บทความสุขภาพ

Knowledge

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) เป็นหนึ่งในภาวะการเสียชีวิตที่พบได้บ่อยทั่วโลก สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเพศ ทุกวัย และมักจะเกิดขึ้นแบบทันทีทันใด ไม่มีอาการนำหรือสัญญาณเตือนล่วงหน้า หากผู้ป่วยไม่ได้รับการช่วยเหลือทันที อาจทำให้เสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที แต่หากได้รับการช่วยเหลือที่เหมาะสมและรวดเร็ว ก็มีโอกาสรอดชีวิตสูงขึ้น


Key Takeaways


  • หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แม้ผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงก็สามารถเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้
  • ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันส่งผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิตทันที ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดและหยุดทำงาน โดยเฉพาะสมอง หากขาดเลือดเพียง 4 นาที จะไม่สามารถฟื้นขึ้นมาเป็นปกติได้เลย
  • ผู้ป่วยภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจำเป็นจะต้องได้รับความช่วยเหลือทันที เพื่อเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตที่สูงขึ้น

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คืออะไร?


หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือภาวะที่หัวใจหยุดทำงานแบบทันทีทันใด ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนโลหิต ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดและไม่สามารถทำงานได้ จึงนำมาสู่การเสียชีวิตในที่สุด


ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันนับเป็นภาวะฉุกเฉินทางการแพทย์ที่ต้องได้รับการช่วยชีวิตทันที เนื่องจากการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทำให้การทำงานล้มเหลวและเสียชีวิตได้ในเวลาไม่กี่นาทีเท่านั้น การให้ความช่วยเหลือที่มีประสิทธิภาพและรวดเร็วสามารถเพิ่มโอกาสการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้น


ในปัจจุบัน การเสียชีวิตจากหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันยังคงมีตัวเลขที่สูงและมักเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว สามารถพบได้ทุกที่โดยเฉพาะสถานที่ที่มีความเสี่ยง เช่น สนามกีฬา หรือสถานที่สาธารณะที่ผู้คนมักจะมีความเร่งรีบกว่าปกติ ดังนั้น การรู้เท่าทันภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน และความรู้เกี่ยวกับการยื้อชีวิตด้วยการทำ CPR และ AED จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการรอดชีวิตของผู้ป่วยได้อย่างมาก หากได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที


ทำความรู้จักหัวใจเต้นผิดจังหวะ อีกหนึ่งปัญหาสุขภาพหัวใจที่อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ อ่านต่อได้ที่ หัวใจเต้นผิดจังหวะ สัญญาณเตือนที่อาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย


หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เกิดจากสาเหตุใดบ้าง?


สาเหตุของหัวใจหยุดเต้น

สาเหตุที่ก่อให้เกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน สามารถแบ่งเป็น 2 ช่วงอายุที่มีสาเหตุการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันต่างกัน


  • อายุมากกว่า 35 ปี มักเกิดจากโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจโต โรคลิ้นหัวใจ
  • อายุน้อยกว่า 35 ปี มักเป็นโรคหัวใจที่มีสาเหตุจากพันธุกรรม เช่น กล้ามเนื้อหัวใจหนาตัว เส้นเลือดหัวใจผิดปกติ การนำไฟฟ้าหัวใจที่ผิดปกติ แต่ในปัจจุบันความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจที่พบในผู้สูงวัย กลับพบได้ในผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปีมากขึ้น เนื่องจากค่านิยมและวิถีการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป เช่น โรคอ้วน การสูบบุหรี่ มลพิษในอากาศที่มีมากขึ้น ล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพเป็นอย่างมาก

ปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือร่างกายทำงานผิดปกติ ทำให้เกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้มากขึ้น อาจรวมถึง


  • มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ
  • การนอนหลับที่ไม่เพียงพอ
  • การสูญเสียเลือดในปริมาณมาก
  • สมดุลเกลือแร่ในร่างกายผิดปกติ
  • ออกกำลังกายมากเกินไป

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศและทุกวัย แม้ว่าจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงและออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอก็ตาม ทั้งนี้ จากสถิติพบว่าผู้ชายมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมากกว่าผู้หญิงถึง 2 เท่า และมักพบบ่อยขึ้นขณะออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมการแข่งขันต่าง ๆ โดยเฉพาะในผู้ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำ


หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันมีอาการอย่างไร


หัวใจหยุดเต้น อาการ

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน อาจจะมีอาการนำหรือสัญญาณเตือนล่วงหน้าหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งมักจะเกิดเมื่อทำกิจกรรมที่มีการใช้ร่างกายหรือหัวใจมากกว่าปกติ การออกกำลังกายที่หนักกว่าปกติ รวมถึงความผิดปกติของร่างกายที่กระตุ้นให้หัวใจเต้นผิดจังหวะได้ เช่น เกลือแร่ผิดปกติ ขาดน้ำอย่างรุนแรง หรือมีการติดเชื้อ


เมื่อหัวใจเต้นผิดปกติ ผู้ป่วยจะเริ่มรู้สึกแน่นหน้าอก ใจสั่น รู้สึกจะเป็นลม และเมื่อการเต้นหัวใจหยุดลง ผู้ป่วยจะหมดสติเนื่องจากเลือดไม่ไปเลี้ยงสมอง สัมผัสหาชีพจรไม่เจอ หายใจเบามากหรือไม่หายใจเลย และเสียชีวิตในเวลาต่อมา หากไม่ได้รับการช่วยเหลือทันที


เข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี ลดโอกาสเสี่ยงหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน


การตรวจสุขภาพประจำปีช่วยประเมินความเสี่ยงในการเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้ โดยการค้นหาปัญหาสุขภาพที่อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้หัวใจทำงานผิดปกติ ซึ่งจะมีแนวทางการตรวจที่สามารถประเมินความเสี่ยงได้ดังนี้


  1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram, ECG) ใช้เพื่อตรวจหาความผิดปกติของจังหวะการเต้นหัวใจ ภาวะหัวใจโต กล้ามเนื้อหัวใจตาย และความผิดปกติของไฟฟ้าหัวใจ
  2. การตรวจหัวใจด้วยเครื่องเสียงสะท้อนความถี่สูง หรือการเอคโค่หัวใจ (Echocardiogram) ใช้เพื่อตรวจประเมินโครงสร้างของหัวใจและความสามารถในการสูบฉีดเลือด
  3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test, EST) ใช้เพื่อตรวจสอบคลื่นไฟฟ้าหัวใจขณะที่หัวใจทำงานหนักหรือบีบตัวเร็วขึ้น เพื่อทดสอบเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจและดูการเต้นหัวใจขณะออกกำลังกาย
  4. การตรวจหินปูนที่เส้นเลือดหัวใจ (Coronary Calcium Score) เพื่อหาว่ามีความเสื่อมของเส้นเลือดหัวใจหรือไม่
  5. การฉีดสีเส้นเลือดหัวใจด้วยวิธี CT (Coronary CT Angiography) เพื่อดูภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบกรณีสงสัยว่ามีอาการที่ผิดปกติ หรือหลังตรวจเบื้องต้นแล้วสงสัยถึงภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบ
  6. การบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ 24 ชั่วโมง (Holter Monitor) ใช้เพื่อติดตามลักษณะการเต้นของหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง หากพบหรือสงสัยว่ามีหัวใจเต้นผิดจังหวะ
  7. การสวนหลอดเลือดหัวใจ (Cardiac Catheterization) ใช้เพื่อตรวจหาการอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ จะส่งตรวจก็ต่อเมื่อสงสัยว่าหลอดเลือดหัวใจตีบ
  8. การตรวจเลือด ใช้เพื่อตรวจค่าต่าง ๆ ที่บ่งชี้ถึงปัญหาสุขภาพที่เกี่ยวข้องหรือมีความเสี่ยงต่อการทำงานของหัวใจ

การให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน


Cardiopulmonary resuscitation

อย่างที่ทราบกันว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน หากพบผู้ป่วยหมดสติ ไม่มีการตอบสนอง ไม่หายใจ ให้รีบโทรแจ้งสายด่วน “1669” พร้อมทำการกู้ชีพด้วย CPR โดยทันที กรณีที่มีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ AED ให้นำเครื่องมาใช้กู้ชีพผู้ป่วยขณะรอทีมกู้ภัย การช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างเหมาะสมและรวดเร็ว จะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้สูงขึ้น


การทำ CPR (Cardiopulmonary resuscitation) มีจุดประสงค์เพื่อคงการไหลเวียนเลือดและออกซิเจนไปยังอวัยวะสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้โดยขั้นตอนดังนี้


  • จัดท่าทางให้ผู้ป่วยอยู่ในท่านอนหงาย
  • วางสันมือหนึ่งที่กึ่งกลางหน้าอกของผู้ป่วย และนำมืออีกข้างขึ้นมาประกบ แขนตั้งฉากกับหน้าอกผู้ป่วย 90 องศา โน้มตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยให้หัวไหล่อยู่เหนือลำตัวผู้ป่วย
  • กดหน้าอกผู้ป่วยให้ลึกประมาณ 5 เซนติเมตร ด้วยความเร็วประมาณ 100-120 ครั้งต่อนาที
  • ทำต่อเนื่องประมาณ 2 นาทีแล้วเปลี่ยนคนทำ CPR และให้ทำต่อไปเรื่อย ๆ จนกว่าทีมกู้ภัยจะมาถึง

กรณีที่มีเครื่องกระตุกหัวใจไฟฟ้าอัตโนมัติ ให้นำแผ่นนำไฟฟ้ามาติดที่ใต้กระดูกไหปลาร้าด้านขวา และใต้ชายโครงด้านซ้าย จากนั้นให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของเครื่อง


แนวทางการป้องกันหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน เริ่มต้นที่การดูแลสุขภาพให้ดี


ถึงแม้ว่าภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจะสามารถเกิดขึ้นได้แม้กับผู้ที่แข็งแรง แต่การดูแลรักษาสุขภาพตนเองให้ดีนั้นก็ยังเป็นแนวทางป้องกันการเกิดหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันจากโรคได้ ไม่ว่าจะการเลือกรับประทานอาหารให้ครบหมู่ ลดอาหารหวาน มัน เค็ม ออกกำลังกายอย่างเหมาะสมและสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมอย่างการสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ การโหมงานหนัก อดนอน หรือเครียด หากมีโรคประจำตัวให้ควบคุมโรคให้ดีและเข้าพบแพทย์เพื่อติดตามอาการอยู่เสมอ


หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายที่เกิดขึ้นอย่างไม่ทันตั้งตัว


หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และสามารถพรากชีวิตผู้ป่วยได้ในเวลาเพียงไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน การตระหนักรู้ถึงความอันตรายและมีความรู้ในการกู้ชีพอย่างถูกต้องจะช่วยเพิ่มโอกาสรอดชีวิตให้กับผู้ป่วย และช่วยให้ผู้ป่วยมีโอกาสฟื้นตัวได้มากขึ้น


สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า เราพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือ ป้องกัน และหาความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันโดยทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่ในสาขาต่าง ๆ ตลอด 24 ชั่วโมง เพราะเราตระหนักและให้ความสำคัญกับช่วงเวลาสำคัญที่สุดในการช่วยชีวิต เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการช่วยเหลือและรับการรักษาที่เหมาะสมอย่างทันท่วงที


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน


ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) แตกต่างจากภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Acute Heart Failure) อย่างไร?


ภาวะหัวใจวายเฉียบพลัน (Acute Heart Failure) เกิดจากการที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้อย่างเพียงพอ อาจเกิดจากการอุดตันหรือตีบของเส้นเลือดหัวใจ การอักเสบของกล้ามเนื้อหัวใจ หรือภาวะโรคหัวใจในอดีต ส่งผลให้มีอาการหัวใจวายเฉียบพลันได้ ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉิน แต่ไม่ถึงกับหัวใจหยุดเต้นทันที ต่างกับภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) ที่หากไม่ได้รับการช่วยเหลือทันที ผู้ป่วยมีโอกาสเสียชีวิตสูงมาก


ภาวะแทรกซ้อนของหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน มีอะไรบ้าง?


หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันอาจทำให้อวัยวะในร่างกายขาดเลือด และเกิดความเสียหายขึ้น เช่น สมองได้รับความเสียหายถาวร นอกจากนี้ยังอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนในขั้นตอนการช่วยชีวิต เช่น กระดูกซี่โครงหัก ปอดฉีกขาด เป็นต้น


References


Mayo Clinic Staff. (2024, December 7). Sudden cardiac arrest. Mayo Clinic. https://www.mayoclinic.org/diseases-conditions/sudden-cardiac-arrest/symptoms-causes/syc-20350634


Sudden Cardiac Arrest. (n.d.). MedlinePlus. https://medlineplus.gov/suddencardiacarrest.html


Yow AG, Rajasurya V, Ahmed I, et al. Sudden Cardiac Death. [Updated 2024 Mar 16]. In: StatPearls [Internet]. Treasure Island (FL): StatPearls Publishing; 2025 Jan-. Available from: https://www.ncbi.nlm.nih.gov/books/NBK507854/

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital