พฤติกรรมที่ชอบกินอาหารหวานหรืออาหารไขมันสูงเป็นประจำ โดยเฉพาะพวกของทอดของปิ้งย่าง หรือชาบู อาจส่งผลให้สมดุลของน้ำดีเสียไป ทำให้เกิดก้อนผลึกขึ้นในถุงน้ำดี เกิดเป็นนิ่วในถุงน้ำดีขึ้นได้
หากเป็นนิ่วในถุงน้ำดีถึงขั้นอักเสบแล้ว อาจต้องรักษาโดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออก ทำให้เราแทบจะหมดโอกาสที่จะได้กินอาหารหวานมันเหมือนเมื่อก่อน ถ้าเราไม่อยากเป็นแบบนั้น ก็ควรระมัดระวังพฤติกรรมการกินอาหาร และมาทำความรู้จักกับโรคนี้ไว้แต่เนิ่น ๆ ด้วยการอ่านบทความนี้
นิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร
นิ่วในถุงน้ำดี (Gall Stone) เป็นโรคที่เกิดจากการตกตะกอนของสารต่าง ๆ ในน้ำดี ทำให้เกิดนิ่วขึ้นที่ถุงน้ำดี ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อบ่อย ๆ โดยเฉพาะเวลาทานอาหารประเภทไขมัน (แต่ก็มีกรณีที่ไม่แสดงอาการ) สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีและนิ่วออก
ความผิดปกติของถุงน้ำดีมักมาจากภาวะการอักเสบ ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น มีเนื้องอก เกิดพังผืด ติดเชื้อ ได้รับการกระทบกระเทือน แต่สาเหตุส่วนมากของถุงน้ำดีอักเสบกว่าร้อยละ 95 เป็นผลมาจากการเป็นนิ่วในถุงน้ำดี (gallstone)
ใครมีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีบ้าง
เราสามารถสรุป กลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีได้ ดังต่อไปนี้
- พบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย โดยเฉพาะกลุ่มที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- พบได้ค่อนข้างบ่อยในคุณผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่เกิดจากฮอร์โมนที่ผิดปกติในระหว่างที่ตั้งครรภ์
- มักพบโรคนี้ในกลุ่มคนที่เป็นโรคอ้วน มีน้ำหนักเกินมาตรฐาน หรือผู้ที่มีคอเลสเตอรอลสูง
- ผู้ที่ลดน้ำหนักรวดเร็วเกินไป โดยเฉพาะ การลดด้วยวิธีอดอาหาร
- หากพ่อแม่เคยเป็นโรคนี้ ลูกก็จะมีโอกาสเป็นได้มากกว่าคนทั่วไป
- คนที่มีพฤติกรรมในการกินอาหารที่มีไขมันสูง
- ผู้ที่รับประทานยาลดคอเลสเตอรอล หรือยาคุมกำเนิด
- ผู้ที่เป็นโรคเลือดบางโรค เช่น โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
- ผู้ป่วยโรคเบาหวาน
อดอาหาร หักโหมลดน้ำหนัก เสี่ยงเป็นนิ่วในถุงน้ำดี
เนื่องจากถุงน้ำดีจะหลั่งน้ำดีออกมาสำหรับย่อยอาหารประเภทไขมัน แต่เมื่อเราหักโหมลดน้ำหนักโดยการอดอาหาร อาจส่งสัญญาณให้ถุงน้ำดีบีบตัวน้อยลง เพราะเมื่อได้รับอาหารน้อย ก็ไม่จำเป็นต้องหลั่งน้ำดีมาย่อย เมื่อน้ำดีไม่ค่อยได้หลั่งออกมา
ก็จะสะสมอยู่นิ่ง ๆ ภายในถุงน้ำดี มีโอกาสที่จะตกตะกอนเป็นก้อนนิ่วได้
นอกจากนี้ การกินยาลดคอเลสเตอรอล แม้จะเป็นการลดคอเลสเตอรอลในเลือด แต่อาจทำให้ปริมาณคอเลสเตอรอลในถุงน้ำดีเพิ่มขึ้นก็ได้
กลุ่ม Fair, Fat, Female, Fertile & Forty (5F) เสี่ยงที่สุด
มีข้อสรุปที่น่าสนใจว่า หากเป็นผู้หญิงชาวยุโรปหรืออเมริกา ที่มีภาวะอ้วน เคยตั้งครรภ์มาแล้ว และมีอายุเกิน 40 ปีขึ้นไป หรือที่เรียกว่ากลุ่ม Fair, Fat, Female, Fertile & Forty (5F) จะมีความเสี่ยงที่จะเป็นนิ่วในถุงน้ำดีสูงมาก
- Fair : หมายถึง ชนชาติผิวขาว (คนตะวันตก) เช่น คนยุโรป หรือคนอเมริกา
- Fat : หมายถึง กลุ่มคนที่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
- Female : หมายถึง ผู้หญิง เนื่องจากพบความเสี่ยงในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย
- Forty : หมายถึง ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป
- Fertile : หมายถึง ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ โดยเฉพาะคนที่ผ่านการตั้งครรภ์มาแล้ว เนื่องจากช่วงที่ตั้งครรภ์มักมีความแปรปรวนของฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งส่งผลกับคอเลสเตอรอล
สำหรับคนไทยแล้ว เราอาจเลือกจำง่าย ๆ แค่ 4F โดยตัดคำว่า Fair ออก เหลือแต่เพียง Fat, Female, Fertile & Forty แทน หากพบว่าตัวเองอยู่ในเกณฑ์ดังกล่าว ควรเลือกกินอาหารอย่างระมัดระวังและเข้ารับการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ
เด็กก็มีสิทธิ์เป็นเหมือนกันนะ!
แม้ว่ากลุ่มเสี่ยงตามที่ได้กล่าวไปแล้วจะไม่ใช่เด็ก แต่ก็มีปัจจัยกระตุ้นให้เด็กเป็นโรคดังกล่าวได้ เช่น โรคธาลัสซีเมีย ภาวะที่ผิดปกติของทางเดินน้ำดี มีพ่อแม่ที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี (พันธุกรรม) ได้รับยาบางชนิด เช่น ยาเซฟไตรอะโซน (Ceftriaxone)
นอกจากนี้ หากเด็กมีภาวะอ้วน มีน้ำหนักเกิน หรือมีพฤติกรรมการกินที่เน้นอาหารหวานมัน ก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นนิ่วในถุงน้ำดีได้ด้วยเช่นกัน
สาเหตุของการเกิดนิ่วในถุงน้ำดี
เกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมีในน้ำดีที่ใช้ในการย่อยไขมันเพื่อให้ดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ซึ่งโดยปกติน้ำดีประกอบด้วยสารต่าง ๆ มากมายหลายชนิด ที่ถุงน้ำดี (อวัยวะที่มีลักษณะเป็นถุงหรือกระเปาะ อยู่บริเวณใต้ชายโครงด้านขวา) ทำหน้าที่เหมือนเป็นโกดังสะสมน้ำดีที่ผลิตมาจากตับ เช่น น้ำ คอเลสเตอรอล บิลิรูบิน เลซิติน และเกลือน้ำดี เป็นต้น
หากเกิดกรณีที่สมดุลเคมีไม่สมดุลจากการสาเหตุต่างๆ เช่น มีคอเลสเตอรอลหรือบิลิรูบินมากเกินไป อาจขับออกมาไม่หมด แล้วตกตะกอนกลายเป็นนิ่วอยู่ภายในได้
ประเภทของก้อนนิ่วที่เกิดในถุงน้ำดี
นิ่วในถุงน้ำดี ประกอบด้วยสาร 3 ชนิดหลัก ๆ ได้แก่ แคลเซียม คอเลสเตอรอล และบิลิรูบิน สามารถแบ่งจากลักษณะและองค์ประกอบของการเกิดนิ่วได้ 2 ประเภท ได้แก่
ชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (cholesterol stones) เป็นนิ่วที่เกิดขึ้นจากการจับตัวของคอเลสเตอรอลประมาณ 70% โดยน้ำหนัก เกิดจากการมีคอเลสเตอรอลมากเกินไป ไม่สามารถขับออกมาจากถุงน้ำดีได้หมด จึงตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่ว
นิ่วชนิดนี้ มักพบในผู้ป่วยในประเทศแถบตะวันตก แต่ผู้ที่กินอาหารไขมันสูงเป็นประจำ ก็สามารถเป็นนิ่วชนิดนี้ได้เช่นกัน
ชนิดที่เกิดจากเม็ดสีหรือบิลิรูบิน (pigment stones) ก้อนนิ่วชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล มักพบในผู้ป่วยโรคตับหรือผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของเลือด เช่น โรคโลหิตจาง ธาลัสซีเมีย
ชอบกินของทอดของมัน ให้ระวัง!
เมื่อเรากินอาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูงเป็นประจำ อาจทำให้เกิดการตกตะกอนของคอเลสเตอรอล ร่วมกับเกลือแร่และโปรตีนที่ไม่สมดุลในน้ำดี จนเกิดเป็นก้อนนิ่วอุดตันอยู่ภายใน เมื่อสะสมมากเข้า ทำให้การทำงานของถุงน้ำดีแย่ลง หากปล่อยไว้ อาจเกิดการอักเสบในที่สุด
นิ่วในถุงน้ำดี มีอาการอย่างไรบ้าง
ในช่วงแรกที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี บางคนอาจจะยังไม่แสดงอาการอะไร หรือมีอาการ แต่ไม่ทราบว่าเป็นนิ่วและไม่ได้ไปตรวจ แต่เมื่อผ่านไปนานวันเข้า นิ่วมีขนาดใหญ่ขึ้น หรือสะสมเพิ่มจำนวนขึ้น จึงเริ่มมีอาการ
อาการในช่วงแรก ถ้ายังไม่รุนแรงมาก มักจะเกิดขึ้นเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากที่กินอาหารที่มีไขมันสูงเข้าไป ซึ่งจะไปกระตุ้นให้เกิดอาการบวมตึงในถุงเพราะการคั่งของของเหลว มีลักษณะอาการที่สังเกตได้ ดังนี้
- แน่นท้อง ท้องอืด มีลมมาก
- ปวดจุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ และอาจปวดร้าวไปบริเวณสะบักขวา
- อาจมีอาการคลื่นไส้ร่วมด้วย
ข้อสังเกตคือ มักจะมีอาการหลังกินอาหารมัน ๆ หรือช่วงเวลากลางคืน และมักจะเป็นอยู่ 1 – 2 ชั่วโมงก็หาย และขณะมีอาการ ผู้ป่วยจะยังพอขยับตัวได้
โดยทั่วไปพบว่า หากเริ่มมีอาการแล้ว ก็มักจะเป็นต่อเนื่องและรุนแรงขึ้น (เนื่องจากก้อนนิ่วมักไม่ได้หายไปไหน มีแต่สะสมมากขึ้นเรื่อย ๆ) เมื่อเริ่มมีก้อนนิ่วภายในถุงน้ำดีแล้ว มีโอกาสเกิดภาวะถุงน้ำดีอักเสบเฉียบพลัน (Acute Cholecystitis) ได้ทุกเมื่อ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่า โดยสามารถสังเกตได้ดังนี้
- มีอาการปวด จุกแน่น เหมือนอาการที่กล่าวไว้ข้างต้น แต่มีอาการยาวนาน 4 – 6 ชั่วโมงแล้วยังไม่หาย
- มีอาการปวดท้องแบบรุนแรง หรือปวดจุกเสียดรุนแรงบริเวณลิ้นปี่หรือใต้ชายโครงขวา
- มีอาการดีซ่าน ตัวเหลือง ตาเหลือง
- ปัสสาวะเหลืองเข้ม หรืออุจจาระสีซีด
- เป็นไข้ มีอาการหนาวสั่น (ร่วมกับอาการข้างต้น)
- คลื่นไส้ อาเจียน (ร่วมกับอาการข้างต้น)
สัญญาณของการเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดี คือมีอาการ ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย อาเจียนปวดท้องอย่างรุนแรงบริเวณช่วงท้องส่วนบนด้านขวา โดยปวดต่อเนื่องเป็นเวลานาน เป็นต้น
ข้อสังเกตคือ ผู้ป่วยแทบจะขยับตัวไม่ได้เลย เพราะจะปวดมาก และถ้าหากพบว่ามีอาการดังกล่าวแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์
โดยด่วน
อาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
นอกจากอาการอักเสบเฉียบพลันและอาการของผู้ป่วยที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดีที่พบเป็นประจำแล้ว อาจมีอาการแทรกซ้อนอย่างอื่นซึ่งอันตรายไม่แพ้กัน ได้แก่
1. ตับและตับอ่อนอักเสบ : เกิดจากการอุดตันของนิ่วในท่อน้ำดี ส่งผลให้ผู้ป่วยมีอาการดีซ่าน และทำให้ตับหรือตับอ่อนเกิดการอักเสบตามมาได้
2. ลำไส้อุดตัน : เกิดจากการคั่งของน้ำดี แล้วทะลุไปยังช่องท้องหรือทะลุไปสู่อวัยวะอื่น ทำให้ก้อนนิ่วที่มีขนาดใหญ่ ไปอุดตันบริเวณลำไส้ (มักเกิดกับบริเวณที่ลำไส้ตีบแคบ เช่น ileocaecal valve เป็นต้น)
3. มะเร็งถุงน้ำดี : พบว่าผู้ป่วยมะเร็งถุงน้ำดีส่วนใหญ่ มีนิ่วในถุงน้ำดีร่วมด้วย และยิ่งถ้าก้อนนิ่วมีขนาดใหญ่ จะเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งที่ถุงน้ำดีมากขึ้นไปอีก
4. ติดเชื้อรุนแรง (กรณีผู้ป่วยเบาหวาน) : ผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรได้รับการผ่าตัดโดยเร็ว เพราะถ้าปล่อยให้อักเสบขึ้นมาแล้ว มักจะมีภาวะติดเชื้อที่รุนแรงและเสี่ยงถึงชีวิต
จะเห็นได้ว่า แม้จะยังไม่ได้มีอาการอักเสบเกิดขึ้น แต่การปล่อยให้เป็นนิ่วอยู่นาน ๆ ไม่เป็นผลดีแน่นอน ควรรีบมาปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนแนวทางรักษาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะดีกว่าปล่อยไว้จนกระทั่งมีอาการแทรกซ้อนร้ายแรง
การตรวจวินิจฉัย
เมื่อเข้ารับการตรวจวินิจฉัย แพทย์จะซักถามอาการ ส่งตรวจร่างกาย และต้องมีการอัลตราซาวด์ช่องท้องส่วนบน ซึ่งเป็นวิธีที่ดีและง่ายในการตรวจนิ่วในถุงน้ำดี
ข้อแนะนำ: เนื่องจากผู้ป่วยด้วยโรคนิ่วในถุงน้ำดีมักไม่รู้ตัวในระยะแรก ๆ และมักจะไปตรวจพบโดยบังเอิญจากการตรวจสุขภาพ หรือหลังจากมีอาการแล้วจึงค่อยไปตรวจ ดังนั้น จึงมีข้อแนะนำว่า หากเรารู้ว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรเข้ารับการตรวจเชิงป้องกันบ้าง
นิ่วในถุงน้ำดี หายเองได้ไหม?
เชื่อว่า เป็นคำถามที่ใคร ๆ ก็อยากให้คำตอบออกมาว่า‘หายเองได้’ แต่ในความเป็นจริงแล้ว นิ่วจะไม่มีทางสลายไปเอง หรือต่อให้ก้อนนิ่วหลุดออกไปได้ ก็จะไปติดค้างอยู่ที่จุดอื่นและสร้างปัญหาตามมาอยู่ดี นอกจากนี้ การปล่อยทิ้งไว้ไม่สนใจ มีแต่จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอาการแทรกซ้อนตามมาได้อีก
ในปัจจุบัน นิ่วในถุงน้ำดี ไม่สามารถรักษาได้ด้วยการกินยาสลายนิ่ว (เหมือนกรณีของนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ) อีกทั้ง การยิงคลื่นหรือเลเซอร์สลายนิ่วในบริเวณถุงน้ำดีก็ยังมีความเสี่ยงสูง ขั้นตอนการรักษาที่เหมาะสมและเป็นมาตรฐานที่สุดสำหรับกรณีนี้ คือ การรักษาโดยการผ่าตัด
การรักษานิ่วในถุงน้ำดี
การรักษา ทำได้ด้วยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีและนิ่วออก โดยมีวิธีการรักษาอยู่ 2 วิธี
1. การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Surgery)
เป็นการผ่าตัดผ่านบริเวณช่องท้องด้านชายโครงด้านขวา แล้วตัดเอาถุงน้ำดีพร้อมกับนิ่วออกมา เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการอักเสบอย่างรุนแรง ถุงน้ำดีมีการแตกทะลุ หรือเริ่มมีอาการดีซ่าน
นอกจากนี้ การผ่าตัดด้วยวิธีนี้ยังใช้กับผู้ป่วยบางรายที่เคยผ่าตัดช่องท้องมาก่อนจนเกิดพังผืดติดลำไส้และผนังหน้าท้องมาก จะไม่สามารถใช้การผ่าตัดแบบส่องกล้องได้
2. การผ่าตัดส่องกล้อง (Laparoscopic cholecystectomy)
เรียกกันสั้นๆว่า LC วิธีนี้เป็นวิธีที่ปลอดภัย แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก มีข้อดีคือ เป็นวิธีที่ปลอดภัย เพราะมีแผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ช่วยลดโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน และลดอาการเจ็บปวดของบาดแผลน้อยกว่าการผ่าตัดเปิดแบบเดิม ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้นกว่าเดิม รับประทานอาหารได้เร็วและกลับบ้านประกอบการงานได้รวดเร็ว
การปฏิบัติตัวหลังการผ่าตัด
ผู้ป่วยที่พึ่งได้รับการผ่าตัดมาใหม่ ๆ ให้กินอาหารอ่อน ๆ เช่น ข้าวต้ม โจ๊ก แต่ควรลดปริมาณไข่แดงเนื่องจากมีคอเลสเตอรอลสูง
หลังจากผ่าตัด สามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ให้ระวังการออกแรง ออกกำลังกายหนัก ๆ หรือการยกของหนัก อย่างน้อยเป็นเวลา 4 สัปดาห์หลังผ่าตัด (โดยเฉพาะ กรณีที่ผ่าตัดแบบเปิด) และควรลดอาหารที่มีไขมันสักระยะหนึ่ง จนกว่าร่างกายจะปรับตัวได้
นอกจากนี้ ควรมาให้แพทย์ตรวจติดตามหลังผ่าตัดอีก 1-2 ครั้ง หรือตามคำแนะนำที่เหมาะสม
ไม่อยากเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมีวิธีป้องกันอย่างไรบ้าง
ส่วนมากแล้วเป็นข้อแนะนำในแง่ของการปรับพฤติกรรม โดยเฉพาะพฤติกรรมการกิน ได้แก่
- กินอาหารให้ได้สัดส่วน เลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูงและอาหารแปรรูปต่าง ๆ เช่น อาหารฟาสต์ฟู้ดส์ อาหารทอด ชาบู-ปิ้งย่าง และ เนื้อติดมัน สัตว์ทะเลบางชนิด รวมถึงอาหารที่มีปริมาณคอเลสเตอรอลสูง เป็นต้น
- ลดหรือเลี่ยงของหวาน อาหารกินเล่นต่าง ๆ รวมทั้งแอลกอฮอล์ด้วย
- ควบคุมน้ำหนัก หมั่นเข้ารับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือด และระดับของไขมันชนิดต่าง ๆ โดยเฉพาะคอเลสเตอรอล
- ไม่ใช้วิธีอดอาหาร เพื่อลดน้ำหนักอย่างรวดเร็ว แต่ให้ใช้วิธีคุมอาหาร ร่วมกับออกกำลังกายอย่างเหมาะสม (ออกกำลังกาย
2 – 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละครึ่งชั่วโมง) - หากต้องกินยาคุมกำเนิด ยาลดคอเลสเตอรอล ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์
- ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี และควรทำอัลตราซาวด์ช่องท้องด้วย
- ควรศึกษาและตรวจเช็คว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ กลุ่มเสี่ยงควรติดตามดูแลตัวเองอย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ ผู้ที่รู้แล้วว่าตัวเองเป็นนิ่วในถุงน้ำดี ควรพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาทันที อย่าปล่อยไว้จนมีอาการลุกลาม
สรุป
นิ่วในถุงน้ำดี เป็นโรคที่เกิดจากก้อนนิ่วไปอุดตันตามส่วนต่าง ๆ ในถุงน้ำดี ผู้ป่วยอาจมีอาการแน่นท้อง จุกเสียด ท้องอืดโดยเฉพาะเวลาทานอาหารประเภทไขมัน หรือบางคนก็ไม่แสดงอาการ สามารถรักษาได้โดยการผ่าตัดเอาถุงน้ำดีและนิ่วออก และไม่ควรปล่อยไว้จนกระทั่งอักเสบหรือเป็นโรคแทรกซ้อน
แม้จะมีการอธิบายถึงกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเป็นนิ่วในถุงน้ำดีมากกว่าคนอื่น ๆ เช่น กลุ่ม 5F แต่เราก็ไม่ควรมองข้ามพฤติกรรมเสี่ยงของตัวเองที่อาจกระตุ้นให้เป็นโรคนี้ได้ โดยเฉพาะ การรับประทานอาหารที่มีไขมันในสัดส่วนที่สูง อาจกินได้บ้างตามโอกาส แต่ไม่ควรกินบ่อยหรือกินเป็นประจำ
สังเกตว่า การรักษาในปัจจุบัน ทำได้โดยการตัดถุงน้ำดีออก ซึ่งใครอ่านแล้วอาจจะตกใจไปบ้าง แต่ให้สบายใจได้ว่า แม้จะไม่มีโกดังกักเก็บน้ำดีแล้ว แต่ส่วนที่ทำหน้าที่ผลิตน้ำดีก็ยังมีอยู่ ซึ่งก็คือ “ตับ” นั่นเอง เปรียบได้กับการใช้น้ำโดยตรงจากระบบประปาโดยไม่มีบ่อกักเก็บน้ำ ทำให้ประสิทธิภาพในการย่อยไขมันอาจลดลงไปบ้าง แต่เมื่อเวลาผ่านไป ร่างกายจะปรับตัวได้เอง