โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากกระดูกที่อ่อนแอจะทำให้ผู้ป่วยเสี่ยงต่อการแตกหักของกระดูกได้ง่าย การหกล้มหรือการทำกิจกรรมเล็กน้อยอาจทำให้เกิดกระดูกหักได้ ซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น ปัญหาความพิการ การเคลื่อนไหวที่จำกัด หรือต้องการพึ่งพาผู้อื่นในการดำเนินชีวิต ดังนั้นการป้องกันและดูแลรักษาสุขภาพของกระดูกจึงเป็นสิ่งสำคัญ
กระดูกพรุนคืออะไร?
โรคกระดูกพรุน (Osteoporosis) เป็นภาวะที่กระดูกมีความหนาแน่นและมวลกระดูกลดลง ทำให้ความแข็งแรงของกระดูกลดน้อยลง กระดูกในร่างกายของเราประกอบด้วยเนื้อเยื่อกระดูกที่มีแร่ธาตุหลายชนิด โดยเฉพาะแคลเซียมที่ทำให้กระดูกแข็งแรง เมื่อเรามีอายุมากขึ้น หรือมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ กระบวนการสร้างกระดูกใหม่จะช้าลง ขณะที่กระบวนการสลายกระดูกเก่าเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้เกิดช่องว่างในเนื้อเยื่อกระดูกและเนื้อกระดูกจะเริ่มบางลง ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักได้ง่าย
โรคกระดูกพรุนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
- Primary Osteoporosis: เป็นโรคกระดูกพรุนที่เกิดจากการเสื่อมของกระดูกตามอายุที่เพิ่มขึ้น เช่น การเข้าสู่วัยทองของผู้หญิง หรือการเข้าสู่วัยสูงอายุ
- Secondary Osteoporosis: เกิดจากโรคหรือปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อมวลและความหนาแน่นของกระดูก เช่น การใช้ยาบางชนิดเป็นเวลานาน หรือโรคที่ทำให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้น้อยลง
อาการของโรคกระดูกพรุน
ในระยะแรก โรคกระดูกพรุนมักไม่แสดงอาการที่ชัดเจน ผู้ป่วยอาจไม่ทราบว่าตนเองมีภาวะกระดูกพรุน จนเมื่อเกิดกระดูกหัก แต่มีอาการบางอย่างที่อาจบ่งชี้ว่าเกิดความผิดปกติของกระดูกที่เข้าได้กับโรคกระดูกพรุน เช่น
- กระดูกหักง่ายจากการกระแทกเบา ๆ: กระดูกที่มักหักบ่อยมักจะเป็น กระดูกข้อมือ กระดูกสะโพก และกระดูกสันหลัง กระดูกหักนี้อาจเกิดขึ้นจากการกระแทกเบา ๆ เช่น การล้มที่ไม่รุนแรง หรือแม้แต่การยกของที่ไม่หนักมาก
- มีอาการปวดหลัง: หากมีภาวะกระดูกพรุน กระดูกสันหลังอาจมีการแตกหักหรือยุบตัว จะทำให้เกิดอาการปวดหลัง อาการปวดอาจเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลันหรือเป็นเรื้อรัง ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของกระดูกที่แตกหรือยุบตัว
- ส่วนสูงลดลง: หากมีภาวะกระดูกพรุน กระดูกสันหลังอาจจะยุบตัวจากการเสื่อมของกระดูก จนทำให้ผู้ป่วยมีส่วนสูงลดลง
- หลังค่อม หรือมีรูปร่างของร่างกายที่เปลี่ยนแปลงไป: เมื่อกระดูกสันหลังยุบตัวจะทำให้เกิดอาการหลังค่อม หรือลำตัวมีลักษณะโค้งงอผิดปกติ
และเนื่องจากโรคกระดูกพรุนมักไม่แสดงอาการในระยะแรก ดังนั้นการหมั่นสังเกตการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย และการตรวจเช็กมวลกระดูกจึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะสามารถช่วยป้องกันการเกิดภาวะกระดูกพรุนได้
สาเหตุของโรคกระดูกพรุน
การเกิดโรคกระดูกพรุนมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย ซึ่งสามารถแบ่งเป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้และปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ดังนี้
1. ปัจจัยที่ควบคุมไม่ได้
- อายุ: เมื่ออายุมากขึ้น การสร้างมวลกระดูกจะลดลง ในขณะที่จะมีการสลายกระดูกเพิ่มขึ้น กระดูกใหม่ที่เกิดขึ้นไม่เพียงพอที่จะทดแทนกระดูกเก่าที่สลายไป ทำให้กระดูกสูญเสียความแข็งแรงไป
- เพศ: ผู้หญิงมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคกระดูกพรุนมากกว่าผู้ชาย เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเอสโตรเจนในหญิงวัยหมดประจำเดือน ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนนี้มีบทบาทสำคัญในการรักษามวลกระดูก เมื่อระดับฮอร์โมนนี้ลดลง การสลายกระดูกจึงเกิดเร็วขึ้น
- ประวัติครอบครัว: ถ้ามีบุคคลในครอบครัว เช่น พ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย เป็นโรคกระดูกพรุน ความเสี่ยงที่บุคคลในครอบครัวรุ่นถัดไปจะเป็นโรคนี้ก็จะสูงขึ้นด้วย
2. ปัจจัยที่ควบคุมได้
- การขาดแคลเซียมและวิตามินดี: การขาดสารอาหารและแร่ธาตุที่สำคัญต่อกระดูก เช่น แคลเซียมและวิตามินดี จะทำให้กระดูกอ่อนแอ การได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอหรือการดูดซึมแคลเซียมไม่ดีทำให้มวลกระดูกลดลงได้
- การขาดการออกกำลังกาย: การขาดการออกกำลังกายเป็นประจำทำให้มวลกระดูกลดลง เพราะการออกกำลังกายจะช่วยกระตุ้นกระบวนการสร้างกระดูก
- การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์: การสูบบุหรี่และการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปทำให้กระดูกอ่อนแอลงได้
- การใช้ยาบางชนิด: เช่น ยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยารักษาโรคที่ส่งผลกระทบต่อการดูดซึมแคลเซียมอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุนได้
อันตรายของโรคกระดูกพรุน
โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย เพราะอาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจรุนแรงได้ เช่น
- กระดูกสะโพกหัก: เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้สูงอายุที่มีโรคกระดูกพรุน การหกล้มหรือการกระแทกเพียงเบา ๆ อาจทำให้กระดูกสะโพกหักได้ การรักษามักต้องใช้การผ่าตัดและทำกายภาพเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพร่างกาย ซึ่งอาจใช้เวลาหลายเดือน ผู้ป่วยบางรายอาจไม่สามารถกลับมาเคลื่อนไหวได้เหมือนเดิม และในบางกรณีอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
- กระดูกสันหลังหัก: กระดูกสันหลังที่หักหรือยุบตัวอาจทำให้เกิดอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและการทำกิจวัตรประจำวัน นอกจากนี้การยุบตัวของกระดูกสันหลังยังอาจทำให้เกิดอาการหลังค่อม ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดปัญหาของทางเดินหายใจหรือการทำงานของระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้
- เสี่ยงต่อความพิการ: เมื่อเกิดกระดูกหักซ้ำ ๆ หรือมีการหักในบริเวณที่สำคัญ เช่น สะโพกหรือสันหลัง อาจนำไปสู่ความพิการที่ทำให้ผู้ป่วยต้องพึ่งพาผู้อื่นในการดำเนินชีวิตประจำวัน บางคนอาจต้องนั่งรถเข็นหรือไม่สามารถเดินได้เอง
การวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน
แม้ว่าโรคกระดูกพรุนจะไม่แสดงอาการชัดเจนในระยะแรก แต่เทคโนโลยีในปัจจุบันสามารถตรวจหาความหนาแน่นของกระดูกได้ และแพทย์อาจพิจารณาการตรวจอื่น ๆ เพิ่มเติมเพื่อเป็นข้อมูลในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน โดยการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุนทำได้โดย
- การตรวจความหนาแน่นของกระดูก (Bone Mineral Density – BMD): เป็นวิธีที่แพทย์นิยมใช้ในการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน เป็นการวัดปริมาณแร่ธาตุในกระดูกของผู้ป่วย การตรวจนี้ใช้เวลาสั้น ๆ และไม่เจ็บปวด สามารถวัดได้ทั้งที่กระดูกสันหลัง สะโพก และข้อมือ ซึ่งเป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงต่อการแตกหักมากที่สุด ค่า BMD ที่ต่ำกว่าค่าปกติจะบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการเป็นโรคกระดูกพรุน
- การตรวจสุขภาพ: แพทย์อาจซักประวัติเกี่ยวกับ ประวัติครอบครัว ประวัติการใช้ยาหรือฮอร์โมน รวมถึงประวัติการออกกำลังกายและการรับประทานอาหาร เพื่อตรวจสอบปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ที่อาจนำไปสู่โรคกระดูกพรุนได้
- การตรวจเลือดและปัสสาวะ: การตรวจเลือดและปัสสาวะสามารถช่วยประเมินการทำงานของต่อมไทรอยด์ ระดับวิตามินดี และฮอร์โมนอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อมวลกระดูก นอกจากนี้ยังช่วยวินิจฉัยโรคอื่น ๆ ที่อาจมีผลต่อกระดูก เช่น โรคไต หรือภาวะการขาดแคลเซียม
การรักษาโรคกระดูกพรุน
การรักษาโรคกระดูกพรุนมักเน้นที่การป้องกันภาวะกระดูกแตกหรือหัก ลดอาการปวด และเพิ่มความแข็งแรงของกระดูก วิธีการรักษาอาจแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละราย ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาโดยขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรคและสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย
- การรักษาด้วยยา: แพทย์อาจพิจารณาให้ยากลุ่มที่ช่วยยับยั้งกระบวนการสลายกระดูกและช่วยเพิ่มมวลกระดูก หรือให้รับประทานวิตามินดีและแคลเซียมเสริม
- การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: เช่น การเดินเร็ว การยกน้ำหนัก หรือการทำโยคะ จะช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกระดูกและกล้ามเนื้อ ลดความเสี่ยงต่อการล้มและกระดูกหัก
- การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีให้เพียงพอ: การปรับเปลี่ยนการรับประทานอาหารให้มีแคลเซียมและวิตามินดีเพียงพอจะช่วยลดการเกิดภาวะกระดูกพรุน รวมไปถึงการหลีกเลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดการขับแคลเซียมออกจากร่างกาย เช่น เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และคาเฟอีนในปริมาณมากเกินไป
- การเลิกบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์: บุหรี่และแอลกอฮอล์มีผลกระทบต่อการดูดซึมแคลเซียมและสุขภาพกระดูก การเลิกบุหรี่และการลดปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์จะช่วยรักษาสุขภาพกระดูกให้ดีขึ้นได้
การป้องกันโรคกระดูกพรุน
การป้องกันโรคกระดูกพรุนควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็กและทำต่อเนื่องไปตลอดชีวิต ซึ่งการดูแลกระดูกให้แข็งแรงตั้งแต่อายุน้อยจะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคกระดูกพรุนในอนาคต โดยวิธีการป้องกันภาวะกระดูกพรุนสามารถทำได้ดังนี้
- การรับประทานอาหารที่เหมาะสม: การบริโภคอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ โดยอาหารที่มีแคลเซียมสูง ได้แก่ นมและผลิตภัณฑ์จากนม เช่น โยเกิร์ตและชีส และอาหารที่มีวิตามินดี เช่น ปลาแซลมอน ปลาซาร์ดีน และผักใบเขียวเข้ม นอกจากนี้การรับประทานวิตามินดีและแคลเซียมเสริมอาจมีความจำเป็นในบางช่วงวัย ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการรับประทานอย่างเหมาะสมและเพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย
- การออกกำลังกาย: การออกกำลังกายที่เน้นการสร้างมวลกระดูกเป็นประจำอย่างน้อย 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ เช่น การวิ่ง การยกน้ำหนัก หรือการเดิน จะช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูกใหม่
อ่านเพิ่มเติม : การออกกำลังกายกับโรคกระดูกพรุน - การรับแสงแดด: แสงแดดเป็นแหล่งวิตามินดีที่สำคัญ การออกไปรับแสงแดดในช่วงเช้าวันละ 10-15 นาที จะช่วยให้ร่างกายสร้างวิตามินดีได้มากขึ้น
- การเลิกบุหรี่และลดการดื่มแอลกอฮอล์: บุหรี่และแอลกอฮอล์มีผลเสียต่อการดูดซึมแคลเซียม การลดการบริโภคเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์และการเลิกบุหรี่จะช่วยรักษามวลกระดูกและลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคกระดูกพรุน
- การตรวจสุขภาพประจำปี: การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น ผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนหรือผู้สูงอายุ การตรวจความหนาแน่นของกระดูกเป็นประจำจะช่วยตรวจพบโรคกระดูกพรุนได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และช่วยในการวางแผนป้องกันการแตกหักของกระดูกได้
สรุป
โรคกระดูกพรุนเป็นภาวะที่มีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก หรืออาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัยผู้สูงอายุ การป้องกัน การเข้ารับการตรวจสุขภาพของกระดูก หรือหากตรวจพบภาวะกระดูกพรุน การรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยลดความเสี่ยงและชะลอการเสื่อมสภาพของกระดูกได้ การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เป็นปัจจัยที่สำคัญในการดูแลสุขภาพกระดูกและลดความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุนได้