บทความสุขภาพ

Knowledge

การทำเด็กหลอดแก้ว เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์สำหรับผู้มีบุตรยาก

พญ. พิชชา ปิ่นจันทร์

ว่ากันว่ากว่าคนสองคนจะพร้อมมีลูก ทั้งคู่ต้องคิดวางแผน และมีสารพัดคำถามหลายสิบข้อ เพื่อตระเตรียมความพร้อมต้อนรับ ‘เจ้าตัวน้อย’ มาเป็นสมาชิกคนใหม่ในบ้าน …แต่ในตอนที่ทุกอย่างเกือบจะมาถึงจุดหมาย ว่าที่คุณพ่อ-คุณแม่มือใหม่กลับต้องเผชิญสิ่งที่หลายครอบครัวไม่อยากเจอ อย่าง “ภาวะมีบุตรยาก” ปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งสุขภาพและความสัมพันธ์ การทำเด็กหลอดแก้ว หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า IVF เป็นเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่สามารถเพิ่มโอกาสการมีบุตร สำหรับคู่สามี-ภรรยาที่มีบุตรยากได้

การทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) คืออะไร?


Fig1.jpg

การทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF (In-Vitro Fertilization) คือเทคโนโลยีเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ที่เพิ่มโอกาสการมีบุตรด้วยการนำไข่และอสุจิของคู่สมรสออกมาปฏิสนธิกันนอกร่างกาย และเกิดเป็นตัวอ่อนในหลอดแก้ว และเมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ตัวอ่อนจะถูกย้ายเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงและเกิดการตั้งครรภ์ในที่สุด ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาให้กับคู่สามี-ภรรยาที่มีภาวะมีบุตรยากให้สามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้


ขั้นตอนการทำเด็กหลอดแก้ว (IVF) มีอะไรบ้าง?


Fig2.jpg

โดยขั้นตอนของการทำเด็กหลอดแก้ว มีดังนี้


  • แพทย์จะใช้ยากระตุ้นไข่ของฝ่ายหญิง ซึ่งจะเป็นฮอร์โมนแบบฉีด โดยให้ต่อเนื่องราว 8-12 วัน เพื่อเพิ่มจำนวนการตกไข่
  • แพทย์จะทำการเจาะดูดไข่ออกมานอกร่างกายฝ่ายหญิง
  • ในวันเดียวกับการเก็บไข่ แพทย์จะให้ฝ่ายชายเก็บอสุจิออกมา ซึ่งในกรณีที่เก็บอสุจิไม่ได้หรือฝ่ายชายไม่มีอสุจิ แพทย์จะทำการเจาะอสุจิจากบริเวณท่อพักหรือจากตัวอัณฑะออกมา
  • แพทย์จะทำการคัดแยกอสุจิของฝ่ายชาย และฉีดอสุจิของฝ่ายชายเข้าไปในหลอดแก้ว เพื่อให้เกิดการปฏิสนธิและเกิดเป็นตัวอ่อนในหลอดแก้ว
  • เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม ตัวอ่อนนั้นจะถูกย้ายกลับเข้าไปในโพรงมดลูกของฝ่ายหญิงให้เกิดการฝังตัว พร้อมตั้งครรภ์ในท้ายที่สุด

อีกทั้งในระหว่างกระบวนการทำ IVF จะใช้วิธี ICSI (Intra Cytoplasmic Sperm Injection) หรืออิ๊กซี่ โดยจากปกติที่จะให้อสุจิจำนวนหนึ่งเข้าไปปฏิสนธิกับไข่เอง แต่ ICSI คือการคัดเลือกอสุจิที่ดูดีและเคลื่อนไหวได้ดีมา 1 ตัว แล้วจึงฉีดเข้าไปในไข่ เพื่อเพิ่มอัตราความสำเร็จในการปฏิสนธิให้มีมากขึ้น


การทำเด็กหลอดแก้วแล้วสำเร็จ มีมากน้อยแค่ไหน?


อัตราความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว หรือ IVF ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ได้แก่


  • อายุของฝ่ายหญิง เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดที่มีผลต่อความสำเร็จในการทำเด็กหลอดแก้ว
    • ฝ่ายหญิงที่อายุน้อยกว่า 40 ปี โอกาสตั้งครรภ์จะมีสูงถึง 30-40%
    • ฝ่ายหญิงที่อายุ 40 ปี โอกาสตั้งครรภ์ลดเหลือ 10-15%
    • ฝ่ายหญิงที่อายุประมาณ 42 ปี โอกาสตั้งครรภ์เหลือประมาณ 5-10%
    • ฝ่ายหญิงที่อายุ 44 ปีขึ้นไป โอกาสที่จะตั้งครรภ์จะเหลือน้อยกว่า 5% (โดยทฤษฎี)
  • คุณภาพของอสุจิ
  • คุณภาพของตัวอ่อนหลังการปฏิสนธิ

แบบไหนที่ถือว่าเป็นภาวะมีบุตรยาก?

ภาวะมีบุตรยาก คือการที่คู่สมรสไม่สามารถประสบผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ใช้การคุมกำเนิด โดยปกติจะนิยามว่ามีบุตรยากได้ จะนับจากระยะเวลาหลังจากการใช้ชีวิตคู่อย่างน้อย 1 ปี แต่ปัจจุบันมีข้อมูลใหม่โดยใช้อายุของฝ่ายหญิงมาตัดสินร่วมด้วย คือถ้าอายุน้อยกว่า 35 ปี จะนิยามด้วยเกณฑ์เวลา 1 ปีเท่าเดิม แต่ถ้าฝ่ายหญิงมีอายุมากกว่า 35 ปี จะนับเวลาแค่เพียง 6 เดือน เพราะคุณภาพไข่จะลดลงไปตามวัย และจะแย่ลงไปอีกหากฝ่ายหญิงมีอายุเกินกว่า 38 ปีขึ้นไป


Fig3-1.jpg

สาเหตุของภาวะมีบุตรยากมีอะไรบ้าง?


แม้คำนิยามของภาวะมีบุตรยากจะขึ้นกับอายุฝ่ายหญิงเป็นหลัก แต่สาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากก็สามารถเกิดขึ้นได้จากทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิง


  • ทางฝ่ายชาย มักมาจาก “ความผิดปกติของอสุจิ” เป็นหลัก เช่น
    • ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองทำงานผิดปกติ
    • อัณฑะเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ การผ่าตัด หรือการฉายแสง
    • อสุจิไม่ออกมาจากการที่ท่อนำอสุจิตัน หรือมีการไหลย้อนของอสุจิกลับไปที่ท่อปัสสาวะ
    • โรคประจำตัวต่าง ๆ เช่นโรคเบาหวาน อวัยวะเพศไม่แข็งตัว หรือป่วยเป็นคางทูม ที่อาการรุนแรงจนส่งผลถึงอัณฑะ
    • ปัญหาทางจิตเวช ภาวะซึมเศร้า และความเครียดต่าง ๆ
  • ทางฝ่ายหญิง ปัจจัยหลักจะเป็นปัจจัยด้าน “อายุ” ที่ส่งผลโดยตรงกับคุณภาพของไข่ และยังมีสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยากได้เช่นกัน เช่น
    • ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อ ไม่สร้างฮอร์โมนมากระตุ้นรังไข่จนไม่เกิดการผลิตไข่
    • ความผิดปกติของรังไข่ เช่น ภาวะไข่ไม่ตกเรื้อรัง (PCOS) ภาวะรังไข่ล้มเหลวก่อนวัยอันควร (POF)
    • มีการผ่าตัดที่ตัวรังไข่หรือเกิดการติดเชื้อมาก่อน จนทำให้เหลือเนื้อรังไข่น้อย
    • เยื่อบุมดลูกเจริญผิดที่ ซึ่งอาจส่งผลให้ท่อรังไข่บวม ตัน หรืออยู่ผิดตำแหน่ง
    • ตัวมดลูกผิดรูป เป็นความผิดปกติที่มีมาแต่กำเนิด
    • โรค “ช็อกโกแลตซีสต์” ที่เกิดจากการอักเสบในอุ้งเชิงกราน จนเกิดเป็นผังพืดและอาการปวดท้องน้อยเรื้อรัง

การตรวจภาวะมีบุตรยาก


การตรวจสอบภาวะมีบุตรยากในทางการแพทย์ จะตรวจสอบได้ทั้งฝ่ายชายและหญิง โดยทั่วไปของฝ่ายชายคือการเก็บอสุจิส่งตรวจ โดยจะดูในเรื่องจำนวน เปอร์เซ็นต์การเคลื่อนไหว และรูปร่างของอสุจิ ส่วนของฝ่ายหญิงจะเป็นการตรวจภายในทั่วไป และอัลตราซาวนด์หาความผิดปกติของอวัยวะ หรือมากกว่านั้น แพทย์จะใช้วิธีฉีดสีดูท่อนำไข่ หรือส่องกล้องในช่องโพรงมดลูก เพื่อดูเรื่องของเนื้องอกติ่งเนื้อต่าง ๆ เข้ามาประกอบ


เมื่อพบสาเหตุแล้ว ก็เท่ากับว่าผู้ป่วยจะได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง เพื่อเพิ่มโอกาสการมีบุตรให้ได้มากที่สุด อย่างไรก็ตามในกรณีที่ผู้ป่วยได้รับการรักษาจากยาหรือการผ่าตัดแล้วยังไม่สามารถมีบุตรเองได้ ทางเลือกต่อไปที่มีโอกาสมากที่สุด คือการใช้เทคโนโลยีเจริญพันธุ์อย่าง “IVF หรือการทำเด็กหลอดแก้ว” เข้ามาช่วยดังที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพื่อเพิ่มโอกาสการตั้งครรภ์ในมากขึ้น


สรุป


“ภาวะมีบุตรยาก” เป็นหัวข้อที่คู่สมรสควรจะปรึกษาแพทย์ หรือวางแผนร่วมกันตั้งแต่ก่อนแต่งงาน หรืออย่างน้อยก็ควรใช้วิธีตรวจก่อน เพราะหากบางคู่พยายามมีบุตรเองแล้วมาพบเจอปัญหาเหล่านี้ทีหลัง รอจนระยะเวลาผ่านไป 6 เดือน ไปเป็น 1 ปี แล้วอายุเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนอายุ 38-39-40 ปี ก็เท่ากับว่าคุณภาพไข่ก็จะยิ่งแย่ลงไปตามอายุ โอกาสในการตั้งครรภ์ก็อาจจะน้อยลง เทคโนโลยีการทำเด็กหลอดแก้วอาจช่วยแก้ปัญหาภาวะมีบุตรยากได้


แต่อย่างไรก็ตามไม่ควรรอจนอายุ 38-39-40 ปีแล้วจึงไปพบแพทย์ เพราะยิ่งอายุมาก โอกาสการตั้งครรภ์ยิ่งน้อยลงเรื่อย ๆ ดังนั้น หากคู่สามี-ภรรยาไม่สามารถมีบุตรได้เองภายใน 6 เดือนหรือ 1 ปี ควรไปปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของการมีบุตรยาก


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital