บทความสุขภาพ

Knowledge

การผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery คืออะไร? ทำไมถึงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า?

ในปัจจุบันการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดได้รับการพัฒนาให้มีความก้าวหน้ามากขึ้น หนึ่งในวิธีที่ได้รับความนิยมและมีประสิทธิภาพสูงคือ การผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery (MIS) หรือการผ่าตัดผ่านกล้อง เทคนิคนี้ถูกออกแบบมาเพื่อลดความบอบช้ำต่อร่างกายผู้ป่วย โดยใช้แผลเล็กแทนการผ่าตัดแบบเปิด ส่งผลให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้นและเจ็บปวดน้อยลง ทั้งยังช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ การผ่าตัดแบบ MIS ถูกนำมาใช้ในการรักษาโรคหลายประเภท ทำให้เป็นทางเลือกที่ดีอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วยที่ต้องการฟื้นตัวที่รวดเร็ว


การผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery คืออะไร?

การผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery (MIS) เป็นเทคนิคการผ่าตัดรักษาโรคของอวัยวะต่าง ๆ โดยใช้เทคโนโลยีมาช่วย เพื่อลดการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อรอบ ๆ โดยในการผ่าตัดจะใช้เครื่องมือพิเศษที่สอดเข้าไปทางแผลเล็ก ๆ ที่ผิวหนัง ผู้ป่วยจะมีแผลที่เล็กลงและใช้เวลาฟื้นตัวน้อยลง นอกจากนี้ยังช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อและการเสียเลือดเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดที่ต้องผ่าตัดเปิดแผลขนาดใหญ่ วิธีนี้สามารถใช้ในการรักษาโรคได้หลายระบบ เช่น การผ่าตัดถุงน้ำดี การผ่าตัดไส้เลื่อน การผ่าตัดไส้ติ่ง หรือการผ่าตัดรักษามะเร็งบางชนิด ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นหลังการรักษาผ่าตัด


ประเภทของการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery


  • การส่องกล้องผ่าตัดช่องท้อง (Laparoscopic Surgery)

การผ่าตัดผ่านกล้องช่องท้องเป็นวิธีที่นิยมใช้ในการรักษาโรคหลาย ๆ โรค เช่น การผ่าตัดถุงน้ำดี (Laparoscopic Cholecystectomy) การผ่าตัดไส้เลื่อน การผ่าตัดไส้ติ่ง (Laparoscopic Appendectomy) และการผ่าตัดรักษามะเร็งบางชนิด โดยผู้ป่วยจะมีแผลเล็ก ๆ เพียงไม่กี่เซนติเมตร ทำให้การฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็วและมีรอยแผลเป็นน้อย

  • การผ่าตัดปอดผ่านกล้อง (Video Assisted Thoracic Surgery หรือ VATS)

การผ่าตัด VATS เป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคในช่องอก เช่น มะเร็งปอด ภาวะลมรั่วในเยื่อหุ้มปอด หรือก้อนเนื้อในทรวงอก การผ่าตัดนี้ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลงและฟื้นตัวได้เร็วเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด

  • การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้อง

การผ่าตัดไทรอยด์ผ่านกล้องมีสองเทคนิค คือการผ่าตัดบริเวณใต้ลิ้นและการผ่าตัดผ่านรักแร้ ซึ่งทำให้ไม่มีรอยแผลที่ลำคอ ช่วยเพิ่มความมั่นใจด้านความสวยงามหลังการผ่าตัดโดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีความกังวลเรื่องแผลเป็น

  • การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนัก (Sleeve Gastrectomy)

การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักเป็นการผ่าตัดที่ทำในผู้ป่วยที่มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน โดยการผ่าตัดจะตัดกระเพาะอาหารบางส่วนออกไปเพื่อทำให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อยลง ช่วยให้น้ำหนักตัวลดลง ดัชนีมวลกายกลับเข้าสู่เกณฑ์ที่เหมาสม

  • การผ่าตัดไตผ่านกล้อง

การผ่าตัดไตผ่านกล้องใช้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีก้อนมะเร็งหรือซีสต์ในไต การใช้กล้องทำให้สามารถเข้าถึงอวัยวะได้อย่างแม่นยำและลดการบาดเจ็บที่เกิดกับเนื้อเยื่อรอบ ๆ ช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น

  • การผ่าตัดต่อมลูกหมาก (Prostate Surgery)

เป็นการผ่าตัดที่ใช้ในการรักษาภาวะต่อมลูกหมากโต หรือมะเร็งต่อมลูกหมาก ซึ่งการผ่าตัดผ่านกล้องช่วยทำให้ผู้ป่วยมีความเจ็บปวดน้อยกว่าและมีระยะพักฟื้นในโรงพยาบาลน้อยลง

  • การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้อง (Laparoscopic Hernia Repair)

การผ่าตัดไส้เลื่อนผ่านกล้องช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยและฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิด ทำให้สามารถกลับไปทำงานและกิจกรรมปกติได้เร็วขึ้น

  • การทำหมันในผู้หญิง (Sterilization)

การทำหมันผ่านกล้องในผู้หญิง แผลจะมีขนาดเล็กมากหรือแทบไม่มีรอยแผล ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องความงามของร่างกายหลังการผ่าตัด

  • การผ่าตัดตับบางส่วนผ่านกล้อง (Laparoscopic Liver Resection)

สำหรับผู้ป่วยที่มีเนื้องอกหรือต้องตัดเนื้อตับบางส่วนออก การผ่าตัดตับผ่านกล้องเป็นอีกทางเลือกที่ช่วยลดการเสียเลือดและลดระยะเวลาในการพักฟื้น

เช่น การผ่าตัดเนื้องอกมดลูก (Fibroids) หรือโรคทางนรีเวชอื่น ๆ การผ่าตัดผ่านกล้องทำให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลงและมีเวลาพักฟื้นสั้นกว่า

  • การผ่าตัดรักษาโรคทางเดินอาหาร

เช่น การผ่าตัดรักษาแผลในกระเพาะอาหาร หรือการผ่าตัดรักษาภาวะกรดไหลย้อน

  • การผ่าตัดส่องกล้องรักษาโรคของกระดูกและข้อ (Arthroscopy)

เช่น ซ่อมแซมหมอนรองข้อเข่าที่บาดเจ็บ การปรับพื้นผิวข้อในกรณีข้อเข่าเสื่อม รักษาเส้นเอ็นหัวไหล่ที่บาดเจ็บ ซ่อมแซมเส้นเอ็นที่บาดเจ็บจากการเล่นกีฬา ลดอาการปวดจากการกดทับเส้นประสาทและซ่อมแซมบาดเจ็บของเอ็นข้อมือ

  • การผ่าตัดรักษาโรคทางศัลยกรรมอื่น ๆ

การผ่าตัดแบบ MIS ยังใช้ในการรักษาโรคทางศัลยกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย เช่น การผ่าตัดเนื้องอก การผ่าตัดรักษาภาวะลำไส้อุดตัน และการผ่าตัดรักษาภาวะถุงน้ำในอวัยวะต่าง ๆ


ข้อดีของการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery


  • ฟื้นตัวเร็ว: เนื่องจากแผลมีขนาดเล็ก ผู้ป่วยจึงสามารถฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดแบบเปิดที่ต้องใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน การผ่าตัดแบบ MIS ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจกรรมปกติได้ภายในไม่กี่วันหรือไม่กี่สัปดาห์
  • แผลขนาดเล็ก: นอกจากลดการเสียเลือดแล้ว ขนาดของแผลที่เล็กยังช่วยลดรอยแผลเป็นหลังการผ่าตัด ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องกังวลเรื่องความสวยงามของร่างกายหลังการรักษา
  • ลดความเสี่ยงการติดเชื้อ: เมื่อมีการบาดเจ็บที่เนื้อเยื่อน้อยลง โอกาสในการติดเชื้อก็ลดลงตามไปด้วย นอกจากนี้ยังลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นหลังการผ่าตัด เช่น ภาวะบวมน้ำหรือภาวะแผลติดเชื้อ หรือแผลปริ
  • การนอนโรงพยาบาลสั้นลง: เนื่องจากการฟื้นตัวที่เร็วขึ้น ผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดแบบ MIS มักใช้เวลาพักฟื้นในโรงพยาบาลสั้นกว่าผู้ที่ผ่าตัดแบบเปิด การลดระยะเวลาการนอนโรงพยาบาลช่วยให้ผู้ป่วยลดค่าใช้จ่ายในการรักษาและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

ขั้นตอนการเตรียมตัวก่อนการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery


  1. ปรึกษาแพทย์ เพื่อประเมินความเหมาะสมและวางแผนการรักษา: ขั้นตอนการเตรียมตัวที่สำคัญคือการพบและปรึกษาแพทย์เพื่อรับคำแนะนำเกี่ยวกับการผ่าตัด โดยแพทย์จะตรวจประเมินความพร้อมของผู้ป่วยเพื่อดูว่าการผ่าตัดแบบ MIS เหมาะสมกับสภาพร่างกายและอาการของผู้ป่วยหรือไม่ การเตรียมตัวนี้อาจรวมไปถึงการตรวจเลือด การตรวจภาพถ่าย X-Ray หรือการตรวจ CT Scan หรือการตรวจร่างกายอื่น ๆ เพื่อประเมินความพร้อมของร่างกายก่อนการผ่าตัด
  2. เตรียมร่างกายก่อนผ่าตัด: แพทย์อาจแนะนำให้ผู้ป่วยปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวได้ดีที่สุด เช่น หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่ส่งผลต่อระยะเวลาการหายของแผลและมีผลต่อการทำงานของปอด และผู้ป่วยต้องงดอาหารและเครื่องดื่มก่อนผ่าตัดตามคำแนะนำของแพทย์
  3. เตรียมจิตใจก่อนการผ่าตัด: ความเครียดก่อนการผ่าตัดเป็นเรื่องปกติ การพูดคุยกับแพทย์และผู้เชี่ยวชาญจะช่วยลดความกังวลลงได้ โดยแพทย์จะอธิบายขั้นตอนต่าง ๆ และให้คำแนะนำต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยทราบถึงข้อมูลของการผ่าตัด

ความเสี่ยงและข้อจำกัดของการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery

แม้ว่าการผ่าตัดแบบ MIS จะมีข้อดี แต่ก็ยังมีความเสี่ยงและข้อจำกัดบางประการ เช่น


  • โรคที่ซับซ้อนบางอย่างอาจไม่เหมาะสมกับการผ่าตัดแบบ MIS: ในบางกรณีที่โรคหรืออวัยวะมีความซับซ้อนมาก การผ่าตัดแบบเปิดอาจเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยและเหมาะสมกว่า
  • ความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน: เช่นเดียวกับการผ่าตัดทุกประเภท การผ่าตัดแบบ MIS ก็มีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น การบาดเจ็บของอวัยวะใกล้เคียงหรือการติดเชื้อ

การฟื้นตัวหลังการผ่าตัด

การฟื้นตัวหลังจากการผ่าตัดแบบ MIS มักใช้เวลาน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด โดยผู้ป่วยสามารถกลับไปทำกิจกรรมเบา ๆ ได้ภายในไม่กี่วันหรือภายในสัปดาห์แรก ๆ หลังการผ่าตัด การปฏิบัติตัวตามคำแนะนำจากแพทย์ในการดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดมีความสำคัญมาก เช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสม การพักผ่อนให้เพียงพอ และการดูแลรักษาแผลอย่างถูกต้องเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อน อาจมีการนัดติดตามอาการอย่างใกล้ชิดในผู้ป่วยบางรายที่มีความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery

การผ่าตัดแบบ MIS เหมาะกับใคร?

ผู้ป่วยที่มีโรคหรือภาวะที่สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัดขนาดเล็ก เช่น โรคถุงน้ำดี โรคไส้เลื่อน หรือมะเร็งบางชนิด สามารถเข้ารับการผ่าตัดแบบ MIS ได้ อย่างไรก็ตามความเหมาะสมของแต่ละคนขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์


จะรู้สึกปวดหลังการผ่าตัดหรือไม่?

ผู้ป่วยจะรู้สึกปวดบ้าง แต่จะน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิด เนื่องจากการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อมีน้อยกว่าและแผลมีขนาดเล็ก แพทย์อาจมีการให้ใช้ยาแก้ปวดหลังการผ่าตัดในกรณีที่มีอาการปวด


ต้องพักฟื้นนานเท่าไร?

โดยปกติผู้ป่วยจะพักฟื้นที่บ้านเป็นเวลาสั้น ๆ ประมาณ 1-2 สัปดาห์ขึ้นอยู่กับประเภทของการผ่าตัด และสามารถกลับไปทำกิจกรรมประจำวันได้หลังจากนั้น


สรุป

การผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery (MIS) หรือการผ่าตัดผ่านกล้อง เป็นเทคนิคทางการแพทย์ที่ช่วยลดความบอบช้ำของร่างกายผู้ป่วยเมื่อเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิด โดยมีการใช้เครื่องมือพิเศษและกล้องขนาดเล็กสอดเข้าไปในร่างกายผ่านแผลขนาดเล็ก เทคนิคนี้สามารถรักษาโรคได้หลากหลาย ตั้งแต่โรคในระบบทางเดินหายใจ โรคทางเดินอาหาร โรคกระดูกและข้อ ไปจนถึงโรคในระบบสืบพันธุ์ ข้อดีของการผ่าตัดแบบ MIS คือช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็ว ลดความเจ็บปวด และมีแผลขนาดเล็ก ทำให้ระยะเวลาการพักฟื้นสั้นลง และกลับไปใช้ชีวิตประจำวันได้เร็วขึ้น

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital