เชื้อ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นไวรัสที่มีหลายสายพันธุ์ เป็นไวรัสที่พบได้บ่อยและมีผลกระทบต่อสุขภาพ เป็นไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของมะเร็งปากมดลูก สามารถพบการติดเชื้อไวรัสนี้ได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง สามารถก่อให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ ตั้งแต่หูดที่ผิวหนังไปจนถึงมะเร็งปากมดลูกและมะเร็งอวัยวะสืบพันธุ์อื่น ๆ
เชื้อ HPV คืออะไร?
เชื้อ HPV หรือ Human Papillomavirus เป็นเชื้อไวรัสที่มี DNA 2 สาย เชื้อไวรัส HPV มีมากกว่า 100 สายพันธุ์ โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ คือ
- เชื้อกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ
มักทำให้เกิดหูดที่ผิวหนังหรืออวัยวะเพศ เช่น HPV สายพันธุ์ 6 และ 11 - เชื้อกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง
เป็นเชื้อกลุ่มที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็ง เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด มะเร็งทวารหนัก และมะเร็งศีรษะและลำคอ สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น HPV สายพันธุ์ 16 และ 18
เชื้อ HPV ติดต่อได้อย่างไรบ้าง?
เชื้อ HPV ติดต่อได้โดยการสัมผัสโดยตรงกับผิวหนังหรือเยื่อบุที่มีการติดเชื้ออยู่ ซึ่งส่วนใหญ่จะติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์ทั้งแบบปกติ ทางทวารหนัก และทางปาก การใช้ถุงยางอนามัยสามารถลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้แต่ไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด เนื่องไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อบริเวณผิวหนังที่ไม่ถูกห่อหุ้มด้วยถุงยางอนามัยได้
การติดเชื้อสามารถพบได้คนทุกวัยที่ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งส่วนใหญ่หลังการสัมผัสเชื้อต้องใช้เวลานานหลายปีกว่าเชื้อจะพัฒนาทำให้เกิดโรคมะเร็ง ทำให้บางครั้งตรวจพบช้าและทำให้เป็นมะเร็งในระยะลุกลามแล้ว
ติดเชื้อ HPV แล้ว อาการเป็นอย่างไร?
ผู้ที่ติดเชื้อ HPV ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการ ทำให้ยากในการวินิจฉัย การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap test) เป็นวิธีหนึ่งที่มีประสิทธิภาพในการตรวจหาเชื้อ HPV ในผู้หญิง นอกจากนี้ยังมีการตรวจ HPV DNA test ซึ่งเป็นการตรวจหาเชื้อ HPV โดยตรง ช่วยเพิ่มความแม่นยำในการวินิจฉัยมากขึ้น
หากมีการติดเชื้อ HPV ที่ทำให้เป็นโรคหูด ผู้ติดเชื้ออาจพบหูดขึ้นที่อวัยวะสืบพันธุ์หรือบริเวณอื่น ๆ ของร่างกาย โดยหูดเหล่านี้อาจเป็นก้อนนูน หรือผิวหนังมีลักษณะหยาบและขรุขระกว่าผิวหนังปกติ
การวินิจฉัยเชื้อ HPV
- การตรวจคัดกรองปากมดลูก โดยการตรวจ Pap smear: โดยแพทย์จะทำการเก็บเซลล์จากปากมดลูกเพื่อทำการตรวจหาเซลล์ที่ผิดปกติที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ HPV ซึ่งเป็นวิธีที่เป็นมาตรฐานในการคัดกรองมะเร็งปากมดลูก
- การตรวจ HPV DNA: เป็นการตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาสารพันธุกรรมของเชื้อ HPV ของเซลล์ที่เก็บจากปากมดลูกหรือจากบริเวณที่สงสัยว่าจะมีการติดเชื้อ วิธีนี้สามารถบอกสายพันธุ์ HPV ได้และเป็นวิธีตรวจที่มีความแม่นยำค่อนข้างสูง
- การส่องกล้องตรวจปากมดลูก: แพทย์อาจพิจารณาใช้กล้องในการตรวจดูปากมดลูก หากพบว่ามีเซลล์ที่มีลักษณะผิดปกติ และอาจเก็บตัวอย่างเนื้อเยื่อ (biopsy) เพื่อตรวจเพิ่มเติมว่ามีเซลล์มะเร็งหรือไม่
- การตรวจหาแอนติบอดี (Antibody): เป็นการตรวจเลือดหาแอนติบอดีต่อเชื้อ HPV ซึ่งสามารถบอกได้ว่าร่างกายเคยสัมผัสกับเชื้อ HPV หรือไม่ แต่วิธีนี้อาจไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ป่วยเคยติดเชื้อในอดีตหรือกำลังติดเชื้อ HPV อยู่ แพทย์อาจจำเป็นต้องมีการซักประวัติหรือพิจารณาการตรวจอื่น ๆ ร่วมด้วย
การตรวจเชื้อ HPV เป็นปัจจัยสำคัญในการป้องกันและรักษามะเร็งปากมดลูก รวมถึงภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่อาจเกิดจากการติดเชื้อ HPV
การรักษาเมื่อติดเชื้อ HPV
การรักษาเชื้อ HPV ขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรค หากเป็นการติดเชื้อที่ทำให้เป็นโรคหูด ซึ่งอาจพบที่อวัยวะสืบพันธุ์ แพทย์อาจพิจารณารักษาด้วยยาหรือการผ่าตัดเอาหูดออก
สำหรับการติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง แพทย์ต้องติดตามและตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อตรวจหาการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่อาจกลายเป็นมะเร็งในอนาคต
การรักษามะเร็งที่มีสาเหตุจากเชื้อ HPV ขึ้นอยู่กับระยะของโรคมะเร็ง ความรุนแรง และภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นจากโรค ซึ่งการรักษามีตั้งแต่การผ่าตัด การฉายรังสี รักษาโดยเคมีบำบัด หรือการรักษาที่ผสมผสานการรักษาหลาย ๆ วิธี ซึ่งแพทย์โรคมะเร็งจะทำการพิจารณาจากหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน เพื่อผลการรักษาที่ดีที่สุด
การป้องกันการติดเชื้อ HPV
การป้องกันสามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่
- การฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อ HPV: การฉีดวัคซีน HPV เป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการป้องกันเชื้อ HPV วัคซีนนี้สามารถป้องกันได้ทั้งสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำและสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง ในส่วนของการฉีดวัคซีนนั้น มีคำแนะนำให้ฉีดในวัยรุ่นอายุระหว่าง 11-12 ปี อย่างไรก็ตามสามารถฉีดได้จนถึงอายุ 26 ปี หรือมากกว่านั้นตามคำแนะนำของแพทย์
- การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก: เป็นวิธีที่สำคัญในการตรวจหาเชื้อ HPV ในผู้หญิง ซึ่งสามารถทำได้ทั้งการตรวจ Pap test และ HPV DNA test โดยจะช่วยให้พบการติดเชื้อตั้งแต่ในระยะเริ่มต้นและสามารถรักษาได้ย่างทันท่วงที
- การใช้ถุงยางอนามัย: การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ HPV ได้ แม้จะไม่สามารถป้องกันได้ทั้งหมด แต่ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ลดการแพร่กระจายของเชื้อได้
- การมีพฤติกรรมทางเพศที่ปลอดภัย: การมีคู่นอนคนเดิม หลีกเลี่ยงการเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ และการหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่มีประวัติการติดเชื้อ HPV จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อได้
สรุป
เชื้อ HPV เป็นไวรัสอันตรายที่ทำให้เกิดโรคได้หลายชนิด ทั้งโรคหูดและมะเร็งปากมดลูก เราสามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้โดยการฉีดวัคซีน HPV การใช้ถุงยางอนามัย และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก จะช่วยลดการลดการแพร่กระจายของไวรัสและป้องกันการเกิดมะเร็งได้
นอกจากนี้การดูแลสุขภาพทั้งสุขภาพร่างกาย และสุขภาพทางเพศ รวมถึงการตรวจสุขภาพเป็นประจำสม่ำเสมอก็จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งลงได้