บทความสุขภาพ

Knowledge

มะเร็งปอดรักษาหายไหม มาฟังคำตอบกัน!

นพ. จิรายุ ฉิมวิไลทรัพย์

มะเร็งปอดเป็นหนึ่งในโรคมะเร็งที่ร้ายแรงและเป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากโรคมะเร็งของประชากรทั่วโลก โรคนี้เกิดจากการเจริญที่ผิดปกติของเซลล์ปอด ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังส่วนอื่น ๆ ของร่างกายได้ ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญของโรคมะเร็งปอดคือการสูบบุหรี่ แต่ผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยก็มีโอกาสเป็นโรคนี้ได้เช่นกัน


“มะเร็งปอดรักษาหายไหม?” เป็นคำถามที่ผู้ป่วยและครอบครัวผู้ป่วยอยากรู้ในทันทีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอด โรคนี้ไม่เพียงแต่เป็นภัยเงียบที่คุกคามชีวิตของผู้คนทั่วโลก แต่ยังเป็นโรคร้ายที่สร้างความความกังวลใจให้กับผู้ป่วยและครอบครัวของผู้ป่วยด้วย การตอบคำถามนี้อาจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก เพราะคำตอบนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งระยะของโรค สภาพร่างกายของผู้ป่วย และการตอบสนองต่อการรักษา ในบทความนี้ เราจะเจาะลึกเกี่ยวกับมะเร็งปอด ตั้งแต่ความหมายของโรค สัญญาณเตือน อาการต่าง ๆ และที่สำคัญที่สุดคือแนวทางการรักษาที่จะช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้อีกครั้ง มาค้นหาคำตอบกันว่ามะเร็งปอดรักษาหายไหม และอะไรคือปัจจัยที่จะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสหายจากโรคนี้ได้


มะเร็งปอดคืออะไร?


มะเร็งปอดเกิดจากการเจริญเติบโตที่ผิดปกติของเซลล์ภายในปอด ทำให้เกิดเป็นเนื้องอก ซึ่งเนื้องอกนี้อาจลุกลามไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น กระดูก สมอง หรือตับ มะเร็งปอดสามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก ได้แก่


  1. มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (Small Cell Lung Cancer – SCLC): เป็นชนิดที่เติบโตอย่างรวดเร็วและมีโอกาสการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ ของร่างกายได้ง่าย ซึ่งมักพบในผู้ที่สูบบุหรี่จัด
  2. มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (Non-Small Cell Lung Cancer – NSCLC): เป็นชนิดที่พบบ่อยที่สุด คือพบได้ประมาณ 85% ของผู้ป่วยมะเร็งปอด แต่จะมีการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งช้ากว่า

ใครบ้างที่เสี่ยงเป็นมะเร็งปอด


ความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยทางพันธุกรรมและปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่เราสัมผัสในชีวิตประจำวัน โดยปัจจัยเสี่ยงหลัก ๆ มีดังนี้


  1. การสูบบุหรี่: การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดมะเร็งปอด โดยประมาณ 85% ของผู้ป่วยมะเร็งปอดเป็นผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ สารเคมีในบุหรี่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์ปอดซึ่งนำไปสู่การเกิดมะเร็ง
  2. การสัมผัสควันบุหรี่มือสอง: แม้จะไม่ได้สูบบุหรี่เอง แต่การสูดดมควันบุหรี่มือสองจากผู้อื่นที่สูบบุหรี่ก็เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคมะเร็งปอดได้เช่นกัน
  3. การสัมผัสสารเคมีอันตราย: การทำงานหรืออยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีการสัมผัสกับสารเคมี เช่น แร่ใยหิน เรดอน หรือควันจากสารเคมีอุตสาหกรรม เพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งปอดได้
  4. มลพิษทางอากาศ: การอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือ พื้นที่ที่มีฝุ่นละอองจิ๋วขนาดเล็กที่มีขนาดโมเลกุลเล็กเพียง 2.5 ไมครอน หรือ ฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่ เขตโรงงานอุตสาหกรรม หรือพื้นที่ที่มีการเผาพืชไร่หรือนาข้าว ก็สามารถเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอดได้
  5. ประวัติครอบครัว: ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปอดจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้ามีการถ่ายทอดทางพันธุกรรม
  6. อายุมากกว่า 65 ปี: ผู้ที่มีอายุมากกว่า 65 ปีมีความเสี่ยงสูงกว่าในการเกิดมะเร็งปอด โดยเฉพาะหากมีประวัติการสูบบุหรี่หรือสัมผัสกับสารเคมีที่เป็นอันตราย
  7. การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์: การดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไปอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด โดยเฉพาะในผู้ที่สูบบุหรี่

สัญญาณเตือนมะเร็งปอด


มะเร็งปอดในระยะแรกมักไม่มีอาการที่ชัดเจน ทำให้การวินิจฉัยในช่วงต้นทำได้ยาก อย่างไรก็ตามมีสัญญาณเตือนที่ควรระวัง เช่น


  • ไอเรื้อรัง: ไอที่ไม่หายขาด หรือมีอาการไอที่ผิดปกติ เช่น ไอมีเสมหะปนเลือด อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกถึงโรคมะเร็งปอด
  • หายใจลำบาก: รู้สึกหายใจไม่เต็มปอด หรือหายใจมีเสียงหวีด และยิ่งถ้าหากอาการหายใจลำบากแย่ลงเรื่อย ๆ อาจเป็นอาการของมะเร็งปอด
  • เจ็บหน้าอก: รู้สึกเจ็บหน้าอกหรือแน่นบริเวณหน้าอก ซึ่งอาการจะเป็นมากขึ้นเมื่อหายใจลึก ๆ ไอ หรือหัวเราะ
  • น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ: การมีน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วโดยไม่มีสาเหตุชัดเจน
  • อ่อนเพลีย: รู้สึกเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย แม้จะพักผ่อนเพียงพอแล้วก็ตาม
  • เสียงแหบ: เสียงพูดเปลี่ยนแปลงไป พูดไม่ชัด หรือเสียงแหบไม่หาย

หากมีสัญญาณเตือนเหล่านี้ ไม่ควรนิ่งนอนใจ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดหรือไม่ เพราะหากตรวจพบตั้งแต่เนิ่น ๆ จะทำให้ผลลัพธ์การรักษาดีกว่า


อาการของมะเร็งปอด


อาการของมะเร็งปอดจะแตกต่างกันไปตามระยะของโรคและการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่


  • ไอเรื้อรัง: มักเป็นอาการเริ่มแรกที่ผู้ป่วยจะสังเกตได้
  • หายใจลำบาก: เกิดจากการที่ก้อนมะเร็งไปกดทับทางเดินหายใจหรือแพร่กระจายไปยังปอดข้างเคียง
  • เจ็บหน้าอก: อาการเจ็บมักเกิดขึ้นจากการที่ก้อนมะเร็งขยายขนาดใหญ่ขึ้นจนกดทับอวัยวะหรือเนื้อเยื่อรอบข้าง
  • เสียงแหบ: เกิดจากการที่เส้นประสาทที่ควบคุมกล่องเสียงถูกก้อนมะเร็งกดทับ
  • น้ำหนักลด: การมีน้ำหนักลดอย่างรวดเร็วโดยที่ไม่มีการปรับเปลี่ยนอาหารหรือกิจวัตรประจำวัน
  • ปวดกระดูก: มะเร็งปอดสามารถแพร่กระจายไปยังกระดูก ทำให้เกิดอาการปวดตามกระดูกบริเวณที่มะเร็งแพร่กระจายไป
  • ปวดศีรษะหรืออาการทางระบบประสาทอื่น ๆ: หากมะเร็งแพร่กระจายไปยังสมอง อาจทำให้เกิดอาการ เช่น ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ หรืออาการทางประสาทอื่น ๆ

มะเร็งปอดรักษาหายไหม?


การจะตอบคำถามว่า “มะเร็งปอดรักษาหายไหม?” นั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย ทั้งชนิดของมะเร็ง ระยะของโรค และสภาพร่างกายของผู้ป่วย อย่างไรก็ตาม การรักษามะเร็งปอดสามารถรักษาให้หายขาดได้หากตรวจพบ และรีบรักษาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น ทั้งนี้ผลการการรักษามะเร็งปอดขึ้นอยู่กับปัจจัยต่าง ๆ เหล่านี้


  • ระยะของมะเร็งปอด
    • มะเร็งปอดระยะเริ่มต้น: หากตรวจพบมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น การรักษาด้วยการผ่าตัดหรือการรักษาเฉพาะจุดเช่นการฉายแสงหรือการใช้เคมีบำบัดมีโอกาสทำให้มะเร็งหายขาดได้สูง
    • มะเร็งปอดระยะลุกลาม: สำหรับมะเร็งปอดที่แพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว การรักษาอาจเน้นที่การควบคุมโรค ลดอาการ และยืดอายุของผู้ป่วยมากกว่าการรักษาให้หายขาด
  • ชนิดของมะเร็ง
    • มะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (SCLC): มักแพร่กระจายเร็วและมีการตอบสนองต่อเคมีบำบัดและการฉายแสงดี แต่ภายหลังการรักษาอาจพบการเป็นซ้ำได้อีก
    • มะเร็งปอดชนิดเซลล์ไม่เล็ก (NSCLC): มีแนวทางการรักษาที่หลากหลายกว่าและมีโอกาสในการรักษาให้หายขาดมากกว่า โดยเฉพาะในระยะเริ่มต้น
  • สุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย
    • การรักษามะเร็งต้องอาศัยความแข็งแรงทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ดังนั้นผู้ป่วยที่มีสุขภาพดีและแข็งแรงจึงมีโอกาสในการรักษาหายขาดมากกว่า

แนวทางการรักษามะเร็งปอด


การรักษามะเร็งปอดสามารถทำได้หลายวิธี โดยแพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน โดยแนวทางการรักษามีดังนี้


  1. การผ่าตัด (Surgery): เหมาะสำหรับมะเร็งปอดในระยะแรก ซึ่งก้อนมะเร็งยังไม่แพร่กระจาย การผ่าตัดอาจตัดเฉพาะส่วนที่มีก้อนมะเร็งออก หรือบางครั้งอาจตัดปอดทั้งข้างออก
  2. การฉายแสง (Radiation Therapy): ใช้รังสีพลังงานสูงเพื่อทำลายเซลล์มะเร็ง เหมาะสำหรับมะเร็งที่ไม่สามารถผ่าตัดได้ หรือใช้ร่วมกับวิธีการรักษาอื่น ๆ การฉายแสงจะสามารถลดขนาดของก้อนมะเร็งและควบคุมการแพร่กระจายของมะเร็งได้
  3. เคมีบำบัด (Chemotherapy): ใช้ยาเคมีเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งทั่วร่างกาย โดยเฉพาะมะเร็งปอดชนิดเซลล์เล็ก (SCLC) ที่มีการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว เคมีบำบัดมักใช้ร่วมกับการฉายแสงหรือการผ่าตัดเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษา
  4. ภูมิคุ้มกันบำบัด (Immunotherapy): เป็นการรักษาที่ใช้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายในการโจมตีเซลล์มะเร็ง เป็นแนวทางการรักษาใหม่ที่มีผลข้างเคียงน้อยกว่าและมีประสิทธิภาพในผู้ป่วยบางราย
  5. การรักษาแบบมุ่งเป้า (Targeted Therapy): เป็นการรักษาด้วยยาที่เฉพาะเจาะจงกับชนิดของเซลล์มะเร็ง เป็นการโจมตีเฉพาะเซลล์มะเร็งที่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่เฉพาะเจาะจง ทำให้ลดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์จากการรักษาแบบทั่วไป
  6. การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care): สำหรับผู้ป่วยที่อยู่ในระยะสุดท้าย การดูแลแบบประคับประคองจะเน้นที่การบรรเทาอาการเจ็บปวด และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด

สรุป


การจะตอบคำถามว่า “มะเร็งปอดรักษาหายไหม” นั้น คำตอบของคำถามนี้จะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ระยะของโรค ประเภทของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยทั่วไป หากมะเร็งปอดถูกตรวจพบตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น โอกาสในการรักษาให้หายขาดก็จะสูงกว่า โดยการรักษามะเร็งปอดนั้นมีหลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัด การฉายแสง เคมีบำบัด และภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งการเลือกวิธีที่เหมาะสมแพทย์ต้องพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยข้างต้น


การตรวจคัดกรองมะเร็งปอด เช่น การทำเอกซเรย์ปอดหรือซีทีสแกน (CT scan) สามารถช่วยในการตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นได้ แม้ว่าจะไม่มีอาการ ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาดได้ นอกจากนี้การตรวจสุขภาพประจำปีเป็นอีกวิธีที่สำคัญในการติดตามสภาพร่างกายและตรวจเช็กปัญหาสุขภาพ รวมถึงโรคมะเร็งปอดด้วย ดังนั้นการเข้าใจความเสี่ยงและการตรวจคัดกรองอย่างสม่ำเสมอจึงเป็นกุญแจสำคัญในการรับมือกับมะเร็งปอด

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. จิรายุ ฉิมวิไลทรัพย์

นพ. จิรายุ ฉิมวิไลทรัพย์

ศูนย์ตรวจสุขภาพ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital