บทความสุขภาพ

Knowledge

ผ่าตัดริดสีดวงทวาร

นพ. ธนพงศ์ ว่องวิริยกุล

โรคริดสีดวงทวารเป็นโรคที่พบได้บ่อย ซึ่งเป็นโรคที่เกิดจากการโป่งพองของหลอดเลือดขนาดเล็กบริเวณเยื่อบุช่องทวารหนัก รวมไปถึงมีการหย่อนของเนื้อเยื่อเกี่ยวพันของเยื่อบุช่องทวารหนัก ซึ่งหากมีขนาดใหญ่อาจรบกวนการใช้ชีวิต บางรายอาจมีเลือดออกและมีอาการปวดร่วมด้วย โดยแนวทางการรักษาริดสีดวงทวารนั้น มีทั้งการใช้ยา การปรับพฤติกรรม และการผ่าตัด


ริดสีดวงทวารคืออะไร?


ริดสีดวงทวาร (hemorrhoids) คือ ก้อนเนื้อที่เต็มไปด้วยหลอดเลือดที่นูนออกมาจากผนังของช่องทวารหนัก ในคนปกติก้อนนูนเหล่านี้ไม่ได้ก่อโรค แต่จะทำหน้าที่ป้องกันกล้ามเนื้อหูรูดทวารหนัก และช่วยในการกลั้นอุจจาระเมื่อความดันในช่องท้องเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่นในเวลาไอหรือจาม อย่างไรก็ตามถ้าก้อนนูนเหล่านี้ผิดไปจากปกติ คือเกิดความหย่อนยานจนทำให้นูนยื่น และห้อยย้อยออกมาจากผนังช่องทวารหนักมากเกินไป ซึ่งหากมีการถลอกหรือเป็นแผลก็จะทำให้เลือดออก สร้างความเจ็บปวด และเป็นอุปสรรคในการขับถ่าย กลายเป็นโรคริดสีดวงทวารขึ้นมา


การวินิจฉัยแยกโรคริดสีดวงทวารจำเป็นต้องมีการตรวจร่างกายเพื่อแยกออกจากกลุ่มโรคที่มีอาการคล้ายกัน เช่น โรคแผลขอบทวาร ภาวะไส้ตรงปลิ้น ฝีหนอง โรคลำไส้แปรปรวน และโรคมะเร็งลำไส้


เกร็ดความรู้เพิ่มเติม คำว่า ริดสีดวง เป็นคำไทยที่มีรากศัพท์มาจากคำเขมร คือคำว่า ฤสดูง (อ่านว่า รึฮ์-โดว์ง) แปลว่า รากมะพร้าว โดยคำว่า ริดสีดวง มีการใช้ในชื่อโรคที่มีก้อนเนื้อ 3 โรค คือ ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก และริดสีดวงตา


ผ่าตัดริดสีดวงเหมาะกับใคร?


การผ่าตัดริดสีดวงทวารเหมาะกับผู้ที่มีอาการมาก คือมีริดสีดวงทวารที่ยื่นออกมาพ้นรูทวารและหัวริดสีดวงใหญ่มากเกินกว่าจะหดกลับเข้าไปได้เอง หัวริดสีดวงที่โผล่ออกมาตลอดเวลาจะทำให้เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดหรือการขาดเลือดได้ นอกจากนั้น ยังมีกรณีที่จำเป็นที่ต้องได้รับการผ่าตัดริดสีดวงทวาร ดังต่อไปนี้


  • รักษาด้วยยาและวิธีอื่นไม่ได้ผล
  • มีทั้งริดสีดวงทวารชนิดภายในและชนิดภายนอก
  • ริดสีดวงทวารชนิดภายในที่ยื่นออกมาติดคาและขาดเลือด (incarcerated internal hemorrhoids)
  • ผู้ป่วยมีการแข็งตัวของเลือดผิดปกติที่จำเป็นต้องห้ามเลือดที่ออกจากริดสีดวง

ผ่าตัดริดสีดวงมีกี่แบบ?


การผ่าตัดริดสีดวงทวารมีหลายเทคนิค โดยทั่วไปเทคนิคที่ได้รับความนิยมและให้ผลการรักษาที่ดีมีด้วยกัน 3 แบบ ดังนี้


  1. การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม (conventional hemorrhoidectomy) เป็นการผ่าตัดริดสีดวงทวารที่แพร่หลายที่สุด ข้อดีคือสามารถลดโอกาสการเป็นซ้ำได้ดีที่สุด แต่ข้อเสียคือผู้ป่วยจะเจ็บปวดหลังการผ่าตัดมากที่สุดเมื่อเทียบกับเทคนิคการผ่าตัดแบบใหม่ การผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิมจะเป็นการตัดริดสีดวงและเย็บปิดแผลด้วยไหมละลาย การผ่าตัดแบบดั้งเดิมนี้จะต้องมีการดูแลหลังการผ่าตัดเพิ่มเติม คือ การแช่ก้นด้วยน้ำอุ่นเพื่อล้างแผล (sitz bath)
  2. การผ่าตัดริดสีดวงทวารโดยใช้เครื่องมือฮาร์โมนิก (harmonic scalpel) เป็นการผ่าตัดที่พัฒนามาจากการผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม และมีการใช้เครื่องมือฮาร์โมนิกซึ่งใช้คลื่นอัลตร้าซาวนด์ในการตัดริดสีดวง ห้ามเลือด และเชื่อมปิดแผลในทันทีโดยไม่ต้องใช้ไหมเย็บ จึงช่วยลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อโดยรอบ และช่วยลดความเจ็บปวดหลังการผ่าตัด
  3. การผ่าตัดริดสีดวงทวารโดยใช้เครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติ (stapled hemorrhoidectomy หรือ procedure for prolapse and hemorrhoids; PPH) เป็นเทคนิคใหม่ล่าสุดในการผ่าตัดริดสีดวงทวารในปัจจุบัน ตัวเครื่องมือตัดเย็บอัตโนมัติจะมีลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ใส่เข้ารูทวารเพื่อดันเนื้อเยื่อที่หย่อนคล้อยให้กลับขึ้นไปยังตำแหน่งเดิมในช่องทวารหนัก แล้วตัดส่วนเกินซึ่งคือริดสีดวงทั้งหมดเป็นวงแหวนโดยรอบและเชื่อมปิดแผลตลอดวงรอบของผนังช่องทวารหนัก การผ่าตัดริดสีดวงทวารด้วยเทคนิคนี้เหมาะกับผู้ที่มีริดสีดวงทวารหลายตำแหน่ง ข้อดีของเทคนิคนี้คือทำให้เกิดความเจ็บปวดหลังผ่าตัดน้อยกว่าและใช้เวลาพักฟื้นน้อยกว่า อย่างไรก็ตาม มีข้อเสียคือ มีโอกาสเป็นซ้ำได้มากกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดริดสีดวงทวารแบบดั้งเดิม

ผ่าตัดริดสีดวงอันตรายไหม?


การผ่าตัดริดสีดวงทวารเป็นการผ่าตัดที่ทำกันอย่างแพร่หลาย ไม่ซับซ้อน ใช้เวลาไม่นาน และจัดเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย แต่อาจต้องใช้เวลาพักฟื้นนานเป็นสัปดาห์


การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดริดสีดวง


  • ตรวจวิเคราะห์ความสมบูรณ์ของร่างกายก่อนการผ่าตัด ได้แก่ ตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการ (Lab), ตรวจทางรังสีวิทยา (X-Ray), และตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • งดน้ำงดอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมงก่อนการผ่าตัด
  • การผ่าตัดริดสีดวงไม่จำเป็นต้องมีการล้างลำไส้ด้วยยาระบายแบบที่ทำก่อนการส่องกล้องทางเดินอาหารเพื่อคัดกรองมะเร็งลำไส้ แต่อาจจำเป็นต้องมีการสวนทวารเพื่อล้างเฉพาะส่วนไส้ตรงและลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย

ผลข้างเคียงที่อาจพบได้หลังผ่าตัดริดสีดวง


ผู้ป่วยจะมีอาการปวดและรู้สึกบวมที่บริเวณผ่าตัดในสัปดาห์แรกหลังผ่าตัดริดสีดวง ในช่วงระยะนี้ควรได้รับยาแก้ปวด และยาระบายชนิดที่ทำให้อุจจาระนุ่ม (stool softeners) โดยอาการข้างเคียงอื่น ๆ ที่พบได้บ่อย มีดังนี้


  • ปวดหัว มึนงง หรือชาที่บริเวณผ่าตัด จากฤทธิ์ของยาระงับความรู้สึก
  • มีเลือดซึมบริเวณแผลผ่าตัด ซึ่งจะหายได้เองในหนึ่งสัปดาห์
  • ปัสสาวะลำบากหรือปัสสาวะไม่ออก ซึ่งอาจต้องรักษาด้วยการใส่สายสวนปัสสาวะชั่วคราว

นอกจากนั้น อาการข้างเคียงที่พบได้น้อยมาก ได้แก่ การตีบของทวารหนัก เลือดออกในภายหลัง ริดสีดวงทวารกลับเป็นซ้ำ กลั้นอุจจาระไม่อยู่ หากผู้ป่วยมีอาการเหล่านี้ควรรีบพบแพทย์


ผ่าตัดริดสีดวงพักฟื้นกี่วัน?


การพักฟื้นหลังการผ่าตัดริดสีดวงทวาร โดยทั่วไปศัลยแพทย์จะให้นอนโรงพยาบาลอย่างน้อย 1 คืน เพื่อสังเกตอาการหลังการผ่าตัด หลังจากนั้นสำหรับผู้มีสุขภาพดีทั่วไปจะหายเจ็บแผลได้ในเวลาประมาณ 2 สัปดาห์ แต่ควรหลีกเลี่ยงการออกกำลังหนัก ๆ ประมาณ 1-2 เดือน และผู้ป่วยควรมาตามนัดเพื่อติดตามอาการ


สรุป


โรคริดสีดวงเป็นปัญหาหนึ่งของหลาย ๆ คน เพราะรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน การผ่าตัดรักษาริดสีดวงเป็นการผ่าตัดที่ปลอดภัย ผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย และปัจจุบันมีการพัฒนาวิธีการผ่าตัด ทำให้อาการปวดน้อยลง แผลหายเร็วขึ้น ใช้เวลาพักฟื้นน้อยลง จึงทำให้ทางเลือกรักษาริดสีดวงด้วยการผ่าตัดเป็นวิธีการที่น่าสนใจในปัจจุบัน

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ธนพงศ์ ว่องวิริยกุล

นพ. ธนพงศ์ ว่องวิริยกุล

ศูนย์ศัลยกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital