บทความสุขภาพ

Knowledge

การตรวจสมรรถภาพปอดหรือการเป่าปอดบอกอะไรเราบ้าง? ใครบ้างที่ควรตรวจ?

พญ. มัณฑนา สันดุษฎี

ปัจจุบันปัญหามลภาวะต่าง ๆ มีมากและรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีและแต่ละปีก็มีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ แล้วยังมีมลภาวะทางถนนที่ทำอันตรายต่อปอด และสำหรับผู้ที่ต้องทำงานในที่ที่มีฝุ่นเยอะ เช่น ในเหมืองหิน โรงไม้ โรงโม่ปูน ยิ่งทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคปอดมากขึ้น นอกจากนี้ผู้ที่สูบบุรี่ก็เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโรคปอดได้เช่นก้น


ปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญที่ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซ นำออกซิเจนเข้าสู่ร่างกาย ปอดเป็นอวัยวะที่มีการทำงานสำรองสูงทำให้หากมีความผิดปกติเพียงเล็กน้อย จะไม่มีอาการผิดปกติแสดงให้เห็น อาการผิดปกติมักจะเกิดในระยะที่โรครุนแรงแล้ว


การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ไม่ต้องมีการเจาะเลือด หรือต้องแทงเข็มหรือใส่อุปกรณ์ใด ๆ เข้าไปในตัวผู้ป่วย ทำให้การตรวจนี้เป็นการตรวจที่ปลอดภัย มีภาวะแทรกซ้อนไม่มาก และให้ผลการตรวจที่ค่อนข้างแม่นยำ


การตรวจสมรรถภาพปอดคืออะไร?


การตรวจสมรรถภาพปอด (pulmonary function test; PFT หรือ lung function test) เป็นการตรวจสมรรถภาพการทำงานของปอด หรือบางคนเรียกว่า การเป่าปอด เป็นการตรวจที่บอกได้ถึงการทำงานโดยรวมของปอดและหลอดลม ปริมาตรปอด ความจุปอด อัตราการไหลของอากาศ เพื่อนำค่าที่ได้มาช่วยวินิจฉัย ประเมินความรุนแรง ของผู้ที่สงสัยว่ามีอาการของโรคปอดและหลอดลม เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง รวมทั้งใช้ติดตามผลการรักษาในผู้ป่วยโรคปอด


ตรวจสมรรถภาพปอดเพื่ออะไร? บอกอะไรได้บ้าง?


การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่สำคัญและมีประโยชน์มากในการบอกถึงสมรรถภาพการทำงานของปอดและหลอดลม ผลการตรวจทำให้ทราบถึงปริมาตรปอด ความจุปอด อัตราการไหลของอากาศ การอุดกั้นหลอดลม เป็นต้น


สามารถใช้ได้ทั้งในแง่การคัดกรอง และการวินิจฉัย เพราะจะบอกได้ถึงสมรรถภาพปอดว่าปกติหรือไม่ หรือมีความเสื่อมของการทำงานของปอดหรือไม่ เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีความสามารถสำรอง (functional reserve) สูง ทำให้ในระยะแรกของโรคที่ปอดยังมีความผิดปกติไม่มากจะไม่แสดงอาการผิดปกติใด ๆ กว่าจะมีอาการเหนื่อย ความผิดปกติก็เกิดขึ้นมากแล้ว ซึ่งการตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่สามารถพบความผิดปกติของปอดได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ ของโรคบางชนิด เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง


นอกจากจะบอกถึงสมรรถภาพของปอดแล้ว การตรวจสมรรถภาพปอดยังมีความสำคัญ โดยเฉพาะในการวินิจฉัยโรคของระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคหอบหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคปอดจากการประกอบอาชีพต่าง ๆ และยังสามารถใช้ในการประเมินความรุนแรงของโรค การติดตามการรักษาและยังสามารถใช้ประเมินความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดในผู่ป่วยที่ต้องดมยาสลบได้อีกด้วย


ใครบ้างควรตรวจสมรรถภาพปอด?


  • ผู้ที่สงสัยว่ามีอาการจากความผิดปกติของระบบทางเดินหายใจ เช่น อาการเหนื่อย ไอเรื้อรัง หายใจแล้วมีเสียงวี้ดบางเวลา หายใจลำบาก
  • ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือผู้ได้รับควันบุหรี่มือสองจากคนที่ใกล้ชิดกัน
  • ผู้ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีมลภาวะสูง เช่น ใกล้ถนนที่มีมลพิษจากควันรถยนต์ หรือใกล้โรงงานที่ปล่อยมลพิษ
  • ผู้ที่อาศัยในบริเวณที่มีฝุ่น PM 2.5 สูง
  • ผู้ที่ทำงานในที่ที่มีมลภาวะสูง เช่น ในโรงงานที่มีฝุ่น โรงเลื่อย โรงไม้ เหมืองแร่ โรงโม่หิน หรือโรงงานที่มีไอสารเคมี
  • ผู้ที่มีอาการไอเรื้อรังมากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป แล้ว Chest X-Ray ปกติ
  • ผู้ที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด ถุงลมโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง
  • ผู้ที่ยังไม่มีอาการผิดปกติที่ต้องการตรวจคัดกรอง
  • ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการทดสอบสมรรถภาพปอด

ตรวจสมรรถภาพปอด ตรวจอย่างไร?


การตรวจสมรรถภาพปอดโดยทั่วไปจะใช้วิธีการที่เรียกว่า สไปโรเมตรีย์ (spirometry) เป็นการตรวจที่ทำได้ง่าย ใช้เครื่องมือไม่ซับซ้อน และให้ข้อมูลที่น่าเชื่อถือ


การตรวจจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เฉพาะ และอาศัยความร่วมมือจากผู้ป่วย เพราะขณะตรวจจะต้องใช้การหายใจทางปาก ซึ่งจะแตกต่างกับการหายใจตามปกติของเรา และเจ้าหน้าที่ที่ทำการตรวจต้องมีประสบการณ์และความชำนาญในการตรวจ เพราะต้องสามารถให้คำแนะนำและการจัดท่าทางของผู้ป่วยได้ โดยขั้นตอนการตรวจคร่าว ๆ เป็นดังนี้


  • ผู้ป่วยจะต้องนั่งตัวตรงขณะทำการทดสอบ
  • ผู้ป่วยจะต้องใช้มือประคองเครื่องสไปโรมิเตอร์ (spirometer) ที่ใช้ในการตรวจ
  • ผู้ป่วยจะต้องอมปลายกรวยกระดาษโดยเม้มริมฝีปากให้สนิท เพื่อไม่ให้ลมรั่วออกทางปาก
  • หนีบจมูกด้วยอุปกรณ์ที่จัดไว้เพื่อไม่ให้ลมรั่วออกทางจมูก
  • หายใจตามคำแนะนำของเจ้าหน้าที่ ซึ่งจะแนะนำให้หายใจเข้าหรือออก เร็ว ๆ แรง ๆ เพื่อบันทึกค่าวัดต่าง ๆ
  • เมื่อเจ้าหน้าที่ให้สัญญาณหยุดการทดสอบ ผู้ป่วยสามารถเอาที่หนีบจมูกออก และนำท่อที่ทดสอบออกจากปากได้
  • เจ้าหน้าที่อาจจะให้ผู้ป่วยนั่งพัก เพื่อให้หายเหนื่อยก่อนเสร็จการทดสอบ

ใช้เวลาในการตรวจสมรรถภาพปอดนานไหม?


โดยทั่วไปใช้เวลาตรวจประมาณ 15-30 นาที แต่ในกรณีที่ต้องมีการทดสอบซ้ำเพื่อให้ได้ค่าที่แม่นยำขึ้นอาจใช้เวลานานกว่า 30 นาที ทั้งนี้แพทย์และเจ้าหน้าที่จะประเมินการทดสอบเป็นราย ๆ ไป เพื่อให้ได้ผลการตรวจที่ถูกต้องและแม่นยำที่สุด


การเตรียมตัวก่อนตรวจสมรรถภาพปอด


  • สวมเสื้อผ้าที่สวมใส่สบาย ไม่อึดอัด หลีกเลี่ยงเสื้อผ้าที่รัดช่วงอก คอ และท้อง เพื่อความสะดวกในการตรวจ
  • งดออกกำลังกายก่อนตรวจอย่างน้อย 30 นาที
  • งดรับประทานอาหารมื้อใหญ่ก่อนตรวจประมาณ 2-3 ชั่วโมง โดยไม่ต้องงดน้ำ-อาหารก่อนตรวจ
  • งดดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อนตรวจ 4-6 ชั่วโมง
  • งดสูบบุหรี่ก่อนตรวจอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
  • ผู้ป่วยที่ใช้ยาพ่น ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะยาพ่นขยายหลอดลมอาจมีผลต่อการตรวจ

ค่าปอดปกติ มีค่าเท่าไหร่?


การตรวจสมรรถภาพปอดด้วยวิธี spirometry มีค่าที่ได้หลายค่า ตัวอย่างค่าที่วัดได้ ได้แก่



**ค่าคาดหมาย (predicted value) คือค่าปกติตามอายุ เพศ ส่วนสูง และเชื้อชาติ


ความผิดปกติของปอดมีกี่แบบ?


ความผิดปกติที่มักจะตรวจพบ แบ่งเป็น 3 แบบ ได้แก่


  1. กลุ่มที่มีการอุดกั้นทางเดินหายใจ (obstructive airways disease) โดยจะพบว่าค่า FEV1/ FVC จะต่ำกว่า 70% แต่จะมีค่า FVC ปกติ พบในโรค หอบหืด และถุงลมโป่งพอง
  2. กลุ่มที่มีการจำกัดการขยายตัวของปอด (restrictive lung disease) ทำให้ความจุของปอดลดลง โดยจะพบว่าค่า FVC จะต่ำกว่า 80% แต่ค่า FEV1/FVC จะอยู่ในเกณฑ์ปกติ พบในโรคที่มีความผิดปกติของเนื้อปอด กล้ามเนื้อหายใจ หรือกระดูกที่ทำให้การหายใจผิดปกติไป
  3. กลุ่มที่พบความผิดปกติทั้ง 2 อย่างร่วมกัน (combined obstructive – restrictive lung disease) คือกลุ่มที่มีค่า FVC และ FEV1/FVC ผิดปกติ

ทั้งนี้ต้องได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์เฉพาะทางที่มีความเชี่ยวชาญ เพื่อผลการตรวจที่ถูกต้องและแม่นยำ


การตรวจสมรรถภาพปอดปลอดภัยหรือไม่?


การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ค่อนข้างปลอดภัย แต่อย่างไรก็ตามอาจมีภาวะแทรกซ้อนจากการตรวจได้ เช่น


  • มีอาการปวดศีรษะ อาจมีอาการเวียนศีรษะ มึนงง
  • เป็นลม วูบ หน้ามืด
  • มีอาการไอ
  • เจ็บหน้าอก
  • มีทางเดินหายใจตีบแคบในรายที่เป็นหอบหืด หรือปอดอุดกั้นที่อาการยังไม่คงที่
  • อาการอื่น ๆ

ขณะตรวจหรือหลังตรวจมีอาการผิดปกติ ควรแจ้งเจ้าหน้าที่หรือแพทย์ทันที


ผู้ป่วยแบบไหนที่ไม่ควรทำการตรวจสมรรถภาพปอด?


ผู้ป่วยที่ไม่ควรตรวจสมรรถภาพปอด ได้แก่ผู้ป่วยที่มีภาวะดังนี้


  • มีอาการต่าง ๆ ที่มีผลต่อการตรวจ เช่น อาเจียน คลื่นไส้ หรือมีอาการบ้านหมุน
  • ไอเป็นเลือด
  • มีภาวะลมรั่วในช่องเยื่อหุ้มปอดที่ยังไม่ได้รักษา
  • เพิ่งได้รับการผ่าตัดช่องอกหรือช่องท้อง
  • เพิ่งได้รับการผ่าตัดตา
  • มีโรคหลอดเลือดแดงในช่องท้อง ช่องอก หรือสมองโป่งพอง
  • มีการทำงานของระบบหัวใจและหลอดเลือดไม่คงที่ เช่น มีความดันสูงหรือความดันต่ำที่ควบคุมไม่ได้ มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือมีภาวะลิ่มเลือดอุดกั้นหลอดเลือดแดงใหญ่ของปอด
  • มีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น วัณโรคปอดระยะติดต่อ หรือกำลังติดเชื้อโควิด-19

อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือมีภาวะการเจ็บป่วยต่าง ๆ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสมและความปลอดภัยก่อนเข้ารับการตรวจ


สรุป


การตรวจสมรรถภาพปอดเป็นการตรวจที่ไม่ซับซ้อน และผลการตรวจค่อนข้างแม่นยำ และมีความปลอดภัยสูง โดยผู้ที่มีอาการที่สงสัยว่าเป็นอาการจากโรคทางระบบทางเดินหายใจ หรือผู้ที่ต้องทำงานในที่ที่มีมลภาวะ ฝุ่น พื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง ผู้ที่สูบบุหรี่ หรือรับควันบุหรี่มือ 2 จากผู้ใกล้ชิด ควรเข้ารับการตรวจสมรรถภาพปอด


เนื่องจากปอดเป็นอวัยวะที่มีการทำงานสำรองสูง ดังนั้นผู้ป่วยมักจะแสดงอาการเมื่อปอดทำงานผิดปกติมากแล้ว ทำให้การตรวจพบโรคจะพบในระยะที่รุนแรง การตรวจสมรรถภาพปอดจะทำให้เราทราบความผิดปกติของปอดได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ และสามารถรักษาหรือป้องกันอาการรุนแรงได้


การรักษาสุขภาพปอดเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคทางระบบทางเดินหายใจได้ ซึ่งสามารถทำได้โดย รักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เลิกบุหรี่ หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีค่าฝุ่น PM 2.5 สูง หรือพื้นที่ที่มีมลภาวะหรือมลพิษ และหากจำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อสุขภาพปอด ควรใช้อุปกรณ์ป้องกันที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมลพิษเหล่านี้เข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ เพื่อสุขภาพปอดที่แข็งแรง


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)




เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. มัณฑนา สันดุษฎี

พญ. มัณฑนา สันดุษฎี

ศูนย์โรคปอดและระบบทางเดินหายใจ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital