ขี้หูคืออะไร
รูหูส่วนนอกเท่านั้นที่มีต่อมสร้างขี้หู ทำให้เราพบขี้หูอยู่รอบ ๆ ปากทางเข้ารูหู ซึ่งมีหน้าที่ดักฝุ่น สิ่งสกปรกไม่ให้เข้าไปถึงเยื่อแก้วหู ธรรมชาติสร้างรูหูให้มีรูปร่างเป็นกรวย มีปากทางเข้ากว้างกว่ารูหูส่วนใน (ดังรูป) ขี้หูที่สะสมอยู่นี้ปกติจะแห้งหลุดออกมาได้เอง โดยไม่เคลื่อนตัวเข้าไปในส่วนลึกๆ ของรูหู จึงไม่จำเป็นที่คนจะต้องแคะหูหรือใช้ไม้พันสำลีเช็ดหู เพราะบ่อยครั้งอาจจะดันให้ขี้หูเข้าไปสะสมในรูหูส่วนใน หรือทำให้รูหูถลอก อักเสบ-ติดเชื้อได้ หนังหุ้มรูหูส่วนในนั้นเปราะบางมาก เวลาแหย่หูลึกๆ ถ้ากระแทกโดนจะเจ็บมาก
หลายคนเข้าใจผิดว่า ควรต้องเช็ดรูหูให้สะอาดเสมอ หรือเช็ดหูด้วยไม้พันสำลีหลังอาบน้ำทุกครั้ง แต่จริงๆ แล้ว มีขี้หูเคลือบรูหูบ้างจะดีกว่า เพราะว่ายิ่งเช็ดหรือแคะหูมาก รูหูจะยิ่งแห้งและคันหูได้มากกว่า หลังอาบน้ำหรือสระผม ถ้าน้ำเปียกหู อาจใช้ไม้พันสำลีชนิดเนื้อแน่น ขนาดเล็ก ซับน้ำที่ปากรูหูนิดหน่อยก็พอ
ถ้าน้ำเข้าหูเป็นชั่วโมงแล้วยังไม่ออกมา – หูยังอื้ออยู่ ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีขี้หูในส่วนลึกของรูหูซึ่งอมน้ำไว้ กรณีเช่นนี้ควรให้แพทย์ หู-คอ-จมูก ตรวจทำความสะอาดหู แพทย์อาจล้างหูด้วยการฉีดน้ำ หรือใช้เครื่องดูดขี้หู แล้วแต่ความเหมาะสม
ผู้ที่มีปัญหาขี้หูมาก หรือขี้หูแห้ง – คันหูมาก หลังจากให้แพทย์ทำความสะอาดหูแล้วอาจใช้น้ำมันพวก GLYCERINE, BABY OIL หยอดหูอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง จะช่วยชะล้างรูหูให้สะอาดขึ้นได้ วิธีนี้ใช้ได้ดีกับเด็กเล็ก ๆ เพราะรูหูเล็ก เช็ดก็ยาก แคะก็ยาก
สิ่งที่ควรกระทำ ถ้ารู้สึกคันหูบ่อย ๆ
- งดแคะหู หรือ ใช้ไม้พันสำลีปั่นหู
- ให้แพทย์ทำความสะอาดหู แล้วใช้น้ำมันหยอดหูเป็นประจำ
- ถ้าเป็นโรคผิวหนังที่รูหู เช่น Seborrheic dermatitis แพทย์จะให้ป้ายยา – หยอดยาที่มี Cortisone ผสมอยู่
ถ้าเจ็บหู รูหูอักเสบบ่อย ควรปฏิบัติเพิ่มเติมจากปัญหาคันหู
- อย่าใช้นิ่วแหย่หูเด็ดขาด เพราะขอบเล็กที่ปลายนิ้วจะทำให้รูหูถลอก ติดเชื้อ และอักเสบได้ง่าย
- ให้แพทย์ตรวจ ทำความสะอาดหูปีละ 2-3 ครั้ง ไม่ให้ขี้หูค้างในรูหู
- หลังว่ายน้ำทุกครั้ง ควรหยอดหูด้วย น้ำส้มสายชู (2% Acetic acid) หรือ น้ำส้มสายชูผสมแอลกอฮอล์ (1:1) ซึ่งสามารถฆ่าเชื้อโรคได้ ทั้งแบคทีเรียและ เชื้อรา