร ?
สำหรับคนปกติที่ไม่ใช่นักกีฬา ค่า VO2 max ปกติ
- ในผู้ชายจะมีค่าประมาณ 35-40 mL/kg/min
- ในผู้หญิงจะมีค่าประมาณ 27-30 mL/kg/min
ซึ่ง VO2 max นั้นจะมีค่าเพิ่มสูงขึ้นถ้าผู้ทดสอบมีความฟิตมาก เช่นเป็นนักกีฬา หรือมีอายุน้อย และค่า VO2 max จะลดลงถ้าผู้ทดสอบนั้นมีความฟิตของร่างกายลดลง เช่น สภาพร่างกายไม่สมบูรณ์ (ป่วย หรือพักผ่อนน้อย) หรือมีอายุเพิ่มมากขึ้น
ค่า VO2 max เพิ่มได้อย่างไร ?
การเพิ่มค่า VO2 max นั้นสามารถพัฒนาให้เพิ่มสูงขึ้นได้โดย
- การออกกำลังกายที่เหมาะสม ผสมผสานการออกกำลังชนิด Endurance และ Interval training ในช่วงเวลาที่มากกว่า 3-6 เดือนขึ้นไป รวมถึงเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อด้วย strengthening exercise และมีวันพักออกกำลังกายที่พอเพียง
- รับประทานอาหารที่เหมาะสม
วิธีหาค่า VO2 max ในแต่ละบุคคล
แม้ปัจจุบันจะมีนาฬิกาสำหรับออกกำลังกายหลายรุ่น ที่สามารถวัดค่า VO2 max ได้ แต่การวัดค่า VO2 max ที่แม่นยำและสามารถนำไปใช้อ้างอิงได้นั้น ควรทำในโรงพยาบาลที่มีเครื่องมือในการวัดโดยเฉพาะ
โดยวิธีวัดค่า VO2 max ในโรงพยาบาลนั้น ผู้ทดสอบจะได้รับการติดสายการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และสวมหน้ากากครอบบริเวณจมูกและปาก เพื่อวิเคราะห์การหายใจ
หลังจากนั้นจะทำการทดสอบโดยการให้ออกกำลังกายและวัดก๊าซที่ผู้ทดสอบหายใจเข้า-ออก ซึ่งการตรวจเพื่อวัดค่า VO2 max นี้นั้น เรียกว่า CPET หรือ cardiopulmonary exercise test นั่นเอง โดยการทดสอบมี 2 แบบ คือ
- การทดสอบด้วยการวิ่งสายพาน บนลู่วิ่ง (Treadmill)
- ทดสอบด้วยการปั่นจักรยาน (Stationary bike cycling)
โดยเมื่อเริ่มทำการทดสอบ ผู้ทดสอบจะเริ่มต้นด้วยการยืนพักนิ่ง ๆ บนสายพานหรือนั่งนิ่ง ๆ บนจักรยานก่อน
จากนั้นเริ่มอบอุ่นร่างกายด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานเบา ๆ
เมื่อเริ่มทดสอบ เครื่องจะทำการปรับความหนักของการออกกำลังกายให้มากขึ้นตามโปรแกรมการตรวจ โดยขณะที่ผู้ทดสอบเดินหรือปั่นจักรยานจะมีการบันทึกอัตราการเต้นของหัวใจ คลื่นไฟฟ้าหัวใจและอาการของผู้ทดสอบตลอดเวลา
ผู้ทดสอบจะออกกำลังจนถึงระดับที่ออกแรงเต็มที่ หลังจากถึงจุดที่ออกแรงเต็มที่ แพทย์จะปรับเครื่องให้ช้าลง โดยผู้ทดสอบยังจำเป็นต้องค่อย ๆ เดินหรือปั่นแบบช้า ๆ จนกระทั่งเครื่องหยุด ซึ่งแพทย์จะยังคงบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจพร้อมวัดความดันโลหิตเป็นระยะต่อไปจนครบ 5 นาที หรือ นานกว่านั้น ถ้ามีความผิดปกติ
สำหรับระยะเวลาในการทดสอบนั้นจะใช้เวลาประมาณ 30 นาที โดยเป็นระยะเวลาที่ทดสอบบนเครื่องประมาณ 10-15 นาที
การเตรียมตัวเพื่อตรวจ VO2 max
สำหรับการเตรียมตัวเพื่อตรวจ VO2 max นั้นควรปฏิบัติดังนี้
- ติดต่อโรงพยาบาลเพื่อทำการนัดหมายล่วงหน้าอย่างน้อย 1 วัน
- นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
- งดการออกกำลังกายหนัก
- งดอาหารมื้อหนัก บุหรี่ และเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนก่อนการตรวจอย่างน้อย 4 ชั่วโมง โดยสามารถดื่มน้ำเปล่าได้ตามปกติ
- หากผู้ทดสอบมีโรคประจำตัวและต้องรับประทานยาเป็นประจำ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนว่าต้องหยุดยาก่อนทำการตรวจหรือไม่
ความเสี่ยงและผลข้างเคียงจากการตรวจ
ผลข้างเคียงที่พบได้จากการตรวจนั้น อาจเป็นอาการมึนงง เวียนศีรษะ เหนื่อยมากกว่าปกติ หายใจไม่ออก เจ็บหน้าอก ปวดหรือเป็นตะคริวที่ขาเนื่องจากการออกกำลังกายอย่างหนัก
การตรวจนี้เป็นวิธีการตรวจที่ปลอดภัย แต่ก็อาจพบภาวะแทรกซ้อนรุนแรงน้อยกว่า 1% ได้ ซึ่งได้แก่ ภาวะการณ์เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ เจ็บหน้าอก หรือหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน แต่ในการตรวจนั้นจะมีทีมแพทย์และพยาบาลดูแลอย่างใกล้ชิด จึงมีความปลอดภัยค่อนข้างสูง
ประโยชน์ที่ได้จากการตรวจ VO2 max นั้นมีอะไรบ้าง ?
ข้อมูลที่ได้จากการตรวจ VO2 max ทั้งหมดจะถูกนำมาใช้ในการออกแบบโปรแกรมการออกกำลังกายที่เหมาะสมสำหรับแต่ละคน ดังนั้นการตรวจ VO2 max จึงเหมาะกับบุคคลทั่วไป ผู้ชื่นชอบการออกกำลังกาย นักกีฬา ไปจนถึงผู้ที่มีปัญหาด้านหัวใจและปอดอีกด้วย โดยการตรวจ VO2 max นั้นจะทำการตรวจหาสิ่งต่าง ๆ ดังนี้
- ตรวจสมรรถภาพของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ ขณะที่ออกกำลังกายอย่างเต็มความสามารถ
- ตรวจหาภาวะโรคหัวใจ ปอดและกล้ามเนื้อจากการออกกำลังกายสูงสุด
- ตรวจหาการเต้นของหัวใจผิดจังหวะที่เกิดร่วมกับการออกกำลังกาย
- ตรวจหาสาเหตุภาวะเหนื่อยเพื่อหาแนวทางแก้ไขสภาวะเหนื่อยง่าย
- ตรวจวัดสมรรถภาพร่างกายและวัดระดับความฟิตหรือความอึดของร่างกาย
ในขณะที่ตรวจ จะมีการวัดคลื่นไฟฟ้าหัวใจร่วมด้วย ทำให้คัดกรองโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่อาจพบได้ในขณะออกกำลังแบบเต็มพิกัด ช่วยให้ผู้ตรวจทราบข้อมูล และลดโอกาสการเสียชีวิตเฉียบพลันจากการออกกำลังกาย
ยิ่งไปกว่านั้น การทดสอบวัดค่า VO2 max ยังมีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ เช่น โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หรืออาจจะได้รับการผ่าตัดทำบอลลูน ลิ้นหัวใจรั่ว หรือหัวใจพิการมาตั้งแต่กำเนิด รวมทั้งผู้ป่วยโรคปอด ทำให้สามารถออกแบบการออกกำลังกาย ที่เหมาะสมกับร่างกายของตนได้
เนื่องจากในการทดสอบวัดค่า VO2 max จะมีการตรวจสอบหาความผิดปกติของหัวใจและปอด สามารถตรวจสอบได้ว่าการทำงานของระบบหัวใจและปอดนั้นทำงานผสมผสานกันเป็นปกติหรือไม่ ดังนั้นจึงสามารถใช้ข้อมูลจากการตรวจสอบนั้นมาใช้เพื่อพื้นฟูผู้ป่วยได้อีกด้วย
สรุป
สำหรับเหล่าผู้ที่ชื่นชอบการออกกำลังกายแล้ว การตรวจวัด VO2 max ถือเป็นสิ่งน่าสนใจ เพราะเหมือนเป็นการทดสอบความฟิตของร่างกาย และยังเป็นการตรวจหาความผิดปกติของหัวใจและปอด ทำให้เรารู้ว่าควรจะออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน สามารถฝึกซ้อม สามารถออกกำลังกายได้ถึงระดับไหนถึงไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย ซึ่งจะนำมาสู่การฝึกซ้อมอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นนั่นเอง !