บทความสุขภาพ

Knowledge

มะเร็งปากมดลูก โรคร้ายของผู้หญิงทุกคน

พญ. ธิษณา อนันตวัฒน์

จากข้อมูลสถิติในประเทศไทยปี 2563 พบว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 3 ในผู้หญิงไทย รองจากมะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ มะเร็งปากมดลูกส่วนใหญ่ในระยะเริ่มแรก มักจะไม่ค่อยมีอาการ หรืออาจจะมีอาการเพียงเล็กน้อย เช่น ตกขาวผิดปกติ มีเลือดปน หรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น ออกแบบกะปริบกะปรอย หรือเลือดออกหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ดังนั้นหากท่านมีอาการหรือสัญญาณเตือนที่อาจจะเกิดจากโรคมะเร็งปากมดลูก ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจรักษาตั้งแต่แรกเริ่ม และป้องกันไม่ให้กลายเป็นมะเร็งปากมดลูกระยะลุกลาม


มะเร็งปากมดลูก เกิดจากอะไร?


ปัจจุบันพบว่าสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งปากมดลูก คือเกิดจากการติดเชื้อไวรัสที่ชื่อว่า Human Papilloma Virus หรือเรียกสั้นๆว่า เชื้อ เอชพีวี (HPV) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่สามารถติดต่อได้ทางเพศสัมพันธ์ โดยอาจจะเกิดจากการติดต่อได้หลายช่องทาง เช่น ทางปาก ทางช่องคลอด หรือ ทางทวารหนัก โดยได้รับเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีเชื้อ HPV อยู่


cervical-cancer-2.jpg


เชื้อ HPV คืออะไร?


ดังที่กล่าวไปแล้วว่า เชื้อ HPV คือเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งที่เป็นสาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูก


เชื้อ HPV มีกว่า 100 สายพันธุ์ โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มคือ กลุ่มสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ซึ่งคือสายพันธุ์ที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูกได้ ตัวอย่างเช่น สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 58 เป็นต้น และกลุ่มที่เป็นสายพันธุ์ความเสี่ยงหรือสายพันธุ์ที่ไม่ได้ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก แต่อาจจะทำให้เกิดโรคอื่น เช่น โรคหูดหงอนไก่


อาการของมะเร็งปากมดลูก


โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคที่สามารถตรวจพบได้ในระยะก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง โดยส่วนใหญ่ระยะเริ่มแรกนี้มักจะไม่มีอาการแสดงใด ๆ ส่วนใหญ่เป็นการตรวจพบจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกประจำปี ดังนั้น สตรีในวัยเจริญพันธุ์ทั่วไปควรทำการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำและสม่ำเสมอ โดยไม่ต้องรอให้มีอาการใด ๆ


มะเร็งปากมดลูกอาจมีอาการดังต่อไปนี้


  1. ระยะแรกมักไม่มีอาการ
  2. เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด เช่น ประจำเดือนมามากผิดปกติ หรือ เลือดออก กะปริบกะปรอย
  3. เลือดออกเวลามีเพศสัมพันธ์
  4. เลือดออกทางช่องคลอดหลังหมดประจำเดือน
  5. ตกขาว หรือระดูขาวผิดปกติ เช่น มีกลิ่น มีเลือดปน ปริมาณมากผิดปกติ
  6. ปวดหน่วงท้องน้อย

cervical-cancer-3.jpg


มะเร็งปากมดลูกสามารถป้องกันได้หรือไม่?


เนื่องจากมะเร็งปากมดลูก เกิดจากการติดเชื้อไวรัส HPV ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อ HPV จึงเป็นการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก โดยแนวทางในการป้องกันโรคมะเร็งปากมดลูก


มี 2 แนวทาง ได้แก่


  1. การป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้แก่ การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV การป้องกันการติดเชื้อระหว่างมีเพศสัมพันธ์ เช่น การใช้ถุงยางอนามัย การมีคู่นอนคู่เดียว หรือการรักษาสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงอาหารก่อมะเร็งต่างๆ การติดเชื้อ HPV ในช่วงแรก มักจะเป็นๆ หายๆ ได้เอง หากผู้ได้รับเชื้อมีสุขภาพและมีภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง
  2. การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโรคมะเร็งปากมดลูกสามารถตรวจพบเจอได้ก่อนที่จะกลายเป็นมะเร็ง (premalignant lesions) ซึ่งระยะนี้ส่วนใหญ่มักจะไม่มีอาการแสดงให้เห็น ดังนั้น จึงควรเข้ารับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอ

cervical-cancer-4.jpg


วัคซีนมะเร็งปากมดลูก ป้องกันได้จริงหรือ?


วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกที่รู้จักกันในปัจจุบัน คือวัคซีนที่ป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV เนื่องจากสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกคือการติดเชื้อไวรัส HPV ดังนั้นการป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV แต่เริ่มแรก จึงเป็นการป้องกันการเกิดมะเร็งปากมดลูกที่ดีที่สุด


ในปัจจุบันประเทศไทยมีวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV อยู่ 3 ชนิด ได้แก่


  1. วัคซีนป้องกัน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ (bivalent) ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก
  2. วัคซีนป้องกัน HPV ชนิด 4 สายพันธุ์ (quadrivalent) ครอบคลุมสายพันธุ์ 16 และ 18 ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่
  3. วัคซีนป้องกัน HPV ชนิด 9 สายพันธุ์ (nonavalent) ครอบคลุมสายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58 ที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก และสายพันธุ์ 6 และ 11 ที่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่

โดยเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และ 18 เป็น 2 สายพันธุ์หลักที่พบได้บ่อยที่สุดในกลุ่มสายพันธุ์ความเสี่ยงสูง โดยรวมกัน พบได้ประมาณ 70% ของ HPV ที่ก่อให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูก


ดังนั้น วัคซีน 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ จะป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ประมาณ 70% ในขณะที่วัคซีนชนิด 9 สายพันธุ์ จะป้องกันสายพันธุ์ความเสี่ยงสูงได้เพิ่มอีกประมาณ 20% (ป้องกันได้ประมาณ 90%)


ข้อมูลเพิ่มเติมเรื่อง วัคซีน HPV


การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ควรตรวจเมื่อไหร่?


การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่ใช้ในปัจจุบันมี 2 วิธี คือ การตรวจทางเซลล์วิทยา (cervical cytology) หรือที่รู้จักว่า PAP Test และอีกวิธีหนึ่ง คือ การตรวจหาเชื้อ HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญ

ของการเกิดโรคมะเร็งปากมดลูก โดยมีแนวทางการตรวจดังนี้


  1. เริ่มตรวจในสตรีที่มีอายุ 25 – 30 ปีขึ้นไป
  2. วิธีการตรวจอาจตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง (ตรวจทางเซลล์วิทยา หรือ ตรวจหาเชื้อ HPV) หรืออาจตรวจพร้อมกัน ที่เรียกว่า Co-test ซึ่งเป็นการตรวจที่ให้ความแม่นยำที่สุดในปัจจุบัน
  3. ระยะเวลาห่างในการตรวจ ในกรณีที่ผลตรวจเลือดเป็นปกติ แนะนำให้ตรวจทุก 2-3 ปี หรือถ้าตรวจด้วย Co-test อาจตรวจได้ทุก 3-5 ปี หรือตรวจตามที่สูตินรีแพทย์แนะนำ อย่างไรก็ตาม การตรวจภายในที่มักจะทำพร้อมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก เป็นการตรวจดูมดลูกและรังไข่ร่วมด้วย ซึ่งควรจะตรวจภายในทุกปี

ในกรณีที่ตัดมดลูกและปากมดลูกไปแล้ว อาจจะสามารถหยุดตรวจมะเร็งปากมดลูกได้ ควรปรึกษาแพทย์ที่ทำการผ่าตัดอีกครั้ง ส่วนบุคคลทั่วไป อาจหยุดตรวจเมื่ออายุมากกว่า 65-70 ปีขึ้นไปได้


cervical-cancer-5.jpg


สรุป


โรคมะเร็งปากมดลูกเป็นโรคมะเร็งที่สามารถป้องกันได้ การฉีดวัคซีน HPV และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอจะเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งปากมดลูกได้ และหากพบความผิดปกติที่สงสัยว่าเป็นอาการของมะเร็งปากมดลูก ควรรีบปรึกษาแพทย์ เพื่อรับตรวจวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างถูกต้องต่อไป


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. ธิษณา อนันตวัฒน์

พญ. ธิษณา อนันตวัฒน์

ศูนย์สูตินรีเวช

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital