บทความสุขภาพ

Knowledge

หัวใจสลาย! ใครว่าเล่น ๆ…มาทำความรู้จักโรค “Broken-heart Syndrome” โรคหัวใจที่มีผลจากความเครียด

พญ. พรพิชญา บุญดี

รู้ไหม อกหักอาจจะไม่ใช่แค่การเสียใจ แต่อาจจะเสียหัวใจดวงจริงได้ด้วยนะเออ!


เพื่อน ๆ หลายคนที่ชมละคร “มาตาลดา” ที่เพิ่งจบไปอาจจะพอรู้จักโรคนี้แล้ว เพราะมีฉากหนึ่งที่คุณยายไปโรงพยาบาลด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอก ผลการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจและเอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ เมื่อตรวจอัลตราซาวนด์หัวใจ (echocardiogram) เพิ่มเติมพบว่ามีกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง (ความสามารถในการบีบตัวของหัวใจลดลงมาก) ซึ่งอาการและผลการตรวจลักษณะนี้บ่งบอกถึงภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardium infarction) ดังนั้นหมอจึงได้ทำการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (coranary artery angiography) เพราะเป็นสาเหตุของภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันที่พบบ่อยที่สุด แต่ปรากฏว่าผลการฉีดสีหลอดเลือดหัวใจคือ หลอดเลือดหัวใจปกติดี!


ใช่ค่ะ คุณยาย เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจสลายจากความเครียดเนื่องจากสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รักไป ซึ่งโรคนี้คือ Takotsubo cardiomyopathy หรือ stress-induced cardiomyopathy แต่ถ้าจะให้เข้าใจง่าย อีกชื่อหนึ่งก็คือ broken-heart syndrome หรือ โรคหัวใจสลาย นั่นเอง


โรคหัวใจสลาย นั้นยังระบุสาเหตุการเกิดได้ไม่ชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าเกิดจากการที่จิตใจหรือร่างกายมีความเครียดอย่างรุนแรง (emotional and physical stress) เช่น สูญเสียคนรัก มีสถานการณ์ที่สะเทือนอารมณ์อย่างรุนแรง การผ่าตัดใหญ่ การติดเชื้อในร่างกายอย่างรุนแรง เป็นต้น ซึ่งภาวะเครียดรุนแรงเหล่านี้ทำให้ร่างกายหลั่งสารกลุ่ม catecholamine เช่น อะดรีนาลินออกมามาก ส่งผลให้มีการสะสมของประจุแคลเซียมในกล้ามเนื้อหัวใจผิดปกติ หลอดเลือดฝอยของหัวใจเกิดการหดตัวเฉียบพลันทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง ซึ่งภาวะนี้สามารถหายได้เองเมื่อภาวะเครียดนั้นหายไป แต่หากเป็นมากอาจร้ายแรงจนเสียชีวิตได้


ใครบ้างเสี่ยงต่อภาวะหัวใจสลาย


พบว่าผู้หญิงวัยหมดประจำเดือนเสี่ยงมากที่สุด เนื่องจากช่วงวัยนี้มีอารมณ์และความเครียดสะสมจากสถานการณ์ต่าง ๆ สามารถกระตุ้นให้เกิดโรคได้ง่าย โดยผู้หญิงมีความเสี่ยงมากกว่าผู้ชายถึง 7 เท่า


อาการและอาการแสดง


เจ็บแน่นหน้าอก, ใจสั่น หรือ เหนื่อยง่าย นอนราบไม่ได้


การตรวจวินิจฉัย


  • ประวัติความเครียดหรือภาวะ
  • กราฟไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ (EKG 12 lead)
  • เอนไซม์กล้ามเนื้อหัวใจสูงขึ้น (cardiac enzyme, high sensitivity troponin-I)
  • ผลการอัลตราซาวนด์หัวใจพบหัวใจบีบตัวลดลง (echocardiogram)
  • และเนื่องจากอาการของผู้ป่วย (symptom) และอาการแสดงที่แพทย์ตรวจพบ (sign) เหมือนภาวะหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน (acute myocardium infarction mimic) ดังนั้นแพทย์จะต้องทำการตรวจสวนหลอดเลือดหัวใจ (coronary angiogram) ทุกรายเพื่อยืนยันการวินิจฉัย

และการรักษาที่ถูกต้องทันเวลา ซึ่งหากเป็นภาวะหัวใจสลายจริง ผลการฉีดสีสวนหัวใจ หลอดเลือดหัวใจปกติ ร่วมกับมีการฉีดสีดูการบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายล่างลดลงผิดปกติ (left venticulogram) ลักษณะเฉพาะคือ บีบตัวลดลงผิดปกติที่บริเวณส่วนปลายมากที่สุด (apical ballooning) รองลงมาคือส่วนกลาง ส่วนบริเวณด้านบนกลับมีการบีบตัวที่เพิ่มขึ้นมากจากการปรับตัว ดังนั้นภาพที่เห็นจากการฉีดสีสวนหัวใจ จะมีลักษณะที่คล้ายกับไหญี่ปุ่นที่ใช้ดักจับปลาหมึกในสมัยก่อน และเนื่องจากผู้ค้นพบความผิดปกตินี้เป็นแพทย์ชาวญี่ปุ่น เขาจึงนิยามโรคนี้ว่า Takotsubo cardiomyopathy นั่นเอง (Tako –ปลาหมึก, Tsubo-ไห) จากการที่ภาพฉีดสีหัวใจของผู้ป่วยมีลักษณะคล้าย​​​​​​​​​​ไหดักปลาหมึกของญี่ปุ่น


การพยากรณ์โรค


ภาวะนี้หายเองได้ภายในระยะเวลา 2 เดือน


การรักษา


รักษาประคับประคอง เนื่องจากการทำงานของหัวใจลดลงมาก ผู้ป่วยจึงอาจจะมีภาวะหัวใจวาย หรือบางรายมีหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรืออาจมีภาวะช็อก แพทย์ให้ยารักษาประคับประคองตามอาการ โดยการใช้ยา ในกลุ่ม beta-blocker หรือ ACEI/ ARB ส่วนในรายที่รุนแรง มีสัญญาณชีพผิดปกติ จะใช้ยากระตุ้นความดันโลหิตหรืออุปกรณ์พยุงการทำงานของหัวใจ (inotropic agents, aortic balloon pump) ร่วมกับรักษาสาเหตุของสภาวะเครียด โดยส่วนมากอาการจะหายได้เองใน 2 เดือน และพบโอกาสเสียชีวิตเพียงร้อยละ 1.2 เท่านั้นในรายที่อาการรุนแรง


อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ โรคหัวใจ


สรุป


Broken-heart syndrome หรือ Takotsubo cardiomyopathy เกิดจากจิตใจหรือร่างกายอยู่ในสภาวะเครียดมาก ๆ หรือเสียใจมาก ทำให้หัวใจบีบตัวลดลง อาการคล้ายโรคหลอดเลือดหัวใจตีบเฉียบพลัน แยกได้โดยการตรวจฉีดสีสวนหัวใจ การรักษาเป็นแบบประคับประคองอาการต่าง ๆ และหายได้เองในระยะเวลาประมาณ 2 เดือน แต่หากเป็นรุนแรงอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ดังนั้น อกหักใครว่าไม่ถึงตาย พยายามทำจิตใจให้เข้มแข็งเบิกบาน หาวิธีผ่อนคลายความเครียด ข้ามผ่านความเสียใจไปด้วยกันนะคะ


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. พรพิชญา บุญดี

พญ. พรพิชญา บุญดี

สถาบันหัวใจและหลอดเลือดพระรามเก้า

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

ริดสีดวงทวาร มีสาเหตุมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal cushion) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital