บทความสุขภาพ

Knowledge

เบาหวานขึ้นตา (diabetic retinopathy) รู้เร็ว รักษาได้ ลดเสี่ยงตาบอด

นพ. ศิริพงศ์ สินประจักษ์ผล

เบาหวานเป็นโรคยอดฮิต โดยพบว่าทั่วโลกมีผู้เป็นโรคเบาหวานมากกว่า 420 ล้านคน ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพที่สำคัญ และยังเป็นโรคที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนของระบบต่าง ๆ ของร่างกายตามมาได้อีกหลายระบบ เช่น ไตวาย หลอดเลือดส่วนปลายตีบ ปลายประสาทเสื่อม แผลหายยาก เพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดสมองและหลอดเลือดหัวใจ และยังทำให้เกิดการสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดจาก “ภาวะเบาหวานขึ้นตา” ได้อีกด้วย



โรคเบาหวาน


โรคเบาหวาน เป็นโรคเรื้อรังชนิดหนึ่งที่ผู้ป่วยมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงผิดปกติอย่างต่อเนื่องเรื้อรัง เกิดจากความผิดปกติของตับอ่อนที่ทำหน้าที่หลั่งฮอร์โมน “อินซูลิน” เพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด หรือมีภาวะที่ร่างกายดื้อต่อฮอร์โมนอินซูลินที่ตับ กล้ามเนื้อ และเซลล์ไขมัน ทำให้ฮอร์โมนอินซูลินออกฤทธิ์ได้ไม่เต็มที่ ร่างกายจะมีปัญหาการเผาผลาญน้ำตาล ซึ่งเบาหวานเป็นโรคที่ทำให้มีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นได้ในหลาย ๆ ระบบของร่างกาย เช่น โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด ภาวะไตวาย ภาวะปลายประสาท ภาวะแผลติดเชื้อ รวมไปถึง “ภาวะเบาหวานขึ้นตา”



ภาวะเบาหวานขึ้นตา


ภาวะเบาหวานขึ้นตา (diabetic retinopathy) เป็นภาวะแทรกซ้อนของเบาหวานที่พบได้บ่อย เป็นสาเหตุของความผิดปกติของหลอดเลือดฝอยในดวงตา ทำให้สูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ในที่สุด มักพบในผู้ป่วยที่มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงเป็นเวลานาน แล้วทำให้หลอดเลือดฝอยที่จอประสาทตา (retina) เสียหายจนอาจทำให้ตาบอดได้ในที่สุด



เบาหวานขึ้นตาเกิดจากอะไร?


ภาวะที่มีน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นาน ๆ จะทำให้บริเวณที่มีหลอดเลือดเล็ก ๆ เกิดการเสียหายได้ ซึ่ง ดวงตาเป็นอวัยวะหนึ่งที่มีหลอดเลือดฝอยอยู่มาก โดยภาวะน้ำตาลในเลือดสูงจะไปทำลายผนังหลอดเลือดในจอประสาทตา ทำให้เกิดโป่งพอง อุดตัน มีการรั่วซึมของสารน้ำและเม็ดเลือด เกิดจอประสาทตาบวม จอตาขาดเลือด เกิดการสร้างหลอดเลือดใหม่ซึ่งหลอดเลือดที่สร้างขึ้นใหม่นี้จะเปราะ แตกง่าย ทำให้เกิดเลือดออกเข้าวุ้นตาทำให้ตามัวจนถึงตาบอด หรือเกิดพังผืดดึงรั้งจอตาทำตาบอดได้



เบาหวานขึ้นตามีกี่ระยะ?


ภาวะเบาหวานขึ้นตาแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่


  • ภาวะเบาหวานขึ้นตาที่ยังไม่มีหลอดเลือดสร้างใหม่ (non-proliferative diabetic retinopathy; NPDR) เป็นระยะแรกของโรค พบได้บ่อยในผู้ป่วยเบาหวาน ซึ่งเป็นระยะที่เกิดความเสียหายของผนังหลอดเลือดในดวงตา ทำให้หลอดเลือดไม่แข็งแรง เกิดหลอดเลือดโป่ง อาจพบเลือดออกในตา หรือมีของเหลวรั่วจากหลอดเลือดเข้าไปที่จอประสาทตา เกิดการบวมของจอประสาทตา ซึ่งอาจพบได้ไม่มากในระยะแรก ๆ แต่หากอาการรุนแรงขึ้นอาจมีเลือดออกที่กลางจอประสาทตาซึ่งเป็นจุดภาพชัด (macula) จนเกิดการบวมของจุดภาพชัด (macular edema) หรือหากหลอดเลือดเสียหายจนไม่มีเลือดไปเลี้ยงจุดภาพชัด จะทำให้เกิดภาวะจุดภาพชัดขาดเลือด (macular ischemia) ส่งผลต่อการมองเห็นได้
  • ภาวะเบาหวานขึ้นตาที่มีหลอดเลือดสร้างใหม่ (proliferative diabetic retinopathy; PDR) เป็นระยะที่โรคมีความรุนแรง เกิดความเสียหายของหลอดเลือดในตาอย่างรุนแรงจนเกิดการขาดเลือด หลังจากนั้นจะมีการกระตุ้นการสร้างหลอดเลือดใหม่ แต่หลอดเลือดที่สร้างมาใหม่นั้นเป็นหลอดเลือดที่ไม่ปกติ ผนังของหลอดเลือดไม่แข็งแรง เปราะแตกได้ง่าย จึงทำให้เกิดการแตกและมีเลือดออกเข้ามาในวุ้นลูกตามากขึ้น เกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตา ทำให้เกิด ภาวะจอตาลอก (retinal detachment) จนอาจสูญเสียการมองเห็น นอกจากนี้การสร้างหลอดเลือดใหม่จะไปรบกวนการระบายของเหลวภายในลูกตา ทำให้ความดันในลูกตาสูงขึ้น เกิดเป็นโรคต้อหิน (glaucoma) ตามมาได้


อาการของเบาหวานขึ้นตา


“เบาหวานขึ้นตา” เป็นอาการที่เกิดกับผู้ป่วยเบาหวานที่ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดี มีระดับน้ำตาลสูงเป็นระยะเวลานาน ซึ่งอาการที่พบได้ เช่น


  • ในระยะแรก จะไม่แสดงอาการผิดปกติของการมองเห็น ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ไม่ทราบว่ามีภาวะของเบาหวานขึ้นตา และเมื่อมีอาการก็อยู่ในระยะที่รุนแรงแล้ว ดังนั้นจักษุแพทย์จึงแนะนำให้ผู้ป่วยเบาหวานตรวจตาเป็นประจำ เพื่อจะได้รักษาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ซึ่งให้ผลการรักษาที่ดีกว่า
  • หากปล่อยไว้จะเริ่มมีอาการ
    • ตาพร่ามัว
    • เห็นเงามืด หรือเงาบังตรงกลางภาพ
    • ภาพที่เห็นมีลักษณะบิดเบี้ยว ซึ่งเกิดจากจุดรับภาพบวม
    • เห็นจุด หรือเส้น ๆ ลอยไปมา
    • มองภาพไม่ชัดในเวลากลางคืน
  • หากปล่อยทิ้งไว้ อาการจะรุนแรงขึ้น โดยจะมีอาการ
    • จอตาลอก จากการที่มีพังผืด
    • ตามืด จากการที่มีเลือดออกมากในวุ้นลูกตา
    • สูญเสียการมองเห็นถาวร


โรคแทรกซ้อนที่มากับเบาหวานขึ้นตา


โรคเบาหวานไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความเสียหายกับจอประสาทตา แต่ยังทำให้เกิดโรคของตาตามมา ได้แก่


  • โรคต้อหิน (Glaucoma) จากการที่มีความดันลูกตาสูงขึ้น
  • โรคต้อกระจก (Cataract) พบว่าผู้ป่วยเบาหวานเป็นต้อกระจกได้เร็วขึ้น
  • ติดเชื้อบริเวณกระจกตาได้ง่ายขึ้น เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานจะมีการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันที่แย่ลง
  • หากมีการผ่าตัดที่เกี่ยวกับตา อาจทำให้แผลผ่าตัดหายยาก หรือติดเชื้อง่ายกว่าคนปกติ
  • เพิ่มโอกาสในการสูญเสียการมองเห็น หรือตาบอดถาวรได้


ผู้ป่วยเบาหวานเสี่ยงตาบอดมากกว่าคนปกติเพราะอะไร?


เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีความเสี่ยงโรคตามากขึ้น ทั้งต้อกระจก ต้อหิน เส้นประสาทตา และเส้นประสาทกล้ามเนื้อตาผิดปกติ รวมทั้งเบาหวานขึ้นตา ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของตาบอดที่ไม่ใช่ตาบอดตั้งแต่กำเนิดในประชากรโลกปัจจุบัน


และจากสถิติในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวานนาน 2-3 ปี จะพบภาวะเบาหวานขึ้นตาประมาณ 3-4% และเพิ่มเป็น 15-20% เมื่อเป็นเบาหวานนาน 15 ปี



การวินิจฉัยภาวะเบาหวานขึ้นตา


  • การซักประวัติ ระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ประวัติการคุมระดับน้ำตาลในเลือด และโรคประจำตัวอื่น ๆ
  • การวัดสายตา
  • การวัดความดันลูกตา
  • การตรวจตาอย่างละเอียดโดยจักษุแพทย์
  • ตรวจ slit lamb เพื่อตรวจดูสุขภาพของกระจกตาและส่วนหน้าของตา
  • ตรวจจอประสาทตาด้วย indirect ophalmoscope

โดยผู้ป่วยเบาหวานทุกรายควรตรวจตาโดยจักษุแพทย์อย่างน้อยปีละครั้ง



เบาหวานขึ้นตา รักษาหายไหม?


เบาหวานขึ้นตาเป็นภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวาน ดังนั้นหากเป็นโรคเบาหวานก็จะมีความเสี่ยงต่อภาวะเบาหวานขึ้นตา และการรักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาจะขึ้นอยู่กับระยะที่เป็น หากอยู่ในระยะเริ่มแรกก็จะสามารถรักษาเพื่อไม่ให้อาการลุกลามรุนแรงได้ โดยการรักษาจะประกอบด้วย


  • การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด ซึ่งเป็นการรักษาที่เน้นที่ต้นเหตุ และหากมีโรคอื่น ๆ เช่น โรคความดัน ไขมันในเลือดสูง ก็ต้องควบคุมและรักษาโรคร่วมเหล่านี้ด้วย
  • การปรับเปลี่ยนการดำเนินชีวิต หรือไลฟ์สไตล์ เช่น การควบคุมอาหาร หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้หลอดเลือดเสียหายมากขึ้น
  • การรักษาด้วยการยิงเลเซอร์ หากเริ่มมีเลือดออกในลูกตาเยอะขึ้น โดยแพทย์จะยิงเลเซอร์ที่บริเวณรอบนอกของจอประสาทตา เพื่อลดออกซิเจนของเนื้อเยื่อตาที่จะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบ และช่วยลดการหลั่งสารสร้างหลอดเลือดที่ผิดปกติจากเบาหวานขึ้นตา
  • การฉีดยาเข้าที่น้ำวุ้นลูกตา เพื่อลดการบวมของจอประสาทตา ในผู้ป่วยที่มีจอประสาทตาบวมร่วมด้วย
  • การผ่าตัด ซึ่งเป็นการรักษาในรายที่อาการรุนแรง เช่น ในรายที่มีพังผืด ภาวะจอตาลอก หรือมีเลือดออกในวุ้นลูกตามาก
  • การรักษาหลายวิธีร่วมกัน ในรายที่รุนแรงมาก การรักษาเพียงวิธีใดวิธีหนึ่งอาจไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับการรักษาหลายวิธีร่วมกัน ทั้งนี้แพทย์จะพิจารณาการรักษาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย

ในผู้ป่วยที่รักษาภาวะเบาหวานขึ้นตาจนโรคสงบแล้ว จำเป็นที่จะต้องตรวจติดตามอยู่เป็นระยะ และยังคงต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดอย่างต่อเนื่อง



นวัตกรรมการรักษาเบาหวานขึ้นตา


ปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมากขึ้น ทำให้เครื่องมือการตรวจวินิจฉัยโรคเกี่ยวกับดวงตามีความก้าวหน้ามากขึ้น เช่น กล้องตรวจตาที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ที่สามารถถ่ายภาพและต่อภาพที่ทำให้เห็นพื้นที่จอประสาทตาได้ถึง 200 องศา (โดยที่กล้องแบบเดิมสามารถถ่ายได้เพียง 50 องศา) ทำให้ช่วยลดการใช้ยาขยายม่านตา และทำให้ความไวในการตรวจโรคดีขึ้น และยังให้ผลดีสำหรับผู้ป่วย เพราะแต่เดิมหลังหลอดยาขยายม่านตาจะทำให้ผู้ป่วยเห็นภาพเบลอไปราว 4-5 ชั่วโมง ทำให้ไม่สามารถขับรถได้ ดังนั้นการมาตรวจตาแบบเดิมจำเป็นต้องมีญาติมาด้วย เพราะผู้ป่วยจะไม่สามารถขับรถกลับบ้านเองได้


นอกจากนี้ยาที่ใช้รักษาภาวะเบาหวานขึ้นตายังพัฒนาไปมาก แต่อาจยังมีข้อจำกัดอยู่บ้าง คือ ในระยะ 4-6 เดือนแรกผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับยาทุกเดือน ซึ่งจะทำให้ผู้ป่วยมีโอกาสที่จะฟื้นฟูการมองเห็นให้กลับมาใกล้เคียงปกติได้ถึง 60-70%



การป้องกันเบาหวานขึ้นตา


  • ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้ปกติ
  • ควบคุมไขมันในเลือด และความดันให้ปกติ
  • รับประทานยาเบาหวานอย่างสม่ำเสมอ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ไม่เพิ่มหรือลดยาเอง
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพตาประจำปี
  • ผู้ป่วยเบาหวานแนะนำให้ตรวจจอประสาทตาอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง


การดูแลสุขภาพตา


  • พักสายตาเป็นระยะ ๆ เมื่อต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น หากใช้จอประมาณ 1-2 ชั่วโมง ควรพักสายตาสัก 5-10 นาที โดยพยายามหาจุดโฟกัสที่ไกล ๆ เพื่อลดการล้าของดวงตา
  • กระพริบตาบ่อย ๆ และ ใช้น้ำตาเทียม หากมีอาการตาแห้ง จากการใช้สายตาหรือเพ่งจอนาน ๆ
  • รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า-3 (omega-3) จะช่วยลดอาการตาแห้งได้
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามิน A, C, D และ สังกะสี (zinc) จะช่วยชะลอความเสื่อมของจุดรับภาพ ในผู้ที่มีโรคเฉพาะทางตา
  • สวมแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันรังสี UV
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยลดความเมื่อยล้าของดวงตาได้
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะจอประสาทตาเสื่อม
  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับดวงตา


สรุป


  • พักสายตาเป็นระยะ ๆ เมื่อต้องใช้สายตาเป็นเวลานาน เช่น หากใช้จอประมาณ 1-2 ชั่วโมง ควรพักสายตาสัก 5-10 นาที โดยพยายามหาจุดโฟกัสที่ไกล ๆ เพื่อลดการล้าของดวงตา
  • กระพริบตาบ่อย ๆ และ ใช้น้ำตาเทียม หากมีอาการตาแห้ง จากการใช้สายตาหรือเพ่งจอนาน ๆ
  • รับประทานอาหารที่มีโอเมก้า-3 (omega-3) จะช่วยลดอาการตาแห้งได้
  • รับประทานอาหารที่มีวิตามิน A, C, D และ สังกะสี (zinc) จะช่วยชะลอความเสื่อมของจุดรับภาพ ในผู้ที่มีโรคเฉพาะทางตา
  • สวมแว่นตากันแดด เพื่อป้องกันรังสี UV
  • พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยลดความเมื่อยล้าของดวงตาได้
  • ดื่มน้ำสะอาดอย่างเพียงพอ 8-10 แก้วต่อวัน เพื่อให้ดวงตาชุ่มชื้น
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันโรคเรื้อรังต่าง ๆ
  • หลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงของภาวะจอประสาทตาเสื่อม
  • ตรวจสุขภาพตาเป็นประจำสม่ำเสมอ เพื่อลดความเสี่ยงโรคเกี่ยวกับดวงตา


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ศิริพงศ์  สินประจักษ์ผล

นพ. ศิริพงศ์ สินประจักษ์ผล

ศูนย์จักษุ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital