รู้ไหม อกหักอาจจะไม่ใช่แค่การเสียใจ แต่อาจจะเสียหัวใจดวงจริงได้ด้วยนะเออ!
เพื่อน ๆ หลายคนที่ชมละคร “มาตาลดา” ที่เพิ่งจบไปอาจจะพอรู้จักโรคนี้แล้ว เพราะมีฉากหนึ่งที่คุณยายไปโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอก ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เมื่อตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ (echocardiogram) เพิ่มเติมพบว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (ความสามารถในการบีบตัวของหัวใจลดลงมาก) ซึ่งอาการและผลการตรวจลักษณะนี้บ่งบอกถึงภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardium infarction) ดังนั้นหมอจึงได้ทำการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (coranary artery angiography) เพราะเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุด แต่ปรากฏว่าผลการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจคือ หลอดเลือดหัวใจปกติดี!
ใช่ค่ะ คุณยาย เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจสลายจากความเครียดเนื่องจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ซึ่งโรคนี้คือ Takotsubo cardiomyopathy หรือ stress-induced cardiomyopathy แต่ถ้าจะให้เข้าใจง่าย อีกชื่อหนึ่งก็คือ broken-heart syndrome หรือ โรคหัวใจสลาย นั่นเอง
โรคหัวใจสลาย นั้นยังระบุสาเหตุการเกิดได้ไม่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่จิตใจหรือร่างกายมีความเครียดอย่างรุนแรง (emotional and physical stress) เช่น สูญเสียคนรัก มีสถานการณ์ที่สะเทือนอารมณ์อย่างรุนแรง การผ่าตัดใหญ่ การติดเชื้อในร่างกายอย่างรุนแรง เป็นต้น ซึ่งภาวะเครียดรุนแรงเหล่านี้ทำให้ร่างกายหลั่งสารกลุ่ม catecholamine เช่น อะดรีนาลินออกมามาก ส่งผลให้มีการสะสมของประจุแคลเซียมในกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หลอดเลือดฝอยของหัวใจเกิดการหดตัวเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ซึ่งภาวะนี้สามารถหายได้เองเมื่อภาวะเครียดนั้นหายไป แต่หากเป็นมากอาจร้ายแรงจนเสียชีวิตได้
ใครบ้างเสี่ยงต่อภาวะหัวใจสลาย
พบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากช่วงวัยนี้มีอารมณ์และความเครียดสะสมจากสถานการณ์ต่าง ๆ สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคได้ง่าย โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายถึง 7 เท่า
อาการและอาการแสดง
เจ็บแน่นหน้าอก, ใจสั่น หรือ เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้
การตรวจวินิจฉัย
- ประวัติความเครียดหรือภาวะ
- กราฟไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (EKG 12 lead)
- เอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจสูงขึ้น (cardiac enzyme, high sensitivity troponin-I)
- ผลการอัลตราซาวนด์หัวใจพบหัวใจบีบตัวลดลง (echocardiogram)
- และเนื่องจากอาการของผู้ป่วย (symptom) และอาการแสดงที่แพทย์ตรวจพบ (sign) เหมือนภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardium infarction mimic) ดังนั้นแพทย์จะต้องทำการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiogram) ทุกรายเพื่อยืนยันการวินิจฉัย
และการรักษาที่ถูกต้องทันเวลา ซึ่งหากเป็นภาวะหัวใจสลายจริง ผลการฉีดสีสวนหัวใจ หลอดเลือดหัวใจปกติ ร่วมกับมีการฉีดสีดูการบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายล่างลดลงผิดปกติ (left venticulogram) ลักษณะเฉพาะคือ บีบตัวลดลงผิดปกติที่บริเวณส่วนปลายมากที่สุด (apical ballooning) รองลงมาคือส่วนกลาง ส่วนบริเวณด้านบนกลับมีการบีบตัวที่เพิ่มขึ้นมากจากการปรับตัว ดังนั้นภาพที่เห็นจากการฉีดสีสวนหัวใจ จะมีลักษณะที่คล้ายกับไหญี่ปุ่นที่ใช้ดักจับปลาหมึกในสมัยก่อน และเนื่องจากผู้ค้นพบความผิดปกตินี้เป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่น เขาจึงนิยามโรคนี้ว่า Takotsubo cardiomyopathy นั่นเอง (Tako –ปลาหมึก, Tsubo-ไห) จากการที่ภาพฉีดสีหัวใจของผู้ป่วยมีลักษณะคล้ายไหดักปลาหมึกของญี่ปุ่น
การพยากรณ์โรค
ภาวะนี้หายเองได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน
การรักษา
รักษาประคับประคอง เนื่องจากการทำงานของหัวใจลดลงมาก ผู้ป่วยจึงอาจจะมีภาวะหัวใจวาย หรือบางรายมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจมีภาวะช็อก แพทย์ให้ยารักษาประคับประคองตามอาการ โดยการใช้ยา ในกลุ่ม beta-blocker หรือ ACEI/ ARB ส่วนในรายที่รุนแรง มีสัญญาณชีพผิดปกติ จะใช้ยากระตุ้นความดันโลหิตหรืออุปกรณ์พยุงการทำงานของหัวใจ (inotropic agents, aortic balloon pump) ร่วมกับรักษาสาเหตุของสภาวะเครียด โดยส่วนมากอาการจะหายได้เองใน 2 เดือน และพบโอกาสเสียชีวิตเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้นในรายที่อาการรุนแรง
สรุป
Broken-heart syndrome หรือ Takotsubo cardiomyopathy เกิดจากจิตใจหรือร่างกายอยู่ในสภาวะเครียดมาก ๆ หรือเสียใจมาก ทำให้หัวใจบีบตัวลดลง อาการคล้ายโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน แยกได้โดยการตรวจฉีดสีสวนหัวใจ การรักษาเป็นแบบประคับประคองอาการต่าง ๆ และหายได้เองในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน แต่หากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ดังนั้น อกหักใครว่าไม่ถึงตาย พยายามทำจิตใจให้เข้มแข็งเบิกบาน หาวิธีผ่อนคลายความเครียด ข้ามผ่านความเสียใจไปด้วยกันนะคะ