บทความสุขภาพ

Knowledge

โรคเมตาบอลิก (metabolic syndrome) จุดเริ่มต้นของโรคเรื้อรังอื่น ๆ

พญ. ณัฐกานต์ มยุระสาคร

จากวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน พฤติกรรมการบริโภคที่มีอาหารให้เลือกมากมายหลากหลาย แต่อาจไม่ดีต่อสุขภาพ เช่น อาหารที่มีไขมันสูง อาหารแปรรูป อาหารที่มีโซเดียมสูง เครื่องดื่มที่มีน้ำตาล และขนมเบเกอรี่ต่าง ๆ เป็นต้น ร่วมกับกิจวัตรประจำวันหรืองานที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ขาดการออกกำลังกาย ทำให้ผู้คนจำนวนมากมีภาวะน้ำหนักตัวเกิน จนเป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะ “อ้วนลงพุง” จนนำไปสู่ “โรคเมตาบอลิก” ซึ่งเป็นภาวะที่มีความผิดปกติของระบบเผาผลาญอาหารของร่างกาย มีภาวะดื้ออินซูลิน เกิดไขมันพอกตับ ไขมันในเลือดสูง ความดันโลหิตสูง และน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งหากปล่อยไปจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ตามมา โรคเมตาบอลิกพบได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ และจะพบมากเมื่ออายุเพิ่มขึ้น


โรคเมตาบอลิกคืออะไร?


โรคเมตาบอลิก (metabolic syndrome) หรือเรียกได้อีกอย่างหนึ่งว่า “ภาวะดื้ออินซูลิน (insulin resistance) คือกลุ่มความผิดปกติที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานชนิดที่ 2 และปัญหาสุขภาพอื่น ๆ กลุ่มความผิดปกติดังกล่าวได้แก่


  • อ้วนลงพุง(central obesity หรือ abdominal obesity)
  • ความดันโลหิตสูง
  • มีไขมันไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride) ในเลือดสูง
  • มีไขมันคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL cholesterol) ต่ำ
  • ระดับน้ำตาลในเลือดสูง

ภาวะต่าง ๆ เหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่สอง โรคความดันโลหิตสูง และกลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด (cardiovascular diseases) เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์อัมพาต โรคของหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ โรคของหลอดเลือดแดงใหญ่ เป็นต้น


กลไกการเกิดโรคเมตาบอลิก


ภาวะดื้ออินซูลิน เป็นภาวะที่ฮอร์โมนอินซูลินไม่สามารถออกฤทธิ์ได้ตามปกติ ฮอร์โมนอินซูลินเป็นฮอร์โมนสำคัญ ควบคุมการใช้พลังงานของร่างกาย โดยกระบวนการนำน้ำตาลในเลือดเข้าไปในเซลล์ต่าง ๆ โดยเฉพาะตับ กล้ามเนื้อลาย และเซลล์ไขมัน แล้วนำไปผลิตพลังงานเพื่อให้เซลล์ต่าง ๆ ทำงานได้อย่างปกติ และสะสมพลังงานไว้ในรูปของไกลโคเจนที่ตับ และเพิ่มการสังเคราะห์โปรตีนที่กล้ามเนื้อ ยับยั้งการสลายไตรกลีเซอไรด์ออกจากเซลล์ไขมันใต้ผิวหนัง ดังนั้นผู้ที่มีภาวะดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลิน การเก็บพลังงานจะผิดตำแหน่ง ร่างกายไม่สามารถใช้พลังงานจากน้ำตาลได้ จึงมีระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีไขมันในเลือดผิดปกติ ไขมันพอกตับ เซลล์ไขมันปล่อยสาร adipokines ทำให้เซลล์เยื่อบุหลอดเลือดทำงานผิดปกติ ความดันโลหิตสูง การอักเสบของผนังหลอดเลือด มีไขมันสะสมที่ผนังหลอดเลือดชั้นใน นำไปสู่ภาวะหลอดเลือดแดงแข็ง (atherosclerosis) เกิดหลอดเลือดแดงตีบตัน และอวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดในที่สุด


ปัจจัยเสี่ยงของโรคเมตาบอลิก


ปัจจัยเสี่ยงที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคเมตาบอลิก ได้แก่


  • อ้วน โดยผู้ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนลงพุง มีไขมันสะสมบริเวณรอบเอวและสะโพกจะเสี่ยงต่อโรคเมตาบอลิก
  • พฤติกรรมการใช้ชีวิต กิจวัตรประจำวันหรือการทำงานที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย ขาดการออกกำลังกาย การรับประทานอาหารไม่เหมาะส
  • อายุ โดยอายุที่เพิ่มขึ้นจะเพิ่มความเสี่ยงมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อหมดประจำเดือนในผู้หญิง
  • ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
  • สาเหตุทางพันธุกรรม เช่น lipodystrophy
  • ความเครียด ทำให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนที่ออกฤทธิ์ตรงข้ามกับอินซูลิน เช่น ฮอร์โมนคอร์ติซอล อะดรีนาลิน และกลูคากอน
  • โรคที่พบร่วม เช่น โรคไขมันพอกตับและตับแข็งที่ไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์ กลุ่มอาการถุงน้ำรังไข่ polycystic ovarian syndrome กรดยูริกในเลือดสูง โรคเก๊าท์ โรคไตวายเรื้อรัง และโปรตีนรั่วในปัสสาวะ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ โดยพบว่าโรคเหล่านี้เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเมตาบอลิก

อาการของเมตาบอลิก


โรคเมตาบอลิกไม่มีอาการแสดงที่เฉพาะเจาะจง แต่มีลักษณะหรืออาการที่สังเกตเห็นได้ เช่น


  • มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักเกิน มีเส้นรอบเอวที่ใหญ่มากกว่าเกณฑ์ปกติ
  • ความดันโลหิตสูง
  • ตรวจเลือดพบระดับน้ำตาลในเลือดสูง ไขมันในเลือดผิดปกติ (ไขมันร้าย LDLcholesterol และ triglyceride สูง ไขมันดี HDL cholesterol ต่ำ)
  • อาการของโรคร่วม เช่น ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ มีบุตรยาก ข้ออักเสบเก๊าท์ เป็นต้น
  • ตรวจร่างกายพบผิวหนังช้าง (acanthosis nigricans) ผิวหนังหนาตัว สีเข้มขึ้นเป็นสีน้ำตาลหรือดำ โดยเฉพาะบริเวณข้อพับ เช่น คอ รักแร้ ข้อพับแขน เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคเมตาบอลิก


ทางการแพทย์ยังถกเถียงกันว่าการควรจัดภาวะนี้เป็น “โรค” หรือเป็นกลุ่มอาการที่มีปัจจัยเสี่ยง และวิธีรักษาร่วมกัน เมื่อพบความผิดปกติอย่างใดอย่างนึง ควรตรวจหากลุ่มโรคอื่น แม้ไม่ครบเกณฑ์ 3ใน 5 ข้อนี้ ก็ควรรักษาทุกๆปัจจัยเสี่ยง


เกณฑ์ความผิดปกติอย่างน้อย 3 ข้อ ใน 5 ข้อ ได้แก่


  1. ความยาวรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 36 นิ้ว ( 90 เซนติเมตร) ในผู้ชาย และความยาวรอบเอวมากกว่าหรือเท่ากับ 32 นิ้ว (80 เซนติเมตร) ในผู้หญิง
  2. ความดันโลหิตมากกว่า 130/85 มิลลิเมตรปรอท หรือเป็นโรคความดันโลหิตสูง ได้รับการรักษาอยู่
  3. ระดับ triglyceride ในเลือดมากกว่า 150 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือถูกวินิจฉัยและได้รับการรักษาอยู่
  4. ระดับไขมันดี HDLcholesterol น้อยกว่าหรือเท่ากับ 40 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้ชาย และ น้อยกว่าหรือเท่ากับ 50 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรในผู้หญิง
  5. ระดับน้ำตาลในเลือดหลังงดอาหาร (fasting blood sugar) มากกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือได้รับการวินิจฉัยเบาหวานชนิดที่ 2

การรักษาโรคเมตาบอลิก


ผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเมตาบอลิกต้องลดน้ำหนักส่วนเกิน เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคเบาหวาน และโรคอื่น ๆ โดยมักพิจารณาการรักษาดังนี้


  • รักษาโดยปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหาร โดยลดน้ำหนักให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 5 -10 ในระยะเวลา 6-12 เดือน ลดอาหารที่มีกรดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง อาหารที่มีคอเลสเตอรอลสูง เครื่องดื่มและขนมที่ผสมน้ำตาล แป้งผ่านการขัดสี เน้นรับประทานอาหารประเภทผักและผลไม้ที่น้ำตาลน้อย ธัญพืช แป้งที่มีดัชนีความหวานต่ำ (glycemic index) เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน สลับโปรตีนจากพืชบ้าง ไขมันดี ได้แก่ ไขมันจากปลา ถั่วเปลือกแข็ง และอะโวคาโด เป็นต้น จำกัดเค็ม เกลือ 1ช้อนชาต่อวันหรือ โซเดียมน้อยกว่า 2,400 มิลลิกรัมต่อวัน
  • ออกกําลังกายแอโรบิกความแรงปานกลาง เช่น เดินเร็ว อย่างน้อยวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ หากไม่มีเวลาสามารถแบ่งเป็นช่วง 10 นาที 3-4 รอบต่อวันได้ หรือลุกเดินบ่อยขึ้นไม่นั่งต่อเนื่องหน้าจอนานเกิน 30-60 นาที หรือทำงานบ้านเพิ่มขึ้น
  • งดสูบบุหรี่
  • จำกัดปริมาณเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • การรักษาโดยการใช้ยา หากปรับพฤติกรรมแล้วยังไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาล ไขมันในเลือด หรือความดันโลหิตได้ แพทย์อาจพิจารณาให้รับประทานยาเบาหวาน ยาลดความดัน หรือยารักษาไขมันในเลือด ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละราย ควรปรึกษาแพทย์อายุรกรรม หรือแพทย์อายุรกรรมเฉพาะทางเมตาบอลิกและต่อมไร้ท่อ

วิธีป้องกันโรคเมตาบอลิก


ควบคุมน้ำหนักหรือลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน โดยให้ค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ให้อยู่ระหว่าง 18.5–23 กิโลกรัมต่อตารางเมตร หรือลดน้ำหนักให้ได้อย่างน้อย 5 – 10% ของน้ำหนักตัว จะช่วยลดภาวะดื้อต่ออินซูลินและความเสี่ยงของโรคต่าง ๆ ได้


  • การออกกำลังกายเป็นประจำ โดยออกกำลังกายแบบแอโรบิค เช่น การเดินเร็ว ๆ 30 นาทีทุกวันหรือประมาณ 150 นาทีต่อ 1 สัปดาห์ จะทำให้การลดน้ำหนักมีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังช่วยลดความดันเลือด ระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด และลดความเสี่ยงในการเกิดโรคเบาหวาน และโรคหัวใจได้อีกด้วย
  • รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ลดอาหารที่มีไขมันสูง รับประทานอาหารที่มีใยสูง เช่น ธัญพืช ข้าวกล้อง ผัก ถั่ว และเพิ่มโปรตีนจากปลา รวมถึงผักและผลไม้ที่ไม่หวาน ลดอาหารพวกเนื้อแดง เนื้อสัตว์แปรรูปต่าง ๆ ใช้น้ำมันถั่วเหลืองแทนน้ำมันปาล์ม และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันทรานส์
  • เลือกรับประทานอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตไม่ขัดสี เช่น ข้าวซ้อมมือ ข้าวโพด ลูกเดือย ขนมปังโฮลวีท
  • เลิกสูบบุหรี่ และลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สรุป


โรคเมตาบอลิกเป็นเสมือนภัยเงียบใกล้ตัว เนื่องจากไม่มีอาการแสดงที่ชัดเจน แต่เมื่อเป็นแล้วจะเป็นปัจจัยเสี่ยงที่นำไปสู่โรคต่าง ๆ ตามมา เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์อัมพาต โรคความดันสูง และโรคเบาหวาน ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มโรคเรื้อรัง


เพื่อเป็นการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ห่างไกลจากโรคร้ายต่าง ๆ ควรหมั่นสังเกตความผิดปกติของร่างกาย ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการทานอาหาร ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และตรวจสุขภาพเป็นประจำ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ซึ่งจะส่งผลให้มีสุขภาพจิตดี ให้คุณใช้ชีวิตและทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้อย่างมีความสุข


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)



เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

พญ. ณัฐกานต์  มยุระสาคร

พญ. ณัฐกานต์ มยุระสาคร

ศูนย์เบาหวานและเมตาบอลิก

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital