บทความสุขภาพ

Knowledge

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

นพ. สุธี อุ้มปรีชา

เมื่ออายุมากขึ้น ผู้ชายหลายคนอาจเริ่มสังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย หนึ่งในปัญหาที่พบบ่อยคือ “ต่อมลูกหมากโต” (Benign Prostatic Hyperplasia: BPH) โดยภาวะนี้อาจทำให้การปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน หรือรู้สึกปัสสาวะไม่สุด ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก

โรคต่อมลูกหมากโต ไม่ใช่มะเร็ง แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ดูแลก็อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ซับซ้อนขึ้นได้ ในบทความนี้ จึงจะพามาทำความรู้จักเกี่ยวกับโรคนี้ให้มากขึ้น พร้อมแนะนำแนวทางการดูแลรักษาที่เหมาะสม เพื่อให้คุณใช้ชีวิตได้อย่างมั่นใจและมีสุขภาพที่ดี


Key Takeaways

  • ต่อมลูกหมากโต (BPH) เป็นภาวะที่พบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคน ซึ่งจะส่งผลต่อระบบปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะติดขัด หรือปัสสาวะไม่สุด
  • หากโรคต่อมลูกหมากโตไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างถูกวิธี อาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ ไตวาย หรือปัสสาวะคั่งเรื้อรังได้
  • แนวทางการรักษาต่อมลูกหมากโตมีทั้งการใช้ยา การผ่าตัด และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ

โรคต่อมลูกหมากโตคืออะไร?

ต่อมลูกหมาก (Prostate) เป็นต่อมขนาดเล็กในระบบสืบพันธุ์เพศชาย อยู่บริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะและล้อมรอบท่อปัสสาวะ มีหน้าที่ผลิตของเหลวที่เป็นส่วนประกอบของน้ำอสุจิ ช่วยในการหล่อลื่นและปกป้องสเปิร์ม

เมื่อผู้ชายมีอายุมากขึ้น ต่อมลูกหมากอาจขยายใหญ่ขึ้นกว่าปกติ ภาวะนี้เรียกว่า ต่อมลูกหมากโต (Benign Prostatic Hyperplasia: BPH) ซึ่งส่งผลให้ทางเดินปัสสาวะถูกกดทับ ทำให้เกิดอาการปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะบ่อย หรืออาจรู้สึกว่าปัสสาวะไม่สุด ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ชายวัยกลางคนและผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก รวมถึงยังอาจทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือเกิดโรคไตได้


ต่อมลูกหมากโตมีลักษณะอาการอย่างไร?

อาการต่อมลูกหมากโต

อาการต่อมลูกหมากโตมักเกิดขึ้นแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยจะเริ่มจากการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ น้อย ๆ ในการปัสสาวะก่อน แต่ถ้าหากปล่อยทิ้งไว้นาน อาการอาจรุนแรงขึ้นและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้ โดยลักษณะอาการที่พบบ่อยของต่อมลูกหมากโต มีดังนี้

  • ปัสสาวะบ่อย โดยเฉพาะช่วงกลางคืนจะรู้สึกปวดปัสสาวะถี่ขึ้นจนรบกวนการนอนหลับ
  • ปัสสาวะติดขัด ปัสสาวะไม่สุด ต้องออกแรงเบ่งหรือรู้สึกว่ามีปัสสาวะค้างอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ
  • ปัสสาวะไหลช้า หรือหยุดเป็นช่วง ๆ ไม่พุ่งแรงเหมือนเดิม ต้องปัสสาวะนานกว่าปกติ
  • กลั้นปัสสาวะลำบาก อาจมีอาการปัสสาวะเล็ดเมื่อรู้สึกปวดปัสสาวะอย่างฉับพลัน
  • รู้สึกปวดหรือไม่สบายบริเวณท้องน้อย โดยเฉพาะหลังจากปัสสาวะ

ต่อมลูกหมากโตเกิดจากปัจจัยเสี่ยงใดบ้าง?

หลายคนอาจสงสัยว่า ต่อมลูกหมากโตเกิดจากอะไร มีปัจจัยเสี่ยงใดบ้าง? แม้ว่าโรคต่อมลูกหมากโตจะพบได้บ่อยในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่แน่ชัดว่าสาเหตุหลักของต่อมลูกหมากโตคืออะไร อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่อาจเกี่ยวข้องกับการเกิดต่อมลูกหมากโต มีดังนี้

  • อายุที่เพิ่มขึ้น ความเสี่ยงของโรคนี้สูงขึ้นตามอายุ โดยมักจะพบบ่อยในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
  • การเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศชาย ระดับฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน (Testosterone) และฮอร์โมนไดไฮโดรเทสโทสเตอโรน (DHT) ที่เปลี่ยนเเปลง อาจกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากขยายตัว
  • กรรมพันธุ์ หากมีสมาชิกในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ ความเสี่ยงของการเกิดโรคอาจเพิ่มขึ้น

ถึงแม้ปัจจัยเสี่ยงบางอย่างจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ เช่น อายุหรือพันธุกรรม แต่การดูแลสุขภาพให้แข็งแรงด้วยการควบคุมน้ำหนัก การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำ จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดภาวะต่อมลูกหมากโตได้


การตรวจวินิจฉัยต่อมลูกหมากโตมีขั้นตอนอะไรบ้าง?

หากคุณมีอาการที่บ่งบอกถึงภาวะต่อมลูกหมากโต (BPH) การเข้ารับการตรวจวินิจฉัยเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อประเมินความรุนแรงของโรคและวางแผนการรักษาได้อย่างเหมาะสม โดยแพทย์จะใช้วิธีการตรวจดังต่อไปนี้

  • ซักประวัติและประเมินอาการ แพทย์จะสอบถามเกี่ยวกับอาการผิดปกติของระบบทางเดินปัสสาวะ ความถี่ในการปัสสาวะ และผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
  • ตรวจร่างกายและตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Examination: DRE) เป็นวิธีที่ช่วยให้แพทย์สามารถประเมินขนาด รูปร่าง และความผิดปกติของต่อมลูกหมากได้
  • ตรวจปัสสาวะ (Urinalysis) เพื่อตรวจหาอาการติดเชื้อหรือภาวะอื่น ๆ ที่อาจเป็นสาเหตุของอาการปัสสาวะผิดปกติ
  • ตรวจเลือด ใช้ตรวจหาระดับสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (Prostate-Specific Antigen: PSA) ซึ่งจะช่วยประเมินการเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากได้โดยเฉพาะเมื่อพบความผิดปกติที่จำเพาะกับโรคมะเร็งต่อมลูกหมากจากการตรวจร่างกาย รวมถึงการตรวจการทำงานของไต หรือการประเมินหาโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้อง
  • ตรวจวัดการไหลของปัสสาวะ (Uroflowmetry) เป็นการตรวจวัดปริมาณการไหลของปัสสาวะ เพื่อประเมินการอุดกั้นของทางเดินปัสสาวะ ซึ่งผู้มีต่อมลูกหมากโตมักพบอัตราการไหลของปัสสาวะลดลง
  • ตรวจปัสสาวะค้างในกระเพาะปัสสาวะหลังถ่ายเสร็จ (Post-Void Residual Urine Test) เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) หรือการใส่สายสวนปัสสาวะ วัดปริมาณปัสสาวะที่เหลือในกระเพาะปัสสาวะหลังจากปัสสาวะเสร็จ
  • ตรวจอัลตราซาวนด์ต่อมลูกหมาก (Prostate Ultrasound) ใช้ตรวจดูขนาดและลักษณะของต่อมลูกหมากอย่างละเอียด

การตรวจวินิจฉัยด้วยขั้นตอนเหล่านี้จะช่วยให้แพทย์สามารถแยกโรคต่อมลูกหมากโตออกจากภาวะอื่น ๆ ที่มีอาการคล้ายกันและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคลได้ หากคุณมีอาการผิดปกติ ควรเข้าพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษาและตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียดตั้งแต่ระยะเริ่มต้น


ต่อมลูกหมากโตมีแนวทางการรักษาอย่างไรบ้าง?

ต่อมลูกหมากโต อาการ วิธีรักษา

แนวทางการรักษาต่อมลูกหมากโต (BPH) มีด้วยกันหลายวิธี ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการและผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย โดยแพทย์จะพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมให้ ซึ่งอาจเริ่มจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไปจนถึงการใช้ยา และในบางกรณีอาจต้องใช้การผ่าตัดร่วมด้วย

การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยการใช้ยา

ในกรณีที่ภาวะต่อมลูกหมากโตเริ่มส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต แพทย์อาจพิจารณาให้ใช้ยารักษาต่อมลูกหมากโตเพื่อบรรเทาอาการ เช่น ยากลุ่ม Alpha-blockers ที่ช่วยผ่อนคลายกล้ามเนื้อรอบต่อมลูกหมาก ทำให้ปัสสาวะได้สะดวกขึ้น หรือยากลุ่ม 5-Alpha Reductase Inhibitors ที่ช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมากและชะลอการเจริญเติบโตของต่อมลูกหมาก

นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งยาลดการบีบตัวของกระเพาะปัสสาวะด้วย ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการปัสสาวะบ่อยและปัสสาวะเล็ด

การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัด

หากการใช้ยาไม่สามารถควบคุมอาการได้หรือมีภาวะแทรกซ้อน เช่น ปัสสาวะคั่งเรื้อรัง หรือมีการติดเชื้อบ่อย แพทย์อาจแนะนำการรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแทน เช่น

  • การส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเพื่อขูดต่อมลูกหมาก (TURP – Transurethral Resection of the Prostate) เป็นการตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากที่กดทับทางเดินปัสสาวะออก
  • การใช้เลเซอร์เพื่อรักษาต่อมลูกหมากโต เป็นเทคนิคที่ใช้เลเซอร์กำจัดเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมาก ช่วยให้ปัสสาวะคล่องขึ้น ลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อน
  • การผ่าตัดแบบเปิด (Open Prostatectomy) ใช้ในกรณีที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่มากและต้องการเอาเนื้อเยื่อส่วนเกินออก ซึ่งในปัจจุบันไม่นิยมใช้วิธีนี้เท่าไรนัก
  • การใช้ไอน้ำร้อนพ่นเข้าต่อมลูกหมาก เพื่อให้ต่อมลูกหมากฝ่อ เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ใช้ในกรณีที่ต้องการลดผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการผ่าตัด

การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

การรักษาต่อมลูกหมากโตด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เป็นวิธีที่เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการไม่รุนแรงและสามารถควบคุมอาการได้ด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น

  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ เนื่องจากอาจกระตุ้นให้ปัสสาวะบ่อยขึ้น
  • ลดปริมาณการดื่มน้ำก่อนนอน เพื่อลดอาการปัสสาวะบ่อยตอนกลางคืน
  • ฝึกขับถ่ายปัสสาวะให้เป็นเวลา และไม่กลั้นปัสสาวะนานเกินไป
  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ

ทั้งนี้ แนวทางการรักษาจะขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์และความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย หากมีอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับต่อมลูกหมากโต ควรเข้าพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยและเลือกวิธีการรักษาที่เหมาะสมต่อไป


ภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นได้ หากไม่รีบรักษาต่อมลูกหมากโต

หากโรคต่อมลูกหมากโต (BPH) ไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลอย่างเหมาะสม อาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตในระยะยาวได้ โดยภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากการละเลยการรักษาต่อมลูกหมากโต มีดังนี้

  • ปัสสาวะคั่งเฉียบพลัน (Acute Urinary retention) เป็นภาวะที่ร่างกายไม่สามารถขับปัสสาวะออกได้อย่างกะทันหัน แม้กระเพาะปัสสาวะจะเต็ม ทำให้เกิดอาการปวดท้องน้อยรุนแรงและรู้สึกอยากปัสสาวะมากแต่ปัสสาวะไม่ออก
  • ปัสสาวะคั่งเรื้อรัง (Chronic Urinary Retention) เมื่อทางเดินปัสสาวะถูกกดทับจากต่อมลูกหมากที่โตขึ้น อาจทำให้ปัสสาวะไม่สามารถออกได้หมดในแต่ละครั้ง และทำให้เกิดการคั่งของปัสสาวะในกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งหากปล่อยไว้จะทำให้เกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะได้ง่าย
    • ติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urinary Tract Infection: UTI) หากปัสสาวะคั่งในกระเพาะปัสสาวะจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมที่ดีสำหรับแบคทีเรียในการเติบโต ซึ่งสามารถทำให้เกิดการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะได้ เช่น กระเพาะปัสสาวะอักเสบ หรือกรวยไตอักเสบ
    • ไต (Kidney Damage) หากปัสสาวะคั่งเรื้อรังไม่ได้รับการรักษาอาจส่งผลกระทบต่อไตได้ เนื่องจากปัสสาวะที่คั่งอยู่จะไหลกลับเข้าไปในไตอาจทำให้ไตบวม หรือเกิดไตวายได้
  • ปัสสาวะผิดปกติ ในกรณีที่ต่อมลูกหมากโตมากจนทำให้ทางเดินปัสสาวะอุดกั้นอย่างต่อเนื่อง อาจส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะติดขัดจนขัดขวางการไหลของปัสสาวะและทำให้รู้สึกปวดหรือไม่สบายขณะปัสสาวะเเละระหว่างวันได้
  • นิ่วในกระเพาะปัสสาวะ (Bladder Calculi) เป็นก้อนแร่ธาตุที่ตกตะกอนและจับตัวเป็นก้อนในกระเพาะปัสสาวะ มักเกิดจากการที่มีปัสสาวะคั่งค้างเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการปัสสาวะขัด ปัสสาวะมีเลือดปน หรือปวดท้องน้อย

ต่อมลูกหมากโต ยิ่งรู้ไวยิ่งป้องกันได้เร็ว

ต่อมลูกหมากโต (BPH) เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคน หากไม่รีบรักษาก็อาจนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ เช่น การติดเชื้อทางเดินปัสสาวะหรือไตวาย ดังนั้นการตรวจพบและรักษาเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้มากขึ้น


ปัจจุบัน การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตสามารถทำได้ทั้งการใช้ยา การผ่าตัด หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หากต้องการการรักษาที่มีประสิทธิภาพ การผ่าตัดแบบ Minimally Invasive Surgery ที่โรงพยาบาลพระราม 9 เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่แนะนำ เนื่องจากวิธีนี้จะช่วยลดระยะเวลาในการพักฟื้นและมีผลข้างเคียงน้อยกว่าการผ่าตัดแบบเปิดทั่วไป


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม

Facebook : Praram 9 hospital

Line : @Praram9Hospital

โทร. 1270


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับต่อมลูกหมากโต

ต่อมลูกหมากโต รักษาให้หายขาดได้ไหม?

ต่อมลูกหมากโตไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่สามารถควบคุมและบรรเทาอาการได้ด้วยการใช้ยา การผ่าตัด หรือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคและคำแนะนำจากแพทย์

ต่อมลูกหมากโตมีวิธีป้องกันหรือไม่?

โรคต่อมลูกหมากโตสามารถลดความเสี่ยงที่จะเป็นได้ โดยการลดปัจจัยเสี่ยงที่ควบคุมได้ เช่น การรักษาน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ปกติ, การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ, การหลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีน รวมถึงการคุมโรคประจำตัวที่เกี่ยวข้องให้ดี


References

Cleveland Clinic. (2024, January 18). Benign Prostatic Hyperplasia. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/9100-benign-prostatic-hyperplasia


Mayo Clinic. (2024, September 24). Benign prostatic hyperplasia (BPH). https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/benign-prostatic-hyperplasia/symptoms-causes/syc-20370087


National Health Service Team. (2023, June 8). Benign prostate enlargement. https://www.nhs.uk/conditions/prostate-enlargement/


Fischer, A. (2024, March 15). Preventing Benign Prostatic Hyperplasia: Lifestyle Changes That Can Help. DarwynHealth. https://darwynhealth.com/mens-health/men-specific-health-issues/prostate-health-and-disorders/benign-prostatic-hyperplasia-bph/preventing-benign-prostatic-hyperplasia-lifestyle-changes-that-can-help/?lang=en


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. สุธี  อุ้มปรีชา

นพ. สุธี อุ้มปรีชา

ศูนย์ศัลยกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital