บทความสุขภาพ

Knowledge

มะเร็งเม็ดเลือดขาว อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร รักษาหายไหม

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือลูคีเมีย (Leukemia) เป็นโรคที่เกิดจากการเจริญเติบโตผิดปกติของเซลล์เม็ดเลือดขาวในไขกระดูก ซึ่งมีผลต่อการทำงานของระบบเลือดและระบบภูมิคุ้มกัน โรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ โดยมีอาการเริ่มต้นที่อาจคล้ายคลึงกับอาการป่วยจากโรคอื่นทั่ว ๆ ไป เช่น อ่อนเพลีย หรือมีไข้ ส่งผลให้ผู้ป่วยมักไม่ทันได้สังเกตความผิดปกติ การรู้จักอาการเริ่มต้นของมะเร็งเม็ดเลือดขาวจึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาได้อย่างทันท่วงที


ในบทความนี้เราจะพูดถึงอาการเริ่มต้นที่ควรสังเกต สาเหตุที่ทำให้เกิดโรค และแนวทางการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ที่มีความเสี่ยงหรือมีอาการผิดปกติสามารถรับมือกับโรคนี้ได้อย่างถูกต้อง


โรคเม็ดเลือดขาวคืออะไร?

มะเร็งเม็ดเลือดขาว หรือที่เรียกว่า “ลูคีเมีย” (Leukemia) เป็นโรคที่เกิดขึ้นเมื่อเซลล์เม็ดเลือดขาวในร่างกายมีการเจริญเติบโตผิดปกติและเสียหน้าที่การทำงานตามปกติไป โดยโรคนี้จะเริ่มจากความผิดปกติที่ไขกระดูกซึ่งเป็นแหล่งผลิตเซลล์เม็ดเลือด และมะเร็งจะแพร่กระจายไปยังเลือดและอวัยวะอื่น ๆ เช่น ม้ามและต่อมน้ำเหลือง อาการเริ่มต้นของมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักจะไม่ชัดเจน ทำให้ผู้ป่วยหลายคนไม่ทราบว่าตนเองเป็นโรคนี้ในระยะแรก


โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว อาการเริ่มต้นเป็นอย่างไร?

อาการเริ่มต้นของมะเร็งเม็ดเลือดขาวที่อาจพบได้ เช่น


  1. อาการอ่อนเพลีย: เป็นอาการที่พบบ่อย ผู้ป่วยจะรู้สึกเหนื่อยและไม่มีแรง อาการนี้เกิดขึ้นเพราะเซลล์มะเร็งเข้ามาแทนที่เซลล์เม็ดเลือดปกติ ทำให้ร่างกายขาดออกซิเจน เซลล์เม็ดเลือดแดงลดลงและไม่สามารถนำออกซิเจนไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้เพียงพอ นอกจากนี้การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่ลดลงยังทำให้ผู้ป่วยรู้สึกเหนื่อยง่ายขึ้น
  2. มีไข้หรือเหงื่อออกตอนกลางคืน: ผู้ป่วยอาจมีไข้ที่เกิดขึ้นโดยไม่ทราบสาเหตุ และมีเหงื่อออกมากในช่วงกลางคืน อาการเหล่านี้เกิดจากการที่ระบบภูมิคุ้มกันทำงานไม่สมบูรณ์ เซลล์มะเร็งในร่างกายกระตุ้นให้เกิดการอักเสบและทำให้มีไข้
  3. ปวดกระดูกหรือข้อต่อ: เป็นอีกหนึ่งอาการที่พบบ่อย โดยเฉพาะในเด็ก ผู้ป่วยอาจรู้สึกปวดบริเวณกระดูกหรือข้อต่อ ซึ่งเกิดจากการสะสมของเซลล์มะเร็งในไขกระดูก ทำให้เกิดการกดทับและอักเสบในกระดูก
  4. มีรอยช้ำง่ายหรือเลือดออกง่าย: มะเร็งเม็ดเลือดขาวมีผลต่อการผลิตเกล็ดเลือด ทำให้การแข็งตัวของเลือดผิดปกติ ผู้ป่วยจึงมีรอยฟกช้ำตามร่างกายได้ง่าย หรืออาจมีเลือดออกที่เหงือก จมูก หรือบริเวณอื่น ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
  5. ติดเชื้อบ่อย: เพราะเม็ดเลือดขาวที่ผิดปกติไม่สามารถทำหน้าที่ป้องกันการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผู้ป่วยจะติดเชื้อบ่อยครั้งและรักษายากขึ้น เช่น การติดเชื้อทางเดินหายใจ หรือการติดเชื้อที่ผิวหนัง

อาการของโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กและผู้ใหญ่ต่างกันไหม?

แม้ว่าอาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กและผู้ใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน เช่น อาการอ่อนเพลีย มีไข้บ่อยครั้ง มีรอยฟกช้ำ และปวดกระดูก แต่จะมีความแตกต่างกันในบางประการ เช่น


การตอบสนองต่อการรักษา


  • เด็ก: โดยทั่วไปแล้ว เด็กที่เป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักตอบสนองต่อการรักษาได้ดี โดยมีโอกาสหายขาดจากโรคสูงกว่า เนื่องจากร่างกายของเด็กมีการฟื้นฟูเร็วกว่าและตอบสนองต่อเคมีบำบัดได้ดีกว่า
  • ผู้ใหญ่: ในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะผู้สูงอายุ ร่างกายอาจไม่สามารถทนต่อการรักษาได้ดีเท่าเด็ก อัตราการหายจึงต่ำกว่า และบางครั้งโรคอาจกลับมาเป็นซ้ำใหม่ได้

อาการในเด็ก


  • อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวในเด็กมักจะชัดเจนกว่า เช่น มีรอยช้ำ รอยจ้ำเลือดตามร่างกายบ่อยครั้งหรือมีเลือดออกง่าย นอกจากนี้เด็กอาจมีการติดเชื้อในทางเดินหายใจบ่อย ๆ และบางคนอาจสังเกตเห็นว่ามีต่อมน้ำเหลืองบวม หรือท้องบวมจากการที่ม้ามหรือตับโต
  • อาการอื่น ๆ ที่พบบ่อยในเด็กคือปวดกระดูกหรือข้อต่อ เด็กอาจบ่นว่าปวดขาซึ่งเกิดจากการสะสมของเซลล์มะเร็งในไขกระดูก และอาจมีอาการเบื่ออาหารและน้ำหนักลดโดยไม่มีสาเหตุที่ชัดเจน

อาการในผู้ใหญ่


  • ในผู้ใหญ่ อาการของมะเร็งเม็ดเลือดขาวมักจะมาอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นลูคีเมียชนิดเรื้อรัง ผู้ป่วยบางคนอาจไม่รู้สึกถึงอาการผิดปกติในช่วงแรก และผู้ป่วยมักจะทราบว่าป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวจากการตรวจเลือดทั่วไปโดยที่ยังไม่มีอาการที่ชัดเจนใด ๆ อาการอ่อนเพลียและเหนื่อยง่ายมักจะเริ่มปรากฏทีหลัง ดังนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่จึงคิดว่าอาการเหนื่อยง่าย หรืออ่อนเพลีย เป็นแค่อาการจากความเครียดหรือการเหนื่อยล้าจากการทำงาน หรือเป็นอาการเหนื่อยล้าจากกิจวัตรประจำวันปกติ
  • ส่วนไข้และการติดเชื้อก็มักจะเกิดขึ้นช้ากว่าในเด็ก ในผู้ใหญ่ยังอาจมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหัวใจและหลอดเลือด เช่น ความดันโลหิตต่ำหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายขาดเม็ดเลือดแดงและได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ

ความรุนแรงของอาการ


  • เด็ก: เด็กที่เป็นลูคีเมียแบบเฉียบพลันมักมีอาการแสดงอย่างรวดเร็ว และต้องการการรักษาเร่งด่วน
  • ผู้ใหญ่: ในขณะที่ผู้ใหญ่ที่เป็นลูคีเมียเรื้อรังอาจมีอาการแสดงช้าและเรื้อรัง บางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าจะตรวจพบจากการตรวจเลือด หรือตรวจสุขภาพประจำปี

ผลกระทบทางจิตใจและการปรับตัว


  • เด็ก: เด็กอาจยังไม่เข้าใจโรค รวมถึงการต้องปรับตัวจากการรักษาและผลข้างเคียง ทำให้การรักษาอาจจะง่ายขึ้น อย่างไรก็ตามการดูแลด้านจิตใจจากครอบครัวและทีมแพทย์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยเด็ก
  • ผู้ใหญ่: การได้ทราบว่าเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวอาจส่งผลกระทบทางจิตใจรุนแรงกว่าในเด็ก เพราะผู้ใหญ่มีความเข้าใจในความเสี่ยงและผลกระทบของโรคมากขึ้น ซึ่งทำให้มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับการทำงาน ครอบครัว และอนาคต

มะเร็งเม็ดเลือดขาวเกิดจากอะไร มีสาเหตุและปัจจัยเสี่ยงอะไรบ้าง?

แม้ว่าจะยังไม่สามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวได้ แต่มีหลายปัจจัยที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ ได้แก่


  • การสัมผัสรังสี: ผู้ที่เคยได้รับรังสีสูง ๆ เช่นจากการรักษามะเร็งด้วยรังสี หรือผู้ที่อยู่ใกล้โรงงานนิวเคลียร์ จะมีความเสี่ยงต่อโรคนี้เพิ่มขึ้น
  • สารเคมี: การสัมผัสกับสารเคมีบางชนิด เช่น เบนซีน (Benzene) ซึ่งพบในน้ำมันและสารเคมีในโรงงานอุตสาหกรรม อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • ประวัติครอบครัว: ผู้ที่มีสมาชิกในครอบครัวเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวจะมีความเสี่ยงสูงขึ้น
  • พันธุกรรม: กลุ่มคนที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น กลุ่มคนที่มีภาวะดาวน์ซินโดรม (Down Syndrome) หรือโรคพันธุกรรมอื่น ๆ มีความเสี่ยงต่อมะเร็งเม็ดเลือดขาวมากขึ้น

การวินิจฉัยมะเร็งเม็ดเลือดขาว

การวินิจฉัยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวทำได้หลายวิธี ซึ่งมักเริ่มจากการตรวจร่างกายเบื้องต้นและการตรวจเลือดเพิ่มเติม


  • การตรวจเลือด (Complete Blood Count – CBC): เป็นการตรวจวัดปริมาณของเซลล์เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด ซึ่งหากพบความผิดปกติก็อาจเป็นสัญญาณของมะเร็งเม็ดเลือดขาว
  • การเจาะไขกระดูก: แพทย์จะใช้เข็มเล็ก ๆ เจาะเข้าที่กระดูกเชิงกรานเพื่อนำตัวอย่างไขกระดูกไปตรวจหาเซลล์มะเร็ง ซึ่งเป็นวิธีที่ใช้ยืนยันการวินิจฉัย
  • การตรวจพันธุกรรม: ในบางกรณี แพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจพันธุกรรมเพื่อดูความผิดปกติในโครโมโซมที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเม็ดเลือดขาว

ใครบ้างที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว?

มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมีย อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่บางกลุ่มมีความเสี่ยงมากกว่าคนทั่วไป เช่น


  1. เด็ก: เด็กมีความเสี่ยงสูงต่อการเกิด ลูคีเมียเฉียบพลันแบบลิมโฟบลาสติก (ALL) โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ปัจจัยที่อาจเกี่ยวข้อง ได้แก่ การสัมผัสกับสารเคมีในระหว่างตั้งครรภ์หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิด
  2. ผู้สูงอายุ: ผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมักพบว่ามีอัตราการเกิดลูคีเมียชนิดเรื้อรัง (CLL) และลูคีเมียเฉียบพลัน (AML) สูงขึ้น เนื่องจากการระบบภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรงเหมือนวัยหนุ่มสาว และการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรมที่สะสมตามอายุ
  3. เพศชาย: ผู้ชายมีแนวโน้มที่จะเป็นลูคีเมียมากกว่าผู้หญิง โดยเฉพาะ CML และ AML สาเหตุอาจมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม หรือฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของเซลล์เม็ดเลือดขาว
  4. ผู้มีประวัติครอบครัว: หากมีสมาชิกในครอบครัวเคยป่วยเป็นลูคีเมีย เช่น พ่อแม่หรือพี่น้องป่วยเป็นลูคีเมียจะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากขึ้น เนื่องจากมีปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมที่คล้ายกัน
  5. ผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม: ผู้ที่มีความผิดปกติทางพันธุกรรม เช่น ดาวน์ซินโดรม ภาวะ Turner Syndrome หรือ Klinefelter Syndrome มีความเสี่ยงสูงในการเกิดลูคีเมีย เนื่องจากความผิดปกติในโครโมโซมอาจทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวมีการเจริญเติบโตผิดปกติ
  6. ผู้ที่สัมผัสสารเคมีอันตราย: การสัมผัสสารเคมี เช่น เบนซีน ซึ่งใช้ในอุตสาหกรรมการผลิตพลาสติกและน้ำมัน จะทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวเกิดความเสียหาย นอกจากนี้สารเคมีในยาเคมีบำบัดก็อาจเป็นปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน
  7. ผู้ที่เคยได้รับรังสี: ผู้ที่เคยได้รับการรักษาโรคมะเร็งอื่น ๆ ด้วยรังสีบำบัดในปริมาณสูงจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดลูคีเมียตามมาได้
  8. ผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง: เช่น ผู้ป่วยที่ติดเชื้อ HIV หรือผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกันเพื่อรักษาโรคแพ้ภูมิตนเองมีโอกาสสูงในการเกิดลูคีเมีย เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันไม่สามารถควบคุมการเจริญเติบโตของเซลล์ที่ผิดปกติได้
  9. ผู้ที่สูบบุหรี่: การสูบบุหรี่ไม่เพียงแต่เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งปอด แต่ยังเพิ่มความเสี่ยงต่อ AML ด้วย สารพิษจากบุหรี่สามารถทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเซลล์เม็ดเลือดและกระตุ้นให้เกิดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งตามมา

มะเร็งเม็ดเลือดขาวรักษาหายไหม?

การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวทำได้หลายวิธี ตั้งแต่ เคมีบำบัด การปลูกถ่ายไขกระดูก การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ การรักษาด้วยยาพุ่งเป้า การฉายรังสี และการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด อย่างไรก็การรักษามะเร็งเม็ดเลือดขาวมีความซับซ้อนและผลลัพธ์ของการรักษาจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อโอกาสในการหายขาดมีดังนี้


  1. ประเภทของลูคีเมีย: ชนิดของมะเร็งเม็ดเลือดขาวเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดโอกาสหายขาด ลูคีเมียบางชนิด เช่น ลูคีเมียเฉียบพลันแบบลิมโฟบลาสต์ (ALL) ในเด็กมีโอกาสหายขาดสูงกว่าลูคีเมียชนิดอื่น ในขณะที่ลูคีเมียเรื้อรังมักไม่สามารถรักษาหายขาดได้ แต่สามารถควบคุมได้ในระยะยาว
  2. ระยะของโรคเมื่อได้รับการวินิจฉัย: ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยและรักษาในระยะแรกของโรคมีโอกาสหายขาดสูงกว่า หากโรคมีการลุกลามมากหรืออยู่ในระยะท้าย ๆ การรักษาอาจทำได้ยากขึ้น
  3. อายุของผู้ป่วย: ผู้ป่วยที่อายุน้อย โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่น มีโอกาสตอบสนองต่อการรักษาได้ดีและฟื้นตัวเร็วกว่า ในขณะที่ผู้สูงอายุอาจมีอัตราการหายขาดต่ำกว่าเนื่องจากปัจจัยด้านสุขภาพ
  4. สุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย: ผู้ป่วยที่มีสุขภาพแข็งแรงและไม่มีโรคประจำตัวจะสามารถทนต่อการรักษาได้มากกว่า เช่น การใช้เคมีบำบัดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูก แต่ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ อาจมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงจากการรักษาซึ่งทำให้โอกาสหายขาดลดลง
  5. การตอบสนองต่อการรักษา: ผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อการรักษาในระยะแรกดี เช่น การใช้เคมีบำบัดหรือยารักษาแบบมุ่งเป้ามีโอกาสที่จะหายขาดมากกว่า การได้รับการวินิจฉัยและการรักษาที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพจากแพทย์ที่มีความชำนาญตั้งแต่ระยะแรก ๆ มักช่วยให้ควบคุมโรคได้ดีและลดความเสี่ยงของการกลับมาเป็นซ้ำได้
  6. การกลับมาเป็นซ้ำ: หากเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาวซ้ำอีก จะทำให้โอกาสในการรักษาหายขาดจะลดลง และการรักษาอาจต้องเข้มข้นและซับซ้อนมากขึ้น เช่น การปลูกถ่ายไขกระดูก การกลับมาเป็นซ้ำมักเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีแรกหลังจากการรักษา

สรุป

มะเร็งเม็ดเลือดขาวหรือลูคีเมียเป็นโรคที่สามารถเกิดขึ้นได้ในคนทุกช่วงอายุ อาการเริ่มต้นมักจะไม่ชัดเจนและคล้ายกับอาการของโรคอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย มีไข้ หรือเกิดรอยช้ำง่าย ทำให้หลายคนไม่ทันสังเกต แต่การรู้จักอาการเบื้องต้นและสังเกตความผิดปกติของร่างกายเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะหากตรวจพบโรคมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรกจะทำให้โอกาสในการรักษาหายมีเพิ่มขึ้น


การตรวจสุขภาพเป็นประจำ ไม่ชะล่าใจ และรีบไปพบแพทย์เมื่อรู้สึกว่ามีอาการผิดปกติจะช่วยให้เราสามารถป้องกันโรคมะเร็งและดูแลสุขภาพได้อย่างทันท่วงที

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital