เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสไข้เหลือง นำโดยยุงลาย พบในประเทศแถบแอฟริกาและอเมริกาใต้ เป็นโรคที่มีความรุนแรงและมีอัตราการเสียชีวิตสูง มีระยะฟักตัวของโรค 4-10 วัน เฉลี่ย 6 วัน อาการได้แก่ มีไข้ ปวดเมื่อยตัว อาเจียน ระยะต่อมามีเลือดออกผิดปกติ ตับวาย ตัวเหลืองตาเหลือง 20 % ของผู้ติดเชื้อจะมีอาการรุนแรง และ 50% ของผู้ที่มีอาการรุนแรงจะเสียชีวิต
ประเทศที่เป็นเขตของโรคไข้เหลือง
ที่มา : CDC Yellow Book 2024
เนื่องจากเป็นโรคที่มีความรุนแรงและอาจเกิดปัญหาทางสาธารณสุขรุนแรงหากมีการแพร่ระบาดไปยังพื้นที่ต่างๆในประเทศเขตร้อนที่มียุงเป็นพาหะของโรค ตามกฎอนามัยระหว่างประเทศจึงเป็นข้อบังคับที่นักเดินทางที่มาจากประเทศที่มีโรคไข้เหลืองจะต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนไข้เหลืองมาแล้วอย่างน้อย 10 วันก่อนการเดินทาง มาแสดงให้กับด่านตรวจคนเข้าเมือง หากไม่มีหลักฐานการฉีดวัคซีนอาจถูกปฏิเสธการเข้าประเทศหรือถูกกักตัว (quarantine)
สำหรับประเทศไทย ได้มีการกำหนดในราชกิจจานุเบกษาว่า หากเดินทางมาจาก 42 ประเทศเหล่านี้ ต้องมีหลักฐานการฉีดวัคซีนไข้เหลืองมาก่อนอย่างน้อย 10 วัน ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย
ทวีปอเมริกาใต้ 13 ประเทศ ได้แก่ บราซิล โบลิเวีย โคลอมเบีย เอกวาดอร์ กายอานา เกียนาฝรั่งเศส ปานามา เปรู เวเนซูเอลา ซูรินาเม ตรินิแดดแอนโตเบโก อาร์เจนตินา ปารากวัย
ทวีปแอฟริกา 29 ประเทศ ได้แก่ แองโกล่า เบนิน บูร์กินาฟาโซ บุรุนดี แคเมอรูน สาธารณรัฐแอฟริกากลาง คองโก โกตดิวัวร์ เอธิโอเปีย แกมเบีย กาบอง กานา กีนี กินีบิสเซา อิเควทอเรียลกินี เคนยา ไลบีเรีย มาลี มอริเตเนีย เซเนกัล เซียร์ราลีโอน ซูดาน เซาท์ซูดาน ชาด โตโก ยูกันดา ซาอีร์ ไนเจอร์และไนจีเรีย
ดังนั้นนักเดินทางที่จะเดินทางไปประเทศที่มีไข้เหลือง ต้องฉีดวัคซีนก่อนเดินทางออกจากประเทศไทยอย่างน้อย 10 วัน
วัคซีนไข้เหลือง
วัคซีนไข้เหลือง เป็นวัคซีนเชื้อเป็นที่ทำให้อ่อนฤทธิ์ลง ฉีดเข้าชั้นไขมันหรือชั้นกล้ามเนื้อ 1 เข็ม ฉีด 1 ครั้งครอบคลุมได้ตลอดชีวิตโดยไม่ต้องฉีดกระตุ้น ซึ่งตามกฎเดิมต้องฉีด 1 เข็มทุก 10 ปี แต่บางกรณีแพทย์อาจแนะนำให้ฉีดกระตุ้นหากได้รับวัคซีนมาเกิน 10 ปี เช่น เดินทางเข้าไปในพื้นที่ที่มีการระบาดอยู่
การฉีดวัคซีนไข้เหลือง เมื่อฉีดแล้วก็จะได้หนังสือรับรองการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคสำหรับการเดินทางระหว่างประเทศ หรือ สมุดเล่มเหลือง เพื่อเป็นหลักฐานยื่นให้กับตม. หนังสือรับรองจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 10 วันหลังฉีด ซึ่งต้องฉีดในสถานพยาบาลหรือหน่วยงานที่ได้มีการขึ้นทะเบียนกับกรมควบคุมโรคให้มีอำนาจในการออกหนังสือรับรองเท่านั้น
สมุดรับรองการฉีดวัคซีนไข้เหลือง (Yellow fever Certification)
ผลข้างเคียงของวัคซีนไข้เหลือง
วัคซีนไข้เหลืองเป็นวัคซีนที่มีความปลอดภัย ผลข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรงเช่น มีไข้ต่ำๆ ปวดบริเวณที่ฉีด ปวดเมื่อยตัว ซึ่งเป็นอยู่ประมาณ 2-3 วันก็จะหายเป็นปกติ
แต่ในคนบางกลุ่มอาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงคืออาการของโรคไข้เหลืองเสมือนการติดเชื้อไข้เหลืองจริง (Yellow fever vaccine–associated viscerotropic disease :YEL-AVD) ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 48% กลุ่มเสี่ยงได้แก่ ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี ผู้ป่วยภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ติดเชื้อ HIV กินยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ที่เป็นเนื้องอกต่อมไทมัส ผู้ที่ผ่าตัดต่อมไทมัส เป็นต้น
ผลข้างเคียงทางระบบประสาท (Yellow fever vaccine–associated neurologic disease (YEL-AND) เช่น สมองอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีอัตราการเกิดสูงในกลุ่มเด็กทารกน้อยกว่า 9 เดือน โดยเฉพาะน้อยกว่า 6 เดือน และในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี
ข้อห้ามในการฉีดวัคซีน
กลุ่มคนเหล่านี้ไม่ควรฉีดวัคซีนไข้เหลืองเนื่องจากจะทำให้เกิดผลข้างเคียงรุนแรงจนกระทั่งเสียชีวิตได้ และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีโรคไข้เหลือง
- ผู้ที่แพ้วัคซีนไข้เหลืองหรือส่วนประกอบของวัคซีนไข้เหลือง ได้แก่ แพ้ไข่หรือโปรตีนจากไข่ เจลาติน
- เด็กเล็กอายุน้อยกว่า 6 เดือน
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง ได้แก่ HIV ที่ CD 4< 200/ml รับประทานยากดภูมิ ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ มะเร็งที่กำลังได้รับยาเคมีบำบัดหรือฉายแสง โรคเกี่ยวกับต่อมไทมัส เช่น myasthenia gravis เนื้องอกต่อมไทมัส ผ่าตัดต่อมไทมัส
ข้อควรระวังในการฉีดวัคซีน
วัคซีนไข้เหลืองยังมีข้อควรระวังในคนกลุ่มเหล่านี้ เนื่องจากมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป แต่หากมีความจำเป็นที่ต้องเดินทางไปพื้นที่ที่มีไข้เหลืองโดยหลีกเลี่ยงไม่ได้ อาจพิจารณาฉีดโดยปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาประโยชน์และความเสี่ยงของการฉีดวัคซีน อย่างไรก็ตามคนกลุ่มนี้ควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปพื้นที่ที่มีไข้เหลืองหากไม่จำเป็น
- ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
- เด็กทารกอายุ 6-8 เดือน
- หญิงตั้งครรภ์หรือให้นมบุตร
- ผู้ป่วย HIV CD 4 200–499/mL
ผู้สูงอายุควรหลีกเลี่ยงการฉีดวัคซีนไข้เหลือง
ผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดผลข้างเคียงรุนแรงได้แก่ผลข้างเคียงทางระบบประสาท (YEL-AND) และ การป่วยเป็นไข้เหลืองจากการฉีดวัคซีน (YEL-AVD) ได้สูงกว่าคนทั่วไป 3-5 เท่า ซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงเกือบ 50% โดยเฉพาะผู้สูงอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไปจะมีความเสี่ยงมากถึง 5 เท่า อัตราการเกิดผลข้างเคียงประมาณ 2.5 ต่อแสนในคนอายุ 60-69 และ 5 ต่อแสนในคนอายุ 70 ปีขึ้นไป ในขณะที่คนทั่วไปมีอัตรา 1 ต่อ แสน ดังนั้นผู้สูงอายุจึงควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังประเทศที่มีไข้เหลือง เพื่อหลีกเลี่ยงการติดเชื้อและการฉีดวัคซีน
ถ้านักเดินทางไม่แน่ใจว่าตนเองมีโรคหรือภาวะที่เป็นข้อห้ามของการฉีดวัคซีนไข้เหลืองเช่น สูงอายุ มีโรคประจำตัว ให้รีบมาปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่นๆ ก่อนจะตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินหรือซื้อทัวร์ ไม่เช่นนั้นหากฉีดวัคซีนไม่ได้ก็อาจทำให้ไม่สามารถเดินทางได้
คำแนะนำสำหรับผู้ที่จะมาฉีดวัคซีนไข้เหลือง
- โปรดติดต่อเจ้าหน้าที่ศูนย์วัคซีนเพื่อทำนัดล่วงหน้าในการจัดเตรียมวัคซีน และ คัดกรองเบื้องต้นว่ามีข้อห้ามในการฉีดวัคซีนไข้เหลืองหรือไม่
- ต้องมาฉีดวัคซีนอย่างน้อย 10 วันก่อนวันเดินทาง และต้องเว้นระยะจากการฉีดวัคซีนเชื้อเป็นอย่างน้อย 28 วัน ก่อนมาฉีดวัคซีนไข้เหลือง
- นำ passport หรือ สำเนา passport มาด้วย เนื่องจากต้องใช้ในการออกหนังสือรับรองการฉีดวัคซีน
- หลังฉีดวัคซีนให้สังเกตอาการในรพ.อย่างน้อย 30 นาที