บทความสุขภาพ

Knowledge

แนวทางใหม่! รักษามะเร็งเต้านม ด้วยวิธีผ่าตัดสงวนเต้า และการเสริมสร้างเต้านมใหม่

การรักษามะเร็งเต้านมแบบผ่าตัดสงวนเต้า และการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านม เป็นเทคนิคสมัยใหม่ที่ให้ความสำคัญกับความสวยงาม และความมั่นใจของผู้ป่วย


สำหรับคนที่สนใจว่าวิธีการรักษาเป็นอย่างไร? มีขั้นตอนอะไรบ้าง? ใครสามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีดังกล่าวได้? สามารถศึกษาได้จากบทความนี้


การรักษามะเร็งเต้านมด้วยการผ่าตัดแนวทางใหม่


“การผ่าตัด” ซึ่งเป็นหนึ่งในเทคนิคการรักษาหลักของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ซึ่งได้พัฒนาเปลี่ยนแปลงจากอดีตที่มุ่งเน้นเพียงการรอดชีวิต เป็นการผ่าตัดที่จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและความสวยงามมากขึ้น


การรักษาในปัจจุบันของผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมก็เช่นเดียวกัน เพราะเรามีเทคนิคการผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast Conserving Surgery: BCS) ซึ่งผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด หรือหากมีบางรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านม (Breast Reconstruction) ได้ทันทีโดยใช้เต้านมเทียมหรือใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง เติมเต็มความมั่นใจผู้ป่วย ให้ใช้ชีวิตหลังการรักษาได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเช่นเดิม


การผ่าตัดแบบตัดสงวนเต้า คืออะไร


การผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast Conserving Surgery: BCS) คือ การผ่าตัดรักษามะเร็งเต้านม ซึ่งจะใช้วิธีทางศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาช่วยในการตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก โดยไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกทั้งหมด แพทย์จะออกแบบบาดแผล ประเมินปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมบริเวณที่จะผ่าตัดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมเกิดการเสียรูปทรง หรือบิดเบี้ยวหลังผ่าตัด ซึ่งการตรวจพบมะเร็งในระยะแรก ๆ สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้


PR9_มะเร็งเต้านม01.jpg

3 ข้อดีของการผ่าตัดแบบสงวนเต้า


  1. สามารถเก็บรักษาเต้านมไว้ได้ เต้านมจะมีรูปทรงใกล้เคียงกับตอนก่อนรักษา
  2. มีระยะพักฟื้นที่สั้นกว่า ผู้ป่วยอาจนอนพักฟื้นแค่ 1 คืน หรือบางราย แพทย์อาจให้กลับได้เลย
  3. ทำให้ไม่สูญเสียความมั่นใจ ส่งผลดีต่อจิตใจของผู้เข้ารับการรักษา

PR9_มะเร็งเต้านม02.jpg

ระยะที่เหมาะสมกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้า


ระยะของมะเร็งเต้านม จะแบ่งเป็น 5 ระยะ ซึ่งการรักษาด้วยการผ่าตัดแบบสงวนเต้าสามารถทำได้ในมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะที่ 0 ถึง 2 หรืออาจรักษามะเร็งระยะที่ 3 ได้ในบางกรณี ขึ้นอยู่กับการวินิจฉัยของแพทย์ ทั้งนี้ ในการผ่าตัดแบบสงวนเต้าต้องทำรักษาควบคู่ไปกับการฉายรังสีด้วย


breast-conserving-table.png

การรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้า ต้องรู้อะไรบ้าง

เราแบ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อการเลือกวิธีผ่าตัดได้เป็น 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ตัวมะเร็ง และผู้ป่วย


ปัจจัยด้านลักษณะมะเร็ง

แพทย์จะวิเคราะห์ตำแหน่งของมะเร็ง เพื่อกำหนดตำแหน่งของบาดแผล รวมถึงลักษณะการจัดวางแนวแผล อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดแบบสงวนเต้าต้องได้รับการประเมินจากแพทย์ เนื่องจากผู้ป่วยบางรายอาจจะไม่เหมาะกับการรักษาข้างต้น ในกรณีดังนี้


  1. หากลักษณะของมะเร็งบ่งบอกว่ามีโอกาสกลับเป็นซ้ำได้สูงหรือมีความร้ายแรง
  2. ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่เกินไป เมื่อเทียบกับขนาดเต้านม
  3. มะเร็งกระจายตัวหลายตำแหน่ง หรือเกิดขึ้นเป็นหลาย ๆ หย่อมในเต้านม

ปัจจัยด้านผู้ป่วย


  1. อายุ: ปัจจุบัน วิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้า ยังไม่แนะนำสำหรับผู้ป่วยที่มีอายุน้อย ๆ
  2. กรรมพันธุ์ หรือปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ: หากผู้ป่วยมีปัจจัยเสี่ยงที่บ่งบอกว่ามีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งซ้ำได้ในอนาคต การผ่าตัดสงวนเต้าอาจไม่เหมาะกับผู้ป่วยกลุ่มนี้ นอกจากนี้ ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจพิจารณาผ่าตัดเอาเนื้อเยื่อเต้านมอีกข้างออกด้วย หากผู้ป่วยได้รับการตรวจยืนยันว่ามียีนมะเร็งเต้านม (BRCA-1, BRCA-2) เพื่อป้องกันการเกิดมะเร็งที่เต้านมอีกข้างที่ยังปกติอยู่
  3. โรคประจำตัว และสภาพร่างกาย: หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวหรือสภาพร่างกาย ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉายแสงได้ อาจไม่เหมาะกับการผ่าตัดแบบสงวนเต้า เนื่องจากต้องได้รับการฉายแสงเป็นควบคู่ไปด้วยในการรักษา
  4. การตั้งครรภ์: ผู้ป่วยมีครรภ์ จะไม่สามารถเข้ารับการฉายรังสีได้ จึงไม่สามารถรักษาด้วยวิธีผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้
  5. ประวัติการฉายรังสี: หากผู้ป่วยเคยมีประวัติการฉายรังสีบริเวณทรวงอกมาก่อน จะไม่สามารถผ่าตัดด้วยวิธีนี้ได้
  6. ลักษณะเต้านมของผู้ป่วย: เนื่องจากการผ่าตัดแบบสงวนเต้าจะคำนึงถึงความสมดุลของเต้านมทั้งสองข้างภายหลังการผ่าตัด จึงต้องมีพิจารณารูปทรงและขนาดของเต้านมด้วย หากผู้ป่วยมีเต้านมขนาดเล็ก อาจมีข้อจำกัดในการรักษาด้วยวิธีนี้ แพทย์อาจแนะนำให้เลือกวิธีผ่าตัดก่อนแล้วเสริมสร้างเต้านมขึ้นมาใหม่

สรุปการผ่าตัดแบบสงวนเต้า


การผ่าตัดแบบสงวนเต้า (Breast conserving surgery: BCS) มีข้อดีคือ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด เหมาะกับผู้ที่มีความประสงค์จะเก็บรักษาเต้านมไว้ ภายใต้ความเหมาะสม ทั้งในด้านร่างกาย และด้านลักษณะของมะเร็งที่เป็นอยู่


อย่างไรก็ตาม หากแพทย์พิจารณาแล้วว่าไม่สามารถรักษาด้วยวิธีนี้ได้ ซึ่งอาจเกิดจากระยะของมะเร็งที่ไม่เหมาะสม หรือปัจจัยด้านอื่น ๆ ก็ตาม อีกวิธีการรักษาสำหรับผู้ที่ต้องการมีเต้านมใหม่ที่ใกล้เคียงกับเต้านมเดิม คือ การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction)


PR9_มะเร็งเต้านม03.jpg

การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ คืออะไร


การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านม (Breast Reconstruction) คือ การผ่าตัดเพื่อสร้างรูปทรงเต้านมขึ้นมาใหม่ให้ใกล้เคียงกับเต้านมเดิม ในกรณีที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกทั้งเต้า โดยใช้เต้านมเทียมหรือใช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง เนื้อเยื่อที่นิยมได้แก่ กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง และกล้ามเนื้อและไขมันบริเวณที่หลัง ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยให้ดีขึ้นและกลับมามีความมั่นใจอีกครั้ง


2 แนวทาง การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่


การผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่ แบบช้เนื้อเยื่อของตัวผู้ป่วยเอง ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและปลอดภัย ปัจจุบันจะมีแนวทางการผ่าตัดที่นิยมอยู่ 2 แบบ ต่างกันที่ตำแหน่งของเนื้อเยื่อที่เลือกใช้ ได้แก่


  1. เทคนิค LD flap (Latissimus Dorsi flap) จะใช้ผิวหนังกล้ามเนื้อและไขมันบริเวณหลังในการผ่าตัดตกแต่งเสริมเต้านม
  2. เทคนิค TRAM flap (Transverse Rectus Abdominis Musculocutaneous flap) จะใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง ในการผ่าตัดตกแต่งเสริมเต้านม

ทั้ง 2 เทคนิคนี้ เป็นเทคนิคตามมาตรฐานทางการแพทย์ที่ปลอดภัย สามารถเก็บรักษาได้แม้กระทั่งหัวนมและผิวหนังเดิมของผู้ป่วย มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพียงแค่ 3 วัน ลักษณะของเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่ จะเหมือนเต้านมจริงทั้งในลักษณะของเนื้อเต้านมและรูปร่าง


วิธีการผ่าตัด LD flap เป็นอย่างไร


วิธีการผ่าตัด Latissimus Dorsi (LD) flap หรือ LD flap เป็นวิธีที่ใช้ในการผ่าตัดเพื่อสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่สำหรับผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมที่ต้องการทำการผ่าตัดเต้านมออก ซึ่งวิธีการนี้จะใช้ผิวหนังกล้ามเนื้อ Latissimus Dorsi และไขมันบริเวณหลังมาผ่าตัดตกแต่งเสริมเต้านม ภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด


ข้อดีและข้อควรทราบของ LD flap


การผ่าตัดแบบ LD flap จะใช้กล้ามเนื้อที่หลัง ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน อีกทั้งผู้ป่วยสามารถฟื้นฟูสุขภาพได้เร็วกว่าการใช้กล้ามเนื้อหน้าท้อง รวมทั้งเป็นวิธีการที่ปลอดภัยและมีภาวะแทรกซ้อนน้อย


ระยะการนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาล เทียบเท่ากับการผ่าตัดในมะเร็งเต้านมตามปกติคือประมาณ 3 วัน สามารถเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ทั้งในแง่ตัวผู้ป่วยเอง ครอบครัวและสังคม


แม้ว่าการผ่าตัด LD flap reconstruction จะดูยุ่งยากเล็กน้อย แต่ก็เพิ่มเวลาในการผ่าตัดไม่มากนัก และเนื่องจากวิธีการนี้ ไม่จำเป็นต้องใช้เต้านมเทียมช่วยเสริม แต่จะใช้เพียงแผ่นผิวหนังและชั้นไขมันบริเวณหลังรวมไปถึงกล้ามเนื้อ LD ของตัวผู้ป่วยเองทั้งหมด


ดังนั้นผลของการผ่าตัดในระยะยาวแล้ว จะได้ลักษณะของเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่ เหมือนเต้านมจริงมากที่สุด ทั้งในด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส สร้างความพึงพอใจ และความรู้สึกว่ายังมีเต้านมอยู่เช่นเดิมได้เป็นอย่างดี


ใครเหมาะที่จะผ่าตัดแบบ LD flap บ้าง


  1. ผู้ป่วยที่มีเต้านมขนาดเล็กถึงปานกลาง
  2. ผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนคล้อย ไม่มาก
  3. ผู้ป่วยที่ไม่สามารถใช้กล้ามเนื้อหน้าท้องมาตกแต่งได้ เนื่องจากมีรอยแผลเป็นบริเวณหน้าท้องมาก่อน
  4. ใช้ผ่าตัดเสริมเพื่อแก้ไขในผู้ป่วยที่เคยผ่าตัดเสริมเต้านมด้วยวิธีอื่นมาก่อน

วิธีการผ่าตัดแบบ TRAM flap เป็นอย่างไร


วิธีการผ่าตัดแบบ Transverse Rectus Abdominis Musculocutaneous flap หรือ TRAM flap คือ การผ่าตัดตกแต่งหรือเสริมสร้างเนื้อเต้านมขึ้นใหม่โดยใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้องมาผ่าตัดตกแต่งเสริมเต้านมภายหลังการผ่าตัดเลาะเนื้อเต้านมออกทั้งหมด


ข้อดีและข้อควรทราบของ TRAM flap


การผ่าตัดใช้กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง เป็นวิธีหนึ่งที่เป็นที่นิยมในปัจจุบันเช่นกัน เนื่องจากมีความปลอดภัย มีภาวะแทรกซ้อนน้อย ระยะการนอนรักษาตัวประมาณ 3-5 วัน


นอกจากนี้ยังได้เต้านมที่มีลักษณะหย่อนคล้อยสวยงาม มีความนุ่มเป็นธรรมชาติใกล้เคียงกับเต้านมจริง เนื่องจากกล้ามเนื้อผนังหน้าท้องมีความหนาและนุ่ม


ข้อควรทราบของการทำ TRAM flap


การผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้ อาจต้องใช้เวลานานกว่า และตัวผู้ป่วยเองอาจมีความเสี่ยงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่บริเวณหน้าท้องได้ เช่น ผนังหน้าท้องอ่อนแรง ไส้เลื่อน และจะมีแผลเป็นบนผนังหน้าท้องในตำแหน่งที่อาจสังเกตเห็นได้


ใครเหมาะที่จะผ่าตัดแบบ TRAM flap บ้าง


  1. เหมาะสมสำหรับเต้านมทุกขนาด ในผู้ป่วยมะเร็งเต้านม
  2. ผู้ป่วยที่มีเต้านมหย่อนคล้อยมาก
  3. ผู้ที่แพทย์พิจารณาแล้วว่ามีผนังหน้าท้องหนาเพียงพอ (และไม่มีแผลเป็นหรือเคยรับการรักษาดูดไขมันที่หน้าท้อง)
  4. ผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะอ้วนหรือเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้
  5. ผู้ป่วยที่ไม่สูบบุหรี่ หรือหยุดสูบบุหรี่มาแล้วเป็นเวลาอย่างน้อย 1 เดือน

สรุปการผ่าตัดเสริมสร้างเต้านมใหม่


การผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมขึ้นมาใหม่โดยใช้เนื้อเยื่อของตัวเอง นอกจากจะเป็นการลดค่าใช้จ่ายแล้ว ยังช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ต้องทำการผ่าตัดเต้านมออกไป มีความมั่นใจในการใช้ชีวิตประจำวันมากขึ้น


ดังนั้นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความประสงค์ผ่าตัดเอาเนื้อเต้านมออกและต้องการเสริมสร้างเต้านมใหม่ วิธีการดังกล่าวนี้ จะเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่จะช่วยผู้ป่วยได้มาก อย่างไรก็ตามต้องปรึกษาศัลยแพทย์ก่อน ถึงข้อดีข้อเสียของแต่ละวิธี


สรุป


ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในการตรวจเต้านมและการส่งเสริมการตรวจเต้านมด้วยตนเอง ทำให้ค้นพบมะเร็งในระยะแรก ๆ ได้มากขึ้น มีผลให้อัตราการรอดชีวิตสูงขึ้น


การผ่าตัดซึ่งเป็นการรักษาที่มุ่งเน้นเพียงการรอดชีวิตในอดีต ได้เปลี่ยนแปลงไป กลายเป็นการผ่าตัดที่จะคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและความสวยงามมากขึ้น


โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านม ก็ไม่มีความจำเป็นต้องถูกตัดเต้านมออกทั้งหมด และสามารถรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดแบบสงวนเต้าได้ หรือหากจำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออก ก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้ทันทีในการผ่าตัดนั้น


โรงพยาบาลพระรามเก้า มีความตระหนักและเห็นความสำคัญของการให้ความรู้ ให้คำแนะนำ ค้นหาความเสี่ยง และคัดกรองโรคมะเร็งเต้านม โดยเรามีเป้าหมายให้ผู้ป่วยทุกคนสามารถกลับไปใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป หากสนใจปรึกษาสามารถติดต่อ ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลพระรามเก้า https://www.praram9.com/departments/breast-clinic-center/


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital