บทความสุขภาพ

Knowledge

ตรวจเลือดมะเร็ง ตรวจอย่างไร บอกอะไรได้บ้าง?

ปัจจุบันพบว่าคนไทยป่วยเป็นมะเร็งเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะทราบว่าป่วยเป็นมะเร็งก็มักจะอยู่ในระยะที่รุนแรง และทำให้การรักษาซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้นการตรวจพบมะเร็งตั้งแต่ในระยะแรก ๆ จะสามารถเพิ่มโอกาสในการรักษาหายและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้


ปัจจุบันโปรแกรมการตรวจสุขภาพของโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งมีการตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็ง ที่สามารถบอกแนวโน้ม และความเสี่ยงของโรคมะเร็ง ซึ่งการตรวจเลือดมะเร็งนี้เรียกว่าการตรวจ Tumor Marker (สารบ่งชี้มะเร็ง) ซึ่งเป็นวิธีที่สะดวกและเจ็บตัวน้อยในการตรวจหามะเร็งเบื้องต้น


การตรวจ Tumor Marker สามารถตรวจหาสารบ่งชี้มะเร็งได้หลายชนิด เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ แต่อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดเพียงอย่างเดียวอาจไม่สามารถยืนยันผลการวินิจฉัยมะเร็งได้ หากพบผลผิดปกติ แพทย์มักจะแนะนำให้มีการตรวจเพิ่มเติม เช่น การตรวจทางรังสี การตรวจอัลตราซาวนด์ หรือการตรวจด้วยวิธีอื่น ๆ เพื่อเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยให้แม่นยำขึ้น

การตรวจเลือดมะเร็งคืออะไร?


การตรวจเลือดมะเร็งคือการใช้ตัวอย่างเลือดของผู้ป่วย ที่ได้จากการเจาะเลือดเพื่อตรวจสอบหาสารหรือสิ่งบ่งชี้ที่เกี่ยวข้องกับการเกิดมะเร็ง เช่น โปรตีน สารพันธุกรรมของเซลล์มะเร็ง (DNA, RNA) หรือสารชีวเคมีอื่น ๆ ที่ปล่อยออกมาจากเซลล์มะเร็งหรือจากร่างกายที่ตอบสนองต่อการเกิดมะเร็ง


การตรวจเลือดมะเร็งดีอย่างไร?


การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งมีข้อดีคือ สามารถทำให้ตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่การรักษามีประสิทธิภาพสูงที่สุด นอกจากนี้การตรวจเลือดยังสามารถทำได้ง่าย รวดเร็ว ไม่ต้องมีการผ่าตัดหรือกระบวนการที่ซับซ้อน และยังสามารถใช้ในการติดตามผลการรักษา และตรวจหาการกลับมาเป็นซ้ำของโรคได้อีกด้วย


ตรวจเลือดมะเร็งทำอย่างไร?


  1. เจาะเลือดจากผู้ป่วย เพื่อการเก็บตัวอย่างเลือด: ผู้ป่วยจะได้รับการเจาะเลือดจากหลอดเลือดที่แขน ซึ่งเป็นวิธีการเจาะเลือดตรวจร่างกายปกติในปัจจุบัน
  2. การวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ: ตัวอย่างเลือดจะถูกนำไปวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการเพื่อค้นหาสารบ่งชี้มะเร็ง
  3. การแปลผล: ผลการตรวจเลือดจะถูกแปลผลโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะพิจารณาผลการตรวจเลือดร่วมกับข้อมูลอื่น ๆ เพื่อการตัดสินใจในการวินิจฉัยและการรักษา

ประโยชน์ของการตรวจเลือดมะเร็ง


  • สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มแรก: การตรวจเลือดมะเร็งสามารถคัดกรองมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ซึ่งเป็นระยะที่มีผลการรักษาดีที่สุด
  • ติดตามผลการรักษา: การตรวจเลือดมะเร็งสามารถใช้ในการติดตามผลการรักษามะเร็งได้ โดยการติดตามสารบ่งชี้ชีวภาพที่ลดลงหรือเพิ่มขึ้นหลังการรักษา
  • ตรวจหาโรคมะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำ: การตรวจเลือดมะเร็งสามารถใช้ในการตรวจหาโรคมะเร็งที่กลับมาเป็นซ้ำได้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์โรคมะเร็งสามารถตรวจพบและวางแผนการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

tumor-marker-testing-1.jpg

ใครบ้างควรตรวจเลือดมะเร็ง


  • ผู้ที่มีครอบครัวมีประวัติป่วยเป็นมะเร็ง: หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เป็นมะเร็ง การตรวจเลือดอาจช่วยในการตรวจพบการเกิดมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ ซึ่งเป็นระยะที่มีโอกาสรักษาหาย
  • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง: ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูง เช่น สูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ เคยได้รับสารเคมีที่เป็นพิษ หรือทำอาชีพหรือมีกิจกรรมที่ได้รับแสงอาทิตย์มากเกินไป ควรพิจารณาการตรวจเลือดเพื่อค้นหาสรบ่งชี้มะเร็ง
  • ผู้ที่มีอาการที่สงสัยว่าเป็นอาการของโรคมะเร็ง: หากมีอาการที่อาจเป็นสัญญาณของมะเร็ง เช่น น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ มีเลือดออกที่อวัยวะต่าง ๆ ผิดปกติ หรืออาการมะเร็งอื่น ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัย
  • ผู้ที่มีประวัติเคยเป็นโรคมะเร็ง: การตรวจเลือดเพื่อหาสารบ่งชี้มะเร็งจะช่วยในการตรวจหาโรคมะเร็งที่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้
  • ผู้ที่มีอายุอยู่ในวัยที่เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง: เมื่ออายุมากขึ้นจะทำให้มีความเสี่ยงของมะเร็งเพิ่มขึ้นด้วย เช่น ในผู้ที่มีอายุมากกว่า 50 ปีจะมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่มากขึ้น

สารบ่งชี้มะเร็งมีอะไรบ้าง?


  • Prostatic Specific Antigen (PSA) เป็นสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก แต่หากพบค่า PSA สูง อาจไม่สามารถวินิจฉัยได้ว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้ 100% เนื่องจากในผู้ป่วยที่มะภาวะต่อมลูกหมากโตก็อาจมีค่า PSA สูงขึ้นได้
  • Prostatic Acid Phosphatase (PAP) มักพบว่ามีค่าสูงในผู้ป่วยมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง
  • CA125 สารบ่งชี้มะเร็งรังไข่ มะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับอ่อน มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งเต้านม และมะเร็งปอด
  • CA19-9 มักพบว่ามีค่าสูงในผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งตับอ่อน มะเร็งกระเพาะอาหาร และมะเร็งถุงน้ำดี
  • CA-15-3 เป็นสารที่ใช้ติดตามมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะมะเร็งเต้านมที่แพร่กระจาย เนื่องจากในมะเร็งระยะเริ่มแรกค่านี้อาจไม่สูง ควรตรวจร่วมกับแมมโมแกรมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น
  • Carcinoembryonic Antigen (CEA) สารนี้มักมีค่าสูงในมะเร็งลำไส้ โดยเฉพาะในกรณีที่มะเร็งแพร่กระจาย
  • Alpha-Fetoprotein (AFP) อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งตับ มะเร็งลูกอัณฑะ หรือมะเร็งรังไข่
  • Human Chorionic Gonadotropin (HCG) ปกติสารนี้จะสร้างจากรกและพบสูงในหญิงตั้งครรภ์ แต่หากพบค่านี้สูงในคนทั่วไป อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งปากมดลูก มะเร็งตับ มะเร็งกระเพาะอาหาร มะเร็งตับอ่อน หรือมะเร็งปอด
  • LDH (Lactate Dehydrogenase) สารนี้ไม่เจาะจงกับมะเร็งชนิดใดชนิดหนึ่ง ใช้ตรวจหาเซลล์ผิดปกติในร่างกายและติดตามรักษามะเร็งบางชนิด
  • Neuron Specific Enolase (NSE) มักพบในมะเร็งของเซลล์ระบบประสาทและต่อมไร้ท่อ เช่น มะเร็งปอด และมะเร็งของระบบประสาท
  • Human Growth Hormone (HGH) สัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งปอด
  • Ferritin ในมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งตับ และหากพบค่า Ferritin สูงพร้อมกับ CEA อาจบ่งชี้ถึงมะเร็งเต้านม

แต่อย่างไรก็ตามการตรวจเลือดมะเร็งต้องได้รับการแปลผลและวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งนี้เพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำและถูกต้อง


สรุป


การตรวจหาสารบ่งชีมะเร็งเป็นวิธีที่มีประโยชน์และสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการตรวจหามะเร็งในระยะเริ่มแรกเริ่มได้ อย่างไรก็ตามการแปลผลการตรวจควรได้รับการแปลผลจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาการตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่น ๆ ด้วยเพื่อให้ได้ผลการวินิจฉัยที่ถูกต้อง


การดูแลสุขภาพโดยรวมยังคงเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคมะเร็งและการมีสุขภาพที่ดี การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และหลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์ เป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็ง

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital