จากข้อมูลระบาดวิทยาของมะเร็งเต้านม พบอุบัติการณ์มากอันดับแรกในหญิงไทยและหญิงทั่วโลก และสามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย แต่ถึงจะฟังดูน่ากลัวแค่ไหนก็ตาม ในทางการแพทย์ก็ได้ยืนยันแล้วว่า การตรวจพบมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะแรก ๆ จะช่วยเพิ่มโอกาสในการรักษาให้ประสบผลสำเร็จได้
ดังนั้น การศึกษาทำความรู้จักมะเร็งเต้านมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ช่วยให้เรารู้เท่าทัน ตัดสินใจเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที
มะเร็งเต้านม คืออะไร
มะเร็งเต้านม คือ มะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ในเต้านม โดยเฉพาะเซลล์ท่อน้ำนม โดยเซลล์จะเริ่มแบ่งตัวผิดปกติแล้วลุกลามไปยังเนื้อเยื่อข้างเคียง จากนั้นหากปล่อยไว้ อาจแพร่กระจายไปยังเซลล์อื่น ๆ ในร่างกายได้ ผ่านทางเดินน้ำเหลือง
ที่มา : สมาคมโรคเต้านมแห่งประเทศไทย
มะเร็งเต้านมเกิดจากอะไร
มะเร็งเต้านม เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ท่อน้ำนม ซึ่งพบได้มากที่สุด ประมาณ 80% ส่วนมะเร็งที่เกิดจากความผิดปกติของเซลล์ต่อมน้ำนม จะพบได้น้อยกว่า โดยพบประมาณ 10%
นอกจากนี้ มะเร็งชนิดนี้อาจเกิดขึ้นจากการแพร่กระจายของมะเร็งมาจากอวัยวะส่วนอื่น ๆ ได้ด้วยเช่นกัน
12 ปัจจัยที่สัมพันธ์กับโอกาสในการเกิดมะเร็งเต้านม
ในปัจจุบัน ยังคงมีการถกเถียงเพื่อหาข้อสรุปเรื่องปัจจัยเสี่ยงที่เป็นสาเหตุการเกิดโรคมะเร็งเต้านม อย่างไรก็ตาม พบว่ามีหลายปัจจัยที่ยืนยันแล้วว่ามีความสัมพันธ์กับโอกาสเกิดมะเร็งเต้านม ทั้งในแง่บวกและในแง่ลบ ได้แก่
- เพศ: เพศหญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าผู้ชายถึง 100 เท่า
- เชื้อชาติ: ผู้หญิงในชาติตะวันตก จะมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้หญิงเอเชีย
- การมีบุตร และการให้นมบุตร: การศึกษาพบว่า ผู้หญิงที่มีการคลอดบุตร เลี้ยงบุตรด้วยนมของตัวเอง จะช่วยป้องกันโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมได้ ในขณะเดียวกัน กลุ่มที่ไม่มีบุตร เป็นหมัน กินยาคุมกำเนิด หรือไม่ได้เลี้ยงบุตรด้วยน้ำนมตัวเองนั้น จะมีความโอกาสเสี่ยงมากยิ่งขึ้น
- ฮอร์โมนเพศ: ประจำเดือนมาตั้งแต่ตอนอายุน้อย ๆ หรือวัยหมดประจำเดือนมาถึงช้า ทำให้ร่างกายผู้หญิงมีโอกาสสัมผัสกับฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนนานขึ้น จึงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น
- อายุ: เมื่อมีอายุมากขึ้น โอกาสเกิดความผิดปกติของยีนในเซลล์ก็จะเพิ่มขึ้น อาจส่งผลต่อการเกิดมะเร็งได้
จากการศึกษาพบว่า ผู้หญิงอายุน้อยกว่า 45 ปี มีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมประมาณ 1 ใน 8
ในขณะที่ผู้หญิงอายุ 55 ปีขึ้นไป มีโอกาสพบมะเร็งเต้านมประมาณ 2 ใน 3 - ความอ้วน: โรคอ้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านมมากขึ้น
- หน้าอกแน่น (Dense Breasts): การมีหน้าอกแน่น หมายถึงการมีเนื้อเยื่อและต่อมน้ำนมมากกว่าคนอื่น ๆ จึงมีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่า นอกจากนี้ โครงสร้างเนื้อเยื่อที่หนาแน่น ก็ทำให้แพทย์มองเห็นมะเร็งด้วยแมมโมแกรมได้ยากขึ้นด้วย
* การพิสูจน์ว่าหน้าอกแน่น ไม่ได้เกิดจากการทดลองสัมผัสเต้านมดูว่ากระชับไหม คนที่มีหน้าอกกระชับ ไม่ได้แปลว่าจะมีหน้าอกแน่นเสมอไป ต้องเป็นการวินิจฉัยโดยแพทย์ผ่านการทำแมมโมแกรมดูโครงสร้างเนื้อเยื่อเท่านั้น - มีประวัติของโรคและการรักษาเกี่ยวกับเต้านม: หากเคยมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับเต้านม หรือเคยได้รับการฉายรังสีในบริเวณดังกล่าว จะเพิ่มความเสี่ยงของมะเร็งได้
- พันธุกรรม: มีประวัติโรคมะเร็งเต้านมทางครอบครัว โดยเฉพาะหากญาติที่เป็นมะเร็งชนิดนี้เป็นญาติสายตรง จะยิ่งเสี่ยงมากขึ้น เช่น แม่ น้องสาว หรือพี่สาว
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์: ผู้หญิงกลุ่มที่ดื่มแอลกฮอล์เป็นประจำ จะมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งเต้านมสูงกว่าผู้หญิงที่ไม่ดื่ม
- เป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่งแล้ว: หากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมข้างหนึ่ง จะมีความเสี่ยงถึง 3 – 4 เท่า ที่จะเกิดมะเร็งขึ้นที่เต้านมอีกข้างหนึ่ง
- ควันบุหรี่: การสูบบุหรี่ หรือได้รับควันบุหรี่ (ควันบุหรี่มือสอง) มีส่วนเชื่อมโยงกับความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งเต้านม
ผู้ที่อยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคเป็นประจำ
สัญญาณเตือนมะเร็งเต้านม อาการเป็นอย่างไร
สัญญาณเตือนที่บ่งบอกว่าเราอาจเป็นมะเร็งเต้านม สามารถสังเกตได้ด้วยตนเอง ได้แก่
- คลำพบก้อนที่เต้านม หรือบริเวณรักแร้ หากเป็นระยะเริ่มแรกของมะเร็ง จับแล้วมักไม่รู้สึกเจ็บ จึงไม่ควรชะล่าใจ อย่าคิดเองว่าไม่รู้สึกเจ็บ แปลว่าไม่ใช่มะเร็ง
- เกิดความเปลี่ยนแปลงที่ผิดปกติต่าง ๆ ขึ้นที่เต้านมเพียงข้างเดียว
- เต้านมโตขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเริ่มจากเป็นข้างใดข้างหนึ่ง
- รูปร่างของเต้านมเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิม โดยที่ไม่เคยผ่าตัดมาก่อน
- มีการเปลี่ยนแปลงของผิวเต้านม เช่น ผิวหนังแข็งหรือหนาขึ้น มีก้อนเนื้อที่นูนขึ้นหรือขรุขระ มีสีผิวเปลี่ยนแปลงไป เกิดแผลเรื้อรัง (หรือแผลที่รักษาไม่หาย) หรือเป็นรอยรูขุมขนชัดขึ้นเหมือนเปลือกผิวส้ม
- มีอาการเจ็บปวดเต้านมข้างหนึ่ง อาจเป็นเล็กน้อยหรือเป็นมากก็ได้
- มีอาการบวมแดงตรงเต้านม อาจมีอาการปวดหรือมีแผลในบริเวณที่บวมแดงร่วมด้วย
- มีรอยบุ๋มหรือย่นบริเวณเต้านม
- มีอาการเน่าของหัวนม หรือส่วนอื่น ๆ บริเวณเต้านม
- หัวนมบุ๋มเข้าไปในเต้านม หรือไม่สม่ำเสมอ โดยไม่ได้เป็นมาตั้งแต่กำเนิด หรือไม่ได้เกิดจากการผ่าตัด
- มีเลือดและ/หรือของเหลว เช่น น้ำเหลืองใส ๆ ที่ผิดปกติไหลออกจากหัวนม หรือผู้หญิงที่ยังไม่มีเกณฑ์ให้นมบุตร แต่มีน้ำนมไหลออกมาผิดปกติ ก็ถือว่าเป็นอาการสัญญาณเตือนด้วยเช่นกัน
- มีแผลที่บริเวณหัวนม มีลักษณะเป็นแผลสีแดง และมักจะรักษาไม่หาย
@praram9hospital สาวๆ คนไหนยังตรวจเต้าตัวเองไม่เป็น ลองทำตามเล้ย! #มะเร็งเต้านม #เคล็ดลับสุขภาพดี #โรงพยาบาลพระรามเก้า #Praram9Hospital ♬ When I Ride - Ashley Mehta
หากมีอาการดังกล่าว ให้มาพบแพทย์เพื่อทำการตรวจโดยละเอียดอีกที แต่อย่าตื่นตระหนก เนื่องจากอาการบางอาการ ยังไม่ใช่ตัวชี้วัดว่าเราเป็นมะเร็งเต้านมแน่ ๆ แต่เป็นอาการที่พบได้บ่อยและมักสัมพันธ์กับมะเร็ง
มะเร็งเต้านม มีกี่ระยะ อะไรบ้าง
แรกเริ่มนั้น มะเร็งเต้านม แบ่งเป็น 4 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ถึงระยะที่ 4 ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากมักพบโรคในช่วงอายุ 50-60 ปี โดยแตกต่างกันตามเชื้อชาติ สำหรับข้อมูลในประเทศไทยพบมากในช่วงอายุ 45-50 ปี โดยร้อยละ 80 เป็นมะเร็งในระยะแรก (ระยะที่ 1-3) ร้อยละ 10 เป็นมะเร็งในระยะกระจาย (ระยะที่ 4) แต่การตรวจคัดกรองที่มากขึ้นในปัจจุบัน ทำให้พบมะเร็งเต้านมระยะแรกมากขึ้นในประเทศไทย
ในยุคนี้ผู้หญิงมีการตรวจเช็คมะเร็งเต้านมบ่อยขึ้นและตรวจเป็นประจำ จึงเพิ่มระยะที่ 0 เข้าไปด้วย รวมทั้งสิ้นคือ 5 ระยะ
- ระยะที่ 0 : เซลล์มะเร็งเพิ่งก่อตัว ยังอยู่ภายในเนื้อเยื่อ ณ จุดที่ก่อตัว และยังไม่แบ่งตัวลุกลามสู่ภายนอกพื้นที่
- ระยะที่ 1 : มะเร็งเริ่มลุกลามออกมานอกเนื้อเยื่อตรงจุดที่ก่อตัว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ มีขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร
- ระยะที่ 2 : ก้อนมะเร็งจะมีขนาดระหว่าง 2 – 5 เซนติเมตร (ไม่เกิน 5 เซนติเมตร) โดยจะยังไม่กระจายสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้
แต่ถ้ามะเร็งมีขนาดเล็กกว่า 2 เซนติเมตร อาจสามารถแพร่กระจายไปสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ได้ - ระยะที่ 3 : ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตรขึ้นไป แล้วอาจเริ่มแพร่กระจายเข้าสู่ต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้จนทั่ว
- ระยะที่ 4 : เป็นระยะที่มะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ เช่น ปอด กระดูก ตับ สมอง เป็นต้น
ในระยะแรก ๆ เซลล์มะเร็งพึ่งจะก่อตัวขึ้น ยังไม่ทันลุกลามออกไปจากจุดที่ก่อตัว จึงยังสามารถรักษาได้ง่าย และโอกาสหายขาดสูงมาก
แนวทางป้องกัน มะเร็งเต้านม
มะเร็งเต้านมในระยะแรกเริ่มไม่มีอาการ การตรวจร่างกายอาจยังตรวจไม่พบ เนื่องจากรอยโรคเล็กมากจึงเปรียบเสมือน “มฤตยูเงียบ” การตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่อง ด้วยการคลำเต้านมอย่างถูกวิธี ไปจนถึงการเข้ารับการตรวจด้วยเครื่องดิจิตอลแมมโมแกรม (Mammogram) และอัลตราซาวด์ (Ultrasound) จึงมีความสำคัญ
แพทย์มีแนวทางวินิจฉัยมะเร็งเต้านมอย่างไร
หากเราคลำพบก้อนผิดปกติบริเวณเต้านมแล้วมาพบแพทย์ แพทย์จะสอบถามประวัติ ตรวจร่างกาย ตรวจเต้านม คลำต่อมนํ้าเหลืองที่รักแร้และที่คอ และส่งตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์เพิ่มเติม ในกรณีที่มีความผิดปกติแพทย์จะทำการตรวจชิ้นเนื้อโดยการเจาะตรวจชิ้นเนื้อด้วยเข็ม (Needle biopsy) โดยไม่จำเป็นต้องทำการผ่าตัด สามารถทำได้ง่าย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล เจ็บตัวน้อย และได้ผลการวินิจฉัยที่ตรงจุด
การเจาะชิ้นเนื้อที่เต้านมเป็นเทคนิคการตรวจทางพยาธิวิทยาก่อนการผ่าตัด เนื่องจากทำได้ง่าย ไม่ต้องนอนโรงพยาบาล แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย ได้ผลการวินิจฉัยที่แม่นยำ ในกรณีที่ก้อนขนาดเล็กหรือคลำได้ไม่ชัด สามารถใช้เครื่องมือทางรังสีวิทยา เช่น อัลตราซาวด์ ช่วยชี้ตำแหน่งรอยโรค เพื่อช่วยเพิ่มความแม่นยำในการเจาะชิ้นเนื้อ
แนวทางการรักษามะเร็งเต้านม
หากมะเร็งอยู่ในระยะแพร่กระจายแล้ว การรักษามักจะเน้นไปที่เคมีบำบัด หรือยาต้านฮอร์โมน ซึ่งเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการรักษาที่ครอบคลุมรอยโรคทั้งร่างกาย (systemic treatment) แต่ถ้าเป็นมะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะแรก ๆ ก็สามารถรักษาได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีช่วยให้ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกหมดทุกราย
การผ่าตัดสงวนเต้า และการสร้างเสริมเต้านม
หากมีการตรวจพบในระยะแรก สามารถเก็บเต้านมไว้ได้ ไม่จำเป็นต้องตัดเต้านมออกหมดทุกราย โดยใช้วิธีทางศัลยกรรมตกแต่งเข้ามาช่วยในการตัดเอาก้อนเนื้อร้ายออก โดยออกแบบบาดแผล และกะเกณฑ์ปริมาณเนื้อเยื่อเต้านมบริเวณที่จะผ่าตัดออก เพื่อป้องกันไม่ให้เต้านมเกิดการเสียรูปทรง หรือบิดเบี้ยวหลังผ่าตัด
แต่ในบางรายที่จำเป็นต้องผ่าตัดเต้านมออกหมดก็สามารถทำการผ่าตัดสร้างเสริมเต้านมได้ทันที ด้วยการใช้เต้านมเทียมหรือการใช้เนื้อเยื่อของผู้ป่วยเอง เนื้อเยื่อที่นิยมใช้ ได้แก่ กล้ามเนื้อและชั้นไขมันบริเวณหน้าท้อง กล้ามเนื้อและไขมันบริเวณหลัง ซึ่งการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหลังทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าการใช้กล้ามเนื้อบริเวณหน้าท้อง เป็นวิธีการที่ปลอดภัย มีผลแทรกซ้อนน้อย
โดยการรักษานี้ช่วยให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากเต้านมที่สร้างขึ้นใหม่เหมือนเต้านมจริงทั้งด้านรูปร่างและลักษณะเนื้อเต้านมจากการสัมผัส สร้างความรู้สึกว่ายังมีเต้านมอยู่
อ่านการผ่าตัดเพื่อรักษามะเร็งเต้านมแนวทางใหม่นี้ ได้ที่นี่
สรุป
มะเร็งเต้านม เป็นภัยคุกคามที่ดูอันตรายก็จริง แต่สามารถป้องกันได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ หากเรารู้จักปัจจัยความเสี่ยงของตัวเอง โดยเฉพาะ ถ้าเราเป็นผู้หญิง ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองเป็นประจำตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ หากตรวจแล้วทำการรักษาทันทีตั้งแต่ระยะเริ่มแรก มีโอกาสหายขาดได้เกือบ 100% เลยทีเดียว
เทคโนโลยีในปัจจุบันที่ใช้ในการรักษามีความรุดหน้าไปมาก ไม่ได้หยุดอยู่เพียงเป้าหมายที่จะรักษาผู้ป่วยให้หายเท่านั้น แต่ยังให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยอีกด้วย หากตรวจพบได้เร็ว การรักษาก็จะมีทางเลือกมากยิ่งขึ้น สามารถหายจากมะเร็งได้ โดยที่ยังดูสวยและภาคภูมิใจ มีชีวิตที่มีความสุขได้เหมือนเดิม