บทความสุขภาพ

Knowledge

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

พญ. ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

ปัสสาวะบ่อยอาจไม่ได้จบเพียงแค่ความน่ารำคาญใจเท่านั้น เพราะอาจกลายเป็นหนึ่งในสัญญาณเตือนถึงโรคอันตรายต่าง ๆ ที่ซุกซ่อนอยู่ โดยเฉพาะอาการปัสสาวะบ่อยร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจได้ไม่น้อย แต่ก่อนอื่นจะต้องทราบก่อนว่าปัสสาวะแบบไหนเรียกว่าบ่อย และแบบไหนที่ต้องรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมต่อไป


Key Takeaways

  • อาการที่นับว่าปัสสาวะบ่อย ได้แก่ ปัสสาวะมากกว่า 7 ครั้งต่อวัน
  • การปัสสาวะบ่อยอาจเกิดขึ้นได้จากการดื่มน้ำมาก หรือความผิดปกติที่เกิดจากโรคต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน โรคไต โรคทางเดินปัสสาวะ รวมไปถึงการตั้งครรภ์ก็สามารถทำให้ปัสสาวะบ่อยเช่นกัน
  • ปัสสาวะบ่อยร่วมกับอาการผิดปกติอื่น เช่น มีเลือดปนในปัสสาวะ, ปัสสาวะแสบขัด, กลั้นปัสสาวะไม่อยู่, มีไข้สูง, ปัสสาวะเป็นฟอง ควรจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุและรับการรักษาที่เหมาะสม

ปัสสาวะแบบไหนเรียกว่าบ่อย แล้วแบบไหนเรียกว่าผิดปกติ

ปัสสาวะปกติ ปริมาณเท่าไหร่? ปกติปัสสาวะของผู้ที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจะมีปริมาณอยู่ที่ 250-500 ซีซีต่อครั้ง และภายใน 24 ชั่วโมงอาจปัสสาวะประมาณ 5-6 ครั้งต่อวัน หรือมากสุดน้อยกว่า 8 ครั้งต่อวันโดยไม่มีอาการปวดปัสสาวะหลังนอนหลับไปแล้ว แต่หากมีการปัสสาวะจำนวนครั้งมากกว่าที่กล่าวถึง อาจแสดงถึงภาวะปัสสาวะบ่อย (Frequent Urination) ได้

ทั้งนี้หากการปัสสาวะบ่อยนั้นเกิดขึ้นในช่วงเวลากลางคืน ต้องลุกขึ้นมาปัสสาวะทั้ง ๆ ที่นอนหลับไปแล้วมากกว่า 2 ครั้งเป็นต้นไปจนรบกวนการนอนหลับ จะนับว่าเป็นอาการฉี่กลางคืน (Nocturia) ซึ่งอาจนับว่าเป็นความผิดปกติที่ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเช่นกัน

รวมสาเหตุปัสสาวะบ่อยเกิดจากอะไร?

ปัสสาวะบ่อยเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุปัจจัย ซึ่งอาจเป็นเพียงปัจจัยเดียวหรือหลายปัจจัยร่วมกันก็ได้ ดังนี้

  • การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมากกว่าปกติ
  • การได้รับสารที่มีฤทธิ์กระตุ้นการปัสสาวะ เช่น การดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนหรือแอลกอฮอล์ การรับประทานยาขับปัสสาวะ
  • สภาพแวดล้อม เช่น การอยู่ในที่อากาศเย็นเกินไป
  • ความเครียดและสภาพจิตใจที่ผิดปกติ ส่งผลกระทบต่อระบบประสาท ที่อาจไปกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อย
  • โรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินปัสสาวะ ที่อาจกระตุ้นให้กระเพาะปัสสาวะบีบตัวเกิน
  • โรคที่ส่งผลกระทบต่อความจุของกระเพาะปัสสาวะ ทำให้กระเพาะปัสสาวะจุน้ำปัสสาวะน้อยลง และปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • โรคเรื้อรังที่มีผลต่อปริมาณน้ำปัสสาวะที่เพิ่มขึ้นผิดปกติ
  • การตั้งครรภ์

สัญญาณเตือน! ปัสสาวะบ่อยเสี่ยงโรคอะไร?

ปัสสาวะบ่อยเสี่ยงโรคอะไร

ปัสสาวะบ่อยไม่ได้เกิดจากการดื่มน้ำเยอะเพียงอย่างเดียว หากใครที่กำลังเผชิญกับปัญหาปัสสาวะบ่อย ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้ดื่มน้ำมาก อาจต้องระมัดระวังสัญญาณเตือนจากโรคดังต่อไปนี้

  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ เกิดจากการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ
  • เนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ ล้วนทำให้กระเพาะปัสสาวะมีพื้นที่จุลดลง จนทำให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • โรคไต เกิดจากไตเสื่อมสภาพและไม่สามารถทำหน้าที่ในการดูดน้ำกลับสู่ร่างกายได้ตามปกติ
  • โรคเบาหวาน ทำให้มีปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูง จนร่างกายจำเป็นต้องขับออกทางปัสสาวะ
  • โรคเบาจืด ทำให้ร่างกายไม่สามารถควบคุมสมดุลของน้ำในร่างกายได้ ส่งผลให้ปัสสาวะบ่อยและมากกว่าปกติ
  • โรคระบบสืบพันธุ์ เช่น เนื้องอกมดลูก มดลูกหย่อน เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ต่อมลูกหมากโต เป็นต้น
  • โรคทางระบบประสาท และโรคที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมปัสสาวะ เช่น ภาวะกระเพาะปัสสาวะบีบตัวเกิน ท่อปัสสาวะตีบ หูรูดท่อปัสสาวะหลวม

อาการปัสสาวะบ่อยแบบไหนที่ต้องพบแพทย์?

ปวดฉี่บ่อย

การปัสสาวะบ่อย ๆ อาจเป็นอันตรายกว่าที่คิด ปัสสาวะบ่อยแบบไหนบ้างที่ควรเข้าพบแพทย์

  • ปัสสาวะบ่อยร่วมกับการมีไข้สูง
  • ปัสสาวะบ่อยแต่ปริมาณน้ำปัสสาวะแต่ละครั้งน้อย กะปริบกะปรอย หรือมีอาการปัสสาวะไม่สุด
  • ปวดปัสสาวะบ่อยกลางคืน ต้องลุกมาเข้าห้องน้ำมากกว่า 2 ครั้งต่อคืน
  • ปัสสาวะบ่อยพร้อมกับอาการแสบขัด
  • ปัสสาวะมีเลือดปน หรือน้ำปัสสาวะมีสีผิดปกติ
  • ปัสสาวะเป็นฟอง
  • ปัสสาวะบ่อยร่วมกับการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่

แนะนำวิธีป้องกัน และการดูแลสุขภาพเมื่อปัสสาวะบ่อย

การปัสสาวะบ่อย ๆ นั้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพกายแล้วยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตใจได้ด้วย เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัสสาวะบ่อย ๆ และดูแลสุขภาพให้กลับมาปัสสาวะเป็นปกติโดยเร็ว สามารถปฏิบัติตามคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กระตุ้นการปัสสาวะ เช่น ชา กาแฟที่มีคาเฟอีน เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ฯลฯ
  • ปรับพฤติกรรมการดื่มน้ำ เช่น ลดการดื่มน้ำก่อนนอน ดื่มน้ำในปริมาณที่เพียงพอ ไม่น้อยไป ไม่มากไป
  • ปรับพฤติกรรมการปัสสาวะ เช่น ปัสสาวะเป็นเวลา ไม่กลั้นปัสสาวะนานๆ ฯลฯ
  • ดูแลและควบคุมโรคประจำตัวให้อาการคงที่ เช่น หากเป็นโรคเบาหวาน ให้ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด
  • เข้ารับการรักษาโรคที่เกี่ยวข้อง เช่น การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก เพื่อไม่ให้เนื้องอกมดลูกกดทับกระเพาะปัสสาวะ การเข้ารับการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต
  • คอยสังเกตปริมาณและจำนวนครั้งที่ปัสสาวะ รวมถึงอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นเมื่อปัสสาวะ หากมีความผิดปกติควรรีบปรึกษาแพทย์

ปัสสาวะบ่อย อาจเป็นสัญญาณเตือนโรคอันตราย รีบตรวจสุขภาพ เพื่อรักษาสุขภาพที่ดีในระยะยาว

อาการปัสสาวะบ่อยเป็นบางครั้งบางคราวอาจเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมการดื่มน้ำ สภาพอากาศ และสภาพจิตใจในขณะนั้น ซึ่งเป็นภาวะปกติที่ไม่ต้องรักษา แต่หากปัสสาวะบ่อยเป็นประจำ หรือมีอาการผิดปกติอื่น ๆ ร่วมกับปัสสาวะบ่อย อาจต้องเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเพื่อหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้องต่อไป

อย่าปล่อยให้การปัสสาวะบ่อย ๆ กลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่คอยบั่นทอนสุขภาพกายและสุขภาพใจ แนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อติดตามข้อมูลสุขภาพของตนเองอย่างใกล้ชิด พร้อมรับคำแนะนำในการดูแลสุขภาพโดยแพทย์ เพื่อรักษาสุขภาพที่แข็งแรงเอาไว้ได้อีกยาวนาน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

Facebook : Praram 9 hospital

Line : @Praram9Hospital

โทร. 1270


References

Dunkin, MA. (2023, September 5). Frequent Urination: Causes and Treatments. WebMD. https://www.webmd.com/urinary-incontinence-oab/frequent-urination-causes-and-treatments


Paddock, C. (2025, February 14). Why do I have to pee all the time?. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/70782

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

พญ. ชโลธร แต้ศิลปสาธิต

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

หมอนรองกระดูกเสื่อม ต้นเหตุอาการปวดหลังเรื้อรังที่อายุน้อยก็พบได้

หมอนรองกระดูกเสื่อมคือภาวะที่เกิดจากการเสื่อมของหมอนรองกระดูกจนไม่สามารถทำหน้าที่ลดแรงกระแทกได้ ทำให้กระดูกรอบ ๆ สึกและอักเสบขึ้นจนเกิดอาการปวดเรื้อรัง

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา อีกหนึ่งสัญญาณเส้นประสาทถูกกดทับ

อาการปวดสะโพกร้าวลงขา (Sciatica pain) เกิดจากการถูกกดทับที่เส้นประสาท ทำให้รู้สึกปวดจากช่วงเอวหรือสะโพกร้าวลงขาด้านหลัง บางรายอาจร้าวไปถึงน่องและเท้าได้

ปวดข้อเท้าเกิดจากสาเหตุอะไร มีวิธีรักษาอย่างไรไม่ให้เจ็บเรื้อรัง?

ทำความเข้าใจกับอาการปวดข้อเท้าที่ควรรู้ อาการแบบไหนที่ควรเข้าปรึกษาแพทย์? พร้อมเรียนรู้สาเหตุของอาการ วิธีรักษา ตลอดจนการป้องกันไม่ให้เจ็บข้อเท้าเรื้อรัง

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital