บทความสุขภาพ

Knowledge

วัคซีนโมเดอร์นา (Moderna) วัคซีนทางเลือกที่คนไทยหลายคนกำลังรอคอย

โดย พญ.ปิยะรัตน์ สัมฤทธิ์ประดิษฐ์ พญ.สิริอร วัชรานานันท์ และ นพ.ชนรัฐ เสถียร

วัคซีน Moderna (โมเดอร์นา) เป็นวัคซีนทางเลือกที่องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาได้อนุมัติให้ใช้เป็นกรณีฉุกเฉินตั้งแต่วันที่ 18 ธันวาคม 2563 ต่อจากวัคซีน Pfizer


สำหรับประเทศไทย Moderna เป็นวัคซีนทางเลือกที่จะได้นำมาใช้ในประเทศโดยภาคเอกชน ซึ่งเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมานี้ ทางคณะกรรมการอาหารและยา ก็ได้ขึ้นทะเบียนวัคซีนดังกล่าวในตำรับยาแผนปัจจุบัน ในฐานะยาควบคุมพิเศษ และมีแนวโน้มที่คนไทยจะได้ฉีดกันเร็ว ๆ นี้


สำหรับคนที่กำลังสงสัยว่า วัคซีนชนิดนี้เป็นอย่างไร มีประสิทธิภาพแค่ไหน และมีรายละเอียดเชิงลึกอะไรที่ควรรู้บ้าง สามารถเลือกอ่านเนื้อหาตามสารบัญได้เลย!


วัคซีน Moderna คืออะไร?


วัคซีน Moderna หรือโมเดอร์นา (mRNA-1273) คือ วัคซีนชนิด mRNA ซึ่งเป็นนวัตกรรมล่าสุดที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยบริษัทสัญชาติอเมริกัน คือ บริษัทโมเดอร์นา (ModernaTX, Inc.) ถือว่าเป็นวัคซีนอีกยี่ห้อที่ได้รับการยอมรับ เนื่องจาก องค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาหรือ US FDA อนุมัติให้ใช้เป็นตัวที่ 2 ถัดจากวัคซีนโควิดไฟเซอร์ (Pfizer)


Moderna วัคซีนชนิด mRNA


วัคซีนโควิด 19 ของ Moderna ได้เลือกใช้เทคนิคการผลิตแบบ mRNA ซึ่งนับว่าเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่เคยใช้กับการพัฒนาวัคซีนป้องกันอีโบล่า


โดยวัคซีนประกอบด้วยโปรตีนสังเคราะห์ที่เรียกว่า mRNA ซึ่งมีลักษณะคล้ายสารพันธุกรรมส่วนหนึ่งของไวรัสโควิด 19


ซึ่งเมื่อฉีดเข้าไปในร่างกายแล้วจะกระตุ้นให้เซลล์ในร่างกายสร้างโปรตีนขนาดเล็กๆที่คล้ายกับหนามบนเปลือกหุ้มไวรัสโควิด 19 และโปรตีนนี้จะไปกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันในร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันต่อการติดเชื้อโควิด 19


PR9-Moderna-mRNA-work-2-หลักการของวัคซีน-mRNA.jpg

โดยในปัจจุบันวัคซีนที่ใช้เทคโนโลยีนี้ ได้แก่ Pfizer (ไฟเซอร์) และ Moderna (โมเดอร์นา)


วัคซีน Moderna ต้องฉีดกี่เข็ม? ห่างกันเท่าไหร่?


วัคซีน Moderna เป็นวัคซีนแบบฉีด 2 เข็มเข้ากล้ามเนื้อ มีข้อแนะนำให้ฉีดห่างกัน 4 สัปดาห์ หรือประมาณ 28 – 42 วัน (ขึ้นอยู่กับแพทย์ประเมิน)


PR9-Moderna-period-ระยะห่างเข็มหนึ่งเข็มสอง.jpg

คำแนะนำการฉีดวัคซีน Moderna หลังได้รับวัคซีน Sinovac Sinopharm หรือ AstraZeneca มาแล้ว


สถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทย กำลังเร่งกระจายการฉีดวัคซีนให้เข้าถึงประชาชนให้มากที่สุด โดยมีการฉีดวัคซีนหลัก ๆ ทั้งหมด 3 ยี่ห้อ คือ Sinovac Sinopharm และ AstraZeneca และเมื่อวันที่ 19 ก.ค. 2564 ประเทศไทยมีการฉีดวัคซีนปรับสูตร ฉีดแบบสลับยี่ห้อ เพื่อหวังให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็วที่สุด


สำหรับวัคซีนทางเลือกที่หลาย ๆ คนรอคอยจะฉีด Moderna เป็นเข็มที่ 2 หรือ 3 เพื่อเป็นการกระตุ้นภูมิ ซึ่งมีหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนชนิด mRNA ในกรณีนี้กันมากขึ้น ทางโรงพยบาลจึงได้ทำข้อแนะนำไว้ดังนี้


PR9-Moderna-vaccine-table.jpg

กรณีของ AstraZeneca :


สำหรับผู้ที่ได้รับ AstraZeneca ไปแล้ว 2 เข็ม


ภูมิคุ้มกัน 2 เข็ม จาก AstraZeneca พบว่ามีระดับที่สูงและอยู่ได้เป็นเวลานาน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถ้าฉีดห่างกัน 8-12 สัปดาห์ ปัจจุบันจึงยังไม่มีคำแนะนำที่แน่ชัด ถึงการฉีดกระตุ้นวัคซีนเข็ม 3 ว่าจะต้องฉีดซ้ำเมื่อไหร่


คำแนะนำ: หากท่านได้รับวัคซีน AstraZeneca ครบ 2 เข็มก่อนเดือนตุลาคม พ.ศ. 2564 ท่านสามารถรอวัคซีนรุ่นใหม่ในปีหน้าได้


อย่างไรก็ตาม หากท่านเป็นผู้ที่มีโรคประจำตัว หรืออายุมากกว่า 60 ปี ภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นจากการฉีด AstraZeneca ครบ 2 เข็ม อาจจะไม่สูงมากนัก ขอแนะนำให้ท่านปรึกษาแพทย์ประจำตัว ว่ามีความจำเป็นต้องได้รับวัคซีน mRNA ภายในปีนี้เลยหรือไม่


สำหรับผู้ที่ได้รับ AstraZeneca ไปแล้ว 1 เข็ม


ปัจจุบัน การศึกษาวัคซีนสูตรสลับระหว่าง AstraZeneca และ mRNA vaccine (Moderna/Pfizer) มีหลายการศึกษา ทั้งในประเทศสวีเดน อังกฤษ และสเปน ซึ่งทั้งหมดพบว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca และตามด้วย mRNA vaccine (Moderna/Pfizer) ต่างให้ระดับภูมิคุ้มกันที่สูงกว่าการฉีดวัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม


คำแนะนำ: ให้ท่านรับการฉีดกระตุ้นด้วย Moderna 1 เข็ม หลังฉีด AstraZeneca ไปแล้ว 1-3 เดือน อย่างไรก็ดี เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ถ้าท่านต้องรอวัคซีน Moderna เกิน 3 เดือน ขอแนะนำให้ท่านฉีดวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 กระตุ้นไปก่อน โดยไม่ต้องรอวัคซีน Moderna


กรณีของ Sinovac หรือ Sinopharm :


สำหรับผู้ที่ได้รับ Sinovac หรือ Sinopharm ไปแล้ว 1 เข็ม


สำหรับการรับวัคซีนเชื้อตายเพียง 1 เข็มนั้น ไม่เพียงพอในการป้องกัน หรือลดความรุนแรงของโรคในระหว่างนี้ ท่านควรเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 อย่างรีบด่วนตามระยะเวลาที่เหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นวัคซีนเชื้อตายชนิดเดิม หรือวัคซีน AstraZeneca ที่อาจได้รับการจัดสรร แต่หากไม่ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 เพิ่มเติมและถึงกำหนดการรับวัคซีน Moderna แล้ว ควรได้รับวัคซีน Moderna ในจำนวน 2 เข็ม


คำแนะนำ: ให้ท่านได้รับวัคซีน Moderna จำนวน 2 เข็ม อย่างไรก็ตามหากต้องรอ Moderna เกิน 1 เดือน แนะนำให้ท่านฉีด Sinovac หรือ Sinopharm ให้ครบ 2 เข็มไปก่อน


สำหรับผู้ที่ได้รับ Sinovac หรือ Sinopharm ไปแล้ว 2 เข็ม


การรับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็มนั้น ภูมิจะขึ้นได้ดีในระดับปานกลางถึงดี อย่างไรก็ตาม หลังฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว ระดับของภูมิคุ้มกันจะเริ่มตกลงอย่างชัดเจน หลังจากการฉีดเข็มที่ 2 ไปแล้ว 2 เดือน (ข้อมูลจาก: ศูนย์วิจัยทางคลินิก คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ห้องปฏิบัติการไวรัสวิทยาศูนย์ BIOTEC) https://www.facebook.com/anan.jongkaewwattana/posts/4576021682437718


ในประเทศที่ได้ sinovac หรือ sinopharm เป็นหลักมาก่อน เช่น บาเรน ตุรกี และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ต่างแนะนำให้ฉีดเข็ม 3 เป็นวัคซีน mRNA หลังจากรับวัคซีนเชื้อตายเข็ม 2 แล้วประมาณ 6 เดือน (ข้อมูลจาก: https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-booster-factbox-idUSKBN2FK12K)


เนื่องจากการระบาดของสายพันธุ์เดลต้าซึ่งเป็นไวรัสที่ทำให้การติดเชื้อรุนแรงและมีความสามารถในการหนีภูมิ การกระตุ้นด้วยวัคซีนเข็มที่ 3 จึงมีความเหมาะสมในสถานการณ์ปัจจุบันนี้


คำแนะนำ: ให้ท่านรับการฉีดกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย Moderna 1 เข็ม โดยท่านอาจจะพิจารณาฉีดกระตุ้นเพิ่มเติมหลังฉีดวัคซีนเชื้อตายเข็มที่ 2 ไปแล้ว 3-6 เดือนเป็นต้นไป หรืออาจพิจารณารับการฉีดด้วย Moderna 2 เข็ม ถ้าท่านรับวัคซีนเชื้อตายไปแล้ว 2 เข็มนานเกิน 6 เดือน หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ


ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และช่วงระยะเวลาที่ฉีดกระตุ้นยังมีจำกัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น


สำหรับผู้ที่ได้รับ Sinovac หรือ Sinopharm ไปแล้ว 3 เข็ม


จากการศึกษาเบื้องต้นในประเทศจีนพบว่า หลังกระตุ้นด้วยวัคซีน Sinovac เข็มที่ 3 แล้ว เมื่อติดตามระดับภูมิคุ้มกัน พบว่าสูงขึ้นแต่ยังคงเป็นระดับที่ไม่สูงมากนัก (ข้อมูลจาก: https://www.medrxiv.org/content/10.1101/2021.07.23.21261026v1)


ในทางเดียวกัน ข้อมูลจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ได้รับ Sinovac มาแล้ว 2 เข็ม ตามด้วยเข็มที่ 3 เป็น Sinopharm นั้น จะไม่สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้นได้มากนัก


ทั้งนี้ ณ ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่มากเพียงพอว่าท่านควรรับการฉีดกระตุ้นด้วย Moderna เพิ่มอีก 1 เข็มเมื่อไหร่


คำแนะนำ: ท่านอาจจะพิจารณารับการฉีดกระตุ้นด้วยวัคซีน Moderna เพื่อเป็นเข็มที่ 4 หลังจากที่ท่านได้ฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 ไปแล้ว 3-6 เดือน


ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และช่วงระยะเวลาที่ฉีดกระตุ้นยังมีจำกัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น


สำหรับผู้ที่ได้รับ Sinovac หรือ Sinopharm ไปแล้ว 2 เข็ม และตามด้วย AstraZeneca เป็นเข็มที่ 3


ปัจจุบันยัง มีงานวิจัยของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ประเทศไทย พบว่าผู้ที่ได้รับวัคซีนกลุ่มนี้ มีภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดลต้าค่อนข้างสูง แต่ยังไม่มีผลการศึกษาวิจัยว่าภูมิคุ้มกันสามารถคงระดับสูงอยู่ได้นานเพียงใด


คำแนะนำ: ท่านอาจรอหลังฉีด AstraZeneca เข็ม 3 อย่างน้อย 3 เดือน ขึ้นไป แล้วค่อยพิจารณามารับวัคซีน Moderna เข็ม 4 ได้


ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับประสิทธิภาพ และช่วงระยะเวลาที่ฉีดกระตุ้นยังมีจำกัด แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น


กรณีของ Sinovac หรือ Sinopharm ร่วมกับ AstraZeneca :


จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน การฉีดวัคซีนแบบไขว้สูตรนี้ยังน้อยมาก ในแง่ของภูมิตอบสนอง แต่มีความเป็นไปได้สูงที่อาจจะดีกว่า การได้รับสูตรวัคซีน Sinovac หรือ Sinopharm 2 เข็ม


สำหรับผู้ที่ต้องการรับวัคซีน Moderna เพิ่ม ท่านอาจจะพิจารณารับการฉีดกระตุ้นเพียง 1 เข็ม หลังรับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ไปแล้วอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป อย่างไรก็ตามยังคงต้องติดตามข้อมูลประสิทธิภาพของสูตรไขว้นี้อย่างใกล้ชิด


คำแนะนำ: ท่านสามารถพิจารณารับวัคซีน Moderna เป็นเข็มที่ 3 ได้ หลังจากที่ได้รับวัคซีน AstraZeneca เข็มที่ 2 ไปแล้วอย่างน้อย 3 เดือนขึ้นไป


ทั้งนี้เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบัน การระบาดของสายพันธุ์เดลต้าที่รุนแรง หากท่านยังไม่ได้รับวัคซีนใด ๆ เลย ทางโรงพยาบาลแนะนำว่า ให้รีบฉีดวัคซีนชนิดใดก็ได้ไปก่อน และหากสามารถรับวัคซีนจนครบ 2 เข็มได้จะยิ่งเป็นผลดี เพราะการระบาดของสายพันธุ์เดลต้า ไม่ว่าวัคซีนชนิดใดก็ตาม แม้โอกาสป้องกันโรคจะไม่สูงมาก แต่สามารถลดความรุนแรงของโรคได้


ประสิทธิภาพของวัคซีน Moderna


จากการสำรวจและศึกษาเบื้องต้นพบว่า วัคซีน Moderna มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิด 19 อยู่ที่ 94.1% โดยมีรายละเอียด ดังนี้


  • ป้องกันการติดเชื้อได้ 94.1%
  • ป้องกันการติดโรคได้ 86.4% สำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป
  • ลดความรุนแรงของโรค และลดโอกาสเสียชีวิตจากโรคได้ 100%
  • ข้อมูลจากห้องปฏิบัติการพบว่า วัคซีน Moderna ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้มากพอที่จะยับยั้งโควิด 19 สายพันธุ์ B.1.17 จากอังกฤษ และสายพันธุ์ B.1.351 จากแอฟริกาใต้ได้
  • ข้อมูลจาก:

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่กล่าวมานี้ เป็นข้อสรุปจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง อาจมีความแตกต่างกันไปตามลักษณะของประชาชนแต่ละประเทศ รวมถึงสายพันธุ์โควิด 19 ที่ระบาดอยู่ในพื้นที่นั้น ๆ เมื่อได้รับวัคซีน Moderna แล้ว ผู้เข้ารับวัคซีนยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดอย่างเคร่งครัดต่อไป


วัคซีน Moderna ป้องกันโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ได้หรือไม่?


ModernaPerformance-wp-ประสิทธิภาพวัคซีนโมเดอร์น่า.jpg

มีงานวิจัยจากการทดลอง เมื่อกลางปี 2020 พบว่า วัคซีน Moderna มีประสิทธิภาพในการป้องกันโควิดได้หลายสายพันธุ์ ได้แก่


  1. สายพันธุ์อัลฟา (Α): ที่ค้นพบครั้งแรกในสหราชอาณาจักร (B.1.1.7)
  2. สายพันธุ์บีต้า (B): ที่ค้นพบครั้งแรกในแอฟริกาใต้ (B.1.351)
  3. สายพันธุ์แกมมา (Γ): ที่ค้นพบครั้งแรกในบราซิล (P.1)
  4. สายพันธุ์เดลต้า (Δ): ที่ค้นพบครั้งแรกในอินเดีย (B.1.617.2)

ข้อมูลจาก

https://www.nature.com/articles/s41591-021-01446-y


https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMc2107799


https://investors.modernatx.com/news-releases/news-release-details/moderna-covid-19-vaccine-retains-neutralizing-activity-against


ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ จากวัคซีน Moderna


จากการศึกษาพบว่า อาจมีผลข้างเคียงโดยเริ่มมีอาการหลังจากที่ได้รับวัคซีน Moderna ไปแล้วประมาณ 1-2 วัน ซึ่งอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เองใน 2-3 วัน


ผลข้างเคียงบริเวณที่ได้รับการฉีดวัคซีน


  • ปวด
  • บวม
  • แดง

ผลข้างเคียงอื่น ๆ ทั่วร่างกาย


  • มีอาการหนาวสั่น หรือเป็นไข้
  • รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย
  • ปวดหัว
  • ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ
  • คลื่นไส้

รายงานอาการบ่งชี้ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ


จากข่าวที่มีรายงานอาการไม่พึงประสงค์ภายหลังการได้รับวัคซีนชนิด mRNA (Pfizer และ Moderna) โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐฯ (CDC) เช่น ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ


พบว่าส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง และเป็นกรณีที่เกิดขึ้นน้อยมากเพียง 12.6 รายต่อการฉีดวัคซีน 1 ล้านโดส หรือคิดเป็น 0.00126% เท่านั้น โดยผู้ป่วยอาจมีอาการเมื่อยล้าและเจ็บหน้าอกชนิดไม่รุนแรง ซึ่งเป็นหนึ่งในสัญญาณของภาวะอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ


ซึ่งส่วนใหญ่ก็หายดีแล้วและกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ


(ข้อมูลจาก: https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/vaccines/safety/myocarditis.html)


PR9-Moderna-Effect-768x768-1.png

ข้อแนะนำที่เหมาะสมสำหรับใครที่ฉีดวัคซีนเข็มแรกแล้วเกิดอาการแพ้ทันที ไม่ว่าจะเป็นอาการแพ้รุนแรงหรือไม่รุนแรงก็ตาม คือ ไม่ควรรับวัคซีนประเภทเดิมในเข็มที่สอง และควรปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อความแน่ใจ


ใครสามารถรับวัคซีน Moderna ได้?


วัคซีน Moderna เหมาะสำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไป (ต่ำกว่านี้ยังไม่แนะนำ) อย่างไรก็ดีขณะนี้กำลังมีการศึกษาข้อมูลวัคซีนในกลุ่มเด็กอายุ 12-18 ปี ซึ่งหากมีความคืบหน้าอย่างไร ทางโรงพยาบาลจะรีบติดตามข้อมูลและนำเสนอแก่ผู้รับบริการอีกครั้ง


นอกจากนี้ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์และผู้ทำงานด่านหน้า รวมถึงคนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อแล้วยิ่งมีอาการรุนแรง เช่น ผู้ที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง ที่ไม่ได้มีคุณสมบัติที่มีข้อห้าม ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน เพราะผลประโยชน์ที่ได้รับจะมีมากกว่าการไม่ฉีด


อ่าน: กลุ่มเสี่ยงที่ควรเข้ารับการฉีดวัคซีน


ผู้หญิงตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตรอยู่ ฉีดวัคซีน Moderna ได้ไหม?


ผู้หญิงให้นมบุตร : กลุ่มนี้ ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำให้เข้ารับการฉีดวัคซีนได้ตามปกติ และเมื่อได้รับวัคซีนแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องงดให้นมลูก

(ข้อมูลจาก : https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/the-moderna-covid-19-mrna-1273-vaccine-what-you-need-to-know)


ผู้หญิงตั้งครรภ์ : สำหรับวัคซีนในกลุ่ม mRNA ได้แก่ Pfizer และ Moderna มีงานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับความปลอดภัยของการใช้วัคซีนประเภทดังกล่าวในสตรีที่มีอายุครรภ์มากกว่า 12 สัปดาห์ขึ้นไป อย่างไรก็ตามต้องศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติมเนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่

(ข้อมูลจาก : https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/nejmoa2104983)


หากเคยติดเชื้อโควิด 19 มาแล้ว สามารถฉีดวัคซีน Moderna ได้หรือไม่


ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 มาแล้ว ถึงแม้จะมีการสร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อในระยะประมาณ 3-6 เดือน อย่างไรก็ดี มีผู้ป่วยจำนวนหนึ่งที่ไม่พบการสร้างภูมิคุ้มกันหลังการตัดเชื้อ


จึงมีคำแนะนำ ให้ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 ที่ยังไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน เข้ารับการฉีดวัคซีนหลังหายจากอาการป่วยแล้ว โดยรับหลังจากพ้นระยะเวลากักตัวไปแล้ว (ประมาณ 1 เดือนหลังการติดเชื้อ) อย่างไรก็ดีถ้าหากท่านได้รับ monoclonal antibody สำหรับการรักษาโรคโควิด 19 ท่านควรรอประมาณ 3 เดือน หลังจากเวลาที่ได้รับ monoclonal antibody จึงไปฉีดวัคซีน


(ข้อมูลจาก : https://health.clevelandclinic.org/when-should-you-get-vaccinated-if-youve-had-covid-19/)


มีข้อควรระวังอะไรบ้าง สำหรับการฉีดวัคซีน Moderna


ใครไม่ควรฉีด : ผู้ที่มีอาการแพ้รุนแรงต่อส่วนประกอบของวัคซีน สาร PEG หรือ สาร Polysorbate หรือมีอาการแพ้รุนแรงเมื่อฉีดเข็มแรก ไม่ควรฉีดเข็ม 2 ต่อ


ทุกคนควรปรึกษาแพทย์ก่อนรับวัคซีน


จากข้อควรระวังดังกล่าว ดังนั้น แม้ว่าเราจะเข้าเงื่อนไขที่ควรฉีดวัคซีน Moderna แต่หากต้องการรับวัคซีน ควรปรึกษาแพทย์เพื่อพิจารณาความเหมาะสม และปัจจัยต่างๆ ด้านสุขภาพก่อนเสมอ


สรุป


วัคซีน Moderna เป็นวัคซีนประเภท mRNA อีกยี่ห้อหนึ่งที่กำลังเป็นที่สนใจในประเทศไทย เมื่อพิจารณาจากผลการทดสอบด้านประสิทธิภาพและผลสำรวจอาการข้างเคียงต่าง ๆ ที่ผ่านมา ถือได้ว่ามีประสิทธิภาพดีและเป็นที่ยอมรับในระดับสากล


นอกจากนี้ อาการไม่พึงประสงค์ส่วนใหญ่ ก็อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง และสามารถหายได้เองภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่วัน อย่างไรก็ตาม ผู้ที่สนใจควรติดตามศึกษาข่าวสารของวัคซีน Moderna เพื่อเป็นข้อมูลสำหรับการตัดสินใจที่ถี่ถ้วนในการฉีดวัคซีนทางเลือกต่อไป


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital