บทความสุขภาพ

Knowledge

โควิด-19 ในผู้ป่วยโรคหัวใจ และอาการทางหัวใจหลังได้รับเชื้อ

พญ. อัณณาช์ เตรียมอนุรักษ์

โควิด-19 ในผู้ป่วยโรคหัวใจ

โควิด-19 โรคระบาดที่สำคัญของยุคนี้ ถึงตอนนี้ทุกคนคงคุ้นเคยกับไวรัสตัวนี้ซึ่งมีอันตราย หากติดเชื้อแล้วอาการรุนแรงก็ทำให้เสียชีวิตได้ ผู้ที่สุขภาพแข็งแรงอาจมีอาการน้อย หรืออาจไม่รุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ในขณะที่ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจและหลอดเลือด หากติดโควิด-19 จะทำให้มีอาการรุนแรง ถึงขั้นเสียชีวิตได้


ผู้ป่วยโรคหัวใจติดโควิด-19 อันตรายมากกว่าคนทั่วไป


มีรายงานของวารสาร The Lancet ซึ่งเป็นวารสารทางการแพทย์ที่ได้รับการยอมรับในแวดวงวิชาการ รายงานว่าในจำนวนผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 มีถึง 40% ที่เป็นโรคหัวใจและโรคหลอดเลือดสมอง แสดงให้เห็นว่าผู้ที่มีโรคหัวใจมีความเสี่ยงต่อการติดโควิด-19 ได้มากกว่าคนทั่วไป และยังมีรายงานการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Cardiology รายงานอัตราการเสียชีวิตของผู้ที่เป็นโรคหัวใจแล้วติดโควิด-19 ร่วมกับมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย สูงถึง 70% ซึ่งเป็นอัตราการเสียชีวิตที่สูงมาก ดังนั้นผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจจึงเป็นกลุ่มที่ต้องเฝ้าระวังและต้องหลีกเลี่ยงการติดโควิด-19


covid19-and-heart-disease-2.jpg

ไวรัสโควิด-19 อันตรายต่อหัวใจอย่างไร ?


คนทั่วไปหากได้รับเชื้อโควิด-19 แล้ว พบว่ามีความเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ เสี่ยงต่อภาวะหัวใจขาดเลือด จนกระทั่งอาจทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติไป ในขณะที่ผู้ป่วยโรคหัวใจจะมีอาการที่รุนแรงมากกว่า


ปัจจุบันเชื่อว่ากลไกที่เชื้อโควิด-19 มีผลต่อหัวใจมีกลไกหลัก ๆ คือ


  1. เชื้อโควิด-19 ทำลายเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจโดยตรง เนื่องจากเชื้อโควิด-19 จะจับกับตัวรับชนิดหนึ่งที่ผิวเซลล์มนุษย์เพื่อเข้าสู่เซลล์ของมนุษย์ ตัวรับนี้มีชื่อว่า ACE-2 receptor (angiotensin-convertingenzyme 2 receptor) ตัวรับชนิดนี้พบมากที่ปอดและหัวใจ จึงทำให้เซลล์หัวใจและปอดได้รับความเสียหายจากเชื้อโควิด-19 ได้โดยตรง พบว่าผู้ป่วยที่ติดโควิด-19 พบเอนไซม์โทรโปนิน (troponin) ในเลือดสูงขึ้น ซึ่งบ่งบอกถึงความเสียหายของกล้ามเนื้อหัวใจ
  2. มีภาวะขาดออกซิเจนของหัวใจ เนื่องจากเชื้อโควิด-19 ทำให้ปอดเสียหาย ทำให้ปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้น้อยลง ร่วมกับในช่วงของการติดเชื้อร่างกายและกล้ามเนื้อหัวใจจะต้องการออกซิเจนเพิ่มขึ้น แต่ปอดไม่สามารถทำงานแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้อย่างเพียงพอ สุดท้ายกล้ามเนื้อหัวใจก็จะขาดออกซิเจนและนำไปสู่ภาวะหัวใจขาดเลือด และขาดออกซิเจนได้
  3. กระตุ้นการเกิดลิ่มเลือด เชื้อโควิด-19 จะทำให้เซลล์ในหลอดเลือดทั่วร่างกายและหลอดเลือดหัวใจเสียหาย แล้วกระตุ้นทำให้เกิดลิ่มเลือดขึ้นในหลอดเลือด ซึ่งหากลิ่มเลือดนี้เกิดในหลอดเลือดหัวใจจะทำให้เกิดการอุดตัน ตามมาด้วยกล้ามเนื้อหัวใจตายในที่สุด
  4. เกิดการอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ เชื้อโควิด-19 จะกระตุ้นให้มีการหลั่งสารการอักเสบ (cytokines) ซึ่งทำลายเซลล์หัวใจ จนทำให้การทำงานของหัวใจผิดปกติไป

covid19-and-heart-disease-3.jpg


อาการทางโรคหัวใจเมื่อติดโควิด-19


โควิด-19 ทำให้เกิดภาวะทางหัวใจและหลอดเลือด โดยพบว่าอาจเกิดภาวะ


  • กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
  • กล้ามเนื้อหัวใจเสียหาย โดยพบเอนไซม์โทรโปนิน (troponin) ในเลือดสูงขึ้น
  • ภาวะหัวใจล้มเหลว
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน
  • ภาวะความผิดปกติของการแข็งตัวของเลือด
  • ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน

ซึ่งผู้ที่ติดโควิด-19 อาจมีอาการต่าง ๆ ได้แก่


  • ใจสั่น
  • เจ็บแน่นหน้าอก
  • หายใจเร็ว หอบเหนื่อย
  • รู้สึกอึดอัด หายใจลำบาก

หากมีอาการเหล่านี้ อาจเป็นสัญญาณของภาวะทางหัวใจและหลอดเลือด จึงควรหมั่นใส่ใจและคอยสังเกตอาการของตนเองหากติดโควิด-19 และรีบไปโรงพยาบาลถ้ามีอาการข้างต้น

covid19-and-heart-disease-4.jpg

ภาวะ Long COVID (ลองโควิด) ต่อหัวใจ


เป็นที่ทราบกันว่าผู้ที่ติดโควิด-19 หลังจากหายจากการติดเชื้อแล้ว มักมีอาการต่าง ๆ ที่หลงเหลืออยู่หลังหายจากโควิด-19 หรือที่เรียกว่า ภาวะลองโควิด (long covid) ซึ่งมักมีอาการสมองล้า อ่อนเพลีย ใจสั่น นอนไม่หลับ


โดยผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ที่เคยผ่าตัดบายพาสหลอดเลือดหัวใจ และโรคหัวใจอื่น ๆ จะมีแนวโน้มที่จะมีอาการทางหัวใจในภาวะลองโควิดได้มากกว่าผู้ไม่มีโรคประจำตัว ซึ่งอาการทางหัวใจที่หลงเหลืออยู่ที่พบในภาวะลองโควิด ได้แก่


  • ใจสั่น
  • เจ็บหน้าอก
  • เหนื่อย อ่อนเพลีย
  • หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ดังนั้นการป้องกันไม่ให้ติดโควิด-19 จึงเป็นการป้องกันที่ดีที่สุดที่จะไม่ให้เกิดอาการต่าง ๆ ข้างต้น และหากมีอาการแนะนำให้พบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคหัวใจเพื่อตรวจและวินิจฉัยเพิ่มเติม


covid19-and-heart-disease-5.jpg

อ่านเพิ่มเติม : เข้าใจโรคหัวใจ รู้ก่อน รักษาทัน ป้องกันได้



การป้องกันไวรัสโควิด-19


การดูแลป้องกันตัวเองอย่างที่เราคุ้นเคยยังคงเป็นมาตรการที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันเชื้อโควิด-19 ในผู้ที่เป็นโรคหัวใจ เพื่อป้องไม่ให้เกิดภาวะแทรกซ้อนทางหัวใจที่รุนแรงและอันตราย


  • ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยเร็วที่สุด
  • ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด รับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ
  • หากมีอาการสงสัยว่าติดโควิด-19 ควรรีบไปโรงพยาบาล
  • รักษาระยะห่าง หรือ social distancing อย่างน้อย 1 เมตร
  • สวมหน้ากากอนามัย โดยควรสวมให้พอดีกับใบหน้า
  • จัดที่บ้านและที่ทำงานให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก
  • ไม่ไปในสถานเสี่ยง ที่มีคนเบียดเสียด หรือที่ที่มีคนเยอะ
  • ล้างมือบ่อย ๆ

covid19-and-heart-disease-6.jpg

สรุป


ผู้ที่มีโรคหัวใจเป็นกลุ่มเสี่ยงที่เมื่อติดโควิด-19 แล้วจะมีอาการรุนแรงและอาจรุนแรงจนถึงเสียชีวิต ซึ่งจากข้อมูลพบว่าผู้เป็นโรคหัวใจมีโอกาสติดโควิด-19 ได้มากกว่าคนปกติ และ หลังหายจากโควิดแล้วยังมีอาการของภาวะลองโควิดได้มากกว่าอีกด้วย


ดังนั้นการป้องกันและรักษามาตรการ รวมถึงการฉีดวัคซีนโควิด-19 จึงเป็นวิธีที่จะป้องกันภาวะแทรกซ้อนอันตรายจากโควิด-19 ได้ และผู้เป็นโรคหัวใจควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ เพื่อควบคุมไม่ให้โรคหัวใจแย่ลง



ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. อัณณาช์ เตรียมอนุรักษ์

พญ. อัณณาช์ เตรียมอนุรักษ์

สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ รักษาใจเต้นผิดจังหวะ ให้กลับสู่ภาวะปกติ

การใส่เครื่องกระตุ้นไฟฟ้าหัวใจ (Pacemaker Implantation) จะใช้รักษาผู้ป่วยที่มีภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ เครื่องจะช่วยให้หัวใจกลับมาทำงานได้ใกล้เคียงกับระดับปกติอีกครั้ง

รู้จัก ASD คืออะไร? ผนังหัวใจรั่วอาการเป็นแบบไหน รักษายังไงดี

ชวนรู้จัก ASD หรือ ภาวะผนังกั้นหัวใจรั่วคืออะไร ผนังหัวใจรั่ว อันตรายไหม? มาเช็กต้นตอสาเหตุ อาการของ ASD แนวทางการรักษา พร้อมวิธีดูแลให้หัวใจห้องบนแข็งแรง!

ทำความรู้จักโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการเป็นแบบไหน เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เสี่ยงหัวใจวายมีลักษณะอาการแบบไหน เกิดจากอะไรได้บ้าง และสามารถรักษาโรคนี้ได้อย่างไร หาคำตอบได้ในบทความนี้

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG) คืออะไร ทำไมจึงจำเป็นต้องตรวจ?

การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram) หรือ EKG คืออะไร ทำไมถึงต้องตรวจ หรือมีข้อมูลควรรู้ก่อนตรวจอะไรบ้าง ไขข้อสงสัยไปพร้อมกันได้ในบทความนี้

หัวใจเต้นผิดจังหวะ สัญญาณเตือนที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย

หากมีอาการของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ เช่น ใจสั่น หวิว ๆ วูบบ่อย ๆ เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย หรือแน่นหน้าอก ควรรีบปรึกษาแพทย์

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital