ทำอย่างไรดี? เมื่อลูกพูดติด…ติด…อ่าง
โดย พญ.สุภานี อริยะโสภณวงศ์
คุณพ่อคุณแม่คงจะรู้สึกอึดอัดใจมากเมื่อพบว่า ลูกน้อยอายุ 3 – 5 ปี ของคุณพูดติดอ่าง บางคนอาจทนที่จะรับฟังเรื่องที่ลูกพูดต่อไปอีกไม่ได้ ต้องบอกให้ลูกพูดใหม่ แต่พอลูกพูดใหม่ก็พูดติดอีก คุณพ่อคุณแม่บางคนอดทนต่อลักษณะที่ลูกพูดติดอ่างไม่ได้ ต้องดุหรือทำโทษเด็กทุกครั้งที่ได้ยิน บางคนก็ทำท่าเอาใจช่วยคอยบอกให้ลูกพูดช้า ๆ ชัด ๆ สิ่งเหล่านี้แทนที่จะช่วยให้ลูกพูดคล่องกลับเป็นการเน้นย้ำทำให้ลูกพูดติดอ่างมากขึ้นกว่าเดิม
การพูดติดอ่างของเด็กเล็กในช่วงอายุ 3 – 5 ปีนั้น ถือเป็นลักษณะการพูดไม่คล่องโดยปกติของเด็ก เนื่องจากในช่วงนี้เด็กจะมีพัฒนาการด้านภาษาในอัตราที่รวดเร็วมาก เด็กจึงอยากที่จะพูดแสดงความรู้ความเข้าใจของตนเองต่อสิ่งต่างๆ แต่อวัยวะในการพูดของเด็กยังทำงานได้ไม่คล่องแคล่ว และเด็กยังรู้คำศัพท์ในจำนวนจำกัด ดังนั้นเด็กจึงต้องเสียเวลาหยุดคิดคำศัพท์ และจัดลำดับเรื่องเพื่อที่จะพูด ทำให้การพูดของเด็กมีการสะดุดชะงักเป็นช่วงๆ เวลาที่เขาจะเล่าเรื่องยาวๆ ให้ผู้ใหญ่ฟัง ถ้าผู้ใหญ่แสดงทีท่ากังวลใจหรือมีท่าทางที่แปลกไปจากเดิมเวลาที่เด็กพูดติด เด็กจะสังเกตเห็นและพลอยกังวลใจไปกับการพูดติดของตนด้วย เด็กบางคนอาจรู้สึกว่าตนทำอะไรผิด พูดติด เกิดความไม่มั่นใจที่จะพูด ขลาดอายและแยกตัวไม่ยอมพูดกับใคร พอจะพูดก็เกิดความกังวลใจ และพูดติดมากยิ่งขึ้นจนกลายเป็นการพูดติดอ่างแบบถาวรไป
วิธีการที่พ่อแม่จะช่วยให้ลูกพูดได้คล่องขึ้นนั้น คือ การให้กำลังใจและช่วยให้เด็กเกิดความมั่นใจในการพูดของตนเอง เมื่อเวลาที่ลูกพูดกับเรา ก็ควรจะรอฟังลูกพูดจนจบด้วย ท่าทีปกติธรรมดา ไม่ทักเวลาที่ลูกพูดติด เมื่อลูกพูดจบแล้ว พ่อแม่จึงพูดทวนประโยคที่ลูกได้พูดไปนั้นอีกครั้งด้วยลักษณะการพูดที่ถูกต้องเพื่อให้ลูกดูเป็นตัวอย่าง โดยพูดคุยกันในลักษณะท่าทีเป็นธรรมชาติ ไม่ให้ลูกรู้สึกว่า พ่อแม่กำลังจ้องจับผิดหรือคอยจะแก้ไขเขา ในที่สุดลูกจะค่อยๆ ปรับเปลี่ยนลักษณะการพูดของตนจนสามารถพูดคล่องขึ้นได้