บทความสุขภาพ

Knowledge

ทำความรู้จักโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด อาการเป็นแบบไหน เกิดจากอะไร รักษาได้ไหม

ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปัญหาสุขภาพที่เป็นอันตรายถึงชีวิตและไม่ควรมองข้าม เพราะอาจนำไปสู่ภาวะหัวใจวาย เป็นอัมพาต หรือรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ในที่สุด ซึ่งกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีลักษณะอาการแบบไหน เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง หรือมีแนวทางในการรักษาและป้องกันได้หรือไม่นั้น สามารถติดตามได้ในบทความนี้


Key Takeaways


  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ปัญหาสุขภาพที่เกิดจากเลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจไม่เพียงพอ ทำให้มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก และจำเป็นต้องรีบรักษาให้ทันท่วงทีเพื่อป้องกันไม่ให้หัวใจวาย หรืออันตรายถึงแก่ชีวิต
  • สาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดขึ้นได้จากปัจจัยเสี่ยงที่เลี่ยงไม่ได้อย่างอายุ พันธุกรรม เพศ โรคประจำตัว และปัจจัยที่เลี่ยงได้ เช่น พฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่ส่งผลให้ไขมันในเลือดสูง เกิดการอุดตันภายใน และทำให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดในที่สุด
  • โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาละลายลิ่มเลือด การขยายหลอดเลือดหัวใจ และการผ่าตัด รวมถึงสามารถป้องกันได้ด้วยการปรับเปลี่ยนไลฟ์สไตล์ให้เหมาะสม เพื่อลดการสะสมไขมันในหลอดเลือดหัวใจ

โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด คืออะไร?


กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือโรคหัวใจขาดเลือด (Myocardial Infarction) หมายถึง ภาวะที่เลือดไหลเวียนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจได้น้อยลงหรือหยุดไหลเวียน เนื่องจากหลอดเลือดหัวใจอุดตันจากการสะสมของไขมัน หรือคอเลสเตอรอลภายในหลอดเลือด ส่งผลให้หัวใจทำงานผิดปกติ ผู้ป่วยอาจมีอาการเจ็บหน้าอก รู้สึกจุกหน้าอก หรือมีอาการหายใจลำบาก และหากมีอาการหัวใจขาดเลือดนาน 2-3 นาทีอาจมีโอกาสที่จะรุนแรงถึงขั้นหัวใจวายและเสียชีวิตได้


รู้ทันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีอาการอย่างไร?


symptoms-myocardial-ischemia-1024x1024.jpg

โดยปกติแล้วเมื่อกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด กล้ามเนื้อหัวใจจะต้องการออกซิเจนมากขึ้น ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือรู้สึกปวดร้าวในจุดต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขากรรไกร, แขน, คอ หรือแผ่นหลัง ขณะเดียวกันอาจมีอาการเหงื่อออกมาก วิงเวียนศีรษะ คลื่นไส้ หมดแรง ซึ่งปัญหาหัวใจขาดเลือด อาการอาจมีความรุนแรงแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ขึ้นอยู่กับว่าสภาพหลอดเลือดหัวใจนั้นมีลักษณะตีบตันมากน้อยแค่ไหน และบริเวณของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมากน้อยแค่ไหน


อย่างไรก็ตามสามารถแบ่งลักษณะอาการของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้เป็น 3 ระดับ ดังนี้


  1. ระดับที่ 1 ขณะออกแรงทำกิจกรรมต่าง ๆ รู้สึกเจ็บแน่นหน้าอก คล้ายหัวใจถูกบีบแรง ๆ หรือรู้สึกหนักบริเวณหน้าอกด้านซ้าย อาจมีอาการปวดร้าวจนถึงขากรรไกรล่าง สันกราม หรือหัวไหล่ร่วมด้วย แต่จะเป็นไม่นาน ต่อเนื่องประมาณ 5-10 นาที และจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ
  2. ระดับที่ 2 มีอาการเจ็บหน้าอก แม้อยู่นิ่ง และระยะเวลาของอาการอยู่นานขึ้นประมาณ 10-20 นาที ก่อนดีขึ้นตามลำดับ
  3. ระดับที่ 3 เป็นระดับอาการที่รุนแรงที่สุด มักมีอาการเกิดขึ้นทันทีทันใด และรู้สึกเจ็บแน่น หรือปวดร้าวบริเวณหน้าอกนาน 30 นาทีขึ้นไป รวมถึงอาจมีอาการวิงเวียนศีรษะ เหงื่อออกเยอะ ใจสั่น คลื่นไส้ร่วมด้วย ซึ่งถือเป็นสัญญาณว่าเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันและเป็นสัญญาณอันตรายที่นำไปสู่การสูญเสียชีวิตได้ จำเป็นต้องรีบเข้ารับการรักษาโดยเร็วที่สุด

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?


กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเป็นลักษณะอาการของภาวะที่เลือดไม่สามารถเลี้ยงหัวใจได้เพียงพอ ทำให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก หรือเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจวายและอันตรายถึงชีวิต ซึ่งภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดดังกล่าวนั้นมีสาเหตุมาจากไขมันในเลือดสูง โดยเฉพาะการสะสมของไขมันภายในเส้นเลือดแดงที่เลี้ยงหัวใจ ทำให้เกิดการตีบตัน และเลือดไม่สามารถไปเลี้ยงหัวใจได้ในที่สุด


ขณะเดียวกันอาการนี้ยังเกิดจากภาวะที่เกี่ยวข้องกับหลอดเลือดหัวใจอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น ภาวะหลอดเลือดหัวใจเกร็งหดตัว ภาวะลิ่มเลือดอุดตัน และภาวะชั้นผนังหลอดเลือดหัวใจปริตัวแยกออกจากกัน หากไม่รีบรักษาอาจรุนแรงถึงขั้นกล้ามเนื้อหัวใจตายได้


ปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมีอะไรบ้าง?


นอกเหนือไปจากการอุดตันภายในหลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจจนเป็นอันตรายทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่ก่อให้เกิดโรคดังกล่าวได้เช่นกัน ซึ่งมีทั้งปัจจัยเสี่ยงที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ และปัจจัยเสี่ยงที่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ดังนี้


ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้


  • ลักษณะทางพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น หากคนในครอบครัวมีประวัติเป็นโรคดังกล่าว หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจก็มีโอกาสที่จะเกิดภาวะนี้ได้
  • ผู้ที่มีโรคประจำตัวบางชนิด เช่น ภาวะความดันโลหิตสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน โรคอ้วน
  • อายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบว่าผู้ป่วยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดมักเป็นในเพศชายอายุ 45 ปีขึ้นไป และเพศหญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป

ปัจจัยเสี่ยงที่หลีกเลี่ยงได้


  • พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ส่งผลให้ปริมาณไขมันส่วนเกินสะสมเพิ่มขึ้น เช่น การทานอาหารไขมันสูง หรือการทานของหวาน ของทอด ของมัน และอาหารโซเดียมสูง
  • พฤติกรรมการสูบบุหรี่ จะส่งผลให้เกิดไขมันสะสมในหลอดเลือดหัวใจและเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ในอนาคต
  • การขาดการออกกำลังกาย ทำให้ไขมันสะสมในร่างกายเพิ่มมากขึ้น
  • ภาวะเครียด ที่ส่งผลให้ระบบเผาผลาญร่างกายทำงานผิดปกติ ระดับไขมันในร่างกายและหลอดเลือดสูง

วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ต้องตรวจอะไรบ้าง?


หากเป็นกังวลว่าตัวเอง หรือสมาชิกในครอบครัวกำลังเผชิญกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอยู่ แนะนำว่าควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสม ซึ่งเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติสุขภาพ ประวัติการใช้ยา พฤติกรรมการใช้ชีวิตส่วนตัว รวมถึงสอบถามถึงอาการที่เข้าข่ายภาวะดังกล่าว และจะมีวิธีการตรวจวินิจฉัยภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดอื่น ๆ เพิ่มเติมดังนี้


  • การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG)
  • ตรวจเลือดเพื่อตรวจหาโปรตีนและเอนไซม์ที่เกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจขาดเลือด และตรวจวัดปริมาณคอเลสเตอรอลในเลือดที่เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดตีบตัน
  • เข้ารับการเอกซเรย์ทรวงอก
  • ตรวจสมรรถภาพหัวใจ (Stress Test)
  • การตรวจหัวใจด้วยเครื่องสะท้อนเสียงความถี่สูง (Echocardiogram)
  • เอกซเรย์คอมพิวเตอร์เส้นเลือดหัวใจ (CTA Coronary)
  • ตรวจหัวใจด้วยคลื่นสะท้อนแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
  • การใช้เครื่องบันทึกไฟฟ้าหัวใจ (Holter Monitor)
  • การตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (Coronary Angiogrphy)

แนวทางการรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด


treats-myocardial-ischemia.png

เมื่อเผชิญกับอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและหาแนวทางการรักษาเพื่อไม่ให้อาการรุนแรงถึงชีวิต ซึ่งแนวทางการรักษาโรคหัวใจขาดเลือดจะเน้นไปที่การเพิ่มการไหลเวียนของเลือดให้เข้าสู่กล้ามเนื้อหัวใจมากขึ้น โดยมีวิธีการรักษาหลายวิธีด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น


  • การใช้ยา เช่น ยารับประทานกลุ่มยาต้านเกล็ดเลือดเพื่อลดการอุดตันในหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มยาลดไขมันในเลือด กลุ่ยาลดการเต้นของหัวใจ (Beta-Blocker) รวมถึงยาลดความดันโลหิตกลุ่ม ACE inhibitors เพื่อลดการทำงานหนักของหัวใจ
  • การขยายหลอดเลือดด้วยการสวนหัวใจด้วยขดลวด หรือการทำบอลลูนหัวใจ
  • การผ่าตัดบายพาสหัวใจ หรือการผ่าตัดหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจ เพื่อรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด สามารถป้องกันได้อย่างไร?


กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด-สามารถป้องกันได้อย่างไร-1024x1024.jpg

การเพิ่มขึ้นของระดับไขมันในหลอดเลือดหัวใจมักมีสาเหตุหลัก ๆ มาจากพฤติกรรมในการใช้ชีวิตประจำวัน ฉะนั้นหากมีความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ไม่ควรรอให้เกิดอาการเจ็บแน่นหน้าอก ควรปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตเพื่อป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไม่ให้เกิดขึ้น โดยสามารถทำได้ดังนี้


  • เลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เลี่ยงของทอด ของมัน ของหวาน หรืออาหารที่มีปริมาณไขมันสูง เพื่อควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม
  • หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องอย่างน้อย 30 นาที สัปดาห์ละ 3-5 ครั้ง เพื่อสุขภาพที่ดีและเสริมความแข็งแรงให้หัวใจ
  • ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ทุกชนิด หรือผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่ ก็ควรเลี่ยงควันบุหรี่มือสองร่วมด้วย
  • ทำจิตใจให้สงบ ไม่ให้ร่างกายอยู่ในภาวะเครียด
  • หมั่นตรวจสุขภาพประจำปี

กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด เสี่ยงหัวใจวาย รีบรักษาก่อนสายเกินแก้


โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด มีสาเหตุมาจากเลือดไหลเวียนไปยังหัวใจไม่เพียงพอเนื่องจากภายในหลอดเลือดมีการอุดตันของไขมัน หรือคอเลสเตอรอลในปริมาณมาก ส่งผลให้เกิดอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หัวใจเต้นผิดจังหวะ หากทิ้งไว้ไม่ได้รับการรักษา อาจก่อให้เกิดโรคหัวใจกำเริบเฉียบพลันจากลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดหัวใจได้


หากเผชิญกับสัญญาณความผิดปกติเหล่านี้อยู่ ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อหาแนวทางการรักษาได้ทันท่วงที หรือสามารถเข้ารับการปรึกษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดที่สถาบันหัวใจและหลอดเลือด โรงพยาบาลพระรามเก้าได้เลย ติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ช่องทางดังต่อไปนี้



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด


ใครบ้างที่มีโอกาสเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด?


ผู้ที่มีโอกาสเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ได้แก่ ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ผู้ที่อายุ 45-55 ปีขึ้นไป รวมถึงผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคหัวใจขาดเลือด


โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดรักษาหายขาดไหม?


ถึงแม้โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ตลอดไป แต่ก็สามารถแก้ไขให้เส้นเลือดที่ตีบตันหายตีบตันได้ และสสาสมารถใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้งได้ด้วยการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิต เช่น ลดการทานของทอดของมัน หมั่นออกกำลังกาย เลิกสูบบุหรี่ หรือหมั่นเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปี จะช่วยป้องกันไม่ให้โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดกลับมาเป็นอีก


References


Journal of Cardiology. (2008). Myocardial ischaemia. Elsevier. https://www.journal-of-cardiology.com/article/S0914-5087(08)00209-8/fulltext


Medical News Today. (n.d.). Myocardial ischemia. https://www.medicalnewstoday.com/articles/myocardial-ischemia


Radiopaedia. (n.d.). Myocardial ischaemia. https://radiopaedia.org/articles/myocardial-ischaemia

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital