บทความสุขภาพ

Knowledge

กระดูกหัก ดูแลอย่างไรให้หายเร็ว

นพ. ณัฐวุฒิ ไพสินสมบูรณ์

กระดูกหักเป็นภาวะที่หลายคนอาจมองว่าเป็นเพียงแค่อุบัติเหตุเล็กน้อย แต่ในความเป็นจริง ภาวะกระดูกหักนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันและคุณภาพชีวิตโดยรวม นอกจากความเจ็บปวดแล้ว ภาวะกระดูกหักยังสามารถนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อ การสูญเสียการเคลื่อนไหว หรือแม้กระทั่งภาวะกระดูกไม่ติดกันที่ทำให้ต้องได้รับการรักษายาวนานขึ้น หากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้อง การบาดเจ็บเล็กน้อยอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่ส่งผลต่อความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันและคุณภาพชีวิตโดยรวมได้


กระดูกหักคืออะไร?


กระดูกหัก (Fracture) คือภาวะที่กระดูกแตกหรือหักจากแรงกดหรือแรงกระแทกที่มากเกินไป ทำให้โครงสร้างของกระดูกไม่สามารถรับน้ำหนักหรือแรงกดดันได้จนทำให้กระดูกแตกหรือหัก กระดูกหักสามารถเกิดขึ้นได้กับทั้งกระดูกชิ้นใหญ่และกระดูกชิ้นเล็ก เช่น กระดูกข้อมือ กระดูกแขน ขา ซี่โครง กระดูกสันหลัง กระดูกสะโพก


กระดูกหักสามารถเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น อุบัติเหตุทางรถยนต์ การหกล้ม การถูกแรงกระแทกอย่างรุนแรง หรือบางครั้งอาจเกิดจากการใช้งานกระดูกมากเกินไป หรือมีภาวะการเสื่อมสภาพของกระดูก เช่น ในกรณีของผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุน (Osteoporosis)


อาการที่สงสัยกระดูกหัก


หากเกิดอาการดังต่อไปนี้ อาจเป็นสัญญาณของกระดูกหัก หากคุณหรือพบเห็นผู้ที่มีอาการดังต่อไปนี้ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที


  • มีอาการปวดแบบเฉียบพลันและรุนแรง: เป็นอาการปวดที่เกิดขึ้นอย่างทันทีและรุนแรงบริเวณที่ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งอาการปวดอาจแย่ลงเมื่อพยายามจะขยับหรือเคลื่อนไหวส่วนที่ได้รับบาดเจ็บ
  • มีอาการบวมและช้ำ: บริเวณที่มีกระดูกหักจะมีอาการบวม ช้ำ หรือแดง ซึ่งเกิดจากการแตกของหลอดเลือดบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ กระดูกที่หัก
  • ไม่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวได้เต็มที่: ส่วนที่เกิดกระดูกหักจะขยับได้น้อย หรือขยับไม่ได้เลย หรือในบางครั้งการหักของกระดูกชิ้นที่ได้รับบาดเจ็บ อาจมีผลให้ไม่สามารถขยับข้อต่อที่อยู่ใกล้เคียงได้
  • แขนขา หรือส่วนที่ได้รับบาดเจ็บมีการผิดรูป: กระดูกหักอาจทำให้ส่วนของร่างกายเกิดการผิดรูปไป เช่น แขนหรือขาที่ผิดรูป หรือไม่อยู่ในแนวตรง
  • มีเสียงกรอบแกรบหรือเสียงแตก: เมื่อเคลื่อนไหวส่วนที่กระดูกหัก อาจได้ยินเสียงกรอบแกรบหรือเสียงแตก
  • มีแผลเปิดและกระดูกทะลุออกมานอกผิวหนัง: ในกรณีที่กระดูกหักทะลุผิวหนังออกมา อาจเห็นกระดูกโผล่ออกมาจากแผล ซึ่งจำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน ทั้งนี้เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

กระดูกหักมีกี่แบบ?


การแบ่งประเภทของกระดูกหักสามารถแบ่งได้เป็นหลายรูปแบบตามลักษณะและสาเหตุของการหัก โดยทั่วไปสามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท ดังนี้


  • กระดูกหักแบบที่ไม่มีแผลเปิด (Closed Fracture): เป็นกระดูกหักที่เกิดขึ้นโดยที่ชิ้นส่วนของกระดูกยังคงอยู่ในเนื้อเยื่อ ไม่ได้ทะลุผิวหนังออกมา ทำให้ไม่มีแผลเปิดที่ผิวหนัง กระดูกหักประเภทนี้มักจะพบได้บ่อย มีโอกาสฟื้นตัวได้ดีหากได้รับการดูแลรักษาอย่างเหมาะสม มักเกิดจากการหกล้ม อุบัติเหตุ หรือแรงกระแทกต่าง ๆ
  • กระดูกหักแบบที่มีแผลเปิด (Open หรือ Compound Fracture): เป็นกระดูกหักแบบที่มีกระดูกทะลุผิวหนังออกมา ทำให้มีแผลเปิด และกระดูกอาจสัมผัสกับภายนอก ซึ่งอาจเกิดจากการที่กระดูกถูกแรงกระแทกอย่างรุนแรงหรือถูกบิดอย่างแรง กระดูกหักแบบนี้มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ เนื่องจากกระดูกมีการสัมผัสกับเชื้อโรคภายนอก

นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งประเภทของกระดูกหัก ตามลักษณะของการหัก ดังนี้


  • กระดูกหักทั่วไป (Simple Fracture): กระดูกหักชนิดนี้เป็นการที่กระดูกหักออกเป็นสองชิ้น มักพบในอุบัติเหตุหรือการหกล้ม
  • กระดูกยุบตัว (Compression Fracture): กระดูกยุบตัวคือการที่กระดูกได้รับแรงกระแทกอย่างรุนแรงจนเกิดการยุบตัว โดยเฉพาะในกระดูกสันหลัง ซึ่งมักพบในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน
  • กระดูกแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ (Comminuted Fracture): กระดูกหักชนิดนี้หมายถึงกระดูกที่หักออกเป็นชิ้นเล็ก ๆ มากกว่า 3 ชิ้นขึ้นไป มักเกิดจากอุบัติเหตุที่รุนแรง เช่น อุบัติเหตุรถยนต์ หรือการตกจากที่สูง
  • กระดูกหักแบบเกลียว (Spiral Fracture): กระดูกหักแบบเกลียวเกิดจากการที่กระดูกถูกบิดหรืองอจนเกิดการหักเป็นลักษณะเกลียวหรือสกรู มักพบในการเล่นกีฬาหรืออุบัติเหตุที่มีแรงบิดสูง
  • กระดูกเดาะ (Greenstick Fracture): กระดูกเดาะหมายถึงกระดูกที่หักเพียงข้างเดียว ส่วนอีกด้านหนึ่งยังคงต่อกันอยู่ หรือเกิดการโค้งงอไปตามแรงที่กระแทก ซึ่งมักเกิดในเด็ก เนื่องจากกระดูกของเด็กมีความยืดหยุ่นมากกว่ากระดูกของผู้ใหญ่
  • ปุ่มกระดูกหัก (Avulsion Fracture): การหักชนิดนี้เกิดจากกระดูกถูกดึงหรือกระชากอย่างแรง ทำให้ส่วนของกระดูกที่ปุ่มหรือปมกระดูกหลุดออกไป มักพบในบริเวณหัวไหล่ หัวเข่า และข้อเท้า เป็นการหักที่มักเจอในนักกีฬา
  • กระดูกหักแนวขวาง (Transverse Fracture): กระดูกหักในแนวขวางคือการหักของกระดูกที่เกิดในแนวขวางของกระดูก มักเกิดจากการกระแทกโดยตรงหรือแรงกระแทกที่เกิดขึ้นในแนวตั้งฉาก
  • กระดูกหักแบบเฉียง (Oblique Fracture): กระดูกหักแบบนี้มักเกิดจากกระดูกที่หักในแนวเฉียงหรือลาดลง มักเกิดจากแรงกระแทกที่มาจากมุมเฉียง
  • กระดูกหักยุบเข้าหากัน (Impacted Fracture): กระดูกหักชนิดนี้เกิดจากการที่กระดูกสองฝั่งถูกกดเข้าหากัน ทำให้กระดูกแตกและยุบลงทั้งสองด้าน มักพบในกรณีของอุบัติเหตุที่มีแรงกระแทกสูง เช่น การตกจากที่สูง
  • กระดูกหักจากความเครียด (Stress Fracture): เกิดจากการใช้งานกระดูกอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จนทำให้กระดูกเกิดรอยร้าวเล็ก ๆ พบได้บ่อยในนักกีฬา เช่น นักวิ่ง หรือผู้ที่ต้องทำกิจกรรมที่ใช้งานกระดูกซ้ำ ๆ เป็นเวลานาน
  • กระดูกหักจากโรคหรือความผิดปกติอื่น ๆ (Pathologic Fracture): เกิดจากภาวะหรือโรคที่ทำให้กระดูกอ่อนแอลง เช่น โรคกระดูกพรุน มะเร็งกระดูก หรือโรคที่ทำให้มวลกระดูกลดลง

ใครบ้างเสี่ยงกระดูกหัก?


กระดูกหักสามารถพบได้ในทุกเพศ และทุกวัย แต่กลุ่มที่มีความเสี่ยงของการเกิดกระดูกหักมากกว่าคนทั่วไป ได้แก่


  1. ผู้สูงอายุ: ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกเริ่มมีความหนาแน่นน้อยลง นอกจากนี้ในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนจะทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการหกล้มโอกาสเกิดกระดูกหักมากขึ้น
  2. นักกีฬาและผู้ที่ทำกิจกรรมที่อาจเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย: ผู้ที่เล่นกีฬาที่มีการปะทะสูง เช่น ฟุตบอล บาสเกตบอล หรือมวย จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักจากการถูกกระแทก นอกจากนี้นักกีฬาที่ทำกิจกรรมที่ใช้แรงกดต่อกระดูกซ้ำ ๆ เช่น นักวิ่ง นักยกน้ำหนัก ก็มีโอกาสที่จะเกิดกระดูกหักได้มากขึ้น
  3. ผู้ที่มีภาวะกระดูกพรุน: ภาวะกระดูกพรุนทำให้กระดูกสูญเสียแคลเซียมและแร่ธาตุอื่น ๆ ไป ทำให้กระดูกบางลง ทำให้กระดูกหักได้ง่ายแม้จะเป็นแรงกระแทกที่ไม่รุนแรงก็ตาม
  4. เด็ก: เด็กมีความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกหักมากกว่าผู้ใหญ่เนื่องจากกระดูกยังไม่แข็งแรงเต็มที่ และมีโอกาสหกล้มระหว่างการเล่นหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตาม ภาวะกระดูกในเด็กมักจะหายเร็วกว่าผู้ใหญ่ เพราะกระดูกมีการเจริญเติบโตดี
  5. ผู้ที่หกล้มบ่อย ๆ: โดยเฉพาะในผู้สูงอายุ การหกล้มบ่อย ๆ เป็นสัญญาณว่ามีความเสี่ยงต่อการหักกระดูกเพิ่มขึ้น หรือผู้ที่มีปัญหาทางด้านการทรงตัวหรือมีโรคประจำตัวที่ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงก็มักมีโอกาสหกล้มได้ง่าย เพิ่มความเสี่ยงของภาวะกระดูกหัก: ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิดกระดูกหัก เนื่องจากกระดูกเริ่มมีความหนาแน่นน้อยลง นอกจากนี้ในผู้สูงอายุที่มีภาวะกระดูกพรุนจะทำให้กระดูกหักง่ายขึ้น เพิ่มความเสี่ยงในการหกล้มโอกาสเกิดกระดูกหักมากขึ้น

กระดูกหักรักษาอย่างไร?


การรักษากระดูกหักต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ เพื่อให้แพทย์ประเมินการรักษาที่เหมาะสมกับลักษณะและความรุนแรงของการหัก ซึ่งมีวิธีการรักษาหลัก ๆ ดังนี้


  1. การดามกระดูก (Splinting): การดามกระดูกใช้ในกรณีที่กระดูกหักไม่รุนแรงหรือเป็นการปฐมพยาบาลเบื้องต้นเพื่อลดความเจ็บปวดและป้องกันการเคลื่อนไหวที่ไม่เหมาะสม การดามอาจใช้วัสดุชั่วคราว เช่น ผ้าพันหรือกระดาษแข็ง และสามารถถอดออกได้ง่ายกว่าการใส่เฝือก
  2. การใส่เฝือก (Casting): โดยเฝือกจะทำหน้าที่ในการยึดกระดูกให้อยู่ในตำแหน่งที่ถูกต้องขณะฟื้นตัว ป้องกันการเคลื่อนไหวของกระดูกที่หัก เฝือกมักทำจากปูนปลาสเตอร์หรือวัสดุสังเคราะห์ มีทั้งแบบที่คลุมทั้งแขนหรือขา และแบบเฉพาะจุดที่หัก ระยะเวลาที่ต้องใส่เฝือกขึ้นอยู่กับตำแหน่งและความรุนแรงของการหัก
  3. การดึงกระดูก (Traction): ใช้ในกรณีที่กระดูกหักแล้วชิ้นส่วนของกระดูกเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่ง การดึงกระดูกช่วยจัดกระดูกให้เข้าที่ก่อนที่จะให้การรักษาต่อไป การดึงกระดูกมักใช้กับการหักของกระดูกบริเวณสะโพกหรือกระดูกสันหลัง
  4. การผ่าตัด (Surgery): การผ่าตัดเป็นการรักษาในกรณีที่กระดูกหักมีความซับซ้อน เช่น กระดูกแตกเป็นชิ้นเล็ก ๆ หรือกระดูกเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่ง
  5. การทำกายภาพบำบัดฟื้นฟู (Rehabilitation): หลังจากรักษากระดูกหักแล้ว การทำกายภาพบำบัดเป็นขั้นตอนสำคัญอย่างหนึ่ง เพราะช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและฟื้นฟูการเคลื่อนไหว การทำกายภาพอาจรวมถึงการออกกำลังกายเฉพาะจุด การใช้เครื่องช่วยฟื้นฟู หรือการนวดบำบัด

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อกระดูกหัก


เมื่อมีกระดูกหัก มักใช้เวลานานกว่าจะหายเป็นปกติ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น และช่วยให้อาการกระดูกหักหายเร็วขึ้น ผู้ป่วยไม่ควรทำสิ่งเหล่านี้


  • การเคลื่อนไหวหรือใช้งานบริเวณที่หัก: การเคลื่อนไหวหรือพยายามใช้งานบริเวณที่หักโดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์อาจทำให้กระดูกเคลื่อนออกจากตำแหน่งและทำให้กระบวนการสมานตัวของกระดูกช้าลง นอกจากนี้ยังอาจทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณเนื้อเยื่อรอบ ๆ เพิ่มขึ้นอีกด้วย
  • พยายามจัดกระดูกเอง: หากสงสัยว่ากระดูกหัก ไม่ควรพยายามจัดกระดูกกลับเข้าที่เองเพราะอาจทำให้กระดูกเคลื่อนที่ออกจากตำแหน่งที่ควรอยู่ หรือทำให้เนื้อเยื่อรอบข้างได้รับบาดเจ็บ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการรักษาอย่างถูกต้องเหมาะสม
  • รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพอ: การได้รับแคลเซียมและวิตามินดีไม่เพียงพออาจทำให้กระดูกฟื้นตัวช้าลง เพราะแคลเซียมเป็นส่วนประกอบสำคัญของกระดูก และวิตามินดีช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม
  • การสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์: การสูบบุหรี่จะทำให้การไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณกระดูกที่หักลดลง ทำให้กระบวนการสมานตัวของกระดูกช้าลง ส่วนแอลกอฮอล์จะลดการดูดซึมแร่ธาตุที่จำเป็นต่อการสร้างกระดูกใหม่
  • ไม่ไปพบแพทย์ตามนัด: การไม่ติดตามการรักษา หรือไม่ไปพบแพทย์ตามนัด หรือการไม่ทำกายภาพบำบัดตามคำแนะนำของแพทย์ อาจทำให้กระดูกฟื้นตัวช้าลงหรือไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่

ทำอย่างไรให้กระดูกหักหายเร็ว?


การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และดูแลสุขภาพอย่างถูกต้อง จะช่วยทำให้การฟื้นตัวจากกระดูกเร็วขึ้นได้


  1. พักผ่อนเพียงพอ: เมื่อเกิดภาวะกระดูกหัก ร่างกายต้องใช้ระยะเวลานานในการซ่อมแซมและสร้างเนื้อเยื่อใหม่ ซึ่งจำเป็นต้องให้ร่างกายได้รับการพักผ่อนอย่างเพียงพอ และควรหลีกเลี่ยงการใช้งานบริเวณที่หัก
  2. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีสูง: การรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมสูง เช่น นม ชีส โยเกิร์ต ผักใบเขียว และปลาแซลมอน ช่วยเสริมสร้างกระดูกให้แข็งแรง วิตามินดีซึ่งพบได้ในปลาที่มีไขมัน เช่น ปลาซาร์ดีน และปลาทูน่า รวมถึงไข่แดงและนมเสริมวิตามินดี จะช่วยเพิ่มการดูดซึมแคลเซียม ทำให้กระดูกหักหายเร็วขึ้น
  3. ออกกำลังกายเบา ๆ ตามคำแนะนำของแพทย์: เมื่อแพทย์พิจารณาว่าสามารถออกกำลังกายได้ การออกกำลังกายเบา ๆ เช่น การเดินหรือการยืดเหยียด สามารถช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดไปยังบริเวณกระดูกที่หัก เพิ่มอัตราการซ่อมแซมเนื้อเยื่อ และเสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อที่ไม่ได้ใช้งานมานาน
  4. ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์: การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ การรับประทานยาอย่างถูกต้อง การทำกายภาพบำบัด และการใช้อุปกรณ์ช่วยพยุงจะช่วยให้กระดูกหายเร็วขึ้นและลดความเสี่ยงต่อการหักซ้ำ ในบางกรณี แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานอาหารเสริมแคลเซียมหรือวิตามินดีเพิ่มเติมเพื่อเร่งการฟื้นตัวของกระดูก ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเริ่มรับประทานอาหารเสริมใด ๆ

การป้องกันกระดูกหัก


การป้องกันกระดูกหักสามารถทำได้โดยการเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูกและหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง ดังนี้


  1. รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมและวิตามินดีอย่างเพียงพอ: เพื่อช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของกระดูก ช่วยป้องกันโรคกระดูกพรุนและลดความเสี่ยงต่อการหัก อาหารที่ควรบริโภคเป็นประจำ เช่น ผลิตภัณฑ์นม ผักใบเขียว ปลา และไข่
  2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ: อาจเลือกออกกำลังกายที่เสริมสร้างความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูก เช่น การเดิน วิ่ง การยกน้ำหนัก และการทำโยคะ ซึ่งช่วยเพิ่มความหนาแน่นของกระดูกและลดความเสี่ยงต่อการหัก นอกจากนี้การออกกำลังกายยังช่วยให้การทรงตัวดีขึ้นและลดโอกาสการหกล้มในผู้สูงอายุ
  3. หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง: การลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ เช่น หลีกเลี่ยงการขับรถด้วยความเร็วสูง การสวมใส่อุปกรณ์ป้องกันเมื่อเล่นกีฬาที่มีความเสี่ยง การจัดบ้านให้ปลอดภัยจากการสะดุดล้ม และการใช้ราวจับในห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ
  4. ใช้เครื่องมือช่วยพยุง: สำหรับผู้ที่มีปัญหาการทรงตัวหรือผู้สูงอายุ การใช้ไม้เท้าหรืออุปกรณ์ช่วยพยุงสามารถลดโอกาสการหกล้มและป้องกันกระดูกหักได้
  5. การตรวจสุขภาพกระดูก: การตรวจความหนาแน่นของกระดูกโดยเฉพาะในผู้สูงอายุและผู้ที่มีประวัติภาวะกระดูกพรุน การตรวจความหนาแน่นของกระดูกจะช่วยให้แพทย์สามารถวางแผนการรักษาหรือการป้องกันได้อย่างเหมาะสม

สรุป


กระดูกหักเป็นภาวะที่กระดูกมีการแตกหรือหัก อาจเกิดจากอุบัติเหตุหรือโรคบางชนิด ส่งผลต่อการเคลื่อนไหวและคุณภาพชีวิต การเข้าใจกระดูกหักมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะช่วยให้เราป้องกันและรับมือกับภาวะนี้ได้อย่างเหมาะสม การตรวจความเสี่ยงกระดูกหักเป็นสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยให้ทราบถึงปัจจัยเสี่ยงและช่วยในการวางแผนดูแลสุขภาพกระดูกได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ณัฐวุฒิ  ไพสินสมบูรณ์

นพ. ณัฐวุฒิ ไพสินสมบูรณ์

ศูนย์กระดูกและข้อโรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital