บทความสุขภาพ

Knowledge

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม สาเหตุใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก ภาวะแทรกซ้อนจากโรคอีสุกอีใสและงูสวัด

พญ. จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์

จากข่าวของ จัสติน บีเบอร์ ที่มีอาการของโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsey Hunt syndrome) ซึ่งมีอาการใบหน้าซีกขวาอัมพาต ทำให้ต้องยกเลิกทัวร์คอนเสิร์ต ซึ่งโรคนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคอีสุกอีใสและงูสวัดที่ต้องรีบรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสี่ยงของกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงและการสูญเสียการได้ยิน


บทความนี้จะพาทุกท่านมาทำความรู้จักโรคนี้กันค่ะ

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsey Hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก คืออะไร?


โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม (Ramsey Hunt syndrome) หรือภาวะใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก เกิดจากการอักเสบของเส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 (ที่เลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า) จากเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Herpes zoster ซึ่งเป็นไวรัสชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใสและงูสวัด


โดยเมื่อเราหายจากโรคอีสุกอีใส เชื้อไวรัสจะแฝงอยู่ในปมประสาท เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายลดลง จะทำให้เชื้อไวรัสแบ่งตัวและก่อให้เกิดการอักเสบตามแนวเส้นประสาท ซึ่งก่อให้เกิดอาการได้ตั้งแต่เป็นงูสวัดที่ลำตัว ซึ่งจะมีอาการปวดแสบร้อนและตุ่มน้ำตามแนวเส้นประสาท หรือ หากเชื้อไวรัสไปทำให้เส้นประสาทสมองคู่ที่ 7 อักเสบซึ่งเป็นเส้นประสาทที่เลี้ยงกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าก็จะทำให้เกิดโรค โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรมทำให้มีอาการอัมพาตของใบหน้าครึ่งซีก


ramsayhunt-syndrome-1.jpg

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม พบได้มากแค่ไหน?


โดยทั่วไปอุบัติการณ์ของโรคพบได้น้อยมาก ประมาณ 5-10 รายในประชากร 100,000 คน ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับงูสวัดที่พบได้ประมาณ 4 รายในประชากร 1,000 คน แม้ว่าจะพบได้ไม่มาก แต่หากเป็นแล้วจะมีความเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรง และหูหนวกได้ ดังนั้นจึงเป็นโรคที่ต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที


ใครบ้างที่เสี่ยงกับโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม?


  • ผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน
  • ผู้สูงอายุ โดยความเสี่ยงจะมากขึ้นในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ได้รับยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ป่วย HIV หรือผู้ที่มีภาวะเครียด พักผ่อนน้อย

อาการของของโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม


อาการหลักของโรคนี้ ได้แก่ อัมพาตกล้ามเนื้อใบหน้าครึ่งซีก ปวดหู มีตุ่มน้ำในรูหูและใบหู


โดยเริ่มต้นจะมีอาการนำประมาณ 1-3 วัน ได้แก่


  • ปวดบริเวณใบหน้า
  • มีไข้ อ่อนเพลีย

จากนั้นจะมีอาการอัมพาตใบหน้าครึ่งซีกตามมา ได้แก่


  • หนังตาตก
  • หลับตาไม่สนิท
  • ยักคิ้วไม่ได้
  • ปากเบี้ยว มุมปากตก
  • มีตุ่มน้ำขึ้นในรูหูและใบหู ปวดหู
  • อาจมีอาการทางหู เช่น อาจได้ยินลดลง มีเสียงดังในหู หรืออาการบ้านหมุน
ramsayhunt-syndrome-2.jpg

โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม ติดต่อได้หรือไม่?


โรคนี้สามารถติดต่อได้จากการสัมผัสตุ่มน้ำของผู้ป่วย โดยจะทำให้เป็นโรคอีสุกอีใสในผู้ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันซึ่งได้แก่ ผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน หรือผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีนอีสุกอีใส


การรักษาโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม


ส่วนใหญ่การอักเสบจะหายได้เอง โดยตุ่มน้ำจะเริ่มตกสะเก็ดและหลุดลอกออกไปภายใน 7 วัน แต่อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าอาจคงอยู่ถาวรได้ถึง 30-50% ของผู้ป่วย ขึ้นกับความเร็วในการเริ่มยาต้านไวรัสหลังมีอาการ


สามารถรักษาได้โดยใช้ยาต้านไวรัส เช่น Acyclovir, Valacyclovir โดยควรให้ยาภายใน 3 วันหลังเริ่มมีอาการ ร่วมกับการให้สเตียรอยด์ หากเริ่มยาภายใน 3 วันจะมีโอกาสหายเป็นปกติได้ประมาณ 70% แต่หากเริ่มภายใน 4-7 วันจะหายเป็นปกติได้ประมาณ 50%


อาการอัมพาตของกล้ามเนื้อใบหน้าอาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือนจึงจะดีขึ้น ส่วนใหญ่จะหายภายใน 1 ปี บางรายอาจมีอาการปวดบริเวณใบหน้าหลงเหลืออยู่ (post herpetic neuralgia) ซึ่งพบมากในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป


การป้องกันโรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม


เนื่องจากทุกคนที่เคยเป็นอีสุกอีใสมีโอกาสเกิดโรคนี้ได้ ดังนั้นสำหรับผู้ที่เคยเป็นอีสุกอีใส การป้องกันโรคนี้จึงควรรักษาสุขภาพให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย และสำหรับคนที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใส ควรได้รับการฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคนี้


คำแนะนำสำหรับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส


  1. ในผู้ที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อน แนะนำให้ฉีดวัคซีนอีสุกอีใส (chickenpox) เพื่อป้องกันการติดเชื้อ herpes zoster ตามธรรมชาติซึ่งมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้ออีสุกอีใสได้ 90-100% ซึ่งจะลดโอกาสที่จะเกิดงูสวัดตามมา
  2. ผู้ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป อาจฉีดวัคซีนงูสวัด (varicella zoster) โดยมีประสิทธิภาพในการป้องกันงูสวัดประมาณ 50%

สรุป


โรครัมเซย์ฮันท์ ซินโดรม หรือใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก เป็นโรคหนึ่งที่เป็นภาวะแทรกซ้อนของการติดเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคอีสุกอีใสและงูสวัด โดยเชื้อไวรัสชนิดนี้ที่ให้เกิดการอักเสบของเส้นประสาทไขสันหลังคู่ที่ 7 ซึ่งเลี้ยงกล้ามเนื้อใบหน้า ซึ่งจะทำให้เกิดอาการของใบหน้าอัมพาตครึ่งซีก หรือทำให้เกิดอาการปวดหูหรือได้ยินเสียงลดลงได้ แม้ว่าจะพบได้ไม่บ่อย แต่หากเป็นโรคนี้แล้วต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้อาจทำให้กล้ามเนื้อใบหน้าอ่อนแรงถาวรหรือหูหนวกได้


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์

พญ. จิตรฟ้า หรูรุ่งโรจน์

ศูนย์ตรวจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital