หูเป็นอวัยวะสำคัญที่ทำให้เราได้ยินเสียง ทั้งเสียงสนทนา และเสียงของสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ซึ่งมีความสำคัญอย่างมากต่อการสื่อสาร การใช้ชีวิตประจำวัน และการเรียนรู้ การสูญเสียการได้ยินสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกช่วงวัย ดังนั้นการตรวจหูจึงเป็นการตรวจที่สำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยและการรักษาได้อย่างเหมาะสม เพราะหากปล่อยให้เป็นโรคทางหูอย่างเรื้อรัง จนเกิดการสูญเสียการได้ยิน จะทำให้ไม่อาจฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติดังเดิมได้
หูสำคัญอย่างไร?
การได้ยินเป็นจุดเริ่มต้นของการสื่อสารกับผู้คนรอบตัว หูจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยหูเป็นจุดเริ่มต้นในกระบวนการทางประสาทของการรับเสียง การเดินทางของเสียงเริ่มตั้งแต่ภายนอกสู่ภายใน ตามลำดับ โดยเริ่มจาก
- ใบหูและช่องหู ทำหน้าที่รับและนำส่งคลื่นเสียงให้ตกกระทบบนเยื่อแก้วหู
- เยื่อแก้วหู ทำหน้าที่เป็นเหมือนหนังกลอง ส่งต่อการสั่นสะเทือนที่เกิดจากการกระทบของเสียงเข้าสู่หูชั้นกลาง
- หูชั้นกลาง ประกอบไปด้วยกระดูกขนาดเล็กสามชิ้น ทำหน้าที่ปรับขนาดคลื่น และส่งต่อไปยังหูชั้นใน
- หูชั้นใน จะเปลี่ยนคลื่นความสั่นสะเทือนไปเป็นสัญญาณประสาท เข้าสู่สมอง
- สมอง จะทำหน้าที่แปลเสียงที่ได้ยินเป็นคำที่มีความหมาย หรือแปลเสียงสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ที่ได้ยินให้เราเข้าใจเสียงนั้น ๆ ว่าคือเสียงอะไร
ดังนั้นความผิดปกติไม่ว่าในส่วนใด ๆ ของหูจึงมีผลกระทบต่อการเดินทางของเสียง และทำให้การได้ยินลดลงจนอาจถึงขั้นหูหนวกได้ ความผิดปกติที่พบได้ เช่น ขี้หูอุดตันในช่องหู เยื่อแก้วหูทะลุ หูน้ำหนวกเรื้อรังจนกระดูกในหูชั้นกลางผิดรูป การเสื่อมของเซลล์ขนในหูชั้นในของผู้สูงอายุ ความพิการแต่กำเนิด เป็นต้น
นอกจากนี้ ในส่วนของหูชั้นในยังมีอวัยวะอีกส่วนที่หน้าที่รับรู้ตำแหน่งของศีรษะ เช่น ตั้งตรง เอนซ้ายขวา ก้มเงย เคลื่อนที่หรือหยุดนิ่ง ซึ่งมีความสำคัญมากในการควบคุมการทรงตัว ดังนั้นหากเกิดความผิดปกติของหูชั้นในจะทำให้เกิดอาการเวียนหัวบ้านหมุนทรงตัวลำบากตามมาได้
ตรวจหูดูอะไรบ้าง?
การตรวจหูโดยทั่วไปจะประกอบไปด้วยการตรวจ 2 ส่วน ได้แก่
- ตรวจช่องหู เป็นการตรวจดูลักษณะทางกายภาพของหู ตั้งแต่ใบหู ช่องหู จนถึงเยื่อบุแก้วหู โดยใช้อุปกรณ์เฉพาะส่องเข้าไปดูในช่องหูเพื่อตรวจหาความผิดปกติ เช่น การอักเสบหรือติดเชื้อ เยื่อแก้วหูทะลุ ขี้หูอุดตัน แมลงหรือสิ่งแปลกปลอมในหู เป็นต้น นอกจากนี้ การตรวจหูด้วยอุปกรณ์ที่มีกล้องจุลทรรศน์ในการขยายภาพ ก็จะช่วยทำให้เห็นลักษณะทางกายภาพได้ชัดเจน และตรวจได้ละเอียดมากยิ่งขึ้น
- ตรวจการได้ยิน เป็นการตรวจประเมินการทำงานด้านการรับเสียงของหู ซึ่งจะดำเนินการโดยนักโสตสัมผัสวิทยา (audiologist)
ใครบ้างควรตรวจหู?
โรคทางหูสามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย ทั้งวัยเด็ก วัยผู้ใหญ่ และวัยสูงอายุ ทุกคนจึงควรเข้ารับการตรวจหูเพื่อประเมินสุขภาพของหูอย่างสม่ำเสมอ
- ทารกขวบปีแรก ซึ่งเป็นการตรวจเพื่อคัดกรองภาวะหูหนวกและหากพบความผิดปกติ จะทำให้สามารถวางแผนการรักษาเพื่อแก้ไขความพิการแต่กำเนิด
- เด็กปฐมวัย ที่มีความเสี่ยงโรคหูน้ำหนวกเฉียบพลันและเรื้อรัง แมลงหรือสิ่งแปลกปลอมเข้าไปติดในหู การบาดเจ็บจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือการติดเชื้อที่ส่งผลให้หูหนวกตามมาได้ เช่น หัด คางทูม และไข้สมองอักเสบ เป็นต้น
- วัยผู้ใหญ่ ที่ต้องเจอมลภาวะทางเสียงติดต่อกันเป็นเวลานานจากการทำงาน หรือมีพฤติกรรมการบริโภคหมูดิบซึ่งเสี่ยงต่อโรคไข้หูดับ
- ผู้สูงอายุ ที่เริ่มมีความเสื่อมทางการได้ยิน ทำให้มีอาการหูตึง
อาการที่ควรไปตรวจหู
อาการที่ควรพบแพทย์เพื่อรับการตรวจหู มีดังนี้
- ปวดหู
- มีของเหลว หนอง หรือเลือดไหลออกมาจากหู
- ไม่ได้ยินเสียงจากหูข้างใดข้างหนึ่งอย่างเฉียบพลัน
- หูอื้อ
- มีเสียงดังในหู
- เวียนหัวหรือบ้านหมุน
- ฟังเสียงพูดไม่ออก
- มีไข้ร่วมกับมีอาการปวดหูและไม่ได้ยินเสียงอย่างเฉียบพลัน
ในกรณีเด็กเล็ก ตัวเด็กเองมักไม่สามารถบอกได้ว่าการได้ยินลดลง ผู้ดูแลควรสังเกตพฤติกรรมการได้ยินที่ผิดปกติไป เช่น ไม่ตอบสนองต่อเสียงเรียก พูดตอบเสียงดังมาก ต้องปรับระดับเสียงให้ดังมากถึงจะได้ยิน เวลาคุยด้วยมักถูกขอให้พูดซ้ำ เป็นต้น
การตรวจการได้ยินคืออะไร?
การตรวจการได้ยินเป็นการประเมินการทำงานของหูด้านการรับเสียง ซึ่งเป็นการทดสอบการได้ยินเสียงโดยใช้ระดับความดังของเสียงในหน่วยเดซิเบล โดยผู้ทดสอบจะค่อย ๆ ปรับความดังของเสียงจนผู้ถูกทดสอบเริ่มได้ยินเสียง ซึ่งผู้ทดสอบจะบันทึกค่าระดับความดังแรกที่เริ่มได้ยิน ซึ่งค่าที่ได้นี้จะใช้ในการวินิจฉัยความผิดปกติของการได้ยิน และบ่งบอกระดับความรุนแรงของการสูญเสียการได้ยิน หากมีระดับสมรรถภาพการได้ยินเริ่มต้นที่ความดังเกินกว่า 25 เดซิเบล จะถือว่าเริ่มมีอาการหูตึงแล้ว
ตรวจการได้ยินทำอย่างไร?
โดยทั่วไป การตรวจการได้ยินมักจะประกอบไปด้วย
- ตรวจสมรรถภาพการได้ยิน (audiometry) โดยการเปิดคลื่นเสียงในระดับความถี่และความดังที่ค่อย ๆ ไล่ระดับจากความถี่ต่ำไปความถี่สูง หรือความดังตั้งแต่ระดับน้อย ๆ ไปจนถึงระดับดังมาก ผู้รับการตรวจจะต้องกดปุ่มทุกครั้งที่ได้ยินเสียง ผลการตรวจจะออกมาเป็นกราฟออดิโอแกรม (audiogram) ที่แสดงระดับการได้ยินในคลื่นเสียงแต่ละความถี่ของหูแต่ละข้าง
- ตรวจหูชั้นกลาง (tympanometry) เป็นการตรวจจับการสั่นไหวของเยื่อแก้วหู ใช้ตรวจว่ามีของเหลวหรือหนองในหูชั้นกลางหรือไม่
- ตรวจการได้ยินบทสนทนา (speech perception test) เป็นการตรวจที่คล้ายกับการตรวจสมรรถภาพการได้ยิน เพียงแต่เปลี่ยนจากคลื่นเสียง เป็นเสียงบทสนทนาพูดคุยที่พบได้ในชีวิตประจำวัน
นอกจากนั้น ยังอาจมีการตรวจช่องหูด้วยกล้องจุลทรรศน์ และการให้บริการทำความสะอาดเพื่อสุขอนามัยที่ดีและปลอดภัยต่อเยื่อแก้วหู
สรุป
หูเป็นอวัยวะสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม เพราะมีส่วนในการสื่อสาร การเรียนรู้ การทำงาน รวมถึงการใช้ชีวิตการตรวจหูจะช่วยให้เราทราบถึงสุขภาพหู และหากพบความผิดปกติตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะเป็นประโยชน์เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมและถูกต้อง เราทราบกันดีว่าการสูญเสียการได้ยินมีผลกระทบต่อการใช้ชีวิต และยังส่งผลต่อสภาพจิตใจอีกด้วย เพราะการสูญเสียการได้ยินทำให้เราตัดขาดการสื่อสารกับคนรอบข้างซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจได้