บทความสุขภาพ

Knowledge

ตรวจเต้านมด้วยตนเอง เพื่อรู้ทันมะเร็งเต้านม

มะเร็งเต้านม (breast cancer) พบมากเป็นอันดับต้น ๆ ของมะเร็งในเพศหญิง ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ล้วนมีโอกาสที่จะเป็นมะเร็งประเภทนี้ ดังนั้น ถ้าตรวจพบมะเร็งเต้านมได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ แล้วเข้าสู่กระบวนการรักษาได้ทัน ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้หายขาด


การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ด้วยวิธีการคลำเต้านม เป็นเรื่องที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพราะถือเป็นแนวทางด่านแรกที่จะเพิ่มโอกาสเจอมะเร็งได้ในระยะเริ่มต้น ถ้าพร้อมแล้ว มาลองตรวจกันเลย!


3 แนวทางตรวจคัดกรองเบื้องต้น ที่ควรรู้จัก


การมีแนวทางป้องกันมะเร็งตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยเป็นปราการสำคัญ ป้องกันไม่ให้เราเข้าสู่กระบวนการรักษาสายเกินไป ลดโอกาสลุกลามหรือแพร่กระจายของมะเร็ง โดยมีข้อควรปฏิบัติที่ควรทำ ดังนี้


  1. การตรวจเต้านมด้วยตนเอง (breast self examination)
  2. การตรวจเต้านมด้วยแพทย์ (clinical breast examination)
  3. เข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound)

มีข้อแนะนำว่า ผู้หญิงที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป ไม่ว่าจะอยู่ในกลุ่มเสี่ยงหรือมีอาการผิดปกติใด ๆ หรือไม่ ควรคลำเต้านมด้วยตัวเองอย่างถูกวิธี ประมาณเดือนละ 1 ครั้ง แล้วตรวจเป็นประจำทุกเดือน


เพื่อความมั่นใจและความมั่นยำในการตรวจ ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 30 ปีขึ้นไป ก็ควรเข้ารับการตรวจเต้านมโดยแพทย์ ประมาณ 6 เดือนต่อครั้งด้วย


นอกจากนี้ เมื่อมีอายุ 40 ปีขึ้นไป ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ อย่างน้อย 1-2 ครั้งต่อปี


ควรปรึกษาแพทย์เพิ่มเติม ในการคัดกรองมะเร็งเต้านมที่เหมาะสม เนื่องจากบางท่านอาจมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ อาจต้องปรับวิธีการตรวจ ช่วงเวลา และความถี่ที่ควรเข้ามารับการตรวจให้สอดคล้องกับความเสี่ยงนั้น ๆ


อ่านเรื่องราวของมะเร็งเต้านมโดยละเอียดได้ที่นี่

https://www.praram9.com/breast-cancer-staging/


ทำไมถึงต้องตรวจเต้านมด้วยตนเอง


การตรวจเต้านมด้วยตนเอง โดยเฉพาะการคลำเต้านั้น จะทำให้เราเข้าใจ “ลักษณะตามปกติ” ของเต้านมตัวเองว่าเป็นอย่างไร (บางคนอาจไม่เคยสังเกตเต้านมตัวเองอย่างจริงจัง) ซึ่งจะมีประโยชน์ในการสังเกต “ความผิดปกติ” ได้อย่างรวดเร็ว เมื่อรูปร่างหรือลักษณะเต้านมของเราเปลี่ยนไปจากเดิม


ทำไมต้องใช้วิธีคลำเต้านม


การตรวจเต้านมจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอนหลัก คือ การพินิจสังเกตเต้า และ การคลำเต้า ซึ่งเราควรทำให้ครบ เพื่อความละเอียดแม่นยำในการตรวจ


การพินิจดูเต้านมของตนเอง จะช่วยในการบอกลักษณะของเต้านมที่สังเกตได้โดยละเอียด หากมีความผิดปกติเกิดขึ้น เช่น เต้านมสองข้างไม่เท่ากัน (ทั้งที่เมื่อก่อนเท่ากัน) หรือมีการนูนของผิวหนังที่ดูผิดปกติ เป็นต้น ก็สามารถบอกสัญญาณของโอกาสที่จะเป็นมะเร็งได้


การคลำเต้านม จะมีประโยชน์ในการคลำพบก้อนมะเร็งที่อยู่ในบริเวณเต้าแต่ยังไม่ปรากฏออกมาให้เห็นได้ชัดเจนได้


หากพิจารณาดูจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นการดูหรือคลำก็ตาม หากทำเป็นประจำสม่ำเสมอ เราจะรู้จักลักษณะเต้านมของตัวเอง ทำให้สังเกตพบได้ง่าย หากมีก้อนผิดปกติที่ไม่เคยคลำพบมาก่อน


ควรคลำเต้านมเมื่อไหร่ ช่วงเวลาไหน


การคลำเต้านม ใช้เวลาเพียงสั้น ๆ เท่านั้น แต่ควรวางแผนคลำเต้าเป็นประจำ ดังนี้


  • ควรคลำเต้านมเป็นประจำทุกเดือน เดือนละ 1 ครั้ง
  • ให้เลือกเวลาหลังประจำเดือนมา 7-10 วัน นับจากวันแรกของการมีประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่เต้านมไม่มีการคัดตึง ลดโอกาสเข้าใจผิดได้
  • หากหมดประจำเดือนแล้ว ให้ตั้งวันที่จะคลำเต้านมเป็นวันเดียวกันทุกเดือน

breast-cancer-self-exam-2.jpg


การตรวจเต้านมด้วยตัวเองต้องรู้อะไรบ้าง


การตรวจเต้านม มี 2 ขั้นตอนใหญ่ ๆ คือ การดูและการคลำ


1. การดูเต้านม


การดูเต้านม มีจุดประสงค์เพื่อสังเกตลักษณะภายนอกของเต้านมที่มองเห็นได้ โดยต้องส่องกระจกในการดูสิ่งผิดปกติต่าง ๆ ของเต้านม ได้แก่


  • หัวนม : หัวนมทั้ง 2 ข้าง ควรอยู่ที่ตำแหน่งระดับเดียวกัน มีสีผิวและรูปร่างเหมือนกัน ชี้ออกไปด้านข้างเล็กน้อยเท่านั้น ต้องไม่มีลักษณะที่ถูกดึงรั้งหรือทำให้เอนไปยังข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ควรมีน้ำเหลือง เลือด หรือของเหลวผิดปกติไหลออกมาจากหัวนม รวมถึงไม่ควรมีแผลผิวถลอก หรือแผลจากก้อนนูน
  • ฐานหัวนม : ฐานเต้านมควรมีผิวเนียนและสีเสมอกัน ไม่ควรมีรอยนูนหรือก้อนดันผิวออกมา ไม่ควรมีรอยบุ๋มที่เกิดจากก้อนมะเร็งดึงรั้งลงไป รวมถึงแผลผิวถลอกหรือแผลจากก้อนนูน
  • เต้านม : เต้านมควรมีผิวเนียนและมีสีผิวเสมอกัน ไม่ควรมีส่วนของผิวที่บวมหนาแล้วมองเห็นรูขุมขนได้ชัดเหมือนผิวเปลือกส้ม ไม่ควรมีรอยนูนหรือรอยบุ๋มผิดปกติ หรือรอยตะปุ่มตะป่ำต่าง ๆ สีผิวของเต้านมไม่ควรเป็นสีแดงคล้ำ และไม่ควรมีรอยแผลแตกทะลุที่ผิวหนัง ไม่มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมา นอกจากนี้ ให้สังเกตระดับและขนาดของเต้านม เต้านมทั้ง 2 ข้างควรมีรูปร่างและขนาดใกล้เคียงกัน และควรอยู่ระนาบเดียวกัน หากพบว่ามีส่วนที่ถูกดึงรั้งขึ้นหรือถ่วงให้หย่อนคล้อยลงมา (โดยเฉพาะถ้าเริ่มเป็นจากเต้านมด้านใดด้านหนึ่ง) ให้ไปพบแพทย์

2. การคลำเต้านม


เป้าหมายของการคลำเต้านม คือ การสังเกตความผิดปกติที่อาจมองไม่เห็นด้วยตา โดยทั่วไปลักษณะของเต้านมที่เหมาะสม จะต้องนุ่ม ๆ หยุ่น ๆ หากบีบจะได้ก้อนเนื้อที่นุ่ม แต่หากพบความผิดปกติดังต่อไปนี้ ควรไปพบแพทย์


  • คลำพบก้อนผิดปกติ อาจพบได้ทั้งบริเวณเต้านม หัวนม รักแร้ และเหนือไหปลาร้า
    • อาจเป็นไตแข็งหรือเป็นก้อนเรียบ ๆ ก็ได้
    • เมื่อคลำพบหรือลองกดดูเบา ๆ อาจรู้สึกเจ็บ หรือไม่รู้สึกเจ็บก็ได้
    • ก้อนอาจกลิ้งได้ หรือถ้ากลิ้งไม่ได้ อาจมีส่วนที่ยึดหรือรั้งกับเนื้อเยื่อส่วนล่างหรือผิวหนัง
  • คลำพบรอยบุ๋มเหมือนลักยิ้ม ที่อาจเกิดจากก้อนไปดึงรั้งลงมา
  • มีแผลที่เกิดจากการแตกทะลุของก้อน อาจมีหรือไม่มีเลือดและน้ำเหลืองไหลออกมาก็ได้
  • บีบหัวนม แล้วพบน้ำเหลืองหรือเลือดไหลออกมา


วิธีการคลำเต้านม 3 แบบ


การคลำเต้านม จะต้องคลำให้ครบและทั่วทั้งบริเวณเต้านม รวมไปถึงบริเวณรักแร้ด้วย ปัจจุบันการจะคลำให้ทั่ว (โดยไม่พลาดจุดใดไปเลย) จะมีอยู่ 3 แบบ ให้เราเลือกวิธีที่ถนัดมาหนึ่งวิธีเพื่อใช้ 3 นิ้วของเราในการตรวจเต้านม


ควรดูภาพประกอบไปด้วย เพื่อทำความเข้าใจวิธีการทั้ง 3 รูปแบบได้ชัดเจนขึ้น


1. คลำเป็นก้นหอย หรือ คลำตามเข็มนาฬิกา (clock pattern)


ให้นึกถึงภาพของวงก้นหอย โดยเริ่มจากหัวนม แล้วค่อย ๆ ขยายวงก้นหอยออกไปยังบริเวณฐานเต้า รวมไปถึงรักแร้ โดยค่อย ๆ คลำและวนเลื่อนนิ้วมือตามเข็มนาฬิกาเป็นวงกลมขยายใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ไปสิ้นสุดที่บริเวณรักแร้


ในระหว่างที่คลำ ให้พิจารณาดูว่ามีก้อนหรือไม่ แล้วอย่าลืมสังเกตเนื้อเยื่อใต้หัวนมและลองบีบหัวนมเบา ๆ เพื่อดูสิ่งคัดหลั่ง


2. คลำตามแนวนอนขึ้น-ลง ขนานลำตัว (virtical strip)


โดยจะคลำตามแนวนอนขึ้นและลงไปเรื่อย ๆ ในลักษณะที่ขนานกับลำตัว เริ่มจากส่วนล่างด้านนอกของเต้านมเป็นแนวยาว ไปจนถึงกระดูกไหปลาร้า ลักษณะการคลำ ให้คลำในแนวขึ้น-ลง สลับกันไปมาจนทั่วทั้งเต้านม


3. คลำเป็นรูปลิ่ม หรือ คลำเป็นรัศมีรอบเต้านม (wedge pattern)


ให้คลำเข้าและออกจากส่วนเต้านมไปยังฐานเต้า เมื่อครบ 1 ครั้งแล้ว ให้เลื่อนมือวนรอบเต้านมเป็นรัศมีแล้วคลำเข้าและออกอีกครั้ง ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนวนครบรอบเต้านม อย่าลืมคลำจนถึงกระดูกไหปลาร้าและบริเวณรักแร้ด้วย


breast-cancer-self-exam-3.jpg


3 ท่า เพื่อคลำเต้านมด้วยตนเองที่แม่นยำ


การตรวจคลำเต้านมด้วยตัวเองจะแบ่งออกเป็น 3 ท่า ได้แก่ ท่ายืน ท่านอน และการตรวจขณะอาบน้ำ


1. ท่ายืน


การตรวจใจท่ายืนนี้ เราจะต้องส่องดูและสังเกตเต้านมตัวเองจากกระจก จึงควรทำในห้องน้ำ หรือในห้องที่มีกระจก โดยมีขั้นตอนดังนี้


สิ่งที่ต้องสังเกต: ความผิดปกติต่าง ๆ ได้แก่ รูปร่างที่ไม่เท่ากัน รอยบุ๋ม รอยนูน แผล และการอักเสบ แต่หากไม่พบความผิดปกติ ก็ควรจดจำลักษณะตามปกติของเต้านมให้ดี เพื่อความสะดวกในการเปรียบเทียบครั้งถัดไป


  1. วางแขนข้างลำตัว ผ่อนคลาย ไม่ต้องเกร็งแขน แล้วพิจารณาดูรูปร่าง ขนาด สีผิว ลักษณะของพื้นผิว และระดับของหัวนม
  2. ยกแขนขึ้นเหนือศีรษะ ดูขนาด รูปร่าง และร่องรอยผิดปกติของเต้านม
  3. วางมือทั้ง 2 ข้างไว้ที่สะโพก แล้วเกร็งหน้าอกหรือกดน้ำหนักตัวลง จากนั้นให้ดูลักษณะที่ผิดปกติของเต้านม
  4. โน้มตัวไปข้างหน้า เพื่อความชัดเจนที่มากขึ้นของเต้านมทั้งสองข้าง แล้วตรวจสอบเต้านมดูอีกครั้ง

2. ท่านอน


สิ่งที่ต้องสังเกต: ตรวจหาก้อนที่อยู่บริเวณใกล้ผิวหนังและบริเวณเต้านม รวมถึงของเหลวที่ผิดปกติต่าง ๆ เช่น เลือดและน้ำเหลือง ที่อาจไหลออกมาจากหัวนม


  1. นอนหงาย ใช้หมอนขนาดเล็ก สอดไปที่ใต้ไหล่ข้างที่ต้องการตรวจ จากนั้นยกแขนข้างที่จะตรวจขึ้นเหนือศีรษะ สมมติว่ารอบแรก เราจะตรวจเต้านมข้างขวา ก็ให้สอดหมอนเข้าไปที่ไหล่ขวา แล้วยกมือขวาเหนือศีรษะไว้
  2. ใช้นิ้วมือข้างที่จะตรวจ 3 นิ้ว ได้แก่ นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง เราจะใช้ปลายนิ้วในการตรวจคลำเต้านม สมมติว่าตรวจเต้านมด้านขวา ก็ให้ใช้นิ้วมือข้างซ้าย 3 นิ้วในการตรวจ
  3. ใช้ 3 นิ้วกดลงไป ไล่ระดับตั้งแต่กดเบา ๆ ไปจนถึงกดแรงขึ้น ทำ 3 รอบ โดยแต่ละรอบ ให้แบ่งความหนักเบาเป็น 3 ระดับ ค่อย ๆ กดไปจนทั่วเต้านมและรักแร้ ในขั้นตอนนี้ห้ามบีบเนื้อเต้านม เนื่องจากอาจทำให้รู้สึกว่ามีก้อน แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่
  4. บีบหัวนมเบา ๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งไหลออกมาหรือไม่

ให้ทำเช่นนี้ทั้ง 4 ข้อ กับเต้านมทั้ง 2 ข้าง


3. ขณะอาบน้ำ


การตรวจขณะอาบน้ำ จะอาศัยความเปียกหรือความลื่นของสบู่ ซึ่งจะทำให้ผิวหนังลื่นขึ้นและตรวจได้ง่าย


สิ่งที่ต้องสังเกต: ตรวจหาความผิดปกติเช่นเดียวกับการตรวจท่ายืน เช่น ก้อนที่เต้านม และของเหลวจากหัวนม แต่มีข้อสังเกตเพิ่มเติมคือ ดูว่ามีก้อนหรือต่อมน้ำเหลืองโตบริเวณรักแร้ด้วยหรือไม่


  1. ยกมือข้างเดียวกันกับเต้านมที่จะตรวจขึ้นวางบนศีรษะ แล้วใช้มืออีกข้างตรวจ โดยใช้นิ้วมือ 3 นิ้ว แล้วทำการตรวจเช่นเดียวกันกับวิธีการตรวจในท่านอน
  2. เมื่อเสร็จแล้ว ให้ตรวจคลำเต้านมอีกข้างด้วยวิธีเดียวกัน
  3. จากนั้นให้ตรวจดูบริเวณรักแร้
  4. บีบหัวนมเบา ๆ โดยใช้นิ้วหัวแม่มือและนิ้วชี้ ดูว่ามีสิ่งคัดหลั่งไหลออกมาหรือไม่


ผิดปกติแบบไหน ควรมาพบแพทย์


ความผิดปกติ เมื่อสังเกตดูจากภายนอก : เมื่อสังเกตเห็นลักษณะเต้านมที่เปลี่ยนไปจากปกติ เช่น บวม นูน หรือมีแผล หรือมีลักษณะใดที่ไม่เหมือนกันทั้งสองข้าง เช่น ขนาด รูปร่าง ตำแหน่งของหัวนม ให้มาพบแพทย์


ความผิดปกติ ที่พบจากการคลำเต้านม : มีแผลที่ผิดปกติ มีเลือดหรือน้ำเหลืองไหลออกมา หรือคลำพบรอยนูนไม่สม่ำเสมอ รอยบุ๋ม หรือก้อนที่ผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นก้อนลักษณะใดก็ตาม จะแข็งหรือเรียบ จะรู้สึกเจ็บหรือไม่ ให้มาพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดจะดีที่สุด


เพื่อความปลอดภัย อาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า ถ้าตัวเราเองได้สังเกตดูหรือคลำเต้านมเป็นประจำอยู่แล้ว รับรู้ถึงลักษณะของเต้านมที่ปกติของตัวเองเป็นอย่างดี แล้วมีอยู่วันหนึ่งที่พบลักษณะผิดปกติ (ซึ่งเมื่อก่อนไม่เคยพบ) ก็ควรมาพบแพทย์เพื่อตรวจโดยละเอียดได้เลย


breast-cancer-self-exam-4.jpg


สรุป


การตรวจเต้านมด้วยตัวเองเป็นประจำ ถือเป็นปราการด่านแรกที่ช่วยให้เรารับรู้ถึงความผิดปกติได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งในทุก ๆ เดือน เราควรตรวจดูและคลำเต้านมตัวเองอย่างน้อย 1 ครั้ง


ควรพยายามปฏิบัติให้ต่อเนื่องจนเป็นนิสัย เนื่องจากประโยชน์ของการคลำเต้านมเป็นประจำ จะทำให้ทราบลักษณะที่เป็นปกติของเต้า หากมีความผิดปกติจะทำให้ทราบได้ทันที


ในทางกลับกัน ถ้านาน ๆ เราตรวจเต้านมครั้งหนึ่ง อาจพลาดช่วงเวลาสำคัญที่เริ่มเกิดมะเร็งขึ้น หรือบางครั้ง การที่เราไม่คุ้นเคยกับเต้านมตัวเองดีพอ อาจทำให้เข้าใจผิด เกิดความวิตกกังวลไปต่าง ๆ นานา คิดว่าพบก้อนมะเร็ง ซึ่งจริง ๆ แล้วอาจเป็นแค่ส่วนของเนื้อเยื่อตามปกติเท่านั้นเอง


เมื่อตรวจคลำเต้านมเป็นประจำแล้ว อย่าลืมเข้ามาตรวจเต้านมโดยแพทย์ และรับการตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ ตามช่วงวัยที่เหมาะสมด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราตรวจพบความผิดปกติได้เร็วขึ้น เพิ่มโอกาสรอดชีวิต แถมยังมีโอกาสเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ด้วย หากยังไม่ถึงระยะแพร่กระจาย


อ้างอิง

https://www.nci.go.th/th/Knowledge/downloads/ตรวจเต้านม.pdf



ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital