บทความสุขภาพ

Knowledge

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

นพ. ธัญวัจน์ ศาสนเกียรติกุล

น้ำหนักขึ้นง่าย ตัวบวม เหนื่อยง่าย หัวใจเต้นช้า อาการเหล่านี้อาจดูไม่ผิดปกติมากนัก แต่หากตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด หลายครั้งก็มักจะพบ ‘ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์’ ซึ่งเป็นภาวะที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานแทบจะทุกส่วนของร่างกาย ไปดูกันว่าไฮโปไทรอยด์ หรือ Hypothyroidism คืออะไร ไฮโปไทรอยด์มีอาการอะไรบ้าง วิธีรักษาและป้องกันภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์สามารถทำได้อย่างไร


Key Takeaways


  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) คือ ภาวะที่ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย ซึ่งความผิดปกติที่เกิดขึ้นอาจมาจากต่อมไทรอยด์เอง หรือต่อมใต้สมองไม่สามารถกระตุ้นให้ต่อมไทรอยด์ทำงานตามปกติ
  • อาการของผู้ที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ น้ำหนักมาก ตัวบวมฉุ เหนื่อยง่าย เชื่องช้า หัวใจเต้นช้า ท้องผูก ผิวแห้ง ไขมันในเลือดสูง ซึมเศร้า ความจำไม่ดี เป็นต้น
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์สามารถรักษาได้โดยการให้ยาฮอร์โมนทดแทน ซึ่งปกติแล้วมักจะต้องได้รับยาไปตลอดชีวิต เพื่อให้ฮอร์โมนไทรอยด์ในร่างกายอยู่ในระดับปกติ

Hypothyroidism คืออะไร?


ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ (Hypothyroidism) คือ ภาวะที่ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดต่ำกว่าปกติจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย และส่งผลกระทบต่อการทำงานของระบบต่าง ๆ ของร่างกายให้ทำงานช้าลง และเกิดอาการผิดปกติในหลายระบบของร่างกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งอาจใช้เวลานานหลายปีกว่าจะแสดงอาการผิดปกติให้เห็น


ต่อมไทรอยด์ เป็นอวัยวะหนึ่งในระบบต่อมไร้ท่อ อยู่ที่บริเวณหน้าลำคอ มีหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นฮอร์โมนสำคัญที่มีผลต่อการเผาผลาญพลังงาน การควบคุมอุณหภูมิร่างกาย การไหลเวียนโลหิต ตลอดจนการพัฒนาของสมองและการเจริญเติบโตในเด็ก ซึ่งการทำงานของต่อมไทรอยด์นั้นจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนจากต่อมใต้สมองอีกที ความผิดปกติที่เกิดขึ้นจึงสามารถเกิดได้ 2 รูปแบบ ได้แก่


  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แบบปฐมภูมิ (Primary Hypothyroidism) เกิดจากความผิดปกติที่ต่อมไทรอยด์เอง ทำให้การผลิตฮอร์โมนไทรอยด์น้อยกว่าปกติ
  • ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แบบทุติยภูมิ (Secondary Hypothyroidism) เกิดจากความผิดปกติของต่อมใต้สมอง จนส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์ ทำให้ต่อมไทรอยด์ไม่ถูกกระตุ้นให้หลั่งฮอร์โมนตามปกติ

นอกจากฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำจะสามารถสร้างปัญหาให้กับร่างกายแล้ว การมีฮอร์โมนไทรอยด์สูงก็สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายได้เช่นกัน ทำความรู้จักภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้ที่นี่


Hypothyroidism เกิดจากสาเหตุใด


Hypothyroidism สาเหตุ

Hypothyroidism หรือภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ เกิดได้จากหลายสาเหตุ


ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แบบปฐมภูมิ (Primary Hypothyroidism) มักมีสาเหตุมาจาก


  • ผลกระทบจากการรักษาภาวะไฮเปอร์ไทรอยด์ด้วยการกลืนแร่ไอโอดีน
  • ผลกระทบจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์
  • กลุ่มโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง เช่น โรคไทรอยด์อักเสบชนิดฮาชิโมโต (Hashimoto’s Thyroiditis)
  • ผลข้างเคียงจากยาบางชนิดที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมไทรอยด์
  • ภาวะไม่มีต่อมไทรอยด์แต่กำเนิด หรือต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนได้น้อยแต่กำเนิด

ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์แบบทุติยภูมิ (Secondary Hypothyroidism) มักมีสาเหตุจาก


  • โรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง
  • ผลกระทบจากการรักษาโรคเนื้องอกต่อมใต้สมอง เช่น การฉายรังสี การผ่าตัด
  • อุบัติเหตุที่ส่งผลกระทบต่อการทำงานของต่อมใต้สมอง

อาการ Hypothyroidism เป็นอย่างไร


ผู้ที่มีภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำมักจะแสดงอาการผิดปกติเกือบทุกระบบ แต่ระดับความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ขาด โดยอาการที่พบได้บ่อยในผู้ป่วย Hypothyroidism คือ


  • เหนื่อยง่าย อ่อนเพลียตลอดเวลา
  • น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น แม้ว่าจะรับประทานอาหารเท่าเดิม
  • ตัวบวม อ้วนฉุ
  • ผิวแห้ง หมองคล้ำ
  • ขี้หนาว ทนต่อความเย็นได้น้อย หรืออาจทนต่อความเย็นไม่ได้เลย
  • ผมร่วง ผมบาง คิ้วบาง
  • ท้องผูกเรื้อรัง
  • ความจำสั้น ไม่ค่อยมีสมาธิ
  • เชื่องช้า ซึมเศร้า
  • หัวใจเต้นช้า
  • ปวดข้อ กล้ามเนื้อลีบ
  • เหงื่อออกน้อย
  • ไขมันในเลือดสูง
  • เสียงแหบ พูดช้า
  • ในผู้หญิงอาจมีรอบเดือนมาไม่ปกติ หรือภาวะมีบุตรยาก ในผู้ชายอาจมีหน้าอกใหญ่
  • ในเด็กอาจมีผลกระทบต่อพัฒนาการและสติปัญญา
  • ในบางรายอาจมีอาการต่อมไทรอยด์โต โรคคอพอก

แนวทางการวินิจฉัยภาวะ Hypothyroidism


การวินิจฉัยภาวะ Hypothyroidism

การตรวจวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือ Hypothyroidism นั้นไม่สามารถประเมินได้จากการสังเกตอาการผู้ป่วยเพียงอย่างเดียว เนื่องจากอาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ไม่มีความจำเพาะ และมีความใกล้เคียงกับโรคอื่น ๆ ดังนั้นการยืนยันถึงภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์จะต้องทำโดยการตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำในการวินิจฉัย และช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสมต่อไป


วิธีการรักษาภาวะ Hypothyroidism


วิธีการรักษาภาวะ Hypothyroidism คือการให้ยาทดแทนฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งตัวยาจะไปทำหน้าที่แทนฮอร์โมนไทรอยด์ ให้ร่างกายมีระดับฮอร์โมนไทรอยด์เพียงพอต่อความต้องการ และลดอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นจากการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ได้


ในการรักษาด้วยยาทดแทนฮอร์โมน แพทย์จะมีการปรับยาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย ซึ่งจะมีการนัดมาตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดอยู่เสมอ ในช่วงแรกอาจนัดติดตามอาการทุก 1-2 เดือน หากระดับฮอร์โมนไทรอยด์เป็นปกติ และอาการคงที่ อาจนัดห่างออกไปเป็นทุก ๆ 1 ปี


อาการแทรกซ้อนจากภาวะ Hypothyroidism


ผู้ที่มีภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ มีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้ ยกตัวอย่างเช่น


  • โรคหัวใจและหลอดเลือด : ผู้ที่มีฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ทำให้ระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูง ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
  • คอพอก : ต่อมไทรอยด์ที่ผิดปกติจะถูกฮอร์โมนต่อมใต้สมองกระตุ้น จนทำให้ต่อมไทรอยด์มีขนาดใหญ่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการหายใจและการกลืนได้
  • ภาวะมีบุตรยาก : ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่ำสามารถรบกวนการตกไข่ ทำให้เกิดภาวะมีบุตรยาก
  • ภาวะซึมเศร้า : ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่ำทำให้การทำงานของสมองช้าลง ส่งผลต่ออารมณ์และสุขภาพจิต
  • ทารกพิการ : การเกิดภาวะ Hypothyroidism ในหญิงตั้งครรภ์ อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของทารกในครรภ์
  • Myxedema : ภาวะแทรกซ้อนรุนแรงที่สุดของ Hypothyroidism ที่อาจทำให้ทนหนาวไม่ได้ หมดสติ ชัก หรือเสียชีวิต หากไม่ได้รับการรักษาเร่งด่วน ซึ่งมีโอกาสพบได้น้อยมาก

ภาวะ Hypothyroidism สามารถป้องกันได้หรือไม่?


วิธีดูแลตัวเองเมื่อเป็นไทรอยด์ต่ำ

ภาวะไฮโปไทรอยด์ Hypothyroidism มักจะเกิดจากสาเหตุที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งจากผลข้างเคียงของการรักษาโรคบางชนิด หรือภาวะแต่กำเนิด อย่างไรก็ตาม ยังสามารถลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรคได้ด้วยการสังเกตอาการตนเองอยู่เสมอ พร้อมเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ การตรวจพบตั้งแต่ระยะแรก จะช่วยให้สามารถรักษาได้อย่างรวดเร็ว และลดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว


Hypothyroidism ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ รักษาไว ลดผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว


ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือ Hypothyroidism คือความผิดปกติของระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ต่ำจนไม่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จึงส่งผลกระทบต่อการทำงาน และแสดงออกมาในรูปแบบอาการต่าง ๆ อย่างเช่น น้ำหนักขึ้น หัวใจเต้นช้า อ่อนเพลีย เชื่องช้า ที่หากปล่อยไว้ไม่รักษาอาจทำให้อาการรุนแรง และเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายได้


ศูนย์ไทรอยด์และผ่าตัดไทรอยด์ โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้การรักษา ตรวจวินิจฉัยภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ โดยมุ่งเน้นถึงผลการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยที่สุด ด้วยทีมแพทย์เฉพาะทางโรคต่อมไร้ท่อ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างตรงจุดและปลอดภัย พร้อมติดตามอาการอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนในระยะยาว


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Hypothyroidism


ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ เมื่อไหร่ควรพบแพทย์?


ควรพบแพทย์หากมีอาการของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ เช่น รู้สึกอ่อนเพลีย น้ำหนักขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ ท้องผูก ผิวแห้ง บวมน้ำ ฯลฯ


กลุ่มเสี่ยงของภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์มีใครบ้าง?


ผู้ที่มีภาวะคอพอก, ผู้ที่ผ่านการรักษาภาวะไฮโปไทรอยด์ด้วยการกลืนแร่และการผ่าตัด, ผู้ที่ได้รับการฉายรังสีบริเวณต่อมไทรอยด์ คอ หรือหน้าอก, ผู้ที่มีคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคไทรอยด์, หญิงตั้งครรภ์, ผู้ที่เป็นโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง


References


Hypothyroidism (Underactive Thyroid). (n.d.). National Institute of Diabetes and Digestive and Kidney Diseases. https://www.niddk.nih.gov/health-information/endocrine-diseases/hypothyroidism


Hypothyroidism (Underactive Thyroid). (2024, November 24). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/12120-hypothyroidism


Mayo Clinic Staff. (2022, December 10). Hypothyroidism (Underactive Thyroid). Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/hypothyroidism/symptoms-causes/syc-20350284

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ธัญวัจน์ ศาสนเกียรติกุล

นพ. ธัญวัจน์ ศาสนเกียรติกุล

ศูนย์ศัลยกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital