บทความสุขภาพ

Knowledge

ออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) อาการเรื้อรังที่ต้องรีบรักษา ก่อนจะบานปลาย

นพ. ปรมินทร์ ชัยวิบูลย์ผล

ยุคสมัยนี้ โรคออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) ดูจะเป็นโรคที่คนยุคใหม่เป็นกันมากพอสมควร ด้วยพฤติกรรมการทำงานและการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เราไม่ค่อยเน้นการยืน เดิน เคลื่อนไหว หรือออกแรงเหมือนแต่ก่อน กลายเป็นการนั่งหน้าคอมพิวเตอร์ หรือก้มดูมือถือนาน ๆ แทน


อาการออฟฟิศซินโดรม เริ่มแรกคือ รู้สึกปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ สะบัก และบริเวณหลัง การนวดอาจจะช่วยให้ดีขึ้นได้ แต่ผ่านไปสักระยะหนึ่งก็จะกลับมาเป็นอีก และเป็นเรื้อรังมากขึ้น หากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่มาตรวจหาสาเหตุและทำการรักษา อาจลุกลามจนเป็นโรคไมเกรน หรืออาจเกิดโรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อที่รุนแรงขึ้นตามมาได้


บทความนี้จะพาเราเจาะลึกโรคยอดฮิตชนิดนี้ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุ อาการ พร้อมแนวทางการรักษาอย่างถูกต้อง ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว ตั้งแต่แนวทางปรับเปลี่ยนสิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมให้เหมาะสม การออกกำลังกาย ไปจนถึงการทำกายภาพบำบัด พร้อมอัปเดตเทคโนโลยีการรักษาล่าสุดที่คุณต้องรู้


ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร


Artboard-2.jpg

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด รวมถึงอาการปวดหรือชาจากอาการอักเสบจากเนื้อเยื่อและเอ็น มักเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศหรือทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์และมือถือเป็นประจำ


โรคออฟฟิศซินโดรม มีสาเหตุมาจากอะไร


Artboard-3.jpg

ออฟฟิศซินโดรม มักเกิดจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิม ๆ ซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน ไม่ค่อยได้เปลี่ยนท่าทาง รวมถึงอิริยาบถที่ไม่เหมาะสม เช่น การนั่งไขว่ห้างเป็นประจำ การนั่งตัวงอ หรือการก้มหน้านาน ๆ เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อที่ถูกใช้งานซ้ำ ๆ มีการหดเกร็ง หรือยืดค้างในรูปแบบเดิมบ่อย ๆ จนกล้ามเนื้อมัดนั้น ๆ เกิดการบาดเจ็บ หรืออาจขมวดเป็นก้อนตึง และเกิดอาการปวดตามมา


กล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ในร่างกายของเรามีลักษณะเป็นเส้นใยร้อยโยงต่อเนื่องกันหลายส่วน เมื่อกล้ามเนื้อเริ่มมีการขมวดกันเป็นปมขึ้น ก็ดึงรั้งกันไปมา ตอนแรกอาการปวดตึงอาจจะเริ่มจากจุดหนึ่ง แต่พอนานวันเข้าก็จะร้าวไปปวดอีกจุดหนึ่ง เพราะถูกดึงรั้งจากกล้ามเนื้อส่วนที่หดเกร็ง รู้ตัวอีกทีก็จะปวดเป็นบริเวณกว้าง ๆ ระบุหาตำแหน่งที่ปวดจริง ๆ ไม่ได้เลย


ธรรมชาติของคนทำงานประจำในยุคนี้ มักจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทำงานได้ยาก เพราะต้องโฟกัสกับงานที่ทำ หรือยุ่งจนลืมปรับเปลี่ยนท่าทางและหยุดพัก บ่อยครั้งจึงปล่อยให้อาการของโรคนี้มีอาการหนักมากขึ้น หรือลุกลามไปยังกล้ามเนื้อและระบบประสาทส่วนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกัน


หากปล่อยไว้โดยไม่รักษา หรือไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ก็อาจก่อให้เกิดอันตรายตามมา เช่น เสี่ยงต่อการเกิดหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท กระดูกสันหลังคด และแขนขาอ่อนแรงอีกด้วย


อาการออฟฟิศซินโดรม ที่พบได้บ่อยดังนี้


1. ปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด: เป็นกลุ่มอาการยอดฮิตของออฟฟิศซินโดรม โดยจะเริ่มจากมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก ส่วนหลัง และสะโพก และมักจะเป็นเรื้อรังไม่หายขาด


2. เส้นประสาทที่ข้อมือถูกกดทับ: เกิดขึ้นจากมีพังผืดบริเวณข้อมือ (ด้านฝ่ามือ) ทำให้เส้นประสาทบริเวณนั้นถูกกดทับ เกิดอาการปวดและชาที่นิ้วมือ ฝ่ามือ หรือแขน


3. นิ้วล็อค: เกิดจากการออกแรงที่นิ้วมือมาก ๆ และบ่อยครั้ง ทำให้เกิดการเสียดสีจนอักเสบบริเวณปลอกหุ้มเอ็น และเส้นเอ็นของนิ้วมือ มักพบอาการนี้ในกลุ่มคนที่ทำงานเป็นแม่บ้าน


4. เอ็นกล้ามเนื้ออักเสบ: เกิดการบวมหรือเจ็บที่บริเวณเอ็นกล้ามเนื้อ มักเป็นบริเวณหัวไหล่ ข้อศอก ข้อเท้า เข่า และข้อมือ ซึ่งมักเกิดจากอุบัติเหตุ การกระแทก การใช้งานรุนแรง หรือการใช้งานที่บ่อยครั้งเกินไป ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกปวดบริเวณที่มีอาการ


Artboard-4.jpg

5. อาการตาแห้ง: เกิดจากต่อมน้ำตาทำงานผิดปกติ โดยสาเหตุอาจมาจากการจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ หรือมือถือนานเกินไป


6. อาการปวดตา: เนื่องจากจ้องหน้าจอหรือมือถือนานเกินไปโดยไม่ได้พักสายตา ซึ่งในหลาย ๆ ครั้ง อาการปวดตามักก่อให้เกิดอาการปวดหัวตามมาได้


7. อาการปวดหัว: อาการปวดหัวจากออฟฟิศซินโดรม มักเกิดจากการลุกลามของปัญหากล้ามเนื้อบริเวณบ่าที่ตึง ทำให้เลือดไม่สามารถไหลไปเลี้ยงส่วนหัวได้สะดวก หรือบางครั้งอาจเกิดจากอาการปวดตาหรือตาแห้ง แล้วร้าวไปถึงหัวได้ บางคนอาจรุนแรงเป็นอาการปวดหัวไมเกรน


8. อาการปวดหลัง: เป็นอาการปวดหลังที่เกิดจากท่ายืนหรือท่านั่งไม่เหมาะสมเป็นเวลานาน หรือมีการใช้กล้ามเนื้อหลังที่รุนแรงเกินไป จนเกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ


นอกจากนี้ ออฟฟิศซินโดรม ยังมีกลุ่มอาการที่เกิดจากส่วนของกระดูกสันหลังมีปัญหา ซึ่งมักจะสัมพันธ์กันกับท่านั่งทำงานที่ไม่เหมาะสมของเราด้วย หลาย ๆ ครั้งมักเป็นอาการรุนแรงที่ควรรีบรักษา เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือโรคกระดูกสันหลังคด เป็นต้น


แนวทางการสังเกตอาการโรคออฟฟิศซินโดรมด้วยตัวเอง


ลักษณะของอาการออฟฟิศซินโดรม สังเกตได้จากอาการปวดที่มีลักษณะเรื้อรัง โดยอาจจะเริ่มจากปวดเบา ๆ ไปจนถึงปวดมาก หรืออาการปวดล้า และปวดร้าวไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เป็น ๆ หาย ๆ หรือมีอาการเป็นประจำ ซึ่งอาการปวดเหล่านี้ สามารถเกิดได้หลายส่วนในร่างกาย ได้แก่


  • บริเวณส่วนบนของร่างกาย เช่น หัว ดวงตา ท้ายทอย คอ ไหล่ สะบัก นิ้วมือ ข้อมือ ข้อศอก
  • บริเวณส่วนหลัง
  • ส่วนล่างของร่างกาย เช่น สะโพก ต้นขา เข่า ข้อเท้า

สังเกตว่า ผู้ป่วยมักจะมีอาการบ่อย ๆ หรือเกิดเรื้อรัง บางคนอาจลามไปถึงอาการปวดหัวได้ และหากเป็นมากขึ้น จะไม่สามารถชี้ตำแหน่งที่เป็นได้ชัดเจน เพราะจะรู้สึกปวดเป็นบริเวณกว้าง ๆ เนื่องจากกล้ามเนื้อและเส้นประสาทส่วนต่าง ๆ ที่รู้สึกปวดมีความเกี่ยวข้องเชื่อมต่อกัน


นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการเหน็บชา รู้สึกซ่า ๆ ซึ่งเป็นอาการของระบบประสาทอัตโนมัติ จากโรคออฟฟิศซินโดรม


หากเริ่มพบว่าตัวเองมีอาการเหล่านี้บ่อย ๆ หรือมีลักษณะเรื้อรัง เป็นไปได้ว่าเราอาจมีอาการของโรคออฟฟิศซินโดรมเข้าแล้ว ควรปรึกษาแพทย์


ใครมีโอกาสเป็นโรคออฟฟิศซินโดรมได้บ้าง


อาการออฟฟิศซินโดรม อาจพบได้ทั้งในคนทำงานแบบใช้แรงเป็นประจำ และคนที่นั่งทำงานในออฟฟิศ เนื่องจากทั้งสองกลุ่มมีโอกาสที่จะทำใช้กล้ามเนื้อในรูปแบบซ้ำ ๆ เป็นประจำ


คนทำงานในออฟฟิศ แม้ว่าคนกลุ่มนี้จะแทบไม่ได้เคลื่อนไหวอะไรเลย จนดูเหมือนว่าจะไม่ได้ใช้กล้ามเนื้อ แต่การนั่ง ยืน หรือค้างอยู่ในท่า ๆ หนึ่งนานเกินไป เช่น การก้มหน้าใช้งานมือถือ ก็ส่งผลให้กล้ามเนื้อมัดที่ใช้ในอิริยาบถนั้น ๆ บ่อย ๆ เกิดอาการตึงและปวดตามมาได้


กรณีของผู้ใช้แรงงานเป็นประจำ หรือกลุ่มนักกีฬา อาการทางกล้ามเนื้อหรือกระดูกอาจจะมาจากการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม เช่น การยกของผิดท่า การกระชากกล้ามเนื้อเร็วเกินไป การออกแรงมากเกินไป หรือต้องแบกของที่มีน้ำหนักมากเกินไป เป็นต้น ทำให้กล้ามเนื้อหรือกระดูกได้รับบาดเจ็บอย่างเฉียบพลันหรือเรื้อรัง


Artboard-5.jpg

ต่อไปนี้คือแนวทางการในสำรวจตัวเองง่าย ๆ ว่าเราเสี่ยงต่อการเป็นออฟฟิศซินโดรมหรือไม่?


  1. เรามีแนวโน้มต้องทำกิจกรรมหรือทำงานลักษณะเดิม ๆ อย่างต่อเนื่อง อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวันหรือไม่ เช่น
    1. พนักงานออฟฟิศ ที่ต้องนั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ทั้งวัน ไม่ค่อยได้ลุกไปไหน
    2. พนักงานขาย ที่ต้องยืนขายตลอดทั้งวัน (โดยเฉพาะพนักงานที่ต้องใส่รองเท้าส้นสูง)
    3. คนขายกาแฟโบราณ ที่ต้องยืนชงกาแฟ โดยออกแรงใช้มือและแขนข้างเดิมซ้ำ ๆ ทุกวัน
    4. พนักงานขับรถ ที่ต้องนั่งขับรถอยู่เป็นเวลานาน ๆ
  2. ผู้ที่มีอาการปวด ในช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับเวลาทำงาน และอาการดีขึ้นหรือไม่มีอาการในวันที่หยุดพัก
  3. ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ เป็นต้น
  4. มีเวลาพักผ่อนน้อย หรือไม่ได้พักผ่อน
  5. มีความเครียดจากการทำงานสูง หรืออยู่ในสภาพสังคมการทำงานที่เป็นพิษ
  6. ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ พอรักษาหรือยืดกล้ามเนื้อแล้ว อาการก็ดีขึ้นชั่วคราว แต่สักพักก็กลับมาเป็นอีก มักมีอาการบริเวณกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ ต้นคอ สะบัก ส่วนหลัง
  7. มีอาการปวดร้าวไปยังส่วนต่าง ๆ เช่น ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ปวดร้าวไปที่ไหล่หรือแขน ปวดร้าวลงขา สัมพันธ์กับท่าทางของเรา
  8. ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  9. ทำงานในลักษณะที่ต้องใช้แรงเป็นประจำ เช่น งานแบกหาม งานลาก ยก หรือเข็นวัสดุสิ่งของ
  10. นักกีฬา หรือผู้ที่ต้องเล่นกีฬาเป็นประจำ

แนวทางการรักษาออฟฟิศซินโดรม


หลายคนอาจลองค้นหาวิธีแก้ อาการออฟฟิศซินโดรมด้วยตนเองมาบ้างแล้ว จะพบว่าส่วนใหญ่ก็มักจะแนะนำให้เราเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ตามมาด้วยท่าบริหารร่างกายเพื่อป้องกันหรือทุเลาอาการ และหากไม่ดีขึ้นจริง ๆ จึงค่อยไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งเมื่อแบ่งเป็นหมวดหมู่ให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น จะแบ่งเป็น 3 ระยะ


วิธีแก้ออฟฟิศซินโดรมที่ได้ผลในระยะสั้น


มักจะเป็นการรักษาหรือการทำท่าบริหารร่างกายอย่างง่าย ช่วยให้อาการทุเลา ไม่เป็นหนักขึ้น มักจะใช้ในการลดอาการปวดกล้ามเนื้อคอ บ่า สะบัก หน้าอก ไหล่ แขน และหน้าท้อง ได้แก่


Artboard-6.jpg
  1. การยืดกล้ามเนื้อในขณะกำลังทำงานเป็นระยะ ๆ แบ่งเป็นการยืดเพื่อคลายกล้ามเนื้อส่วนบน และกล้ามเนื้อส่วนล่าง โดยมักจะเน้นกล้ามเนื้อที่เกิดอาการปวดบ่อย ๆ ในกลุ่มคนที่ทำงานออฟฟิศ
  2. การนวดผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หรือนวดโดยใช้ครีมแก้ปวด แปะแผ่นเจลประคบ หรือรับประทานยาแก้ปวด

โรคออฟฟิศซินโดรม รักษาที่ต้นเหตุ ได้ผลยั่งยืนกว่า


มีข้อแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นออฟฟิศซินโดรมว่า หากแก้ไขที่ต้นเหตุได้ จะเป็นผลดีที่สุด โดยสามารถทำได้ดังนี้


Artboard-7.jpg

1. การปรับพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดเวลาพักเป็นระยะ (ข้อแนะนำคือ ทุก ๆ 2 ชั่วโมงหรือเร็วกว่านั้น) การลุกขึ้นมาเคลื่อนไหวหรือบริหารผ่อนคลายกล้ามเนื้อ หมั่นปรับเปลี่ยนท่าทาง ไม่ค้างอยู่ท่าใดท่าหนึ่งนานเกินไป

ที่สำคัญควรเลือกใช้โต๊ะและเก้าอี้ที่ความเหมาะสมกับสรีระ ควรปรับระดับของการนั่งที่ถูกต้อง และปรับท่านั่งให้ถูกต้อง คือ นั่งหลังตรง จอคอมพิวเตอร์จะต้องอยู่ในระดับสายตา ไม่ก้มหรือเงย และหัวไหล่ไม่ยกขณะทำงาน


อ่านเพิ่มเติม


2. การออกกำลังกายเป็นประจำ ด้วยวิธีการที่หลากหลาย ได้แก่


  • ออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ เช่น การวิ่ง ว่ายน้ำ ปั่นจักรยาน ซึ่งช่วยทำให้การหมุนเวียนโลหิตมีประสิทธิภาพ กล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวจะมีความแข็งแรงขึ้น ป้องกันเอ็นและข้อยึด เกิดความยืดหยุ่น
  • ออกกำลังกายแบบเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยการเสริมสร้างเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของเรา เช่น การหมุน การก้ม-เงย และการเสริมสร้างกล้ามเนื้อส่วนแกนกลางลำตัว เช่น การออกกำลังกายแบบพิลาทิส จะทำให้ลดโอกาสบาดเจ็บของ กระดูกสันหลัง ซึ่งมักได้รับผลกระทบโดยตรงจากท่านั่งของเรา
  • ออกกำลังกายแบบยืดเหยียด มีประโยชน์ในการยืดและบริหารกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ทำให้ข้อต่อเคลื่อนไหวได้เป็นปกติ และลดอาการตึงและเมื่อยล้าของกล้ามเนื้อ

สำหรับรายที่มีอาการมาก ๆ แล้ว หรือพยายามเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแล้ว แต่อาการปวดกล้ามเนื้อยังไม่ดีขึ้น มีอาการปวดเรื้อรัง ปวดจนนอนไม่หลับ ทำงานไม่ได้ มีภาวะแขนขาอ่อนแรง หรือบางราย อาจมีสาเหตุหรือมีภาวะซ่อนเร้นอื่น ๆ ควรเข้ามาพบแพทย์ เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัด หากเป็นอาการออฟฟิศซินโดรมจริง ก็ต้องรักษากับแพทย์ด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู


ออฟฟิศซินโดรม รักษาที่ไหน เลือกอย่างไร


โรคออฟฟิศซินโดรม เป็นโรคที่มีสาเหตุหลักมาจากพฤติกรรมของเราเอง และยังมีความเกี่ยวข้องกับระบบกล้ามเนื้อ ประสาท และกระดูก จะรักษาหรือแก้ไขเพียงประเด็นใดประเด็นหนึ่งไม่ได้ จึงต้องอาศัยการตรวจหาสาเหตุ และวางแผนรักษาที่บูรณาการหลายด้าน ดังนี้


รักษาออฟฟิศซินโดรมแบบบูรณาการ โดยทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ฟื้นฟู นักกายภาพบำบัด และหลากหลายสาขาวิชาชีพ


เนื่องจากทีมแพทย์ที่มุ่งเน้นการรักษาโรคนี้โดยตรงนั้น จะเข้าใจและเชี่ยวชาญในการวิเคราะห์หาสาเหตุอาการและวางแผนการรักษาแบบบูรณาการ ทั้งการใช้ยา กายภาพบำบัด ประเมินเพื่อจัดสมดุลของโครงสร้างร่างกาย และการใช้เครื่องมือทางการแพทย์ในการบำบัดอาการได้อย่างเหมาะสมในทุกมิติ


ใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์และเทคโนโลยีการรักษาที่หลากหลายและเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรคออฟฟิศซินโดรม


ทั้งนี้ อาจมีการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น X-ray, MRI, Electrodiagnosis ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ อาการ และความรุนแรงของโรค


  • เครื่องกระตุ้นแม่เหล็กไฟฟ้า หรือ Peripheral Magnetic Stimulation (PMS) เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้เครื่องมือในการปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า มากระตุ้นระบบประสาท ซึ่งการรักษาช่วยลดอาการปวด อาการชา และการอักเสบ จากการทำงานที่ผิดปกติของปลายประสาทให้ดีขึ้น
  • คลื่นกระแทกช็อคเวฟ (Shockwave Therapy) โดยใช้คลื่นกระแทกบนกล้ามเนื้อที่มีอาการปวด ช่วยลดอาการปวดและกระตุ้นเนื้อเยื่อให้มีการซ่อมแซมและสร้างเสริม โดยเฉพาะกรณีอาการปวดที่เรื้อรังของระบบกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น กระดูกและข้อ
  • เทคโนโลยีจัดกระดูกสันหลัง ปัจจุบัน มีเตียงจัดกระดูกสันหลังที่หมุนได้สามมิติ เหมาะสำหรับรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง และเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดกระดูกของผู้ที่มีปัญหากระดูกสันหลังคด

Artboard-9.jpg
  • การรักษาโดยใช้ความเย็นจัด (Whole Body Cryotherapy หรือ Ice lab) เพื่อกระตุ้นให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายตอบสนองต่อความเย็นจัดถึง -110 C เป็นเวลา 3 นาที โดยกระตุ้นร่างกายให้ปรับตัวสู้กับความปวดและความเครียด

Artboard-8.jpg

มีระบบสนับสนุนการรักษาแบบบูรณาการที่หลากหลาย


การมีสภาพแวดล้อมการรักษาแบบบูรณาการ จะยิ่งเอื้อให้ผู้ป่วยสามารถใช้บริการเพื่อรักษา บรรเทา และป้องกันอาการออฟฟิศซินโดรมได้หลากหลาย เหมาะสมกับตัวเองได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ป่วยสามารถหายจากโรคนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ


สามารถเข้ามาเยี่ยมชมและขอคำปรึกษาเพื่อรับการรักษาออฟฟิศซินโดรมแบบครบวงจรได้ที่นี่

สรุป


ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) เป็นอาการที่แม้จะไม่ได้เสี่ยงถึงชีวิต แต่สร้างความรำคาญและสามารถลุกลามไปยังกล้ามเนื้อหรือกระดูกส่วนอื่น ๆ ได้ เรียกได้ว่า ยิ่งเป็นแล้วปล่อยไว้ จะยิ่งทรมาน ส่งผลกระทบต่อการทำงาน การใช้ชีวิต รวมถึงสภาพจิตใจได้มาก


แนวทางการรักษาออฟฟิศซินโดรม สามารถเริ่มได้ที่ตัวเราเอง ด้วยการปรับพฤติกรรมตัวเองเสียใหม่ ลดพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม พยายามพักผ่อน ยืดเหยียดบริหารกล้ามเนื้อบ้าง และจัดสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการทำงาน เสาะหาวิธีลดความเครียดหรือลดการทำงานหนัก ซึ่งจะเป็นแนวทางการป้องกันที่ยั่งยืนที่สุด


อย่างไรก็ตาม นอกจากการรักษาหรือป้องกันด้วยตัวเองแล้ว หากมีอาการมากจริง ๆ ควรเข้ารับการรักษาหรือบรรเทาอาการให้ทุเลาลง ตั้งแต่การรักษาที่เน้นให้อาการทุเลาลงแบบระยะสั้น เช่น การนวดผ่อนคลาย การใช้ยารักษา ไปจนถึงการรักษาด้วยเวชศาสตร์ฟื้นฟู การทำกายภาพบำบัด และการบูรณาการแนวคิดการรักษา รวมถึงประยุกต์ใช้เทคโนโลยีทางการแพทย์ต่าง ๆ เข้ามาช่วย


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ปรมินทร์ ชัยวิบูลย์ผล

นพ. ปรมินทร์ ชัยวิบูลย์ผล

ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital