อาการปวดต้นคอ ร้าวมาบ่าไหล่ จัดว่าเป็นอาการที่พบบ่อยในทุกกลุ่มอายุ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยทำงานที่ต้องนั่งเป็นประจำ หรือใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องเป็นเวลานานๆ มีความเครียดและไม่ค่อยมีเวลาออกกำลังกาย ซึ่งมักได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อเกร็งบ้าง Office syndrome บ้าง บางครั้งสาเหตุหลักมาจากหมอนรองกระดูกคอที่มีปัญหา จนไปกดทับรากประสาท หรือกระตุ้นเส้นประสาทที่ใกล้หมอนรองกระดูก จนทำให้กล้ามเนื้อรอบคอเกร็ง ปวดถึงบริเวณบ่า สะบักหรือ หัวไหล่
อาการที่ควรสงสัยว่าอาจเป็นโรคหมอนรองกระดูกคอ
ควรสงสัยในกรณีที่มีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย
- มีอาการปวดร้าวลงมาที่ต้นแขน แขนหรือนิ้วมือ
- มีอาการชา ที่ไหล่ สะบัก หรือชาบริเวณแขน หรือนิ้วมือ
- มีอาการอ่อนแรง ของแขนหรือมือ
ในกรณีที่เป็นมากจนหมอนรองกระดูกไปกดทับไขสันหลังหรือทำให้โพรงประสาทคอตีบมาก อาจมีอาการอ่อนแรงของขา เดินเซ ทรงตัวลำบาก
ทำอย่างไรในกรณีที่มีอาการโรคหมอนรองกระดูกคอ
เบื้องต้นในกรณีที่มีอาการปวดคอบ่าไหล่อย่างเดียวจากการทำงาน มักเป็นสาเหตุจากกล้ามเนื้อนั้น แนะนำให้หลีกเลี่ยงท่าที่กระตุ้นการปวด การพักเป็นระยะระหว่างทำงาน เปลี่ยนอิริยาบถ ออกกำลังกายเพื่อยืดกล้ามเนื้อ ตลอดจนการสร้างกล้ามเนื้อมัดที่ทำงานหนักให้แข็งแรงและทนขึ้น
ในกรณีที่มีอาการผิดปกติอื่นดังกล่าวมาแล้วไม่ว่าจะปวดร้าว ชา หรืออ่อนแรง แนะนำให้เข้ารับการตรวจโดยผู้เชี่ยวชาญเพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ ประเมินความรุนแรง เพื่อทำการรักษาต่อไป
การรักษาโรคหมอนรองกระดูกคอมีอะไรบ้าง
ส่วนใหญ่ในคนที่มีอาการเรื้อรังและอายุค่อนข้างมาก สาเหตุมักเกิดจากความเสื่อมของหมอนรองกระดูกและข้อต่อของกระดูกคอ การรักษาแบ่งเป็น2แบบ ได้แก่
- การรักษาโดยไม่ผ่าตัด ได้แก่ การใช้ยา การทำเวชศาสตร์ฟื้นฟูและกายภาพบำบัด
- การักษาโดยการผ่าตัดซึ่งมีหลายวิธีขึ้นกับสาเหตุ ตำแหน่งรวมถึง ความรุนแรงของโรค ฯลฯ แต่สิ่งสำคัญสุดคือความรู้ความเข้าใจของผู้ป่วยในการหลีกเลี่ยงท่าทางที่กระตุ้นการกดทับเส้นประสาทตลอดจนปรับพฤติกรรมการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงเสริมสร้รงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อรอบคอเพื่อให้สามารถทำงาน ใช้ชีวิตตลอดจนป้องกันการเกิดโรคของหมอนรองกระดูกคอในอนาคต