“โรคซึมเศร้า” ถือเป็นภัยเงียบที่พบมากขึ้นในสังคมปัจจุบันอันตึงเครียด และเป็นที่น่ากังวลไม่แพ้กับการเจ็บป่วยทางร่างกาย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่า ในคน 20 คน จะมีคนที่กำลังเผชิญกับภาวะซึมเศร้า 1 คน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่ไม่น้อยเลย
แม้บางคนจะมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้ แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่เข้าใจว่า โรคซึมเศร้าสามารถรักษาได้ด้วยการปรับความคิดก็พอแล้ว หรือ มองว่าถ้าเข้มแข็งขึ้นก็จะหายได้เอง ซึ่งบางครั้งอาจไม่ใช่หนทางรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยเสมอไป
โรคซึมเศร้าจัดว่าเป็น “โรค” ที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกาย เมื่อเป็นแล้วสามารถเข้ารับการรักษา และวินิจฉัยโดยแพทย์ เพื่อระบุสาเหตุและนำไปสู่การรักษาอย่างถูกต้อง เช่นเดียวกับโรคอื่น ๆ
โรคซึมเศร้าคืออะไร
โรคซึมเศร้า คือ โรคทางจิตเวชชนิดหนึ่ง ซึ่งเกิดจากความไม่สมดุลของสารสื่อประสาทในสมอง หลายชนิด เช่น ซีโรโทนิน (serotonin) นอร์เอพิเนฟริน (norepinephrine) และโดปามีน (dopamine) ทำให้ส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันทั้งทางด้านอารมณ์ ความคิด และพฤติกรรม ซึ่งโรคนี้ควรได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และเหมาะสมเหมือนโรคอื่น ๆ เช่นกัน
สาเหตุ และปัจจัยกระตุ้นของโรคซึมเศร้า
หากมีอารมณ์เศร้าตามปกติ จะหายได้เองเมื่อปัจจัยกระตุ้นหมดไป แต่ถ้าหากความเศร้าคงอยู่เป็นเวลานาน และไม่ได้รับการแก้ไข มีโอกาสก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางร่างกาย โดยจะทำให้เกิดการเสียสมดุลของสารเคมีในสมองดังที่ได้กล่าวไป โดยมีสาเหตุและปัจจัยกระตุ้น ดังต่อไปนี้
- สาเหตุทางพันธุกรรม
หากมีสมาชิกในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้าหรือความผิดปกติทางอารมณ์ จะเพิ่มความเสี่ยงที่จะทำให้คน ๆ นั้นเป็นโรคนี้ได้ มีรายงานว่าหากมีฝาแฝดคนหนึ่งเป็นโรคซึมเศร้า ฝาแฝดอีกคนมีโอกาสเป็นซึมเศร้าด้วย ในอัตราที่สูงกว่า 70%
แต่อย่างไรก็ดี การที่มีคนในครอบครัวเป็นโรคซึมเศร้า ไม่ได้แปลว่าเราจะต้องเป็นซึมเศร้าด้วย ทั้งนี้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์ต่าง ๆ ในชีวิต รวมถึงพฤติกรรมและการใช้ชีวิตของเราด้วย
- การเจ็บป่วยด้านร่างกาย
เมื่อเรามีความเจ็บป่วย นอกจากจะต้องทรมานกับอาการของโรคแล้ว ยังเกิดความเครียดและความวิตกกังวลในการรับมือกับภาวะความเจ็บป่วยนั้นอีกด้วย โดยเฉพาะหากโรคดังกล่าวมีลักษณะอาการรุนแรงหรือเป็นภาวะเรื้อรัง ก็อาจเชื่อมโยงกับโอกาสเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้น
ดังนั้น ใครที่มีคนในครอบครัว ญาติ ผู้ที่สนิท เป็นโรคเรื้อรังหรือโรคร้ายแรงต่าง ๆ นอกจากเรื่องของการรักษาแล้ว ควรเฝ้าระวังสภาพจิตใจของผู้ป่วยด้วย
- เพศและฮอร์โมน
มีรายงานว่าผู้หญิงมีแนวโน้มที่จะเป็นภาวะซึมเศร้ามากกว่าผู้ชาย แต่ยังไม่มีการยืนยันว่าเกิดจากปัจจัยทางด้านสรีรวิทยาของเพศโดยตรง หรือเกิดจากการที่ผู้หญิงมีแนวโน้มเลือกที่จะเข้ารับการรักษามากกว่าผู้ชาย เมื่อพบว่าตนเองอาจมีภาวะซึมเศร้า
นอกจากนี้ พบว่าผู้หญิงในช่วงที่มีความแปรปรวนหรือความผิดปกติของฮอร์โมนก็สามารถทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็ว แล้วนำไปสู่การกระตุ้นให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ เช่น ช่วงตั้งครรภ์หรือหลังคลอดบุตร ผู้หญิงในวัยหมดประจำเดือน หรือบางคนในช่วงก่อนมีประจำเดือน อาจมีภาวะผิดปกติทางจิตใจ (premenstrual dysphoric disorder; PMDD) ซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเป็นภาวะซึมเศร้าได้
- เหตุการณ์สำคัญในชีวิต (life events)
เหตุการณ์สำคัญในชีวิต นับเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยเป็นโรคซึมเศร้าได้ โดยเฉพาะเหตุการณ์ในเชิงลบที่ก่อให้เกิดความกระทบกระเทือนทางใจ เช่น การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก การหย่าร้าง การตกงาน ความตึงเครียดทางการเงิน การย้ายที่อยู่ไปยังที่ที่ไม่คุ้นเคย เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ยังมีเหตุการณ์ในเชิงบวก ที่สามารถทำให้คนเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วยเช่นกัน มีรายงานว่า ผู้ที่พึ่งผ่านประสบการณ์แห่งความสุขมา ก็อาจเกิดภาวะซึมเศร้าขึ้นได้ด้วย เช่น หลังจากทำเป้าหมายใหญ่ในชีวิตสำเร็จ หลังจากผ่านการแต่งงานหรือคลอดบุตร หรือแม้แต่หลังการเกษียณ เป็นต้น ซึ่งก็มีข้อสันนิษฐานว่า อาจเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์อย่างรวดเร็วจนตั้งตัวไม่ทัน
- การพักผ่อน และการนอนหลับ
หากพักผ่อนน้อยเป็นประจำ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน (โดยเฉพาะในรายที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนแบบเรื้อรัง) อาจเพิ่มโอกาสในการเป็นโรคซึมเศร้าได้ด้วย
- ฤดูกาล
หลายคนอาจมีความรู้สึกว่า ตนเองมักจะมีความรู้สึกนึกคิดหรืออารมณ์ดิ่งลงโดยเฉพาะในฤดูหนาว ซึ่งเป็นฤดูที่ช่วงเวลากลางวันจะสั้นลงและเวลากลางคืนยาวขึ้น ส่งผลให้เกิดความรู้สึกเซื่องซึม หรือเหนื่อยล้า และหมดความสนใจในกิจกรรมประจำวัน เราเรียกภาวะนี้ว่า โรคซึมเศร้าตามฤดูกาล (seasonal affective disorder) หรือย่อสั้น ๆ เศร้า ๆ ว่า “SAD” ซึ่งถ้าใครมีอาการตามฤดูกาลเช่นนี้ ส่วนใหญ่อาการจะดีขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป แต่ถ้าอาการไม่ดีขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันควรมาพบแพทย์เพื่อปรึกษาหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสม
มักพบในผู้ที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีช่วงฤดูหนาวยาวนาน ช่วงกลางวันสั้นกว่ากลางคืน การได้รับแสงอาทิตย์อย่างจำกัด ก็สัมพันธ์กับโอกาสเป็นภาวะซึมเศร้าได้เช่นกัน
- ปัจจัยอื่น ๆ
นอกจากปัจจัยหลักดังที่กล่าวมาแล้ว การแยกตัวจากสังคมเป็นเวลานาน ๆ การถูกทอดทิ้งหรือทารุณกรรมในวัยเด็ก ยังเป็นปัจจัยที่อาจกระตุ้นให้เกิดโรคซึมเศร้าได้ด้วย
บางคนอาจเสี่ยงที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากขึ้นจากบุคลิกภาพและลักษณะนิสัย เช่น มีความคิดเห็นหรือมีความเชื่อที่บิดเบือนไปจากความเป็นจริง มีความนับถือตัวเองต่ำ รวมถึงผู้ที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ ใช้สารเสพติดหรือใช้ยาบางชนิดเป็นประจำ โดยเฉพาะยานอนหลับ
เช็คลิสต์ 9 อาการของโรคซึมเศร้า
คุณมีอาการของโรคซึมเศร้าหรือเปล่า? มาประเมินตัวเองไปพร้อมกันกับแนวทางคัดกรองตัวเองเบื้องต้นว่าอาจเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ โดยเบื้องต้นสามารถสังเกตได้จาก “ภาวะอารมณ์หรือความคิดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผิดปกติ” เช่น เคยเป็นคนนิสัยร่าเริงมาตลอด อยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นหดหู่ เครียด เศร้าหมอง หรือเคยเป็นคนเชื่อมั่นและชอบเข้าสังคม แล้วอยู่ดี ๆ ก็กลายเป็นคนประหม่า ไม่กล้าเข้าสังคม รู้สึกแปลกแยก เป็นต้น
นอกจากนี้ ยังสามารถประเมินอาการได้จาก เช็คลิสต์ 9 อาการนี้
- มีอารมณ์เชิงลบเป็นส่วนมาก: รู้สึกเศร้า หดหู่ ท้อแท้ ร้องไห้โดยไม่ทราบสาเหตุ กังวลหรือหงุดหงิดมากเกินไป จนส่งผลกระทบต่อหน้าที่การงาน ความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง หรือสูญเสียความสามารถในการดูแลตนเอง
- เบื่อหน่ายสิ่งรอบตัว: ไม่อยากทำหรือหมดสนใจในหลายกิจกรรม โดยเฉพาะกิจกรรมที่เราเคยชอบทำ เริ่มเก็บตัว ไม่สนใจต่อสิ่งรอบข้าง
- กินผิดปกติ: รับประทานอาหารน้อยลง น้ำหนักตัวลดลงผิดปกติ หรืออาจเป็นตรงกันข้ามคือ รับประทานอาหารมากกว่าปกติ น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นผิดปกติ
- มีปัญหาในการนอน: นอนไม่หลับ หลับไม่สนิท หรือนอนมากจนเกินไป โดยเฉพาะในรายที่มีอาการเช่นนี้เรื้อรัง
- อยู่ไม่สุข หรือเฉื่อยไปเลย: เริ่มเฉื่อย ๆ เนือย ๆ การเคลื่อนไหวช้าลง หรือในทางตรงกันข้ามอาจกระวนกระวายมากจนเกินไป
- อ่อนเพลีย หมดเรี่ยวแรง
- สมาธิสั้น ความจำแย่ลง
- เสียความมั่นใจ: รู้สึกตนเองไร้ค่า สิ้นหวัง คิดว่าตนเองเป็นภาระ สูญเสียความมั่นใจในตนเอง
- ไม่อยากมีชีวิตอยู่ คิดถึงความตายบ่อยครั้ง
หากพบว่าตนเองหรือคนใกล้ตัวมีลักษณะอาการดังกล่าวข้างต้นโดย…
- เป็นอย่างน้อย 5 อาการขึ้นไป
- มีอาการในข้อ 1 หรือข้อ 2 ร่วมด้วยอย่างน้อย 1 ข้อ
- มีอาการตลอดทั้งวัน
- เป็นแทบทุกวัน ต่อเนื่องอย่างน้อย 2 สัปดาห์
ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโดยละเอียด เพราะอาจเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้
หากสงสัยว่ามีภาวะซึมเศร้าสามารถทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้าด้วยตัวเองได้ที่นี่
หากสงสัยว่าตนเองหรือคนใกล้ชิดเป็นโรคซึมเศร้า ควรทำอย่างไร?
หากยังมีอาการไม่มาก การได้รับความรู้และคำแนะนำเกี่ยวกับโรคซึมเศร้า ก็จะช่วยประคับประคองให้จัดการอารมณ์ได้
ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนหรือครอบครัว นอกจากจะช่วยให้อาการไม่แย่ลงแล้ว จะช่วยให้เราแข็งแรงทั้งกายและใจ สารเคมีในสมองก็จะดีขึ้น เนื่องจากการออกำลังกาย จะทำให้ร่างกายสดชื่น แจ่มใส มีพลังขึ้น
การหากิจกรรมทำเพื่อผ่อนคลาย ตัวอย่างเช่น การใช้หลักธรรมะ การเจริญสติ โดยการตั้งสติไว้ อยู่กับตัวเองในปัจจุบัน เพราะอาการซึมเศร้าที่เกิดกับผู้ป่วยนั้น มักจะเกิดจาก เครียดเพราะกลัวอนาคต หรือซึมเศร้าเพราะจมอยู่กับอดีต ถ้าตั้งสติให้อยู่กับปัจจุบันได้ก็จะลดความป่วยไข้ในใจไปได้มาก
บุคคลใกล้ตัวโดยเฉพาะครอบครัว ควรทำความเข้าใจเรื่องของโรคซึมเศร้า พร้อมกับเฝ้าระวังและสังเกตอาการ ให้คำแนะนำ ลดปัจจัยกระตุ้นอาการซึมเศร้าต่าง ๆ เช่น การทะเลาะเบาะแว้ง การใช้คำพูดที่มีความหมายรุนแรงหรือในเชิงลบ บรรยากาศที่ตึงเครียด หรือการดูละครที่มีเนื้อหาเร้าอารมณ์ เป็นต้น
หากมีอาการจากโรคซึมเศร้ารุนแรงขึ้น ควรไปพบจิตแพทย์เพื่อช่วยประเมินและรักษาบำบัด
หากโรคซึมเศร้าหนักมาก ทำร้ายตัวเองหรือเสี่ยงต่อผู้อื่น ผู้ป่วยต้องจำเป็นได้รับการรักษาโดยรับไว้ในโรงพยาบาล
โรคซึมเศร้าหายได้หรือไม่? มีวิธีการรักษาอย่างไร ?
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาหายได้ กระบวนการรักษาจะเริ่มจากการสอบถามอาการ ผลกระทบที่เกิดขึ้น และระดับความรุนแรง ไปจนถึงไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวัน โรคประจำตัว ยาที่กินอยู่ ประวัติครอบครัว จากนั้นแพทย์จะทำการประเมินว่าควรรักษาในแนวทางใด ซึ่งในปัจจุบันมีหลายวิธี ดังนี้
โรคซึมเศร้าเป็นโรคที่มีโอกาสรักษาหายได้ ผู้ที่สงสัยว่าตนเองอาจมีอาการของโรคซึมเศร้า ควรเข้าพบและปรึกษาจิตแพทย์ การมาพบจิตแพทย์อย่ากลัวหรืออาย เพราะการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องปกติเหมือนไปหาหมออื่นๆ จิตแพทย์จะพูดคุยเพื่อวินิจฉัย
1. การรักษาด้วยจิตบำบัด (psychotherapy)
ถ้าพบว่าอาการนั้นรักษาได้โดยไม่ต้องใช้ยา จิตแพทย์จะส่งต่อไปให้นักจิตวิทยาช่วยพูดคุยบำบัดให้ดีขึ้น
หรือหากต้องรักษาด้วยยา ก็จะใช้จิตบำบัดควบคู่ไปด้วย ซึ่งการทำจิตบำบัดมีหลายวิธี เช่น การบำบัดทางความคิดและพฤติกรรม (cognitive-behavioral therapy; CBT), การบำบัดแบบประคับประคอง (supportive psychotherapy), จิตบำบัดสัมพันธภาพระหว่างบุคคล (interpersonal therapy;IPT)เป็นต้น
การเลือกวิธีบำบัดขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละรายและความถนัดของผู้บำบัด การศึกษาในปัจจุบันพบว่าการรักษาด้วยยาควบคู่ไปกับการทำจิตบำบัดเป็นวิธีที่ได้ผลดีที่สุดในการรักษา
2. การรักษาด้วยยา (pharmacological treatment)
ถ้าพบว่าต้องใช้ยา จิตแพทย์จะใช้ยารักษาอาการซึมเศร้า เพื่อช่วยปรับสารสื่อประสาทในสมองให้กลับสู่สมดุล ส่วนระยะเวลาการรักษาขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค ควบคู่ไปกับการรักษาด้วยจิตบำบัด
มีรายงานพบว่าหากหยุดยาก่อนกำหนด ผู้ป่วยมักจะมีอาการกำเริบได้มากถึงร้อยละ 80 จึงมีข้อแนะนำว่า ไม่ควรหยุดยาเองจนกว่าแพทย์จะสั่ง
3. การรักษาอื่น ๆ
3.1 การรักษาด้วยอุปกรณ์ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (transcranial magnetic stimulation; TMS)
เป็นการรักษาโดยใช้อุปกรณ์ที่ปล่อยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าผ่านหนังศีรษะ เพื่อสร้างสนามแม่เหล็กเหนี่ยวนำให้เกิดกระแสไฟฟ้ากระตุ้นเซลล์สมอง ส่วนใหญ่มักใช้ในผู้ป่วยที่รักษาด้วยยาไม่ได้ผล หรือมีข้อห้ามในการให้ยารักษา
3.2 การรักษาด้วยไฟฟ้า (electroconvulsive therapy)
ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยา หรือมีอาการรุนแรงมากเฉียบพลัน หรือมีความเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตายสูง
คนใกล้ชิดหรือผู้ดูแลผู้ป่วยโรคซึมเศร้า ควรปฏิบัติตัวอย่างไร ?
“คนใกล้ชิด” หรือ “ผู้ดูแลใกล้ชิด” มีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยประคับประคองหรือปฐมพยาบาลทางจิตใจให้แก่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้า การศึกษาและทำความรู้จักสภาวะอาการต่าง ๆ ไปจนถึงวิธีการจัดการกับผู้ป่วยอย่างเหมาะสม จะช่วยลดโอกาสที่อาการของโรคจะรุนแรงขึ้นจนนำไปสู่การฆ่าตัวตายได้
หากยังไม่แน่ใจว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่?
ให้ทำ “เช็คลิสต์ 9 อาการ” ข้างต้นในบทความนี้ หรือแนะนำให้ผู้ป่วยทำแบบประเมินภาวะซึมเศร้า หากพบว่ามีความเสี่ยงตามเงื่อนไขในเช็คลิสต์ ควรชักชวนให้ผู้ป่วยเข้ารับการตรวจและขอคำปรึกษาจากแพทย์เพื่อประเมินอาการและวางแผนการรักษาอย่างถูกต้องและเหมาะสม
ข้อควรปฏิบัติโดยทั่วไป
ระมัดระวังในการมีปฏิสัมพันธ์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้ป่วย จนกว่าจะได้รับการวินิจฉัย โดยการตรวจของแพทย์ ทั้งนี้ควรระวังคำพูดต่าง ๆ เวลาให้คำปรึกษากับผู้ป่วย โดยเฉพาะคำพูดปลุกใจที่อาจสร้างผลลัพธ์ในทางตรงกันข้าม เช่น
“เข้มแข็งหน่อย / อย่าอ่อนแอ”
“คนอื่นที่แย่กว่านี้ก็ผ่านมาแล้ว”
“เธอลองมองโลกในแง่ดีดูบ้างสิ”
คำพูดเหล่านี้อาจมีเจตนาที่ดี แต่มักทำให้ผู้ป่วยโทษตัวเองหรือคิดมากกว่าเดิม ทั้งนี้ คำพูดที่เหมาะสม ควรเป็นคำพูดในแนวทางให้กำลังใจ แสดงความเข้าอกเข้าใจ หรือบอกผู้ป่วยว่ายังมีเราอยู่เป็นเพื่อนและคอยสนับสนุน เป็นต้น หากพบว่าผู้ป่วยมีอาการรุนแรงมากขึ้น ควรรีบพามาพบแพทย์ทันที
สรุป
โรคซึมเศร้าถือเป็นภัยเงียบที่อันตราย แต่ถึงอย่างนั้น หากรู้เท่าทันและมีวิธีปฐมพยาบาลทาง “ใจ” ที่เหมาะสมและถูกวิธี ก็สามารถช่วยประคับประคองอาการได้ในเบื่องต้น ก่อนที่จะมาปรึกษาแพทย์
สิ่งที่ต้องระวังมาก ๆ สำหรับคนที่เป็นโรคซึมเศร้า (โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการเรื้อรัง) คือ การหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นทุกชนิด และควรมีผู้ดูแลที่เข้าใจลักษณะอาการและมีทัศนคติที่ถูกต้องต่อโรคดังกล่าว
ใครที่อ่านบทความนี้แล้ว ไม่แน่ใจว่าตัวเองหรือคนใกล้ตัวจะเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าหรือไม่ สามารถทดสอบได้จากเช็คลิสต์ 9 อาการ (ที่กล่าวไว้ข้างต้น) รวมถึงพิจารณาปัจจัยกระตุ้นต่าง ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงของโรคร่วมด้วย “โรคซึมเศร้าไม่ใช่ปัญหาในการจัดการจิตใจ แต่เป็นความผิดปกติทางร่างกายที่ต้องได้รับการรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญไม่ต่างจากโรคอื่น ๆ