อาการ “ใจสั่น” หรือ “ใจหวิว ๆ” อาจเป็นอาการที่เราเคยเป็น ซึ่งบางครั้งก็ทำให้เกิดความกังวลว่า อาการใจสั่นนี้เป็นสัญญาณของโรคหัวใจหรือโรคอื่น ๆ หรือไม่ และเนื่องจากอาการใจสั่นเป็นอาการที่พบได้ในทุกเพศ ทุกวัย ทุกช่วงอายุตั้งแต่วัยเด็กจนถึงผู้สูงอายุ มีสาเหตุได้จากหลาย ๆ อย่าง ทั้งสาเหตุที่อันตรายรุนแรงและไม่อันตราย ดังนั้นเมื่อรู้สึกว่ามีอาการใจสั่นจึงควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการตรวจวินิจฉัยแยกโรค และหากเป็นอาการใจสั่นชนิดที่อันตรายก็ควรได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้อง
อาการใจสั่นเป็นอย่างไร?
“ใจสั่น” มักเป็นอาการที่มีความรู้สึกเหมือนหัวใจเต้นเร็วหรือแรงเกินไป อาจเต้นช้า เต้นจังหวะไม่สม่ำเสมอ หรือช้าสลับเร็ว ซึ่งหากมีอาการไม่บ่อยและเกิดขึ้นเพียงไม่กี่วินาที ไม่มีอาการเวียนหัว หน้ามืด หรือเป็นลมอาจไม่น่ากังวลมากนัก แต่หากมีประวัติเป็นโรคหัวใจ หรืออาการใจสั่นเกิดขึ้นบ่อยหรือใจสั่นครั้งละนาน ๆ และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วยควรรีบปรึกษาแพทย์ แต่อย่างไรก็ตาม หากรู้สึกเหมือนมีอาการใจสั่นก็ควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตรวจวินิจฉัยอย่างเหมาะสมต่อไป
ใจสั่นเกิดจากอะไรได้บ้าง?
“ใจสั่น” เป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- ภาวะทางอารมณ์ โรคแพนิค ความเครียด วิตกกังวล ตื่นเต้นตกใจ
- การออกกำลังกายอย่างหนัก
- สารกระตุ้นบางอย่าง เช่น คาเฟอีน นิโคติน โคเคน แอมเฟตามีน ยาลดน้ำหนัก ยาแก้หวัดและยาแก้ไอที่มีซูโดอีเฟดรีน (pseudoephedrine) ยาขับปัสสาวะ ยาขยายหลอดเลือด
- การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนตามรอบเดือนในผู้หญิง การตั้งครรภ์ หรือภาวะพร่องฮอร์โมนในหญิงในวัยหมดประจำเดือน
- โรคไทรอยด์เป็นพิษ เป็นภาวะที่ต่อมไทรอยด์ทำงานเกิน (hyperthyroidism)
- มีไข้ ติดเชื้อ
- ระดับน้ำตาล โพแทสเซียม หรือออกซิเจนในเลือดต่ำ
- ภาวะโลหิตจาง ภาวะขาดสารน้ำ
- ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmia) ซึ่งหัวใจเต้นผิดจังหวะมีหลายชนิด มีความรุนแรงแตกต่างกันออกไป
และเนื่องจากอาการใจสั่นเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้จำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์เฉพาะทางอายุรกรรมหรือแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ เพื่อการวินิจฉัยและการรักษาอย่างถูกต้อง
ใจสั่นแบบไหนควรปรึกษาแพทย์?
ใจสั่นเป็นอาการที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย และสามารถเกิดได้ทั้งในขณะพัก ขณะทำกิจวัตรประจำวัน ออกกำลังกาย หรือทำงาน ส่วนใหญ่มักไม่อันตราย แต่อาการใจสั่นที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจควรได้รับการวินิจฉัยและรักษา ได้แก่
- โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ (arrhythmias)
- โรคหัวใจที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiomyopathy)
- โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด (congenital heart disease)
- โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack)
- ภาวะหัวใจล้มเหลว (heart failure)
- โรคลิ้นหัวใจ (valve heart disease)
อาการใจสั่นเป็นอาการที่สามารถเกิดได้จากหลาย ๆ สาเหตุซึ่งต้องมีวิธีการตรวจที่เฉพาะ เพื่อบอกชนิด ระยะเวลา และความรุนแรงของอาการใจสั่นนั้น ดังนั้นหากสงสัยหรือมีอาการใจสั่น ควรปรึกษาแพทย์
อาการที่มักเป็นร่วมกับใจสั่น
อาการใจสั่นมักทำให้มีความรู้สึกหวิว ๆ ใจหาย หรือเหมือนตกจากที่สูง ซึ่งหากเป็นไม่บ่อย และไม่มีอาการหน้ามืด เป็นลม หรือเวียนศีรษะร่วมด้วย อาจเป็นอาการที่ไม่อันตราย แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ร่วมด้วย ตัวผู้ป่วยควรรีบมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล หรือผู้พบเห็นควรพาผู้ป่วยมาโรงพยาบาลทันที เพราะเป็นอาการที่อันตรายอาจทำให้เสียชีวิตได้
- เจ็บหน้าอก เหนื่อย
- หน้ามืด เป็นลมหมดสติ
- หายใจไม่ออก หายใจถี่อย่างรุนแรง
- เวียนศีรษะอย่างรุนแรง
การวินิจฉัยอาการใจสั่น
- ซักประวัติ และตรวจร่างกาย
- ตรวจเลือด ตรวจปัสสาวะ
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (electrocardiography; ECG)
- การติดเครื่องติดตามการเต้นของหัวใจ 24 หรือ 48 ชั่วโมง (holter monitoring) เป็นการติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 หรือ 48 ชั่วโมงไว้กับตัว โดยผู้ที่ติดเครื่องนี้สามารถกลับบ้าน ใช้ชีวิตและทำงานได้ตามปกติโดยที่มีอุปกรณ์นี้คอยบันทึกและติดตามการติดของหัวใจไปพร้อมกันด้วย และเมื่อครบกำหนดเวลาก็สามารถถอดเครื่องออกได้เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการใจสั่นผิดปกติเป็นประจำ หรือมีอาการบ่อย ๆ
- การติดเครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจแบบพกพา (event recorder) เป็นอุปกรณ์ที่ใช้บันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจเพื่อนำมาวินิจฉัยภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจเต้นไม่สม่ำเสมอ เป็นอุปกรณ์ขนาดเล็ก พกพาสะดวก น้ำหนักเบา สามารถบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจได้ทันทีเมื่อมีอาการผิดปกติ เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการหัวใจเต้นผิดจังหวะไม่บ่อย หรือมีอาการในระยะเวลาสั้น ๆ
- การศึกษาสรีรวิทยาไฟฟ้า (electrophysiology study) เป็นการตรวจประเมินสัญญาณไฟฟ้าในหัวใจ เพื่อช่วยในการวินิจฉัยหาสาเหตุของหัวใจเต้นผิดปกติ และหาตำแหน่งในหัวใจที่เป็นจุดกำเนิดคลื่นไฟฟ้าที่ผิดปกติ โดยการตรวจนี้แพทย์จะทำการใส่สายเข้าไปในห้องหัวใจผ่านหลอดเลือดที่บริเวณขาหนีบ
การรักษาอาการใจสั่น
การรักษาอาการใจสั่นขึ้นอยู่กับสาเหตุ หากมีอาการไม่รุนแรงอาจยังไม่จำเป็นต้องได้รับการรักษาที่เฉพาะเจาะจง อาจใช้การสังเกตอาการและหลีกเลี่ยงปัจจัยกระตุ้นบางอย่าง เช่น งดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่สูบบุหรี่ หลีกเลี่ยงยาบางชนิดที่มีสารกระตุ้น จัดการกับความเครียดหรือวิตกกังวลหรือหลีกเลี่ยงกิจกรรมบางอย่าง แต่หากสาเหตุของอาการใจสั่นมาจากความผิดปกติของหัวใจ หรือภาวะอื่น ๆ ในร่างกาย แพทย์อาจพิจารณาวิธีการรักษาเช่น
- การรับประทานยาควบคุมอัตราและจังหวะการเต้นของหัวใจ
- การจี้ไฟฟ้าความถี่สูงผ่านสายสวน (radiofrequency catheter ablation; RFCA)
- การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (permanent pacemaker; PPM)
- การใส่เครื่องกระตุกหัวใจอัตโนมัติ (automatic implantable cardioverter/ defbrillator; AICD)
- การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าและช่วยการบีบตัวหัวใจ (cardiac resynchronization therapy/debrillator; CRT/CRTD)
ทั้งนี้การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละราย และจำเป็นต้องได้รับการรักษาจากแพทย์เฉพาะทางหัวใจที่มีความเชี่ยวชาญด้านไฟฟ้าหัวใจ
สรุป
อาการใจสั่นสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ ทั้งในขณะที่อยู่เฉย ๆ หรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ก็ตาม ส่วนใหญ่อาการใจสั่นมักไม่อันตราย แต่อย่างไรก็ตามหากอาการใจสั่นนั้นมีสาเหตุมาจากโรคหัวใจหรือภาวะหัวใจเต้นผิดปกติก็จำเป็นที่ต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยและรักษาอย่างถูกต้องจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง
ปัจจุบันการวินิจฉัยหัวใจเต้นผิดจังหวะมีความทันสมัย มีหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย ให้ผลการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ ถูกต้อง ซึ่งนำไปสู่การรักษาที่ได้ผลดีและตรงกับสาเหตุของอาการใจสั่นมากขึ้น