การฉีดวัคซีนไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นสำหรับเด็กเท่านั้น ถึงแม้ว่าเราจะเคยฉีดวัคซีนในตอนเด็กมาแล้วแต่ภูมิคุ้มกันก็ลดลงตามเวลาที่ผ่านไป และในชีวิตแต่ละช่วงเราอาจมีโอกาสสัมผัสโรคต่าง ๆ ที่แตกต่างจากในวัยเด็ก อีกทั้งอายุที่มากขึ้นอาจทำให้ภูมิคุ้มกันลดลงจนมีความเสี่ยงที่จะติดโรคต่าง ๆ ได้ ดังนั้นการฉีดวัคซีนในผู้ใหญ่จึงมีความจำเป็นเพื่อกระตุ้นภูมิคุ้มกันเดิมที่มีอยู่ให้สูงขึ้นให้เพียงพอต่อการป้องกันโรคและป้องกันการติดเชื้ออื่น ๆ ที่มีโอกาสสัมผัสในวัยผู้ใหญ่
วัคซีนที่แนะนำในทุกวัย
1. วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap)
ผู้ใหญ่ที่เกิดหลังปี 2520 อาจได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้วตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากวัคซีนนี้จะเริ่มให้เป็นวัคซีนพื้นฐานสำหรับทารกทุกคนตั้งแต่ปี 2520 แต่อย่างไรก็ตามภูมิคุ้มกันของทั้ง 3 โรคนี้จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
โดยพบว่าวัยรุ่นและผู้ใหญ่อายุ 15 ขึ้นไปมีภูมิคุ้มกันต่อโรคคอตีบลดลง และในอดีตมีการระบาดของโรคคอตีบเมื่อปี 2555 ซึ่งส่วนใหญ่เกิดในกลุ่มอายุ 15-44 ปี
สำหรับโรคบาดทะยัก กลุ่มผู้สูงอายุถือว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการติดเชื้อบาดทะยักมากที่สุด เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่เคยรับวัคซีนมาก่อน (เพราะกลุ่มผู้สูงอายุเกิดก่อนช่วงที่มีวัคซีน) หรือไม่ได้รับการฉีดกระตุ้นมาเป็นระยะเวลานานทำให้ภูมิคุ้มกันต่อโรคบาดทะยักลดลง
สำหรับโรคไอกรนถึงแม้อาการของโรคไม่รุนแรงในผู้สูงอายุแต่หากมีการแพร่และมีการติดเชื้อในเด็กทารกอาจทำให้ทารกอาการหนักจนถึงเสียชีวิตได้ โดยรายงานพบว่าภูมิคุ้มกันของโรคไอกรนในประชากรไทยมีเพียง 50% เท่านั้นถึงแม้จะเคยฉีดวัคซีนมาก่อน ดังนั้นผู้ใหญ่และผู้สูงอายุทุกคนควรฉีดวัคซีนกระตุ้น โดยแนะนำให้ฉีด บาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) 1 เข็มจากนั้นฉีดกระตุ้นด้วย Tdap หรือ Td (บาดทะยัก คอตีบ) ทุก 10 ปี
2. วัคซีนไข้หวัดใหญ่
สำหรับวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดทุกปี เนื่องจากสายพันธุ์ของไข้หวัดใหญ่มีการเปลี่ยนแปลงทุกปีและภูมิคุ้มกันต่อโรคนี้อยู่ได้ไม่นาน สำหรับคำแนะนำการฉีดวัคซีนไข้หวัดใหญ่ควรฉีดก่อนเข้าหน้าฝนซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดสูงในประเทศไทย โดยฉีดปีละ 1 เข็ม
วัคซีนที่แนะนำในวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น อายุ 15-26 ปี
วัยรุ่นเป็นวัยที่มีการรวมกลุ่มกันและมีปฏิสัมพันธ์กันทางสังคมสูง จึงอาจมีความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อได้ นอกจากนี้วัยรุ่นบางคนอาจรับวัคซีนบางอย่างในวัยเด็กไม่ครบถ้วนซึ่งก็จะยิ่งมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้มากขึ้น วัคซีนที่แนะนำในกลุ่มนี้ได้แก่
1. วัคซีน (hepatitis A)
ไวรัสตับอักเสบเอเป็นโรคที่ติดต่อจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อ ทำให้เกิดอาการตับอักเสบ ถ้าอาการรุนแรงอาจถึงขั้นตับวาย และหากมีโรคตับแข็งหรือตับเรื้อรังอยู่เดิมอาจทำให้เสียชีวิตได้
ข้อมูลในปัจจุบันพบว่าวัยรุ่นไทยอายุ 15-20 ปี มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติจากการติดเชื้อตามธรรมชาติน้อยลง โดยในประชากรกลุ่มนี้มีจำนวนน้อยกว่า 10% ที่มีภูมิคุ้มกันธรรมชาติต่อไวรัสตับอักเสบเอ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยเมื่อเทียบกับประชากรโดยรวม ทั้งนี้อาจเนื่องจากโอกาสการสัมผัสเชื้อน้อยลงจากสุขอนามัยของประชาชนที่ดีขึ้น ดังนั้นประชากรกลุ่มนี้จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อและหากได้รับเชื้อแล้วก็จะเกิดการแพร่ระบาดได้ เพราะฉะนั้นจึงมีคำแนะนำให้ผู้ที่อยู่ในวัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่เข้ารับการฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ หากไม่มีประวัติได้รับวัคซีนมาก่อน
2. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B)
ไวรัสตับอักเสบบีเป็นโรคที่ติดต่อทางเลือด เพศสัมพันธ์ สารคัดหลั่งที่ปนเปื้อนเลือดหรือจากแม่สู่ลูก จากสถิติพบว่าประมาณ 5% ของประชากรไทยมีการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีแบบเรื้อรัง ซึ่งอาจไม่แสดงอาการแต่สามารถแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ นอกจากนี้การติดเชื้อเรื้อรังนั้นจะนำไปสู่โรคมะเร็งตับได้อีกด้วย โดยทารกที่เกิดหลังปี 2535 จะได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้ แต่อย่างไรก็ตามหากไม่แน่ใจว่าได้รับวัคซีนตอนเด็กครบแล้วหรือไม่ ควรเข้ารับการฉีดวัคซีนโดยแนะนำให้เจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีดเพื่อตรวจหาภูมิคุ้มกันของไวรัสตับอักเสบบี
3. วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV)
สาเหตุหลักของมะเร็งปากมดลูกเกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของผู้หญิง และเชื้อ HPV ยังเป็นสาเหตุหลักของมะเร็งทวารหนักในเพศชาย มะเร็งในคอหอย หูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และมะเร็งที่อวัยวะเพศ
สำหรับวัคซีนมะเร็งปากมดลูกแนะนำให้ฉีดในเด็กและวัยรุ่นหญิงและชายอายุ 9-26 ปี ซึ่งจะได้ประสิทธิภาพสูงเนื่องจากการตอบสนองต่อภูมิคุ้มกันดีและส่วนใหญ่ไม่เคยสัมผัสโรคมาก่อน ถึงแม้การติดเชื้อ HPV ในผู้ชายส่วนใหญ่จะไม่ก่อให้เกิดอาการ แต่การฉีดวัคซีนในผู้ชายจะช่วยป้องกันการเป็นพาหะที่จะนำเชื้อไปสู่ผู้หญิง วัคซีนมะเร็งปากมดลูกมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ 90-100% และภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานอย่างน้อย 10 ปี
4. วัคซีนหัด หัดเยอรมัน และคางทูม (MMR)
โรคหัดเป็นโรคที่ติดต่อง่ายและทำให้เกิดโรครุนแรงได้ในคนที่ภูมิคุ้มกันบกพร่อง สำหรับโรคหัดเยอรมันหากมีการติดเชื้อในหญิงตั้งครรภ์จะส่งผลให้ทารกในครรภ์เกิดความพิการได้
ในวัยวัยรุ่นและวัยผู้ใหญ่ตอนต้นหากฉีดวัคซีนครบตามเกณฑ์ตั้งแต่วัยเด็กมักจะได้รับวัคซีนชนิดนี้แล้ว แต่บางคนอาจจะยังได้รับไม่ครบ 2 เข็ม จะทำให้ภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอและมีความเสี่ยงในการติดเชื้อได้ และที่ผ่านมายังพบว่ามีการระบาดของหัดและหัดเยอรมันในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 35 ปี ดังนั้นหากไม่แน่ใจว่าเคยรับการฉีดวัคซีนครบหรือไม่ แนะนำให้ฉีดอย่างน้อย 1 เข็ม
5. วัคซีนอีสุกอีใส (varicella zoster)
วัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่ยังไม่เคยเป็นอีสุกอีใสมาก่อนควรฉีดวัคซีนชนิดนี้ เนื่องจากโรคอีสุกอีใสเป็นโรคที่ติดต่อง่ายและมีอาการรุนแรงในผู้ใหญ่ โดยแนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนการฉีดวัคซีน เนื่องจากการศึกษาในประชากรไทยพบว่ากว่า 80% ของผู้ใหญ่ที่อายุ 20 ปีขึ้นไปมีภูมิคุ้มกันต่อโรคอีสุกอีใสแล้วถึงแม้จะไม่แน่ใจว่ามีประวัติการติดเชื้อมาก่อนหรือไม่
วัคซีนที่แนะนำในผู้ใหญ่ อายุ 27-59 ปี
1. วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี (hepatitis B)
วัคซีนชนิดนี้จะเริ่มฉีดเป็นวัคซีนพื้นฐานให้กับทารกทุกคนตั้งแต่ปี 2535 ดังนั้นผู้ใหญ่ที่เกิดก่อนปี 2535 จะยังไม่เคยได้รับวัคซีนชนิดนี้ จึงทำให้มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีได้ ซึ่งการติดเชื้อเรื้อรังจะนำไปสู่มะเร็งตับได้ โดยไวรัสตับอักเสบบีนี้ติดต่อง่ายผ่านทางเลือด การสัมผัสสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อ การใช้สิ่งของที่มีโอกาสสัมผัสเลือด เช่น แปรงสีฟัน มีดโกน ร่วมกัน
ดังนั้นแนะนำให้ฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีในผู้ใหญ่ทุกคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน โดยเฉพาอย่างยิ่งในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ที่อาศัยร่วมบ้านกับผู้ที่ติดเชื้อ บุคลากรการแพทย์ ผู้ที่ทำงานสถานพยาบาล ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่สวมถุงยางอนามัย กลุ่มชายรักชาย และผู้ที่ไม่เคยได้รับวัคซีน หรือผู้ที่ไม่แน่ใจว่าฉีดวัคซีนไวรัสตับอักเสบบีครบ 3 เข็มหรือไม่ โดยควรตรวจภูมิคุ้มกันและตรวจว่ามีการติดเชื้อมาก่อนหรือไม่ก่อนฉีดวัคซีน
2. วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (MMR)
โรคหัดและหัดเยอรมันพบมากในผู้ที่อายุน้อยกว่า 35 ปี เนื่องจากอาจได้รับวัคซีนไม่ครบ 2 เข็มในวัยเด็ก หรือยังไม่มีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติ โดยสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยแนะนำให้ฉีดวัคซีนนี้ในผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 40 ปีที่ไม่เคยได้รับวัคซีนมาก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ง่าย เช่น บุคลากรการแพทย์ ครู ผู้ที่ทำงานในสถานเลี้ยงเด็ก ผู้ที่อาศัยในสถานที่แออัด นอกจากนี้หญิงวัยเจริญพันธุ์ที่มีแผนจะตั้งครรภ์หากไม่แน่ใจประวัติการได้รับวัคซีนนี้ควรฉีดวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม โดยฉีดก่อนตั้งครรภ์อย่างน้อย 1 เดือน
3. วัคซีนอีสุกอีใส (varicella zoster)
ประมาณ 90% ของประชากรไทยที่อายุมากกว่า 30 ปีพบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อโรคอีสุกอีใส ดังนั้นกลุ่มที่เสี่ยงต่อการติดเชื้ออีสุกอีใสและควรได้รับการฉีดวัคซีนชนิดนี้คือกลุ่มผู้ที่อายุน้อยกว่า 30 ปีที่ไม่เคยเป็นอีสุกอีใส อย่างไรก็ตามสำหรับผู้ที่อายุมากกว่า 30 ปีที่ไม่แน่ใจประวัติการเป็นอีสุกอีใสและมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ง่ายเช่น บุคลากรการแพทย์ ครู ผู้ที่ทำงานในสถานเลี้ยงเด็ก ผู้ที่อาศัยในสถานที่แออัด ผู้ที่อยู่บ้านเดียวกับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง รวมถึงหญิงวัยเจริญพันธุ์ที่หากมีการติดเชื้อระหว่างการตั้งครรภ์อาจเกิดทำให้เกิดความพิการแก่ทารกในครรภ์ได้ ควรรับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใส โดยแนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด
4. วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ (hepatitis A)
ในอดีตพบว่า 90% ของผู้ใหญ่ที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปมีภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติซึ่งเกิดการติดเชื้อตามธรรมชาติแล้ว แต่ปัจจุบันสุขอนามัยของประชากรดีขึ้น ทำให้การติดเชื้อตามธรรมชาติน้อยลงจึงพบภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบเอในผู้ใหญ่น้อยลงด้วย โดยพบว่า 90% ของผู้ใหญ่อายุ 50 ปีขึ้นไปมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสตับอักเสบเอ ดังนั้นในผู้ใหญ่ที่อายุน้อยกว่า 50 จะยังมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสตับอักเสบเอได้
โดยแนะนำให้ผู้ใหญ่กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงควรได้รับวัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ เช่น กลุ่มชายรักชาย ผู้ที่จะเดินทางไปประเทศที่มีความชุกของโรคสูง หรือในผู้ที่ติดเชื้อแล้วมีโอกาสแพร่กระจายเชื้อได้ง่าย เช่น ผู้ที่ทำอาชีพประกอบอาหาร หรือกลุ่มที่มีโรคไวรัสตับอักเสบบี ไวรัสตับอักเสบซี ตับแข็ง หรือตับอักเสบเรื้อรังอยู่เดิมซึ่งมีโอกาสติดเชื้อรุนแรงได้ โดยแนะนำให้ตรวจภูมิคุ้มกันก่อนฉีด
5. วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV)
ผู้ใหญ่ที่มีอายุ 27-45 ปี อาจพิจารณาให้ฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูกได้แม้ประโยชน์ที่ได้จากวัคซีนจะน้อยกว่ากลุ่มอายุ 9-26 ปี เพราะกลุ่มอายุนี้อาจเคยได้รับเชื้อ HPV จากการมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว แต่วัคซีนก็ยังมีประโยชน์ในการป้องกันการติดเชื้อ HPV ชนิดอื่นที่ไม่เคยติดมาก่อน
ในเพศชายแนะนำให้ฉีดในกลุ่มรักร่วมเพศซึ่งมีโอกาสติดเชื้อ HPV สูง ซึ่งเชื้อ HPV นี้เป็นสาเหตุของโรคมะเร็งทวารหนักและมะเร็งองคชาติ โดยแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ก่อนเพื่อพิจารณาถึงความคุ้มค่าของการได้รับวัคซีนในผู้ใหญ่กลุ่มอายุ 27-45 ปี
วัคซีนที่แนะนำสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป
1. วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัส (PCV 13, PPSV 23)
วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัสสามารถป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียนิวโมคอคคัสซึ่งเป็นแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุหลักของปอดอักเสบ ซึ่งติดต่อทางละอองไอหรือจามของผู้ที่ติดเชื้อ
ผู้สูงอายุและผู้ที่มีโรคประจำตัวหรือผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่องจะมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อและเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้มากกว่าคนทั่วไป โดยภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้แก่ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ ติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจทำให้เสียชีวิตได้
แนะนำให้ฉีดวัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัสในผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป หรือผู้ที่อายุ 19-64 ปีที่มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ ตับแข็ง ปอดเรื้อรัง ไตวาย สูบบุหรี่เรื้อรัง หรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
2. วัคซีนงูสวัด (herpes zoster)
เชื้อที่ทำให้เกิดโรคงูสวัดคือเชื้อชนิดเดียวกับโรคอีสุกอีใส หากติดเชื้ออีสุกอีใสมาก่อนเชื้อจะแฝงอยู่ในปมประสาท เมื่ออายุมากขึ้น ร่วมกับภูมิคุ้มกันของร่างกายต่ำลง เชื้อที่แฝงอยู่ก็จะทำให้เกิดโรคงูสวัดขึ้นซึ่งอาการจะมีผื่นลักษณะเป็นตุ่มน้ำตามแนวเส้นประสาทและปวดแสบร้อน
ความเสี่ยงของงูสวัดจะเพิ่มขึ้นเมื่อมีอายุ 50 ปีขึ้นไป และจะเพิ่มขึ้นชัดเจนเมื่ออายุมากกว่า 60 ปีและมีโอกาสเกิดอาการปวดปลายประสาท (post herpetic neuralgia) ได้มากถึง 20%
@praram9hospital งูสวัด…ไม่ต้องรอเป็น ก็ป้องกันได้! 💉👩⚕️ #งูสวัด #เคล็ดลับสุขภาพ #โรงพยาบาลพระรามเก้า #Praram9Hospital ♬ Funny Kids - Syafeea library
ดังนั้นจึงแนะนำให้ฉีดวัคซีนงูสวัดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป อย่างไรก็ตามสามารถเริ่มฉีดได้เมื่ออายุ 50 ปี โดยวัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อได้ เช่น อาการปวดปลายประสาท การลุกลามไปที่ตาหรือระบบประสาทส่วนกลางซึ่งก่อให้เกิดอาการผิดปกติแบบถาวรได้ โดยผู้ที่เคยเป็นงูสวัดมาก่อนสามารถฉีดได้หลังจากหายจากงูสวัดแล้วอย่างน้อย 1 ปี
คำแนะนำการฉีดวัคซีนตามกลุ่มอายุ
อายุ 15-26 ปี
- วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
- วัคซีนมะเร็งปากมดลูก
- วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม
- วัคซีนอีสุกอีใส
อายุ 27-59 ปี
- วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี
- วัคซีนหัด หัดเยอรมัน คางทูม (อายุ ≤ 40 ปี )
- วัคซีนอีสุกอีใส
- วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอ
- วัคซีนมะเร็งปากมดลูก (อายุ 27-45 ปี ควรปรึกษาแพทย์ก่อนฉีด)
อายุ 60 ปีขึ้นไป
- วัคซีนบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน
- วัคซีนไข้หวัดใหญ่
- วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอคคัส
- วัคซีนงูสวัด
บทความเกี่ยวกับวัคซีนและสุขภาพที่น่าสนใจ
- ข้อควรรู้ก่อนฉีดวัคซีนป้องกันปอดอักเสบนิวโมคอคคัส https://www.praram9.com/pneumococcal-vaccine/
- วัคซีนป้องกันบาดทะยัก คอตีบ ไอกรน (Tdap) https://www.praram9.com/dtp-vaccine/
- ตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อรู้ทันโรคร้ายที่อาจมาเยือนโดยไม่รู้ตัว https://www.praram9.com/health-check-up/
- LONG COVID หลังติดเชื้อแล้ว โควิดทิ้งอะไรไว้ให้กับร่างกายเรา ! https://www.praram9.com/long-covid/
สำหรับผู้ที่สนใจใช้บริการ ศูนย์วัคซีนและเวชศาสตร์การเดินทาง สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ โรงพยาบาลพระรามเก้า
- Website: https://bit.ly/3xJUA3f
- Line: https://lin.ee/vR9xrQs หรือ @praram9hospital
- Facebook: https://www.facebook.com/praram9Hospital
- โทร.1270
#โรงพยาบาลพระรามเก้า
#HEALTHCAREYOUCANTRUST
#Praram9Hospital