อาการหายใจไม่อิ่ม เป็นภาวะที่หลายคนเคยเผชิญ โดยอาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หายใจไม่ออก หายใจไม่สุด หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย หรือบางครั้งรู้สึกจุกที่คอและเจ็บหน้าอก หากอาการรุนแรง อาจมีอาการตัวบวมร่วมด้วย ซึ่งเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่ไม่ควรละเลย ดังนั้นบทความนี้จะพาคุณไปรู้จักกับอาการหายใจไม่เต็มอิ่ม
Key Takeaways
- อาการหายใจไม่อิ่ม (Dyspnea or Shortness of breath) เกิดได้จากหลายสาเหตุ ตั้งแต่ปัจจัยทั่วไปอย่างการออกกำลังกายหนัก ความเครียด ความกังวล หรือการอยู่ในที่สูง ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับปอด หัวใจ หรือหลอดเลือด เช่น โรคหอบหืด (Asthma) หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหัวใจล้มเหลว และภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด
- หากมีอาการหายใจไม่อิ่มรุนแรง ไม่ว่าจะหายใจลำบากรุนแรง แน่นหน้าอก ตัวเขียว หายใจเร็วผิดปกติ หรือมีอาการร่วม เช่น ไอ เจ็บหน้าอก หรือบวมที่ขา ควรรีบพบแพทย์ทันที เนื่องจากอาจเป็นสัญญาณของภาวะที่อันตราย เช่น น้ำท่วมปอดหรือโรคหัวใจล้มเหลว
- การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุ เช่น การใช้ยาขยายหลอดลม ในโรคของทางเดินหายใจ การรักษาโรคหัวใจ การรักษาภาวะของจิตใจที่ไม่ปกติ เช่น โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล หรือความเครียด
- สำหรับการป้องกัน ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ ควบคุมน้ำหนัก รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และจัดการกับความเครียด รวมถึงตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อป้องกันภาวะเสี่ยงในระบบปอดและหัวใจ
หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea or Shortness of breath) คืออะไร? อาการที่สามารถสังเกตได้มีอะไรบ้าง

หายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath) เป็นอาการที่รู้สึกว่าหายใจได้ไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หายใจไม่ค่อยออก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หายใจติดขัด หรือรู้สึกว่าต้องใช้แรงมากกว่าปกติเพื่อหายใจเข้าและออก อาการนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง อาจเป็นอาการเบื้องต้นของโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ หัวใจล้มเหลว ภาวะติดเชื้อของทางเดินหายใจ รวมไปถึงภาวะหลอดลมหดเกร็ง (brochospasm)
จะรู้ได้อย่างไรว่ามีอาการหายใจไม่อิ่ม?
อาการหายใจไม่อิ่ม (Dyspnea หรือ Shortness of Breath) หมายถึง ความรู้สึกที่คุณหายใจได้ไม่เต็มที่หรือขาดอากาศหายใจ อาการนี้อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือเป็นภาวะเรื้อรังขึ้นอยู่กับสาเหตุที่เป็นอยู่ คุณสามารถสังเกตอาการหายใจไม่อิ่มได้จากลักษณะดังต่อไปนี้
- รู้สึกว่าหายใจไม่ทั่วท้อง หรือหายใจเข้าได้ไม่สุด
- มีอาการแน่นหน้าอก หรือรู้สึกว่าหน้าอกถูกบีบอัด
- ต้องใช้แรงมากขึ้นในการหายใจ หรือมีอาการเหนื่อยง่าย
- หายใจเร็ว (Tachypnea) หรือมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้น
- มีเสียงหวีดขณะหายใจ (Wheezing) หรือเสียงหายใจดังผิดปกติ (Stridor)
- ต้องลุกขึ้นมานั่งหรือนอนหนุนหมอนสูงเพราะหายใจไม่สะดวก โดยเฉพาะช่วงกลางคืน
- อาจมีอาการ ไอ มีเสมหะ หรือไข้
- หายใจไม่อิ่มร่วมกับอาการอื่น เช่น เวียนศีรษะ, วิงเวียน, เป็นลม หรือริมฝีปากและเล็บเปลี่ยนเป็นสีม่วง
หากคุณมีอาการเหล่านี้เป็นประจำ ควรสังเกตว่ามีปัจจัยกระตุ้นหรือสภาวะใดที่ทำให้อาการรุนแรงมากขึ้น และควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยที่ถูกต้อง
หายใจไม่อิ่ม มีสาเหตุจากอะไรบ้าง?
อาการหายใจไม่อิ่มสามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ระบบสมองที่ควบคุมการหายใจ และระบบไหลเวียนโลหิต โดยสามารถแบ่งสาเหตุหลัก ๆ ได้ 2 ประเภท ดังนี้
สาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดได้ทั่วไป
- การออกกำลังกาย ในขณะที่คุณออกกำลังกายอย่างหนัก หรือพยายามทำกิจกรรมที่ใช้แรงมาก เช่น วิ่ง หรือยกน้ำหนัก อาจทำให้ร่างกายผลิตกรดในร่างกายมากขึ้น ทำให้คุณรู้สึกหายใจไม่ทันหรือหายใจไม่เต็มปอดได้
- การอยู่ในที่สูง เมื่อคุณไปอยู่ในที่ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมาก เช่น ภูเขาสูง อัตราความเข้มข้นของออกซิเจนจะต่ำลง ทำให้ร่างกายตอบสนองด้วยการหายใจมากขึ้น จนอาจรู้สึกหายใจไม่ทันได้
- ภาวะเครียดหรือวิตกกังวล ความเครียดหรือความวิตกกังวลสามารถกระตุ้นอาการหายใจสั้นหรือหายใจเร็ว (Hyperventilation)
- อาการไข้หวัดหรือโรคหวัด อาการหวัดหรือการติดเชื้อเล็กน้อยอาจทำให้เกิดการบวมในทางเดินหายใจ ซึ่งส่งผลให้หายใจไม่สะดวกหรือหายใจลำบากชั่วคราว
สาเหตุของอาการหายใจไม่อิ่มที่เกิดจากโรค
- กลุ่มโรคปอด เช่น โรคหอบหืด, ถุงลมโป่งพอง (Emphysema), โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD), หลอดลมอักเสบ หรือปอดบวม (Pneumonia) ส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบ ทำให้หายใจไม่สะดวก มีข้อสังเกตคือ มักมีเสียงผิดปกติ วืด ๆ ของทางเดินหายใจ หรือมีเสมหะ หรือไอร่วมด้วย
- กลุ่มโรคหัวใจ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะชนิด Premature Atrial Contractions (PACs), Premature Ventricular Contractions (PVCs), Atrial Fibrillation (AF), โรคหัวใจล้มเหลว (Heart failure) มีข้อสังเกต คือ อาจมีอาการของโรคหัวใจร่วมด้วย เช่น ขาบวม นอนราบไม่ได้ ออกแรงไม่ไหว เจ็บหน้าอก ชีพจรไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น
- กลุ่มโรคหลอดเลือดในปอด โรคหลอดเลือดปอดตีบ (Pulmonary hypertension) หรือหลอดเลือดปอดอุดตัน (Pulmonary embolism) ทำให้การแลกเปลี่ยนออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกายผิดปกติ อาจมีอาการของขาบวมร่วมด้วย หรือมีภาวะออกซิเจนในเลือดต่ำ
- กลุ่มโรคประสาทและกล้ามเนื้อ เช่น ALS (Amyotrophic lateral sclerosis) หรือโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ส่งผลต่อการทำงานของกล้ามเนื้อในการหายใจทำให้หายใจเร็วขึ้น หรืออาจหยุดหายใจก็เป็นได้
- กลุ่มโรคเกี่ยวกับการเผาผลาญ เช่น โรคไทรอยด์เป็นพิษ (Thyrotoxicosis) ที่อาจทำให้หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ (Tachypnea) มีอาการอ่อนแรงหรือเหนื่อยง่ายขึ้น
หากมีอาการหายใจไม่อิ่ม ควรพบแพทย์เมื่อไหร่?

อาการหายใจไม่อิ่ม หากเริ่มรู้สึกว่ามีความรุนแรงมากขึ้นถือเป็นสัญญาณอันตรายที่สามารถนำพาไปสู่โรคอื่น ๆ ได้ ดังนั้นแนะนำให้รีบพบแพทย์หากมีอาการหายใจไม่อิ่ม หายใจไม่ออก แน่นหน้าอก รวมถึงอาการดังต่อไปนี้
- หายใจลำบากอย่างรุนแรงหรือหายใจไม่ออก
- มีอาการแน่นหน้าอกหรือเจ็บหน้าอก
- มีอาการตัวเขียว ริมฝีปากและปลายมือปลายเท้าเปลี่ยนเป็นสีม่วง
- หายใจเร็วผิดปกติและมีชีพจรเต้นเร็ว หรือไม่สม่ำเสมอ โดยมากมักเร็วมากกว่า 100 ครั้งต่อนาที
- อาการหายใจไม่อิ่มรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
- มีเสียงหวีดขณะหายใจ (Wheezing) หรือเสียงหายใจดังผิดปกติ (Stridor)
- อาการบวมที่ขาข้างเดียว หรือทั้ง 2 ข้าง
- อาการไอ มีเสมหะ และไข้สูง
หายใจไม่อิ่ม การวินิจฉัยทางการแพทย์มีอะไรบ้าง?
แพทย์จะทำการซักประวัติ สอบถามอาการ ความถี่ของการเกิดอาการ ตรวจร่างกาย และใช้วิธีวินิจฉัยเพิ่มเติมตามความจำเป็น เช่น
- การเอกซเรย์ปอด (Chest X-ray) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของปอด เช่น ปอดบวม โรคเนื้อเยื่อในปอดอักเสบ หรือภาวะน้ำท่วมปอด
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG) เพื่อตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ
- การตรวจ Holter 24 ชั่วโมง เพื่อตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจตลอด 24 ชั่วโมง
- การตรวจสมรรถภาพปอด (Pulmonary Function Test – PFT) เพื่อประเมินประสิทธิภาพของปอด
- การตรวจระดับออกซิเจนในเลือด (Pulse Oximetry หรือ Arterial Blood Gas – ABG) เพื่อตรวจความอิ่มตัวของออกซิเจน และภาวะที่ระดับคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในเลือดสูงกว่าปกติ (hypercapnia)
หายใจไม่อิ่ม วิธีรักษามีอะไรบ้าง?
การรักษาขึ้นอยู่กับสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการหายใจไม่อิ่ม ซึ่งมีทั้งแบบทั่วไปและแบบที่เกิดจากโรคอื่น ๆ ดังนั้นวิธีการรักษาจึงมีหลากหลายวิธี สามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้
- การใช้ยาขยายหลอดลม (Bronchodilators) ใช้สำหรับผู้ที่มีโรคปอด เช่น โรคหืด และ COPD
- ยาขับปัสสาวะ (Diuretics) และยาในระบบหัวใจและหลอดเลือด ช่วยลดน้ำในร่างกายสำหรับผู้ที่มีภาวะน้ำท่วมปอดหรือหัวใจล้มเหลว
- กายภาพบำบัดทางเดินหายใจ (Pulmonary Rehabilitation) เพื่อปรับปรุงการทำงานของปอด
ทั้งนี้ วิธีการรักษาต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างละเอียด เพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพมากที่สุด
แนวทางการป้องกันอาการหายใจไม่อิ่ม
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อเช็กความเสี่ยงในระบบต่าง ๆ ของร่างกาย
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของปอดและหัวใจ
- หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ ฝุ่นควัน และสารก่อมลพิษ
- ควบคุมน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์
- จัดการกับความเครียดและฝึกการหายใจแบบผ่อนคลาย
- พักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อให้ร่างกายสามารถฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่
หายใจไม่อิ่ม รักษาที่ไหนดี?
อาการหายใจไม่อิ่มเป็นสัญญาณของความผิดปกติในร่างกายที่อาจเกิดจากโรคปอด หัวใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ หากท่านใดหรือคนรอบตัวมีอาการเหล่านี้ ควรรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป ที่ สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้า เรามีแพทย์เฉพาะทางโรคหัวใจ ที่พร้อมให้บริการในทุกด้านของโรคหัวใจและหลอดเลือดตลอด 24 ชั่วโมง ด้วยอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ทันสมัย เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ครอบคลุม
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับอาการหายใจไม่อิ่ม
หายใจไม่อิ่ม อันตรายไหม?
อาการหายใจไม่อิ่มอาจเป็นอันตรายหากเกิดจากภาวะรุนแรง เช่น โรคหัวใจล้มเหลว หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันในปอด ควรรีบพบแพทย์หากมีอาการรุนแรง
อาการหายใจไม่อิ่ม รักษาด้วยตัวเองได้ไหม?
หากอาการเกิดจากภาวะไม่รุนแรง เช่น ความเครียด การพักผ่อนน้อยหรือออกกำลังกายหนักเกินไป คุณอาจใช้เทคนิคการหายใจหรือหากิจกรรมง่ายๆที่สามารถช่วยให้ผ่อนคลายได้ แต่หากอาการเกิดจากโรคประจำตัวหรือมีอาการเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสม
References
What is dyspnea/shortness of breath?. (n.d.). Brigham and Women's Hospital. https://www.brighamandwomens.org
Dyspnea. (2022, November 11). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org
Hashmi, M. F., Modi, P., Basit, H., & Sharma, S. (2023, February 19). Dyspnea. National Library of Medicine. https://www.ncbi.nlm.nih.gov