บทความสุขภาพ

Knowledge

ปัจจัยเสี่ยง ระยะและสัญญาณเตือนภัยที่ควรรู้ ของมะเร็งเต้านม

พญ. วิลาวัณย์ วัชรอาภาไพบูลย์

จากข้อมูลระบาดวิทยาของมะเร็งเต้านม พบอุบัติการณ์มากอันดับแรกในหญิงไทยและหญิงทั่วโลก และสามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ถึงจะฟังดูน่ากลัวแค่ไหนก็ตาม ในทางการแพทย์ก็ได้ยืนยันแล้วว่า การตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ประสบผลสำเร็จได้


ดังนั้น การศึกษาทำความรู้จักมะเร็งเต้านมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้เรารู้เท่าทัน ตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที


มะเร็งเต้านม คืออะไร


มะเร็งเต้านม คือ มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม โดยเฉพาะเซลล์ท่อน้ำนม โดยเซลล์จะเริ่มแบ่งตัวผิดปกติแล้วลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง จากนั้นหากปล่อยไว้ อาจแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายได้ ผ่านทางเดินน้ำเหลือง


ที่มา : สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย


มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร


มะเร็งเต้านม เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนม ซึ่งพบได้มากที่สุด ประมาณ 80% ส่วนมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต่อมน้ำนม จะพบได้น้อยกว่า โดยพบประมาณ 10%


นอกจากนี้ มะเร็งชนิดนี้อาจเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของมะเร็งมาจากอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน


S__6701099.jpg

12 ปัจจัยที่สัมพันธ์กับโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านม


ในปัจจุบัน ยังคงมีการถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปเรื่องปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม พบว่ามีหลายปัจจัยที่ยืนยันแล้วว่ามีความสัมพันธ์กับโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ ได้แก่


  1. เพศ: เพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายถึง 100 เท่า
  2. เชื้อชาติ: ผู้หญิงในชาติตะวันตก จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงเอเชีย
  3. การมีบุตร และการให้นมบุตร: การศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่มีการคลอดบุตร เลี้ยงบุตรด้วยนมของตัวเอง จะช่วยป้องกันโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้ ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่ไม่มีบุตร เป็นหมัน กินยาคุมกำเนิด หรือไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมตัวเองนั้น จะมีความโอกาสเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
  4. ฮอร์โมนเพศ: ประจำเดือนมาตั้งแต่ตอนอายุน้อย ๆ หรือวัยหมดประจำเดือนมาถึงช้า ทำให้ร่างกายผู้หญิงมีโอกาสสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนานขึ้น จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น
  5. อายุ: เมื่อมีอายุมากขึ้น โอกาสเกิดความผิดปกติของยีนในเซลล์ก็จะเพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งได้ จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 45 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 1 ใน 8 ในขณะที่ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป มีโอกาสพบมะเร็งเต้านมประมาณ 2 ใน 3
  6. ความอ้วน: โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น
  7. หน้าอกแน่น (Dense Breasts): การมีหน้าอกแน่น หมายถึงการมีเนื้อเยื่อและต่อมน้ำนมมากกว่าคนอื่น ๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า นอกจากนี้ โครงสร้างเนื้อเยื่อที่หนาแน่น ก็ทำให้แพทย์มองเห็นมะเร็งด้วยแมมโมแกรมได้ยากขึ้นด้วย การพิสูจน์ว่าหน้าอกแน่น ไม่ได้เกิดจากการทดลองสัมผัสเต้านมดูว่ากระชับไหม คนที่มีหน้าอกกระชับ ไม่ได้แปลว่าจะมีหน้าอกแน่นเสมอไป ต้องเป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์ผ่านการทำแมมโมแกรมดูโครงสร้างเนื้อเยื่อเท่านั้น
  8. มีประวัติของโรคและการรักษาเกี่ยวกับเต้านม: หากเคยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับเต้านม หรือเคยได้รับการฉายรังสีในบริเวณดังกล่าว จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งได้
  9. พันธุกรรม: มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมทางครอบครัว โดยเฉพาะหากญาติที่เป็นมะเร็งชนิดนี้เป็นญาติสายตรง จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เช่น แม่ น้องสาว หรือพี่สาว
  10. เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ผู้หญิงกลุ่มที่ดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม
  11. เป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งแล้ว: หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง จะมีความเสี่ยงถึง 3 – 4 เท่า ที่จะเกิดมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้างหนึ่ง
  12. ควันบุหรี่: การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ (ควันบุหรี่มือสอง) มีส่วนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม

ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ


S__6701100.jpg

สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม อาการเป็นอย่างไร


สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าเราอาจเป็นมะเร็งเต้านม สามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง ได้แก่


  • คลำพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้ หากเป็นระยะเริ่มแรกของมะเร็ง จับแล้วมักไม่รู้สึกเจ็บ จึงไม่ควรชะล่าใจ อย่าคิดเองว่าไม่รู้สึกเจ็บ แปลว่าไม่ใช่มะเร็ง
  • เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติต่าง ๆ ขึ้นที่เต้านมเพียงข้างเดียว
  • เต้านมโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากเป็นข้างใดข้างหนึ่ง
  • รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม โดยที่ไม่เคยผ่าตัดมาก่อน
  • มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเต้านม เช่น ผิวหนังแข็งหรือหนาขึ้น มีก้อนเนื้อที่นูนขึ้นหรือขรุขระ มีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป เกิดแผลเรื้อรัง (หรือแผลที่รักษาไม่หาย) หรือเป็นรอยรูขุมขนชัดขึ้นเหมือนเปลือกผิวส้ม
  • มีอาการเจ็บปวดเต้านมข้างหนึ่ง อาจเป็นเล็กน้อยหรือเป็นมากก็ได้
  • มีอาการบวมแดงตรงเต้านม อาจมีอาการปวดหรือมีแผลในบริเวณที่บวมแดงร่วมด้วย
  • มีรอยบุ๋มหรือย่นบริเวณเต้านม
  • มีอาการเน่าของหัวนม หรือส่วนอื่น ๆ บริเวณเต้านม
  • หัวนมบุ๋มเข้าไปในเต้านม หรือไม่สม่ำเสมอ โดยไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือไม่ได้เกิดจากการผ่าตัด
  • มีเลือดและ/หรือของเหลว เช่น น้ำเหลืองใส ๆ ที่ผิดปกติไหลออกจากหัวนม หรือผู้หญิงที่ยังไม่มีเกณฑ์ให้นมบุตร แต่มีน้ำนมไหลออกมาผิดปกติ ก็ถือว่าเป็นอาการสัญญาณเตือนด้วยเช่นกัน
  • มีแผลที่บริเวณหัวนม มีลักษณะเป็นแผลสีแดง และมักจะรักษาไม่หาย

หากมีอาการดังกล่าว ให้มาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียดอีกที แต่อย่าตื่นตระหนก เนื่องจากอาการบางอาการ ยังไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเราเป็นมะเร็งเต้านมแน่ ๆ แต่เป็นอาการที่พบได้บ่อยและมักสัมพันธ์กับมะเร็ง


S__6701101.jpg

มะเร็งเต้านม มีกี่ระยะ อะไรบ้าง


แรกเริ่มนั้น มะเร็งเต้านม แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 4 ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักพบโรคในช่วงอายุ 50-60 ปี โดยแตกต่างกันตามเชื้อชาติ สำหรับข้อมูลในประเทศไทยพบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี โดยร้อยละ 80 เป็นมะเร็งในระยะแรก (ระยะที่ 1-3) ร้อยละ 10 เป็นมะเร็งในระยะกระจาย (ระยะที่ 4) แต่การตรวจคัดกรองที่มากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้พบมะเร็งเต้านมระยะแรกมากขึ้นในประเทศไทย


ในยุคนี้ผู้หญิงมีการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมบ่อยขึ้นและตรวจเป็นประจำ จึงเพิ่มระยะที่ 0 เข้าไปด้วย รวมทั้งสิ้นคือ 5 ระยะ


  • ระยะที่ 0 : เซลล์มะเร็งเพิ่งก่อตัว ยังอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ณ จุดที่ก่อตัว และยังไม่แบ่งตัวลุกลามสู่ภายนอกพื้นที่
  • ระยะที่ 1 : มะเร็งเริ่มลุกลามออกมานอกเนื้อเยื่อตรงจุดที่ก่อตัว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร
  • ระยะที่ 2 : ก้อนมะเร็งจะมีขนาดระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตร (ไม่เกิน 5 เซนติเมตร) โดยจะยังไม่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้

แต่ถ้ามะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร อาจสามารถแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ได้


  • ระยะที่ 3 : ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตรขึ้นไป แล้วอาจเริ่มแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้จนทั่ว
  • ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด กระดูก ตับ สมอง เป็นต้น

ในระยะแรก ๆ เซลล์มะเร็งพึ่งจะก่อตัวขึ้น ยังไม่ทันลุกลามออกไปจากจุดที่ก่อตัว จึงยังสามารถรักษาได้ง่าย และโอกาสหายขาดสูงมาก


แนวทางป้องกัน มะเร็งเต้านม


มะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มไม่มีอาการ การตรวจร่างกายอาจยังตรวจไม่พบ เนื่องจากรอยโรคเล็กมากจึงเปรียบเสมือน “มฤตยูเงียบ” การตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคลำเต้านมอย่างถูกวิธี ไปจนถึงการเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound) จึงมีความสำคัญ


แพทย์มีแนวทางวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอย่างไร


หากเราคลำพบก้อนผิดปกติบริเวณเต้านมแล้วมาพบแพทย์ แพทย์จะสอบถามประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเต้านม คลำต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้และที่คอ และส่งตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เพิ่มเติม ในกรณีที่มีความผิดปกติแพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อโดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็ม (Needle biopsy) โดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด สามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เจ็บตัวน้อย และได้ผลการวินิจฉัยที่ตรงจุด


การเจาะชิ้นเนื้อที่เต้านมเป็นเทคนิคการตรวจทางพยาธิวิทยาก่อนการผ่าตัด เนื่องจากทำได้ง่าย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ได้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ ในกรณีที่ก้อนขนาดเล็กหรือคลำได้ไม่ชัด สามารถใช้เครื่องมือทางรังสีวิทยา เช่น อัลตราซาวด์ ช่วยชี้ตำแหน่งรอยโรค เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการเจาะชิ้นเนื้อ


แนวทางการรักษามะเร็งเต้านม


หากมะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจายแล้ว การรักษามักจะเน้นไปที่เคมีบำบัด หรือยาต้านฮอร์โมน ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย (systemic treatment) แต่ถ้าเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยให้ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกหมดทุกราย


การผ่าตัดสงวนเต้า และการสร้างเสริมเต้านม


หากมีการตรวจพบในระยะแรก สามารถเก็บเต้านมไว้ได้ ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกหมดทุกราย โดยใช้วิธีทางศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาช่วยในการตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก โดยออกแบบบาดแผล และกะเกณฑ์ปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมบริเวณที่จะผ่าตัดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมเกิดการเสียรูปทรง หรือบิดเบี้ยวหลังผ่าตัด


แต่ในบางรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกหมดก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้ทันที ด้วยการใช้เต้านมเทียมหรือการใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง เนื้อเยื่อที่นิยมใช้ ได้แก่ กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง กล้ามเนื้อและไขมันบริเวณหลัง ซึ่งการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เป็นวิธีการที่ปลอดภัย มีผลแทรกซ้อนน้อย


โดยการรักษานี้ช่วยให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่เหมือนเต้านมจริงทั้งด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส สร้างความรู้สึกว่ายังมีเต้านมอยู่


อ่านการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งเต้านมแนวทางใหม่นี้ ได้ที่นี่


สรุป


มะเร็งเต้านม เป็นภัยคุกคามที่ดูอันตรายก็จริง แต่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากเรารู้จักปัจจัยความเสี่ยงของตัวเอง โดยเฉพาะ ถ้าเราเป็นผู้หญิง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หากตรวจแล้วทำการรักษาทันทีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีโอกาสหายขาดได้เกือบ 100% เลยทีเดียว


เทคโนโลยีในปัจจุบันที่ใช้ในการรักษามีความรุดหน้าไปมาก ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเป้าหมายที่จะรักษาผู้ป่วยให้หายเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยอีกด้วย หากตรวจพบได้เร็ว การรักษาก็จะมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น สามารถหายจากมะเร็งได้ โดยที่ยังดูสวยและภาคภูมิใจ มีชีวิตที่มีความสุขได้เหมือนเดิม


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. วิลาวัณย์  วัชรอาภาไพบูลย์

พญ. วิลาวัณย์ วัชรอาภาไพบูลย์

ศูนย์อายุรกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital