บทความนี้ ต้องการนำเสนอเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) และโรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) ให้คุณผู้หญิงทุกคนได้ทำความเข้าใจ เพื่อเตรียมพร้อมป้องกันและดูแลตัวเองได้อย่างถูกต้องเหมาะสม
ถึงแม้ว่ามะเร็งจะเป็นโรคภัยที่ฟังดูน่ากลัวก็ตาม แต่สิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่า คือการหลีกเลี่ยงที่จะทำความรู้จักและเข้าใจโรคนี้อย่างถ่องแท้ เพราะคงไม่มีใคร ที่อยากจะเป็นแค่ผู้เฝ้าดูสุขภาพของตัวเอง เพราะเราทุกคนมีอำนาจในการตัดสินใจเลือกสุขภาพที่ดีและใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
สารบัญ
- ความเป็นมาของวันสตรีสากล
- ภารกิจหลัก 6 ประการ จุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อสตรีในทุกมิติ
- สุขภาพของคุณผู้หญิง สำคัญต่อใครหลาย ๆ คน
- มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ภัยคุกคามอันดับต้น ๆ ของสุภาพสตรี
- เรื่องโรคมะเร็งเต้านม ที่ควรรู้
- ต้องทำอย่างไร ให้ห่างไกลมะเร็งเต้านม
- เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูก ที่ควรรู้
- มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ยิ่งตรวจเจอได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อการรักษา
- สรุป
ความเป็นมาของวันสตรีสากล
วันสตรีสากล (International Women’s Day) มีจุดเริ่มต้นมาจากความรู้สึกถูกเอารัดเอาเปรียบของแรงงานสตรีที่มีต่อนายจ้าง ซึ่งในยุคอุตสาหกรรมสมัยก่อนนั้น แรงงานส่วนใหญ่มักถูกนายทุนกดค่าแรง และใช้ให้ทำงานหนักเกินเวลากันอยู่แล้ว
โดยเฉพาะแรงงานผู้หญิง ที่มักจะมีสถานะเป็นรองผู้ชายอยู่เสมอ ในที่สุดความไม่พอใจเหล่านี้ก็เริ่มปะทุออกมาครั้งแรกในปี ค.ศ. 1857 ที่รัฐนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา
เมื่อกรรมกรหญิงในโรงงานแห่งหนึ่ง ตัดสินใจลุกขึ้นประท้วงเรียกร้องให้นายจ้างเพิ่มค่าจ้าง และเรียกร้องสิทธิที่พวกเธอควรจะได้รับ
หลังจากเหตุการณ์ดังกล่าว การกดขี่แรงงานสตรีก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้น เกิดการประท้วงต่อเนื่องเรื่อยมาในหลาย ๆ พื้นที่
จนมาถึงวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ.1907 เมื่อความอดทนได้มาถึงขีดสุด คลารา เซทคิน นักการเมืองสังคมนิยมหญิงชาวเยอรมัน ได้ปลุกระดมกรรมกรสตรีให้นัดหยุดงานพร้อมกัน โดยมีข้อเรียกร้องเรื่องระยะเวลาการทำงาน สวัสดิการ และสิทธิของสตรีในการออกเสียงเลือกตั้ง
แม้ว่าเหตุการณ์ในครั้งนั้นจะจบลงที่การเข้าจับกุมผู้ประท้วงโดยเจ้าหน้าที่และผลลัพธ์ก็ไม่ได้เป็นดั่งที่คลาราตั้งใจไว้ แต่เหตุการณ์ในครั้งนั้นก็ได้กลายเป็นแรงกระเพื่อมสำคัญที่ส่งผลต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ซึ่งได้ทำให้ผู้หญิงทั่วโลกตระหนักถึงสิทธิที่ตัวเองพึงมี และต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีกว่าเดิมในทุก ๆ มิติ
ภารกิจหลัก 6 ประการ จุดเริ่มต้นของการรณรงค์เพื่อสตรีในทุกมิติ
แม้ว่าวันสตรีสากลจะมีจุดเริ่มต้นมาจากกรรมกรหญิงในโรงงานทอผ้าแห่งหนึ่งก็ตาม แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นแห่งแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ให้ผู้หญิงทั่วโลกลุกขึ้นเผชิญหน้ากับความภัยคุกคามทุกรูปแบบในที่สุด
ในปัจจุบันได้มีการประกาศ ‘ภารกิจหลัก 6 ประการ’ ขึ้นมา เพื่อส่งเสริมและยกระดับคุณภาพชีวิตผู้หญิงทุกคนในทุก ๆ ด้าน แบ่งออกเป็น 6 ด้าน ด้วยกัน ได้แก่
- ความสร้างสรรค์ของผู้หญิง (Women Creatives)
- ผู้หญิงและเทคโนโลยี (Women And Technology)
- ผู้หญิงและกีฬา (Women And Sport)
- สุขภาพของผู้หญิง (Women’s Health)
- ผู้หญิงในที่ทำงาน (Women At Work)
- การจ้างงานสำหรับผู้หญิง (Women Employment)
เหตุผลภารกิจหลักพยายามยกระดับชีวิตในทุก ๆ ด้าน เนื่องจากแต่ละด้านของการใช้ชีวิตมักมีความเชื่อมโยงกัน
ยกตัวอย่างเช่น รายงานอัตราการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งขององค์การอนามัยโลก (WHO) พบว่าผู้ที่เป็นโรคมะเร็งแล้วเสียชีวิตกว่า 70% มาจากกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำถึงปานกลาง ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ระดับรายได้เฉลี่ยกับเรื่องของสุขภาพและความเป็นความตายนั้นล้วนมีความเชื่อมโยงเกี่ยวเนื่องกัน เราจึงไม่สามารถมุ่งเน้นสนับสนุนแค่ด้านใดด้านหนึ่งได้อีกต่อไป
สุขภาพของคุณผู้หญิง สำคัญต่อใครหลาย ๆ คน
“To assist women to be in a position of power to make informed decisions about their health”
https://www.internationalwomensday.com/Mission/Health
หรือแปลเป็นไทยคือ “เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนผู้หญิง ให้มีอำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตนเอง อย่างรู้เท่าทัน”
ถือเป็นคำประกาศภารกิจหลักด้านสุขภาพของผู้หญิง (Women’s Health) ที่ทรงพลังมาก เพื่อกระตุ้นให้ผู้หญิงทั่วโลกร่วมกันท้าทายตัวเองในการต่อสู้กับภัยคุกคามด้านสุขภาพทุกรูปแบบอย่างรู้เท่าทัน
ดังนั้น การรณรงค์ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพของผู้หญิง โดยเฉพาะโรคร้ายแรงต่าง ๆ ที่เพศหญิงมีโอกาสเป็นสูงกว่าผู้ชายอย่างเช่น มะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก จึงถือเป็น 1 ในแรงขับเคลื่อนสำคัญของภารกิจด้านสุขภาพของผู้หญิงที่ทุกฝ่ายควรให้ความสำคัญมากเลยทีเดียว
เพราะเมื่อผู้หญิงมีสุขภาพกายและใจที่ดีแล้ว ย่อมส่งผลต่องานที่ทำ และคุณภาพชีวิตของผู้คนรอบตัวอีกด้วย
มะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูก ภัยคุกคามด้านสุขภาพอันดับหนึ่งของสุภาพสตรี
จากสถิติของโรคมะเร็ง 10 อันดับแรกของผู้หญิงในประเทศไทยปี 2019 พบว่า มีผู้ป่วยจากโรคมะเร็งเต้านม (Breast Cancer) ถือเป็นอันดับที่ 1 คิดเป็น 40% ของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งหมด ในขณะที่ผู้ป่วยจากโรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) มีมากเป็นอันดับ 2 (ข้อมูลเพิ่มเติม)
ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ควรประมาทโรคมะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้เป็นอันขาด หากทำความเข้าใจ และเตรียมตัวป้องกันไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะต้องมาเสียเงิน เสียเวลา และเสียสุขภาพจิตไปกับโรคเหล่านี้ได้มากทีเดียว
เรื่องโรคมะเร็งเต้านม ที่ควรรู้
มะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดในผู้หญิงทั่วโลก มักพบในผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของผู้หญิงไทย (รองลงมาคือ มะเร็งปากมดลูก)
เนื่องจากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนของปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าวอย่างชัดเจน จึงควรระลึกด้วยความไม่ประมาทว่า ผู้หญิงทุกคนมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านม เราจึงควรเข้าไปตรวจร่างกายประจำปีและสังเกตความผิดปกติของร่างกายตัวเองอยู่เรื่อย ๆ จะดีที่สุด แต่ไม่ควรวิตกกังวลเกินเหตุ
ต้องทำอย่างไร ให้ห่างไกลมะเร็งเต้านม
วิธีการหนึ่ง ที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพในการประเมินตัวเองเบื้องต้น คือ การสังเกตเต้านม และการคลำเต้านมด้วยตนเอง
นอกจากนี้ การพาตัวเองไปเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมเป็นประจำทุกปี จะยิ่งช่วยให้เรามีโอกาสตรวจพบมะเร็งได้เร็วยิ่งขึ้นตั้งแต่ในระยะเริ่มแรก ซึ่งใระยะนี้ มักจะรักษาให้หายขาดได้
การสังเกตและคลำเต้านม
มักมีคำถามจากสุภาพสตรีว่า “คลำพบก้อนเนื้อแข็งๆ ใช่มะเร็งเต้านมหรือไม่?” เรื่องนี้เป็นปัญหายอดฮิตที่ใครหลายคนพบเจอและรู้สึกกังวล หากคลำไม่พบก้อนอะไรก็แล้วไป แต่พอคลำเจอนี่สิ ทำให้เราเครียดขึ้นมาทันที สำหรับแนวทางพิจารณาเบื้องต้นหากคลำพบก้อนอาจเป็นไปได้อยู่ 3 รูปแบบ ได้แก่
1. ซีสต์ในเต้านม ซีสต์ถือเป็นความความผิดปกติของร่างกายอย่างหนึ่ง แต่ส่วนใหญ่จะไม่อันตราย มักจะมีอาการเจ็บเวลาคลำโดน
2. เนื้องอก ก้อนเนื้อแบบนี้ อาจเป็นหรือไม่เป็นมะเร็งเต้านมก็ได้ ส่วนใหญ่แล้วถ้าคลำพบเมื่อไหร่ ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจอย่างละเอียดจะดีที่สุด โดยมาก แพทย์จะใช้การตรวจแบบแมมโมแกรม (Mammogram) อัลตราซาวนด์เต้านม (Ultrasound) หรือเจาะเนื้อเยื่อไปตรวจ ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของแพทย์
3. มะเร็งเต้านม ซึ่งจะรู้ว่าเป็นหรือไม่นั้น จะรู้ผลหลังจากที่เข้าพบให้แพทย์ทำการตรวจแล้ว
อย่างไรก็ตาม ควรวางแผนคลำเต้านมด้วยตัวเองแล้วปฏิบัติให้เป็นประจำไปเลยจะดีกว่า เนื่องจากหลายคนที่ไม่ได้ตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำแล้วจู่ ๆ มาคลำเจอก้อนเข้า ก็จะวิตกกังวลเกินเหตุไปเสียอีกว่ากรณีของตนใช่มะเร็งเต้านมหรือไม่
ดังนั้นการตรวจเต้านมเป็นประจำ จะทำให้เรารับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงได้ไวกว่า เมื่อพบความผิดปกติตั้งแต่แรก ๆ ก็สามารถเข้ารับการตรวจกับแพทย์ได้ทันที
สำหรับผู้หญิงอายุ 20 ปีขึ้นไป ให้ตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำทุกเดือนเป็นช่วงหลังประจำเดือนหมดประมาณ 3 – 7 วันจะได้ผลดีที่สุด เนื่องจากเต้านมไม่คัดเกินไป และอยู่ในสภาพที่ตรวจได้ง่าย
ส่วนผู้หญิงที่หมดประจำเดือนแล้ว ให้เลือกวันใดวันหนึ่งแล้วตรวจในวันดังกล่าวทุกเดือน อาจเลือกสถานที่เป็นห้องนอน ห้องน้ำ หรือบริเวณด้านหน้ากระจกเงา สำหรับวิธีการคลำเต้านม สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่นี่
การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม
เราสามารถเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมได้เป็นประจำทุกปี ซึ่งปกติทุกโรงพยาบาลจะมีโปรแกรมตรวจคัดกรองอยู่แล้ว
โดยวิธีการตรวจที่สามารถตรวจหามะเร็งเต้านมได้ดีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก และเป็นวิธีตรวจคัดกรองโรคมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดในปัจจุบัน คือการตรวจด้วยวิธี แมมโมแกรม (mammogram)
หากเรามีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจแมมโมแกรมเป็นประจำทุกปี ยกเว้นผู้ที่มีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านม เช่น มีคนในครอบครัวที่เป็น เป็นต้น ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะอาจต้องเข้ารับการตรวจก่อนเกณฑ์อายุที่กำหนดตามปกติ
เรื่องโรคมะเร็งปากมดลูกที่ควรรู้
มะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นบริเวณมดลูก ช่องคลอด และช่องปากมดลูก พบได้บ่อยเป็นอันดับที่ 4 ในผู้หญิงทั่วโลก (ข้อมูลเพิ่มเติม)
และส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยในประเทศไทย นับเป็นโรคมะเร็งที่มีอัตราการเสียชีวิตในผู้หญิงไทยเป็นอันดับ 2
มะเร็งปากมดลูกเกิดจาก การติดเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) การสูบบุหรี่ การกินยาคุมกำเนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ปัญหาด้านภูมิคุ้มกัน และการมีลูกหลายคน แต่ผู้ป่วยส่วนมากมักจะเป็นผลมาจากการติดเชื้อ HPV
เอชพีวี (HPV) ไวรัสตัวร้ายสำหรับสุภาพสตรี
HPV เป็นเชื้อไวรัสที่สามารถก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ ได้หลายช่องทาง ไม่ว่าจะเป็นปาก ช่องคลอด ทวารหนัก หรือการสัมผัสกับเชื้อโดยตรง
แม้จะพบว่า โอกาสติดเชื้อดังกล่าวจะมาจากการเปลี่ยนคู่นอนหลายคน แต่ก็ไม่ได้แปลว่า คนที่รักเดียวใจเดียวหรือมีคู่นอนคนเดียว จะปลอดภัยไร้ความเสี่ยงจากโรคนี้เลยเสียทีเดียว เพราะเราไม่มีทางรู้ว่าคู่นอนของเรา จะมีพฤติกรรมเสี่ยงด้วยหรือไม่
สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ก็คือ คนไทยยังไม่ค่อยรู้จักเชื้อ HPV มากนัก จึงต้องมีการรณรงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับเชื้อไวรัสชนิดนี้ เนื่องจาก HPV เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูกเลย
ข่าวดีก็คือ เราสามารถป้องกันมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่วัยเด็กด้วยการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยรัฐบาลได้บรรจุให้วัคซีนดังกล่าว เป็นวัคซีนพื้นฐานแล้ว
วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ฉีดยังไง?
วัคซีนสำหรับมะเร็งปากมดลูกมีหลายแบบ ปัจจุบันในไทยจะมีวัคซีนอยู่ 2 แบบ ได้แก่วัคซีนชนิด 2 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18 และวัคซีนชนิด 4 สายพันธุ์ ครอบคลุมสายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18
โดยเป็นสายพันธุ์ที่ทำให้เซลล์ปากมดลูกกลายเป็นเซลล์มะเร็งได้ ปัจจุบัน แนวโน้มในการพัฒนาวัคซีนก้าวหน้าไปมาก ล่าสุดสามารถครอบคลุมไวรัสได้ถึง 9 สายพันธุ์ ได้แก่สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58
แต่อย่างไรก็ตาม วัคซีนมีไว้เพื่อป้องกัน HPV ไม่มีผลในการรักษาเมื่อเกิดโรคจากการติดเชื้อไวรัส HPV แล้ว
เกณฑ์อายุเบื้องต้นที่สามารถฉีดได้ คือเด็กผู้หญิงตั้งอายุตั้งแต่ 9 ปีขึ้นไป แต่หากเป็นไปได้ ควรเริ่มฉีดตั้งแต่ก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก แต่ถึงมีเพศสัมพันธ์แล้วก็ยังฉีดได้ ถ้ายังไม่ติดเชื้อ HPV
โดยภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนจะมีผลอยู่อย่างน้อย 5 ปี (แต่ยังไม่มีการศึกษาที่แน่ชัดว่าจะคงอยู่ได้ถึงกี่ปี)
ข้อแนะนำคือ ถึงแม้ว่าเราจะได้รับฉีดวัคซีน HPV แล้ว ก็ยังควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำหรือตามแพทย์นัดอยู่ดี เนื่องจากวัคซีนที่เราเคยใช้ อาจไม่ได้ป้องกัน HPV ได้ครบทุกสายพันธุ์
อยากตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจแบบไหนดี?
วิธีคัดกรองที่ให้ผลที่เชื่อถือได้และทำได้ไม่ยากมี 2 วิธีคือ
- การตรวจแบบแปปสเมียร์ (Pap Smear) ซึ่งเป็นการตรวจดูเซลล์ผิดปกติที่อาจเปลี่ยนเป็นมะเร็งปากมดลูกต่อไปได้
- การตรวจแบบ HPV DNA test ซึ่งเป็นเทคนิคทางด้านชีวโมเลกุล เพื่อตรวจหาตัวเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ก่อมะเร็งบริเวณปากมดลูกและผนังช่องคลอด โดยมีความแม่นยำกว่าวิธีแรกมาก และสามารถตรวจหาเชื้อ HPV กลุ่มเสี่ยงสูง ได้มากถึง 14 สายพันธุ์ ช่วยค้นหาและป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่ในระยะก่อนการเป็นมะเร็ง
วิธีสังเกตอาการมะเร็งปากมดลูก ดูยังไง?
แนวทางเบื้องต้นในการสังเกตอาการ จะมีอยู่ 7 ข้อ คือ
- มีเลือดหรือสารคัดหลั่งปนเลือดออกจากช่องคลอด
- มีประจำเดือนนานมากกว่าปกติ หรือมากระปริดกระปรอยผิดปกติ
- มีอาการตกขาว และ/หรือ มีเลือดปนด้วย (ทั้งมีกลิ่นหรือไม่มีกลิ่นก็ตาม)
- รู้สึกเจ็บหรือมีเลือดออกในขณะมีเพศสัมพันธ์ หรือภายหลังจากมีเพศสัมพันธ์
- มีสารคัดหลั่งออกมาจากช่องคลอดมากเกินปกติ
- ปวดบวม ปัสสาวะไม่ออกหรือปัสสาวะบ่อย (เทียบกับตอนปกติ)
- มีอาการปวดท้องน้อย
หากมีอาการดังกล่าว ให้รีบพบแพทย์ทันที เพื่อประเมินว่าเราเป็นมะเร็งปากมดลูกหรือไม่ นอกจากนี้ บางรายที่อาการรุนแรง อาจมีการถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นเลือด หรือมีอาการขาบวม ทั้งนี้ ไม่ว่าเราจะมีอาการข้อใดข้อหนึ่งหรือมากกว่านั้น ให้รีบพบแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยทันที
มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก ยิ่งตรวจเจอได้เร็วเท่าไหร่ ยิ่งเป็นผลดีต่อการรักษา
ทุกคนควรเข้ารับการตรวจร่างกายอย่างสม่ำเสมอ โดยส่วนใหญ่แล้ว โรงพยาบาลต่าง ๆ จะมีโปรแกรมตรวจสุขภาพที่เหมาะสมกับเพศและวัยของคุณ โดยเฉพาะสำหรับคุณผู้หญิง ที่ควรเข้ามาตรวจมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำ
สำหรับคุณผู้หญิงที่อยู่ในช่วงระหว่างวัยรุ่นถึงวัยทำงานตอนต้น จะไม่ค่อยน่าเป็นห่วงเท่าไหร่ เพราะหลายคนมักจะกระตือรือร้นในเรื่องนี้หรือคอยติดตามข่าวสารการตรวจโรคประจำปีของผู้หญิงกันอยู่แล้ว
แต่กลุ่มที่ค่อนข้างน่าเป็นห่วงคือ คุณผู้หญิงในวัยผู้ใหญ่ตอนปลาย จนถึงวัยเกษียณ บางท่านอาจจะคิดว่า การเข้ารับการตรวจโรคประจำปี หรือการรีบไปตรวจเมื่อพบอาการผิดปกติ เป็นเรื่องไม่จำเป็น
เหมือนหาเรื่องเครียดให้ตัวเอง หรือที่พูดกันแบบติดตลกว่า “ไม่ไปตรวจ ก็เท่ากับไม่เป็น” นอกจากนี้ บางท่านก็ไม่อยากรบกวนบุตรหลาน กลัวจะทำให้สิ้นเปลืองเงินเสียทองโดยใช่เหตุ
แต่ที่จริงแล้ว ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไป กลับเป็นกลุ่มที่มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งสูงกว่าวัยอื่น ๆ ดังนั้น แทนที่จะใช้ความกลัวนำทางให้เราทุกข์ ควรใช้ความกลัวให้เป็นประโยชน์ในเชิงป้องกันจะดีกว่า
โดยการศึกษาและทำความเข้าใจ หมั่นเข้ารับการตรวจตามข้อแนะนำอย่างสม่ำเสมอในทุก ๆ ปี หรือรีบไปพบแพทย์เมื่อมีอาการผิดปกติ
ซึ่งในท้ายที่สุด จะช่วยให้เรามีเวลาวางแผนรับมือจัดการและประหยัดค่าใช้จ่ายได้ดีกว่า เมื่อเทียบกับการเพิกเฉย หรือปล่อยปละละเลยจนกระทั่งโรคนี้อยู่ในระยะลุกลามแล้วค่อยมารักษา
สรุป
หลังจากที่ได้ทำความรู้จักกับมะเร็งเต้านมและมะเร็งปากมดลูกกันไปแล้ว สิ่งแรกที่เราต้องมีกันคือสติ อย่าพึ่งตื่นตระหนกตามสถิติที่ยกมา
เพราะแม้ว่าข้อมูลต่าง ๆ ที่อธิบายไว้จะเป็นเรื่องจริงทั้งหมด แต่ก็เป็นไปเพื่อให้เราได้มีข้อมูลที่ดีพอและครบครันมากพอในการตัดสินใจเกี่ยวกับสุขภาพของตัวเองอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ให้ตีตนไปก่อนไข้
มะเร็งทั้ง 2 ชนิดนี้ ส่วนใหญ่หากพบได้เร็วมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีโอกาสหายมากขึ้นเท่านั้น เราจึงต้องหมั่นสังเกตและดูแลตัวเองให้ดีอยู่เสมอ ไปตรวจสุขภาพประจำปีทุกปี โดยเฉพาะมะเร็งปากมดลูกนั้น ควรฉีดวัคซีนเมื่อมีโอกาส
เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคมนี้ เราหวังว่าผู้หญิงทุกคนจะลุกขึ้นมาดูแลตัวเอง เพื่อให้มีร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง และใช้ชีวิตอย่างมีความสุข ไร้ซึ่งภัยคุกคามทุกประการ