ก้อนที่คอที่เราคลำพบหรือมองเห็นได้ สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งอันตรายและไม่อันตราย โดยก้อนที่คอนี้มีได้หลายลักษณะ เช่น เป็นก้อนแข็ง ก้อนนิ่ม ก้อนไขมัน เป็นถุงน้ำ อาจกดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ หากโชคร้ายก้อนที่คอนี้อาจกลายเป็นโรคร้ายแรง ซึ่งแพทย์อาจพิจารณาให้รีบเข้ารับการผ่าตัดไทรอยด์ เช่น โรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ ดังนั้นหากคลำพบก้อนที่คอ ไม่ว่าจะมีอาการหรือไม่ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างทันท่วงที
ก้อนที่คอแบบไหนอันตราย?
ก้อนที่คอแบบไม่อันตราย
- ก้อนบริเวณผิวหนัง เช่น ก้อนซีสต์ไขมันผิวหนัง หรือ ก้อนไขมันใต้ผิวหนัง
- ก้อนที่คอจากการอักเสบ ซึ่งพบได้บ่อยในคนทั่วไป มักไม่ค่อยอันตราย ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส การอักเสบจากภาวะอื่นๆ แล้วทำให้ต่อมน้ำเหลืองหรือต่อมน้ำลายอักเสบและโตขึ้น ซึ่งหากรักษาสาเหตุได้ ก้อนนั้นก็จะเล็กลงและหายไปได้ แต่อย่างไรก็ตามควรปรึกษาแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องและปลอดภัย
ก้อนที่คอแบบที่อันตราย
- ก้อนที่คอจากโรคของต่อมไทรอยด์ เช่น ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ ภาวะพร่องไทรอยด์ฮอร์โมน หรือเนื้องอกและมะเร็งของต่อมไทรอยด์
- โรคมะเร็งอื่น ๆ เช่น มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปอด มะเร็งผิวหนัง หรือมะเร็งเต้านมก็อาจทำให้เกิดก้อนที่คอได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่าก้อนที่เกิดจากโรคของต่อมไทรอยด์และมะเร็งต่างๆ เป็นลักษณะของก้อนแบบที่อันตราย ต้องได้รับการรักษาและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง โดยก้อนที่พบที่คอ อาจมีสาเหตุมาจากโรคมะเร็งอื่นๆ เช่น มะเร็งปอด มะเร็งเต้านม มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งผิวหนัง หากเป็นเช่นนั้น ผู้ป่วยจะมีอาการอื่นที่สัมพันธ์กับมะเร็งชนิดนั้น ๆ ด้วย
ในที่นี้จะขอกล่าวถึงก้อนที่เป็นโรคของ “ต่อมไทรอยด์” ซึ่งเป็นต่อมไร้ท่อที่สำคัญของร่างกาย ซึ่งหากมีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ จะส่งผลถึงระบบการทำงานของร่างกายได้หลายๆ อย่าง และจะต้องได้รับการรักษาและวินิจฉัยอย่างถูกต้อง
ต่อมไทรอยด์คืออะไร?
ต่อมไทรอยด์ (thyroid gland) คืออวัยวะหนี่งในร่างกาย ที่ถูกจัดว่าเป็นต่อมไร้ท่อ โดยต่อมไทรอยด์เป็นต่อมไร้ท่อที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย วางตัวอยู่หน้าต่อหลอดลมบริเวณกลางคอ ใต้ลูกกระเดือก มีรูปร่างคล้ายปีกผีเสื้อ ต่อมไทรอยด์ทำหน้าที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์เพื่อควบคุมการเจริญเติบโต การเผาผลาญและใช้พลังงานของร่างกาย ดังนั้นหากต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติไป อาจทำให้เกิดภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือภาวะไทรอยด์เป็นพิษได้ และความผิดปกติของฮอร์โมนไทรอยด์นี้จะส่งผลต่อ การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ระบบหัวใจและหลอดเลือด
ก้อนที่คอและโรคของต่อมไทรอยด์
ก้อนของต่อมไทรอยด์พบได้ที่บริเวณด้านหน้าของลำคอ อาจทำให้สังเกตเห็นว่าคอโต หรือมีก้อนนูนขึ้นมา ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ (hyperthyroid) เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์สร้างฮอร์โมนไทรอยด์มากกว่าปกติ สาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดคือ โรคเกรฟวส์ (Graves’ disease) ซึ่งเป็นภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องอย่างหนึ่ง ทำให้ร่างกายสร้างฮอร์โมนมากกว่าปกติ หรืออาจเกิดจากการรับประทานยาบางชนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนไทรอยด์ หรือสาเหตุจากเนื้องอกต่อมไทรอยด์ชนิดที่สร้างฮอร์โมนไทรอยด์ด้วยตัวเอง ทำให้ฮอร์โมนเกิน เป็นต้น
- ภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ (hypothyroid) เป็นภาวะฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำกว่าปกติ ภาวะนี้จะตรงข้ามกับภาวะไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการอักเสบเรื้อรังจากภูมิคุ้มกันตัวเอง (autoimmune thyroiditis) หรือเกิดจากโรคไทรอยด์อักเสบเรื้อรังแบบฮาชิโมโต (Hashimoto’s thyroiditis) สาเหตุอื่น ๆ ที่พบได้ เช่น เกิดจากการผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออกทั้งสองข้าง ทำให้ขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือเกิดจากความผิดปกติในสมอง ทำให้ไม่กระตุ้นการหลั่งฮอร์โมนไทรอยด์
- โรคเนื้องอกไทรอยด์ชนิดไม่ใช่มะเร็ง ส่วนใหญ่ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือดจะปกติ เพราะเนื้องอกไม่ได้สร้างฮอร์โมน หรือไปมีผลกระทบต่อต่อมไทรอยด์
- โรคมะเร็งไทรอยด์ มีหลายชนิด ชนิดที่พบได้บ่อยที่สุดคือชนิด Papillary thyroid cancer ซี่งเป็นมะเร็งชนิดที่ดีที่สุดในมะเร็งไทรอยด์ทั้งหมด โดยยิ่งพบขนาดเล็กเท่าไร จะยิ่งมีอัตราความเสี่ยงต่อการแพร่กระจาย หรือความเสี่ยงต่อการกลับเป็นซ้ำลดลง หากตรวจพบ จำเป็นต้องผ่าตัดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น ๆ ในร่างกาย
อาการโรคของต่อมไทรอยด์
- อาการของภาวะไทรอยด์เป็นพิษ คือ ขี้ร้อน ทนร้อนไม่ได้ ขี้หงุดหงิด เหนื่อยง่าย มือสั่นใจสั่น รับประทานเท่าไรก็ไม่อ้วน คอโต จนไปถึงอาการที่รุนแรงคือ ภาวะหัวใจล้มเหลว
- อาการของภาวะการขาดฮอร์โมนไทรอยด์ คือ อ้วนง่าย ไม่มีแรง อ่อนเพลียตลอดเวลา เหนื่อยง่าย เซื่องซึม ง่วงนอนตลอดเวลา ท้องผูก หัวใจเต้นช้าลง เป็นต้น
- อาการของเนื้องอกต่อมไทรอยด์และมะเร็งไทรอยด์ โดยส่วนมากผู้ป่วยจะไม่มีอาการ ยกเว้นก้อนมีขนาดใหญ่มาก จนไปกดเบียดหลอดลม จะทำให้หายใจลำบาก และไปกดเบียดหลอดอาหารทำให้กลืนลำบาก หรือก้อนเป็นมะเร็งลุกลามไปกดเส้นประสาทที่ใช้พูด ทำให้เสียงแหบได้
การวินิจฉัยก้อนที่คอ
สำหรับการวินิจฉัยสามารถตรวจได้หลายวิธีตั้งแต่ประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเอง แต่หากสงสัย แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
- การประเมินเบื้องต้นด้วยตัวเอง โดยการกลืนน้ำลายหน้ากระจก แล้วสังเกตดูว่ามีก้อนเคลื่อนที่ตามการกลืนหรือไม่ ถ้าสังเกตเห็นก้อนที่เคลื่อนตามการกลืน ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อเข้ารับการวินิจฉัยเพิ่มเติม แต่อย่างไรก็ตามหากก้อนมีขนาดเล็ก อาจตรวจไม่เจอโดยวิธีการนี้ ดังนั้นหากมีอาการผิดปกติที่สงสัย ควรรีบปรึกษาแพทย์
- การซักประวัติและตรวจร่างกาย แพทย์จะซักประวัติและอาจจะคลำบริเวณลำคอ เพื่อตรวจว่ามีก้อนที่ผิดปกติหรือไม่
- ตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ในเลือด แพทย์มักจะพิจารณาให้เจาะเลือดเพื่อตรวจระดับฮอร์โมนไทรอยด์ ได้แก่ ฮอร์โมน thyroxine (FT4) ฮอร์โมน triiodothyronine (FT3) และฮอร์โมน TSH
- ตรวจอัลตร้าซาวด์บริเวณคอและต่อมไทรอยด์ เพื่อประเมินดูว่ามี ถุงน้ำ (cyst) ก้อนเนื้อ (thyroid nodule) หรือหินปูน (calcification) รวมทั้งประเมินต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอด้วย
การตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ หากสงสัยว่ามีความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจทางเวชศาสตร์นิวเคลียร์ ซึ่งเป็นการตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยใช้สารรังสี อาจให้ดื่มหรือฉีดทางเลือดดำ เพื่อดูปริมาณสารรังสีที่เซลล์ของต่อมไทรอยด์จับไว้ แล้วแพทย์จะทำการวินิจฉัยจากภาพของต่อมไทรอยด์ที่เครื่องสแกนได้
@praram9hospital คลำ #ไทรอยด์ ง่ายๆ ด้วยตัวเอง 🔍 อย่าลืมร่วมสนุกลุ้นบัตรภาพยนตร์กันน้า~ #คลำไทรอยด์ #Praram9Hospital #โรงพยาบาลพระรามเก้า ♬ Suns - Official Sound Studio
การรักษาก้อนที่คอ
แพทย์จะทำการรักษาตามสาเหตุซึ่งจะมีรายละเอียดแตกต่างกันไปตามภาวะหรือโรคของผู้ป่วย
- ภาวะไทรอยด์เป็นพิษ: รับประทานยาต้านฮอร์โมนไทรอยด์ กลืนแร่รักษา หรือผ่าตัดต่อมไทรอยด์
- ภาวะขาดไทรอยด์ฮอร์โมน: รับประทานฮอร์โมนไทรอยด์เสริม ร่วมกับการรักษาภาวะอักเสบเรื้อรัง สำหรับผู้ป่วยที่มีการอักเสบมากจนต่อมไทรอยด์โตมาก ไปกดเบียดอวัยวะข้างเคียง จำเป็นต้องผ่าตัดต่อมไทรอยด์ออก
เนื้องอกไทรอยด์ทั้งชนิดมะเร็งและไม่ใช่มะเร็ง: การรักษาจะเป็นการผ่าตัด ยิ่งเป็นเนื้องอกที่เป็นมะเร็งต้องรีบผ่าตัดโดยเร็วที่สุด เพื่อป้องกันการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง หรืออวัยวะอื่น ๆ และอาจจะต้องกลืนแร่รักษา ทั้งนี้ขึ้นกับความรุนแรง ข้อดีอย่างหนึ่งของมะเร็งชนิดนี้คือเป็นมะเร็งที่มีโอกาสการรอดชีวิตสูง ถ้าได้รับการรักษาที่ถูกต้อง ดังนั้นผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการดูแลจากศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านไทรอยด์ เพื่อให้การผ่าตัดรักษามีประสิทธิภาพสูงสุด
ผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก
การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปากเป็นทางเลือกการรักษาในปัจจุบันที่มีข้อดีคือ เป็นการผ่าตัดที่แผลเล็ก เสียเลือดน้อย ไม่มีรอยแผลผ่าตัดเป็นที่ผิวหนังบริเวณลำคอเพราะทำการผ่าตัดผ่านทางช่องปาก ทำให้ผู้ป่วยไม่เสียบุคลิกภาพ เพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วย นอกจากนี้หลังผ่าตัดผู้ป่วยจะฟื้นตัวเร็ว และยังลดความเสี่ยงของเสียงแหบหลังผ่าตัดจากการใช้กล้องส่องขยายเส้นเสียงได้อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติม การผ่าตัดไทรอยด์แบบส่องกล้องทางช่องปาก
สรุป
เนื่องจากลำคอเป็นที่อยู่ของต่อมฮอร์โมนที่สำคัญของร่างกายโดยเฉพาะต่อมไทรอยด์ ดังนั้นการมีก้อนที่คออาจบ่งบอกถึงโรคของต่อมไทรอยด์ อาจจะเป็นภาวะขาดฮอร์โมนไทรอยด์ หรือไทรอยด์เป็นพิษ หรือหากโชคร้ายอาจเสี่ยงต่อมะเร็งต่อมไทรอยด์
ดังนั้นการหมั่นสังเกตตัวเองอย่างสม่ำเสมอว่ามีอาการผิดปกติที่น่าสงสัยหรือไม่ เช่น ขี้ร้อน ขี้หงุดหงิด เหนื่อยง่าย ใจสั่น อ่อนเพลีย หรือสังเกตเห็นก้อนที่ลำคอ ก็จะเป็นประโยชน์มาก ๆ ในการดูแลสุขภาพร่างกาย และถ้าสงสัยควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงที