บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคไตระยะ 5 อยู่ได้นานแค่ไหน? คำแนะนำเพื่อการรักษาที่เหมาะสม

พญ. สุธานิธิ เลาวเลิศ

ไตเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกายที่มีหน้าที่ในการกำจัดของเสีย รวมถึงควบคุมดุลสมดุลน้ำ และเกลือแร่ต่าง ๆ ในร่างกาย รวมไปถึงยังเป็นแหล่งผลิตฮอร์โมนต่าง ๆ ด้วย ดั้งนั้นหากมีความผิดปกติของไต ก็จะทำให้เกิดความผิดปกติของร่างกายต่าง ๆ ตามมา


โรคไตระยะ 5 หรือโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย เป็นภาวะที่ไตเสื่อมสภาพจนไม่สามารถกรองของเสียและควบคุมสมดุลน้ำหรือแร่ธาตุในร่างกายได้ ทำให้มีของเสียสะสมในเลือดจนส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ใผู้ป่วยจึงจำเป็นต้องพึ่งพาการรักษาทดแทนไต เช่น การฟอกไตหรือการปลูกถ่ายไต เพื่อช่วยในการขับของเสียออกจากร่างกาย


คำถามที่หลาย ๆ คนสงสัยว่า “ผู้ป่วยโรคไตระยะ 5 จะมีชีวิตอยู่ได้นานแค่ไหน?” บทความนี้จะอธิบายข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับโรคไตระยะ 5 ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการรักษา การดูแลตัวเอง รวมถึงคำแนะนำที่เป็นประโยชน์สำหรับผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อเตรียมพร้อมและวางแผนการดูแลสุขภาพให้เหมาะสม เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วย


ระยะของโรคไตเรื้อรัง

โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease: CKD) แบ่งออกเป็น 5 ระยะตามระดับค่าการกรองของไต (Glomerular Filtration Rate: GFR) โดยมีรายละเอียดดังนี้


ระยะที่ 1: การทำงานของไตยังปกติ


  • ค่าการกรองของไต (GFR): มากกว่า 90 มล./นาที
  • ลักษณะสำคัญ: ไตยังทำงานได้ดี บางรายอาจเริ่มสัญญาณของการเสียหาย เช่น โปรตีนรั่วในปัสสาวะ หรือพบความผิดปกติจากภาพถ่ายรังสี
  • การดูแล: ควบคุมปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และหลีกเลี่ยงการใช้ยาที่อาจมีผลต่อการทำงานของไต

ระยะที่ 2: การทำงานของไตลดลงเล็กน้อย


  • การกรองของไต (GFR): 60-89 มล./นาที
  • ลักษณะสำคัญ: ไตเริ่มเสียหายมากขึ้น แต่ยังไม่มีอาการชัดเจน
  • การดูแล: ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ ควบคุมอาหาร ลดอาหารประเภทโปรตีน โซเดียม

ระยะที่ 3: การทำงานของไตลดลงปานกลาง


  • การกรองของไต (GFR): 30-59 มล./นาที
  • ลักษณะสำคัญ: เริ่มมีอาการของโรคไต เช่น อ่อนเพลีย บวมตามร่างกาย และปัสสาวะผิดปกติ
  • การดูแล: ควรปรึกษาแพทย์ และควบคุมอาหาร รวมถึงดูแลสุขภาพตามคำแนะนำของแพทย์

ระยะที่ 4: การทำงานของไตลดลงอย่างรุนแรง


  • การกรองของไต (GFR): 15-29 มล./นาที
  • ลักษณะสำคัญ: มีอาการของโรคไตชัดเจน เช่น บวมมากขึ้น มีความดันโลหิตสูง และเริ่มมีของเสียสะสมในร่างกาย
  • การดูแล: ผู้ป่วยควรเตรียมตัวสำหรับการรักษาทดแทนไต เช่น การฟอกไตหรือการปลูกถ่ายไต และการติดตามกับอายุรแพทย์โรคไตอย่างใกล้ชิด

ระยะที่ 5: ไตล้มเหลว หรือโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย


  • การกรองของไต (GFR): น้อยกว่า 15 มล./นาที
  • ลักษณะสำคัญ: ไตไม่สามารถทำงานได้อีกต่อไป ทำให้มีของเสียสะสมในเลือด และมีอาการของโรคไตรุนแรง เช่น หายใจลำบาก คลื่นไส้ และเบื่ออาหาร
  • การดูแล: ผู้ป่วยนะยะนี้ต้องพึ่งพาการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไตเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด

โรคไตระยะ 5 คืออะไร?


โรคไตระยะ 5 (End-Stage Renal Disease: ESRD) เป็นระยะสุดท้ายของโรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease: CKD) ที่การทำงานของไตลดลงเหลือไม่ถึง 15% ส่งผลให้ไตไม่สามารถกรองของเสียหรือควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือในร่างกายได้


สาเหตุหลักที่ทำให้เกิดโรคไตระยะ 5 ได้แก่


  1. โรคเบาหวาน – น้ำตาลในเลือดที่สูงอย่างต่อเนื่อง จะไปทำลายหลอดเลือดในไต ทำให้หลอดเลือดในไตเสียหาย
  2. โรคความดันโลหิตสูง – ความดันโลหิตที่สูงเกินไปทำให้ไตทำงานหนัก 1และเกิดความเสียหาย
  3. การอักเสบของไต เช่น โรคไตอักเสบเรื้อรังหรือภาวะไตอักเสบจากโรคภูมิคุ้มกัน
  4. นิ่วในไตเรื้อรัง – ทำให้มีการอุดตันหรือการติดเชื้อที่รุนแรง ซึ่งทำให้ไตเสียหาย

อาการของโรคไตเรื้อรัง


โรคไตเรื้อรังมักดำเนินโรคอย่างช้า ๆ มักไม่มีอาการเด่นชัดในระยะแรก แต่เมื่อโรครุนแรงขึ้น อาจพบอาการต่าง ๆ เช่น


  1. ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ปัสสาวะบ่อยในตอนกลางคืน ปัสสาวะมีฟอง หรือปัสสาวะน้อยลง
  2. บวมตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น เท้า ขา หรือใบหน้า
  3. อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย แม้ไม่ได้ทำกิจกรรมหนัก
  4. คลื่นไส้ อาเจียน เบื่ออาหาร
  5. คันตามผิวหนัง ผิวแห้ง หรือมีสีคล้ำกว่าปกติ
  6. หายใจลำบากหรือแน่นหน้าอก โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะน้ำท่วมปอด
  7. ความดันโลหิตสูงที่คุมไม่ได้

หากเริ่มสังเกตเห็นอาการเหล่านี้ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและดูแลอย่างเหมาะสม เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ


อาการของโรคไตระยะ 5


โรคไตระยะ 5 หรือระยะสุดท้าย เป็นภาวะที่การทำงานของไตลดลงอย่างรุนแรงจนไม่สามารถกรองของเสียหรือควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือในร่างกายได้อีกต่อไป อาการในระยะนี้มักรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของผู้ป่วยอย่างมาก โดยอาการที่พบได้ในระยะนี้ได้แก่


1. อาการเนื่องจากมีของเสียสะสมในร่างกาย (Uremia)


  • เหนื่อยง่ายและอ่อนเพลีย – เนื่องจากของเสียในเลือด ส่งผลให้ร่างกายทำงานผิดปกติ
  • คลื่นไส้ อาเจียน และเบื่ออาหาร – เกิดจากระบบทางเดินอาหารที่ได้รับผลกระทบจากของเสียที่คั่งในร่างกาย
  • ปวดศีรษะและมึนงง – การสะสมของของเสียทำให้มีอาการผิดปกติของระบบประสาท
  • มีรสขมในปากหรือกลิ่นปากเหมือนแอมโมเนีย – เนื่องจากสารยูเรียซึ่งเป็นของเสียในเลือดสะสมในร่างกาย

2. อาการบวมจากการสะสมน้ำในร่างกาย


  • บวมตามขาและเท้า – จากการสะสมของของเหลวในร่างกาย
  • บวมที่ใบหน้าและรอบดวงตา
  • หายใจลำบาก – น้ำที่สะสมในปอดทำให้เกิดภาวะน้ำท่วมปอด

3. อาการทางหัวใจและหลอดเลือด


  • ความดันโลหิตสูง – จากการที่ไตไม่สามารถควบคุมสมดุลของน้ำและเกลือในร่างกายได้
  • หัวใจเต้นผิดปกติ – จากระดับโพแทสเซียมในเลือดที่สูงเกินไป (Hyperkalemia) เพราะไตไม่สามารถขับโพแทสเซียมได้

4. ภาวะโลหิตจาง (Anemia)


  • อาการซีดและเหนื่อยล้า – เนื่องจากไตไม่สามารถสร้างฮอร์โมน erythropoietin ที่กระตุ้นการผลิตเม็ดเลือดแดงได้
  • อาการหนาวง่ายและเวียนศีรษะ

5. อาการทางระบบประสาทและกล้ามเนื้อ


  • เป็นตะคริวหรือกล้ามเนื้อกระตุกบ่อย – เนื่องจากความไม่สมดุลของแร่ธาตุในเลือด เช่น แคลเซียมและฟอสฟอรัส
  • มือและเท้าชา – จากระบบประสาทที่ถูกทำลายโดยของเสีย

6. อาการทางผิวหนัง


  • คันทั่วร่างกาย – ซึ่งมักเกิดจากระดับฟอสฟอรัสในเลือดที่สูง
  • ผิวแห้งและลอกง่าย – เนื่องจากภาวะของเสียสะสมในร่างกายมาก


7. อาการทางจิตใจและอารมณ์


  • นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิท – เนื่องจากความไม่สบายตัวและภาวะเลือดเป็นกรด (Metabolic Acidosis)
  • ภาวะซึมเศร้าและความวิตกกังวล – เพราะผลกระทบจากโรคที่รบกวนชีวิตประจำวัน

อาการที่ต้องรีบไปพบแพทย์


อาการบางอย่างในโรคไตระยะ 5 อาจเป็นสัญญาณฉุกเฉินที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน ได้แก่


  • หายใจลำบากหรือแน่นหน้าอก
  • บวมมากขึ้นจนรบกวนการใช้ชีวิต
  • คลื่นไส้ อาเจียนมากจนกินอาหารไม่ได้
  • มีอาการสับสนหรือหมดสติ

หากมีอาการเหล่านี้ต้องรีบไปโรงพยาบาลทันที


โรคไตระยะ 5 อยู่ได้นานแค่ไหน


อัตราการรอดชีวิตของผู้ป่วยโรคไตระยะ 5 ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น วิธีการรักษา สุขภาพโดยรวม และการดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม


1. หากไม่ได้รับการรักษา


ผู้ป่วยโรคไตระยะ 5 ที่ไม่ได้รับการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไต อาจมีชีวิตอยู่ได้เพียงไม่กี่สัปดาห์ถึงไม่กี่เดือน เนื่องจากร่างกายไม่สามารถขจัดของเสียและรักษาสมดุลของเหลวในร่างกายไว้ได้


2. หากได้รับการฟอกไตอย่างต่อเนื่อง


ผู้ป่วยที่ได้รับการฟอกไตอย่างเหมาะสมสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 5-10 ปี แต่บางรายสามารถอยู่ได้มากกว่า 20 ปี หากดูแลสุขภาพอย่างดี


3. การปลูกถ่ายไต


การปลูกถ่ายไตช่วยเพิ่มอายุขัยให้ผู้ป่วยมีชีวิตอยู่ได้นานขึ้น โดยเฉลี่ย 10-20 ปี หรือมากกว่านั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการดูแลหลังการผ่าตัด รวมถึงเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย เนื่องจากเป็นวิธีการบำบัดทดแทนไตที่ดีที่สุด


ปัจจัยที่มีผลต่ออาการและความรุนแรงของโรคในผู้ป่วยโรคไตระยะ 5


  1. อายุของผู้ป่วย: ผู้ป่วยที่อายุน้อยมักมีโอกาสอยู่ได้นานกว่าผู้สูงอายุ
  2. โรคประจำตัว: เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หรือโรคหัวใจ
  3. การปฏิบัติตามคำแนะนำแพทย์: การรับประทานยา การฟอกไตตรงตามเวลาที่กำหนด และการควบคุมอาหาร
  4. การสนับสนุนจากครอบครัว: กำลังใจและความช่วยเหลือจากคนรอบข้างมีผลอย่างมากต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะสุดท้าย

ทางเลือกการรักษาของผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังระยะ 5


เมื่อผู้ป่วยเข้าสู่ระยะ 5 ของโรคไตเรื้อรัง การรักษามีเป้าหมายหลักเพื่อทดแทนการทำงานของไตที่เสื่อมสภาพไป โดยมี 2 วิธีสำคัญดังนี้


1. การฟอกไต (Dialysis)


การฟอกไตเป็นกระบวนการกำจัดของเสีย ของเหลวส่วนเกิน และสารพิษออกจากร่างกาย โดยเป็นการทำงานแทนการทำงานของไต วิธีนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลัก ได้แก่


  • การฟอกเลือด (Hemodialysis) ใช้เครื่องฟอกเลือดที่ต่อเข้ากับหลอดเลือดของผู้ป่วย เพื่อกรองของเสียและน้ำส่วนเกินออกจากเลือด การรักษาด้วยวิธีการนี้ต้องทำในโรงพยาบาลหรือในศูนย์ฟอกไต โดยทั่วไปผู้ป่วยต้องฟอกไต สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง แต่ละครั้งใช้เวลาประมาณ 3-5 ชั่วโมง
  • การล้างไตทางช่องท้อง (Peritoneal Dialysis) เป็นการใช้เยื่อบุช่องท้องเป็นตัวกรองของเสีย โดยผู้ป่วยสามารถทำเองที่บ้านได้ โดยการเติมน้ำยาล้างไตเข้าสู่ช่องท้องผ่านสายสวนพิเศษ แล้วปล่อยให้น้ำยาดูดซับของเสียก่อนจะระบายออก กระบวนการนี้ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ วันละหลายครั้งหรืออาจทำในขณะนอนหลับ

2. การปลูกถ่ายไต (Kidney Transplant)


การปลูกถ่ายไตคือการผ่าตัดเปลี่ยนไตที่เสียไปด้วยไตใหม่จากผู้บริจาค ซึ่งอาจเป็นบุคคลที่มีชีวิตหรือเสียชีวิตแล้ว ข้อดีของวิธีนี้คือช่วยให้ผู้ป่วยไม่ต้องพึ่งพาการฟอกไตอีกต่อไป แต่ต้องรับประทานยากดภูมิคุ้มกันตลอดชีวิตเพื่อป้องกันร่างกายต่อต้านไตใหม่


ข้อดีและข้อจำกัดของการปลูกถ่ายไต


  • ข้อดี: ช่วยทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้นและลดข้อจำกัดในชีวิตประจำวัน
  • ข้อจำกัด: การรอผู้บริจาคอาจใช้เวลานาน และมีความเสี่ยงจากการผ่าตัดหรือภาวะแทรกซ้อนจากยากดภูมิคุ้มกัน

การเลือกแนวทางการรักษา


การตัดสินใจเลือกรูปแบบการรักษาขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น สภาพร่างกายของผู้ป่วย ความสะดวกในการเข้าถึงการรักษา และความพร้อมทางด้านจิตใจและเศรษฐกิจ ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาที่เหมาะสมและตอบโจทย์คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยได้มากที่สุด


การดูแลตัวเองสำหรับผู้ป่วยโรคไตระยะ 5


การดูแลตัวเองอย่างเหมาะสมในโรคไตระยะ 5 มีความสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยลดอาการไม่พึงประสงค์ ป้องกันภาวะแทรกซ้อน และเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ผู้ป่วยและครอบครัวสามารถปฏิบัติตามคำแนะนำต่อไปนี้


1. ปฏิบัติตามแผนการรักษาอย่างเคร่งครัด


  • เข้ารับการฟอกไตตามตารางที่แพทย์กำหนด ไม่ว่าจะเป็นการฟอกเลือดหรือการล้างไตทางช่องท้อง
  • พบแพทย์ตามนัดทุกครั้งเพื่อติดตามการทำงานของไตและสุขภาพโดยรวม

2. ควบคุมอาหารและน้ำดื่ม


  • ลดการบริโภคโซเดียม (เกลือ): จะช่วยควบคุมความดันโลหิตและลดการบวมน้ำ
  • จำกัดปริมาณน้ำดื่ม: เพื่อป้องกันภาวะน้ำท่วมปอด โดยแพทย์จะกำหนดปริมาณที่เหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน
  • ลดการบริโภคโปรตีน: ลดการบริโภคโปรตีนที่ย่อยยาก เลือกโปรตีนที่ย่อยง่ายและมีคุณภาพ เช่น ปลา ไข่ขาว แต่ต้องอยู่ในปริมาณที่แพทย์แนะนำ
  • หลีกเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง: เช่น กล้วย มันฝรั่ง มะเขือเทศ หรือแตงโม เพราะอาจทำให้โพแทสเซียมในเลือดสูงจนเป็นอันตรายได้
  • ลดฟอสฟอรัส: หลีกเลี่ยงนม ชีส หรืออาหารแปรรูป

3. รับประทานยาตามที่แพทย์สั่ง


  • ยาลดความดันโลหิต ยาควบคุมโพแทสเซียม ยาขับปัสสาวะ และยาป้องกันภาวะกระดูกพรุน ต้องรับประทานตามคำสั่งแพทย์อย่างเคร่งครัด
  • หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดหรือยาที่มีผลต่อไต เช่น ยากลุ่ม NSAIDs โดยไม่ได้รับคำแนะนำจากแพทย์ หากจำเป็นต้องใช้ยากลุ่มอื่น ๆ ควรปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง

4. ดูแลร่างกายและจิตใจ


  • หลีกเลี่ยงการติดเชื้อ: ดูแลสุขอนามัยส่วนตัว เช่น ล้างมือบ่อย ๆ และหลีกเลี่ยงสถานที่แออัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ: ลดความเครียดและนอนหลับให้ได้อย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ออกกำลังกายเบา ๆ: เช่น เดินหรือโยคะ เพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย


5. ปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญหากมีข้อสงสัยหรือมีการการผิดปกติ


  • ปรึกษานักโภชนาการเพื่อวางแผนการรับประทานอาหารที่เหมาะสม
  • หากมีอาการผิดปกติ เช่น หายใจลำบาก บวมมากขึ้น หรืออ่อนเพลีย ควรรีบไปพบแพทย์


6. สนับสนุนจากครอบครัวและคนรอบข้าง


  • การให้กำลังใจและสนับสนุนทางอารมณ์จากครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยมีจิตใจที่เข้มแข็งและพร้อมเผชิญกับโรคได้


7. เรียนรู้เกี่ยวกับโรค


  • การทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคไตและการรักษา จะช่วยให้ผู้ป่วยทราบแผนการรักษา และมีส่วนร่วมในการวางแผนและดูแลสุขภาพของตัวเองได้อย่างถูกต้อง


การดูแลตัวเองในโรคไตระยะ 5 อาจจะดูซับซ้อน แต่หากมีความเข้าใจและมีการปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม ก็จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างสมดุลและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคไตระยะ 5


  1. โรคไตระยะ 5 คืออะไร? เป็นระยะสุดท้ายของโรคไตเรื้อรัง ไตเสื่อมสภาพทำงานได้ต่ำกว่า 15% ไม่สามารถกรองของเสียและขจัดน้ำส่วนเกินจากร่างกายได้ ผู้ป่วยต้องพึ่งการรักษาทดแทนไต เช่น การฟอกไตหรือการปลูกถ่ายไต
  2. โรคไตระยะ 5 อยู่ได้นานแค่ไหน? ขึ้นอยู่กับการรักษา การดูแลตัวเอง และสุขภาพของผู้ป่วยโดยรวม ผู้ที่ได้รับการฟอกไตอย่างเหมาะสมสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานหลายปี ส่วนการปลูกถ่ายไตช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งการฟอกไต
  3. อาการของโรคไตระยะ 5 มีอะไรบ้าง? อาการที่พบบ่อยคือ อ่อนเพลีย คลื่นไส้ เบื่ออาหาร ปัสสาวะน้อยหรือไม่มี บวมตามร่างกาย เช่น ขาและใบหน้า หายใจลำบาก นอนไม่หลับ คันทั่วตัว และอาจมีภาวะซึมเศร้าหรือความจำเสื่อม
  4. การฟอกไตมีผลข้างเคียงหรือไม่? มีผลข้างเคียงที่พบบ่อย เช่น ความดันโลหิตต่ำ ตะคริวกล้ามเนื้อ คลื่นไส้ อ่อนเพลีย หรือภาวะแทรกซ้อนจากการใส่สายฟอกไต แต่สามารถลดผลข้างเคียงได้ด้วยการดูแลตัวเองและปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์
  5. การปลูกถ่ายไตเหมาะกับทุกคนหรือไม่? การปลูกถ่ายไตเหมาะกับผู้ป่วยโรคไตระยะที่ 5 ที่มีร่างกายแข็งแรงพอ ไม่มีโรคร้ายแรงอื่น เช่น มะเร็งหรือการติดเชื้อรุนแรง และต้องสามารถรับประทานยากดภูมิคุ้มกันได้ตลอดชีวิต (ทั้งนี้ขึ้นกับผลการตรวจประเมินจากอายุรแพทย์โรคไต)
  6. อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยงมีอะไรบ้าง? ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม เช่น อาหารแปรรูป น้ำปลา และขนมขบเคี้ยว อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง เช่น กล้วย มันฝรั่ง และมะเขือเทศ รวมถึงอาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง เช่น นม ชีส และถั่ว
  7. โรคไตระยะ 5 ป้องกันได้หรือไม่? สามารถป้องกันได้โดยการดูแลสุขภาพตั้งแต่เนิ่น ๆ เช่น ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิต หลีกเลี่ยงการใช้ยาแก้ปวดเป็นเวลานาน และตรวจสุขภาพประจำปี
  8. การรักษาแบบไหนเหมาะที่สุดสำหรับโรคไตระยะ 5? การฟอกไตเหมาะสำหรับผู้ป่วยที่ไม่สามารถปลูกถ่ายไตได้ ส่วนการปลูกถ่ายไตเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ไม่ต้องพึ่งการฟอกไตและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

สรุป


โรคไตระยะ 5 เป็นภาวะที่ไตเสื่อมจนไม่สามารถทำหน้าที่กรองของเสียและขจัดน้ำส่วนเกินจากร่างกายได้ ผู้ป่วยต้องพึ่งการฟอกไตหรือปลูกถ่ายไตเพื่อรักษาชีวิต ระยะเวลาในการอยู่รอดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น การรักษาที่ได้รับ การดูแลตัวเอง รวมถึงสุขภาพโดยรวม หากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่เหมาะสมและปฏิบัติตามคำแนะนำจากแพทย์ เช่น การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย และการจัดการความเครียด จะช่วยให้มีชีวิตที่ยืนยาวและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น


นอกจากนี้การดูแลตัวเองและการสนับสนุนจากคนรอบข้างก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้




เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. สุธานิธิ เลาวเลิศ

พญ. สุธานิธิ เลาวเลิศ

สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า

แพ็กเกจที่เกี่ยวข้อง (1)

ดูทั้งหมด

แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต

แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต

แพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต

฿ 990 - 3,690

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital