บทความสุขภาพ

Knowledge

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

การวิ่งสายพาน หรือที่รู้จักกันในชื่อ Exercise Stress Test (EST) คือการทดสอบที่ใช้ประเมินการทำงานของหัวใจ ซึ่งการทำ EST สามารถช่วยตรวจจับโรคหัวใจที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่แสดงอาการในช่วงเวลาปกติ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการประเมินสุขภาพหัวใจ หากสงสัยว่า EST คืออะไร และทำไมถึงสำคัญกับการตรวจสุขภาพหัวใจ มาดูกันว่า การทดสอบนี้ทำงานอย่างไรและใครบ้างที่ควรได้รับการตรวจ


Key Takeaways


  • Exercise Stress Test (EST) คือการวิ่งสายพานเพื่อทดสอบสมรรถภาพหัวใจผ่านการออกกำลังกาย เพื่อประเมินการทำงานของหัวใจในสภาวะที่มีความต้องการใช้ออกซิเจนมากขึ้นของกล้ามเนื้อหัวใจ (Aerobic Exercise)
  • การทำ Exercise Stress Test สามารถช่วยตรวจจับโรคหัวใจในระยะแรก โดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการที่เกี่ยวข้องกับหัวใจ
  • การทดสอบนี้เหมาะกับผู้ที่มีอาการแน่นหน้าอกหรือเหนื่อยผิดปกติเมื่อออกกำลังกาย โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจ
  • EST สามารถใช้ในการคัดกรองความเสี่ยง ประเมินผลของการรักษา เเละติดตามผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยสามารถปรับการรักษาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

Exercise Stress Test (EST) คืออะไร ตรวจได้อย่างไร?


Exercise Stress Test (EST) หรือ การตรวจหัวใจด้วยการออกกำลังกาย เป็นการทดสอบที่ใช้ประเมินการทำงานของหัวใจเมื่อมีการออกกำลัง เพื่อดูว่าเลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจได้ดีหรือไม่ ในภาวะที่กล้ามเนื้อหัวใจมีความต้องการใช้ออกซิเจนมากขึ้น โดยแพทย์จะสังเกตคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram - ECG) อัตราการเต้นของหัวใจ ความดันโลหิต และอาการของผู้ป่วย เพื่อตรวจหาความผิดปกติของโรคหลอดเลือดหัวใจ หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ


การตรวจ EST มี 2 วิธีหลัก ได้แก่


  • การเดินสายพาน (Treadmill Stress Test) : ผู้เข้ารับการตรวจ Exercise Stress Test จะเดินหรือวิ่งบนสายพานที่ปรับความเร็วและความชันเป็นระยะ ๆ ทุก 3 นาทีตาม Bruce Protocol ซึ่งวิธีนี้ได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากสามารถจำลองภาวะที่หัวใจต้องทำงานหนักใกล้เคียงกับการออกกำลังกายในชีวิตประจำวันได้
  • การปั่นจักรยาน (Cycling Stress Test): ผู้เข้ารับการตรวจ Exercise Stress Test จะปั่นจักรยานอยู่กับที่ (Stationary Bike) โดยแรงต้านของจักรยานจะเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ วิธีนี้มักใช้กับผู้ที่ไม่สามารถเดินบนสายพานได้ เช่น ผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าหรือผู้สูงอายุ

การทำ Exercise Stress Test เหมาะกับใคร? 5 กลุ่มที่ควรมาทำ EST


Exercise Stress Test คือ

EST จะเหมาะสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยงปัญหาหัวใจ โดยเฉพาะ 5 กลุ่มหลัก ดังต่อไปนี้


  • ผู้ที่มีอาการผิดปกติเมื่อออกกำลังกาย เช่น เจ็บหน้าอก, หายใจไม่อิ่ม, เวียนศีรษะ หรือเหนื่อยผิดปกติ
  • ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยง ผู้ชายมีโอกาส 45% ส่วนผู้หญิงมีโอกาส 55% พร้อมปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ เช่น ความดันโลหิตสูง, ไขมันในเลือดสูง, เบาหวาน ,ความผิดปกติของรูปแบบการเต้นของหัวใจทารกใน
  • ผู้ที่ต้องการเช็กสมรรถภาพหัวใจก่อนออกกำลังกายหนัก เช่น วิ่งมาราธอนหรือฝึกเวทเทรนนิ่ง
  • ผู้ที่เคยเป็นโรคหัวใจและกำลังติดตามผลการรักษา เช่น หลังการทำบอลลูน ,ขดลวดหัวใจ และหลังการทำบายพาสหัวใจ

ขั้นตอนการทำ Exercise Stress Test มีอะไรบ้าง?


เนื่องจากการทำ Exercise Stress Test ด้วยการเดินสายพานหัวใจจะเป็นที่นิยมมากกว่า ในส่วนนี้จึงจะมาอธิบายว่าการทำ EST ด้วยการเดินสายพานมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง ดังนี้


  • เตรียมความพร้อมก่อนตรวจ : พักผ่อนให้เพียงพอ งดทาครีมที่ผิวหน้า งดการกินอาหารหนักและการดื่มน้ำ
  • เจ้าหน้าที่ติดแผ่นขั้วไฟฟ้า (Electrode) : ติดแผ่นขั้วไฟฟ้าบริเวณหน้าอก แขน และขา เพื่อบันทึกคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และติดเครื่องวัดความดันโลหิตที่ต้นแขน
  • เริ่มต้นการทดสอบ : ผู้ป่วยจะเริ่มเดินหรือวิ่งบนสายพาน โดยเครื่องจะค่อย ๆ เพิ่มความเร็วและความชันทุก 3 นาที โดยมีแพทย์และเจ้าหน้าที่คอยเฝ้าสังเกตคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ความดันโลหิต และอาการของผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด
  • เกณฑ์การหยุดการทดสอบ : การเดินหรือวิ่งบนสายพานจะสิ้นสุดลงเมื่อมีเงื่อนไขอันใดอันหนึ่งเกิดขึ้น ได้แก่

      ๏  อัตราการเต้นของหัวใจถึงเป้าหมาย ซึ่งจะอยู่ที่ 85% ของอัตราชีพจรสูงสุดที่คำนวณจาก 220 – อายุ
      ๏  ผู้เข้ารับการตรวจขอหยุดเอง เนื่องจากเหนื่อยมากหรือไม่สามารถเดินต่อไปได้
      ๏  มีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก, เหนื่อยผิดปกติ, หน้ามืด หรือความดันโลหิตสูงผิดปกติ
      ๏  พบความผิดปกติของคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ที่บ่งชี้ถึงภาวะหัวใจขาดเลือดหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะรุนแรง

  • ระยะพักฟื้น (Recovery Stage) : หลังจากการทดสอบผู้ป่วยจะเข้าสู่ระยะพักฟื้น 5 นาที โดยแพทย์จะติดตามคลื่นไฟฟ้าหัวใจและความดันโลหิตต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากนั้นจึงจะแปลผลการตรวจและอธิบายผลให้ผู้ป่วยทราบ

ทั้งนี้ หลายคนอาสงสัยว่าวิ่งสายพานตรวจหัวใจต้องใช้เวลากี่นาที? โดยทั่วไปการทำ EST ใช้เวลาทั้งหมดประมาณ 20–30 นาที และเป็นหนึ่งในการตรวจที่จะช่วยให้แพทย์สามารถประเมินสุขภาพของหัวใจได้อย่างแม่นยำ


การเตรียมความพร้อมก่อนทำ Exercise Stress Test ต้องทำอย่างไรบ้าง?


เพื่อให้การตรวจ EST ได้ผลการตรวจที่แม่นยำ ผู้ป่วยควรเตรียมตัวให้พร้อมล่วงหน้า โดยสามารถทำได้ตามวิธีต่อไปนี้


  • งดอาหารและเครื่องดื่มก่อนตรวจ : พยายามหลีกเลี่ยงการทานอาหารมื้อใหญ่อย่างน้อย 2-4 ชั่วโมง ก่อนเข้ารับการตรวจ แต่สามารถดื่มน้ำได้ในปริมาณที่ไม่มากเพื่อป้องกันการขาดน้ำ โดยควรเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน 12 ชม. ก่อนตรวจ
  • งดสูบบุหรี่และสารกระตุ้น : ควรงดสูบบุหรี่อย่างน้อย 12 ชั่วโมงก่อนตรวจ EST เพื่อป้องกันผลกระทบต่อระบบไหลเวียนโลหิต
  • แจ้งแพทย์เกี่ยวกับยาที่ใช้ประจำ : หากมียาประจำควรแจ้งแพทย์ล่วงหน้า โดยเฉพาะยารักษาโรคหัวใจและยาลดความดันโลหิตกลุ่ม BETA-Blocker ซึ่งในบางกรณีอาจต้องงด 1-2 วัน ตามคำสั่งแพทย์ก่อนตรวจ EST
  • แต่งกายให้เหมาะสม : สวมเสื้อผ้าและรองเท้าที่สะดวกต่อการออกกำลังกาย หากไม่มีรองเท้าที่เหมาะสม บางโรงพยาบาลมีรองเท้าและถุงเท้าเตรียมไว้ให้
  • พักผ่อนให้เพียงพอ : ควรนอนหลับอย่างน้อย 6–8 ชั่วโมง ก่อนวันตรวจ EST เพื่อลดความเหนื่อยล้าและทำให้ร่างกายพร้อมที่สุด
  • งดทาครีมที่ผิว : เพราะจะทำให้แผ่นขั้วไฟฟ้าติดไม่สนิท

จะเข้าใจการแปรผลของ Exercise Stress Test ได้อย่างไร?


เดินสายพานหัวใจ

การแปรผล Exercise Stress Test สามารถแบ่งออกเป็นสองประเภทหลัก คือ ผลปกติและผลไม่ปกติ ดังนี้


ผลตรวจเป็นปกติ


หากผลการตรวจ EST อยู่ในเกณฑ์ปกติ แสดงว่าหัวใจทำงานได้ดี การไหลเวียนของเลือดเพียงพอ และไม่มีสัญญาณของภาวะโรคหลอดเลือดหัวใจ เช่น การขาดเลือดในกล้ามเนื้อหัวใจ หรือความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ สำหรับผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกหรือเหนื่อยง่าย หากผลการตรวจเป็นปกติแสดงว่าหัวใจทำงานได้ดี ซึ่งอาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อหาสาเหตุอื่นเพิ่มเติม ซึ่งผู้ที่ตรวจพบผลปกติก็สามารถเริ่มกิจกรรมทางกายอย่างการออกกำลังกาย รวมถึงเข้ารับการผ่าตัดได้ตามปกติ


อย่างไรก็ตามแม้ผลตรวจจะปกติผู้ป่วยก็ยังมีโอกาสเป็นโรคหัวใจได้ โดยเฉพาะในสถานการณ์ดังต่อไปนี้


  1. ในระยะแรกของโรคหลอดเลือดหัวใจ ถ้าเส้นเลือดตีบไม่มากอาจจะไม่พบความผิดปกติได้
  2. โรคหัวใจบางชนิดไม่แสดงออกในการตรวจ EST เช่น โรคลิ้นหัวใจ ภาวะหัวใจเต้นผิดปกติ หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจเต้นผิดปกติ
  3. การตรวจ EST มีความแม่นยำประมาณ 75-80% ดังนั้นในเคสที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นโรคหัวใจ แพทย์อาจจะมีการตรวจเพิ่มเติมที่แม่นยำขึ้น เช่น CTA Coronary หรือ Stress Echo Test

ผลตรวจไม่ปกติ


หากผลการตรวจ EST แสดงความผิดปกติ แพทย์อาจแนะนำให้ทำการตรวจเพิ่มเติม เช่นการฉีดสี การสวนหัวใจ หรือ Cardiac MRI หรือ Stress Echo Test เพื่อตรวจสอบสาเหตุที่ชัดเจนและหาวิธีการรักษาต่อไป


ข้อดีของการทำ Exercise Stress Test มีอะไรบ้าง?


Exercise Stress Test ข้อดี

การทำ Exercise Stress Test มีประโยชน์ต่อการวินิจฉัยและการติดตามผลการรักษาของโรคเกี่ยวกับหัวใจ โดยข้อดีหลัก ๆ ของ EST มีดังนี้


  1. ช่วยในการวินิจฉัยโรคหลอดเลือดหัวใจ โดยเฉพาะในผู้ที่มีความเสี่ยงสูง หรือมีความผิดปกติของหัวใจ เช่น เหนื่อยง่าย หรือแน่นหน้าอกเวลาออกแรง
  2. ติดตามผลการรักษา
  3. ช่วยตรวจสอบความสามารถในการออกกำลังกายของร่างกายและหัวใจ

มาทำ Exercise Stress Test (EST) วันนี้ เพื่อสุขภาพหัวใจที่ดีกว่า


การเดินสายพาน (EST) คือการตรวจที่สำคัญในการประเมินความเสี่ยงของหัวใจ ช่วยวินิจฉัยโรคหัวใจขาดเลือด และติดตามผลการรักษาได้ หากคุณมีความกังวลเกี่ยวกับอาการของหัวใจ หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ การทำ Exercise Stress Test จะช่วยให้คุณได้รับการดูแลที่เหมาะสมและทันเวลา


หากต้องการทำ EST หรือกำลังเป็นห่วงเรื่องสุขภาพของหัวใจ ก็สามารถมาเข้ารับบริการได้ที่สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า ซึ่งมีทีมแพทย์ผู้ที่ผ่านประสบการณ์และได้รับการอบรมทางด้านนี้มาอย่างดี มีเทคโนโลยีที่ทันสมัยในการให้บริการ พร้อมตรวจสอบและดูแลสุขภาพหัวใจด้วยความตั้งใจ เพื่อการรักษาที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากที่สุดของผู้ป่วย หากต้องการสอบถามเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ช่องทางดังต่อไปนี้



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ Exercise Stress Test (EST)


หลายคนอาจมีคำถามเกี่ยวกับกระบวนการตรวจและข้อจำกัดต่าง ๆ มาดูกันว่าคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับ EST คืออะไรบ้าง แล้วมีคำตอบอย่างไร?


EST มีความเสี่ยงหรือไม่?


การตรวจ EST ถือว่าเป็นการทดสอบที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ แต่ในบางกรณีที่ผู้ป่วยมีโรคหัวใจหรือปัญหาสุขภาพอื่น ๆ อาจเกิดผลข้างเคียงหรือภาวะแทรกซ้อนได้ จึงควรแจ้งแพทย์เกี่ยวกับอาการหรือประวัติสุขภาพก่อนการตรวจ


EST ไม่เหมาะกับใครบ้าง?


ผู้ที่มีอาการหัวใจล้มเหลวรุนแรง หรือภาวะที่ทำให้ไม่สามารถออกกำลังกายได้ เช่น โรคหัวใจรุนแรงหรือโรคเกี่ยวกับปอด อาจไม่เหมาะกับการทำ Exercise Stress Test รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถเดินหรือวิ่งได้คล่อง เช่น ผู้ป่วยที่มีข้อเข้าเสื่อม เพราะอาจจะล้มและเกิดอุบัติเหตุได้ จึงควรปรึกษาแพทย์ก่อนการทดสอบ


EST กับ Echo ต่างกันอย่างไร?


EST เป็นการทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกายเพื่อประเมินความเสี่ยงของโรคหลอดเลือดหัวใจ ส่วนการทำเอคโค่หัวใจ (Echocardiography) คือการตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจเพื่อประเมินโครงสร้าง และการทำงานของหัวใจ เช่น กล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ และความดันในหัวใจ


References


Cleveland Clinic. (2022, January 17). Exercise Stress Test. https://my.clevelandclinic.org/health/diagnostics/16984-exercise-stress-test


Chen, M. A. (2022, October 5). Exercise stress test. MedlinePlus. https://medlineplus.gov/ency/article/003878.htm


Krans, B. (2021, September 29). Exercise stress test. Healthline. https://www.healthline.com/health/exercise-stress-test

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital