บทความสุขภาพ

Knowledge

การดื่มสุรา ภัยโรคตับที่คุณอาจไม่รู้ตัว

นพ. ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย

การดื่มแอลกอฮอล์ไม่ว่าจะเป็นเบียร์ หรือสุรานั้น อยู่คู่สังคมเรานับเป็นพันปีแล้ว เช่นกันมีการพบการเสียชีวิตของคนสำคัญของโลกจากการดื่มสุรา


จนทำให้คนเหล่านั้นแทนที่จะทำประโยชน์แก่โลกเรากลับทำให้เสียชีวิตก่อนวัยที่ควรจะเป็น และโรคตับจากการดื่มสุราก็มีลักษณะแปลกอย่างหนึ่งคือ เมื่อมีอาการแล้วมักมีอาการมากทรุดหนักอย่างรวดเร็ว โดยไม่มีอาการเตือนมาก่อนเลย ลองมาดูข้อมูลคำถามคำตอบเกี่ยวกับโรคหรือภาวะที่เกิดจากการดื่มเหล้า และโรคตับกันครับ


1. เครื่องดื่มที่ประกอบด้วยแอลกอฮอล์นั้นมีหลายประเภท ปกติทางการแพทย์ดูอย่างไรว่ากินแล้วทำลายร่างกายมากหรือน้อย ดื่มเบียร์ ไวน์ เหล้าขาว วิสกี้ ต่างกันอย่างไร


ตอบ เครื่องดื่มเบียร์ มีปริมาณแอลกอฮอล์ประมาณ 4 กรัมต่อเบียร์ 100 มิลลิลิตร (หรือ ซีซี) ถ้าเป็นศัพท์ในนักดื่มให้เข้าใจเราจะเรียกว่า 4 ดีกรีครับ ตัวอย่างที่รู้จักดีคือเหล้าขาว 30 ดีกรีก็คือ 30 กรัมต่อ 100 มิลลิลิตรเลยทีเดียว ฉะนั้นการดื่มเบียร์ประมาณ 1 กระป๋อง จะได้รับแอลกอฮอล์ประมาณ 13 กรัม


– เครื่องดื่มไวน์ มีปริมาณแอลกอฮอล์ 12 กรัม ต่อไวน์ 100 มิลลิลิตร การรับประทานไวน์ 1 แก้วปกติ (แก้วไวน์) จะได้รับแอลกอฮอล์ประมาณ 12 กรัม


– สำหรับเครื่องดื่มที่เป็นวิสกี้นั้น มีปริมาณแอลกอฮอล์ 40 กรัม ต่อวิสกี้ 100 มิลลิลิตร การดื่มวิสกี้ประมาณ 2 ฝา จะให้แอลกอฮอล์ประมาณ 15 กรัม


จะเห็นว่าการดื่มด้วยปริมาณมาตรฐานด้านบนดังกล่าวจะได้รับปริมาณแอลกอฮอล์ในระดับใกล้เคียงกัน ในทางการแพทย์ถือว่าการดื่มแอลกอฮอล์ 12 – 15 กรัม เท่ากับปริมาณแอลกอฮอล์ 1 หน่วย ครับ


2. ในทางการแพทย์ ถ้าดื่มอย่างที่กล่าว มากหรือน้อยเท่าไรจึงจะเกิดปัญหาโรคตับแข็ง


ตอบ จากการศึกษาพบว่าผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าวันละ 80 กรัมหรือ 5 หน่วย เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 10 ปี สามารถที่จะก่อให้เกิดตับแข็งได้ ผู้ที่บริโภคสุราในปริมาณดังที่กล่าวแล้วมีเพียงร้อยละ 15 – 20 เท่านั้นที่จะเกิดตับแข็ง ในเมืองไทยอาจเป็นเร็ว และมากกว่านี้ โดยปัจจุบันยังไม่มีคำตอบที่ดีพอที่จะอธิบายว่าเพราะเหตุใด ผู้ที่บริโภคแอลกอฮอล์จำนวนมากจึงมิได้เป็นตับแข็ง และขอเตือนนะครับ คนที่ตับแข็งไปแล้วอาจไม่รู้ตัวอยู่ว่าป่วยเพราะจะยังไม่มีอาการใด ๆ จนกว่าจะมีภาวะแทรกซ้อนแล้วจึงทราบครับ ทางที่ดีควรตรวจเช็คกับแพทย์บ่อย ๆ ว่าเราเกิดปัญหาตับบ้างแล้วหรือยังครับ


3. ผลกระทบของแอลกอฮอล์ที่มีต่อตับ ที่กล่าวว่าตับแข็ง ต้องทานขนาดนั้น ถ้าทานไม่นานอย่างนั้น เป็นโรคตับ อื่น ๆ ได้ไหม มีอะไรบ้าง


ตอบ โรคตับพอจะแบ่งออกได้เป็น 3 แบบด้วยกันได้แก่


  1. ไขมันสะสมในตับ (Alcoholic fatty liver) เป็นการเปลี่ยนแปลงในระยะเริ่มต้น จากการตรวจทางพยาธิวิทยาพบว่า มีการสะสมของไขมันโดยเฉพาะอย่างยิ่ง triglyceride เพิ่มขึ้นในเซลล์ตับ ผู้ป่วยในระยะนี้ส่วนใหญ่แล้วมักจะไม่มีอาการใดๆ การตรวจร่างกายอาจพบว่าตับมีขนาดใหญ่ ผิวเรียบ นุ่ม และกด ไม่เจ็บ การตรวจเลือดอาจพบความผิดปกติเล็กน้อย ผู้ป่วยในระยะนี้ถ้าหยุดดื่มสุราตับจะสามารถกลับเป็นปกติโดยไม่มีพยาธิสภาพตกค้างอยู่แต่อย่างใด ในกรณีซึ่งยังดื่มอยู่ก็จะมีการลุกลามของโรคไปในระยะ ที่ 2
  2. ตับอักเสบจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Hepatitis) ในระยะนี้ เป็นระยะซึ่งผู้ป่วยอาจมาพบแพทย์ได้ด้วยอาการหลายแบบ ตั้งแต่ที่มีอาการน้อย เช่น จุกแน่นที่บริเวณชายโครงด้านขวา ไปจนถึงมีอาการรุนแรง เช่น อาการดีซ่าน ไข้สูง หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางสติสัมปชัญญะตลอดจนตับวายได้ บางครั้งผู้ป่วยอาจมีอาการทางสมอง ได้แก่ อาการสับสน วุ่นวาย หรือ อาจหมดสติได้ ผู้ป่วยในระยะนี้ถ้ามีอาการดีซ่านมาก หรือมีการเสื่อมหน้าที่การทำงานของตับจนอาจเกิดตับวาย จะเป็นกลุ่มผู้ที่มีโอกาสเสียชีวิตได้สูง นอกจากนี้ผู้ป่วยกลุ่มนี้มักจะมีภาวะขาดสารอาหารและไวตามิน การตรวจร่างกายในระยะนี้มักพบว่าตับจะมีขนาดใหญ่และกดเจ็บ เนื้อของตับเริ่มจะแข็งกว่าระยะแรก การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการจะพบความผิดปกติของการทำงานของตับได้อย่างชัดเจน ผู้ซึ่งหยุดดื่มเหล้าในระยะนี้ ส่วนใหญ่แล้วมักจะอาการดีขึ้นและอาจกลับเป็นปกติได้ สำหรับผู้ที่ยังดื่มต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ก็จะมีโอกาสลุกลามเข้าไปสู่ระยะที่ 3 ที่เรียกว่าตับแข็ง การรักษาคือการหยุดดื่มโดยเด็ดขาด และได้รับอาหารและไวตามินเสริมอย่างเพียงพอ ในรายที่มีอาการรุนแรงหรือตับวาย ต้องได้รับการดูแลรักษาโดยแพทย์ในโรงพยาบาล
  3. ตับแข็งจากแอลกอฮอล์ (Alcoholic Cirrhosis) เป็นระยะสุดท้ายที่พบว่ามีผังผืดเกิดขึ้นในเนื้อตับ ทำให้ตับมีลักษณะผิวไม่เรียบ ขรุขระ เป็นก้อน และมีขนาดเล็กลงในระยะสุดท้าย ผู้ป่วยในระยะนี้มักจะมาพบแพทย์ได้ด้วยอาการดีซ่าน ท้องมาน หรืออาเจียนเป็นเลือดสดๆ เนื่องจากเส้นเลือดขอดในหลอดอาหารแตก เป็นต้น นอกจากนี้ผู้ที่เป็นตับแข็งยังจะมีโอกาสเสี่ยงในการเกิดมะเร็งของตับเพิ่มขึ้นอีกด้วย ผู้ที่หยุดดื่มในระยะนี้ตับจะมีการเสียหายอย่างถาวร และจะไม่สามารถกลับเป็นตับปกติได้อีก การหยุดดื่มจะช่วยป้องกันมิให้เกิดการเสียหายต่อเนื้อตับเพิ่มขึ้นกว่าที่เป็นอยู่แล้ว แต่คงจะไม่สามารถทำให้ตับกลับดีตามเดิมได้ และการดูแลผู้ป่วยที่เป็นตับแข็งจากแอลกอฮอล์ไม่แตกต่างจากตับแข็งจากสาเหตุอื่น ๆ การตรวจร่างกายจะพบว่าผู้ป่วยมักมีภาวะทุกขโภชนาการ มีกล้ามเนื้อลีบ มีเส้นเลือดขยายตามผิวหนังในส่วนบริเวณอกและหลัง และริดสีดวงทวาร อาจตรวจพบว่ามีการฝ่อของลูกอัณฑะ และความสามารถทางเพศลงลด การรักษาที่สำคัญของผู้ป่วยกลุ่มนี้คือ การหยุดดื่มโดยถาวรและรับประทานอาหารที่มีคุณค่า เนื่องจากผู้ป่วยในระยะนี้มักจะอยู่ในภาวะทุกขโภชนา

– ให้ดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน บทความ/บทความสุขภาพ/อายุรแพทย์ “ภาวะตับแข็ง” ครับ


– รวมทั้งกรณีมีตับแข็งนาน ๆ มีโอกาสเกิดมะเร็งตับแทรกซ้อนได้ง่ายกว่าคนปกติด้วย


4. ทำไมแต่ละคนบางคนดื่มแล้วไม่ค่อยเป็นอะไร บางคนดื่มแล้วเกิดตับอักเสบ หรือ ตับแข็งได้เร็วกว่า


ตอบ ปัจจัยที่ทำให้ตับอักเสบ แต่ละคนไม่เหมือนกัน การเกิดการเมาหรือไม่ไม่เกี่ยวกับการทำลายตับของตัวเองโดยตรงใด ๆ นัก การเกิดตับอักเสบและตับแข็งได้มากหรือน้อยกว่ากัน มีปัจจัยต่างกันคือ


4.1 เพศ


– ผู้หญิงจะเกิดเป็นทั้งตับอักเสบ และ ตับแข็งได้เร็วกว่าและแม้ว่ากินน้อยกว่าผู้ชาย


– ผู้หญิงจะมีระดับแอลกอฮอล์ในเลือดสูงกว่าในขณะที่กินเท่ากันกับผู้ชาย อธิบายจากผู้หญิงมีการกระจายของกล้ามเนื้อ ไขมันต่อแอลกอฮอล์น้อยกว่าผู้ชาย และผู้หญิงมีการดูดซึมแอลกอฮอล์มากกว่าผู้ชายนั่นเอง


4.2 กรรมพันธุ์ (hereditary : alcohol metabolism) ปกติพิษของเหล้าจะเกิดหลังเหล้าผ่านตับ จะเปลี่ยนเป็นพิษที่เรียกว่า Acetaldehyde โดยผ่านเอนไซม์หลายชนิด พบว่ากรรมพันธ์ในการสร้างสารพิษจากเหล้าในแต่ละคนไม่เหมือนกันครับ


4.3 ภาวะโภชนาการ (Nutrition) ถ้าผอมจะเกิดโรคตับเร็วกว่าคนที่อ้วนกว่า


4.4 การมีไวรัสตับอักเสบทำลายตับร่วมด้วย โดยเฉพาะไวรัสตับอักเสบซี ห้ามดื่มเหล้าเด็ดขาด ไวรัสตับอักเสบบีก็ควรหลีกเลี่ยงการดื่มเหล้าด้วยครับ


4.5 การดื่มขณะท้องว่าง ดื่มพร้อมอาหารไขมัน, ดื่มไม่ผสม, ดื่มหนักเป็นพัก ๆ แย่กว่าการดื่มเพียงเล็กน้อยเรื่อย ๆ, ไวน์ขาวแย่กว่าไวน์แดง (ทางการแพทย์อาจให้ ผู้ชาย 3 หน่วย ผู้หญิง 2 หน่วยในรายที่พบว่าไม่มีโรคตับใด ๆ เลย)


5. การดื่มเหล้ามีพิษต่อตับได้อย่างไร


ตอบ กลไกการเกิดตับอักเสบ (Mechanism of injury) ทางการแพทย์พบว่าการดื่มของคุณ เกิดพิษต่อตับมากมายดังนี้


5.1 ผ่านทางพิษจาก alcohol ซึ่งมีได้ 2 อย่างคือ


การอักเสบจากไขมัน (1. Redox shift = steatosis ไขมันในเนื้อตับ ร่างกายคิดว่าเป็นสิ่งแปลกปลอมแล้วเกิดการอักเสบเพื่อกำจัดไขมัน และ 2. สารไขมันที่กระตุ้นปัญหาความเสื่อมของตับแบบ Oxidant stress = lipid peroxidation = ส่วนไขมันของเซลล์ตับ เช่น ผิวของเซลล์ตับ (cell membrane) เสียหน้าที่ หรือ สารที่ทำงานในการให้พลังงานเซลล์ตับคือ mitochondrial dysfunction


การอักเสบจากโปรตีนในตับเป็นพิษ = 3. ปัญหาของเสียที่สร้างจากแอลกอฮอล์ ที่เรียกว่า Acetaldehyde เกิดการจับโปรตีนของเซลล์ตับ เกิดเป็นคล้ายของเสีย หรือร่างกายเข้าใจผิดว่าเป็นเชื่อโรค (neoantigen) ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นภูมิต้านทานเม็ดเลือดขาวของตัวเอง (auto immune response) นอกจากอักเสบแล้วยังเกิดพังผืดแข็งตามมาด้วย, รวมทั้งอาจเสียการทำงานของโปรตีนที่ทำงานในเซลล์ตับด้วย เช่น tubulin


5.2. ผ่านทางภูมิต้านทาน คล้าย ๆ โรคภูมิแพ้ของอวัยวะอื่นนั่นเอง และการอักเสบในตับ (Immune & inflammation)


1. เซลล์ ช่องว่างระหว่างเยื่อบุเส้นเลือดในตับ (endothelium) จะมีเซลล์ที่สร้างพังผืดที่มีชื่อว่า Stellate cell, Ito cell จะเกิดเปลี่ยนแปลงเป็นเซลล์ที่สร้างพังผืดได้ง่ายขึ้น (myofibroblast) รวมทั้งจะกระตุ้นให้เกิดการอักเสบมากขึ้นด้วย


2. สารภูมิต้านทานที่ไปเรียกกลไลการอักเสบในร่างกายเพื่อทำลายเซลล์ตับตัวเองให้ตาย อักเสบ และแข็งขึ้น ( cytotoxicity, inflammation, fibrosis)


3. ภูมิต้านทานตัวเองผ่านของเสียของเหล้าที่เรียกว่า acetaldehyde และ hydroxyethyl radical modified protein จึงเกิดการอักเสบ และ ตับแข็งมากขึ้น (inflammation และ fibrosis)


6. เหล้าทำลายส่วนอื่นของร่างกายหรือไม่


ตอบ โรคแทรกซ้อนอื่น ๆ ที่เกิดจากแอลกอฮอล์มีมากมาย ได้แก่


6.1 ระบบสมอง ระบบประสาท (Neurologic) : ได้แก่ภาวะมือสั่น สับสนตกใจง่าย (Delirium tremen), ตากลอกผิดปกติ (Wernicke-korsakoff syndrome), เวียนศีรษะ งง (Cerebellar degeneration), มีอ่อนแรงแขนขา (แบบ Central pontine myelinolysis), ตะคริวง่าย เป็นต้น อาจเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือ หลาย ๆ อย่างร่วมกัน


6.2 ระบบทางเดินอาหาร : เช่น กระเพาะอักเสบ, อาจเป็นโรคมะเร็งของคอ กล่องเสียง หลอดอาหารได้ง่ายกว่าคนปกติได้ ( risk: oral, lanynx, pharynx, esophageal carcinoma), ท้องเสีย, ภาวะการดูดซึมอาหารผิดปกติ ( malabsorption), ภาวะตับอ่อนอักเสบ ภาวะท้องเสีย ถ่ายเป็นไขมัน เป็นต้น


6.3 โรคหัวใจ : อาจมีหัวใจเต้นผิดปกติ, โรคเส้นเลือดหัวใจ, ความดันโลหิตสูง, ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจโตแบบ cardiomyopathy


6.4 ภาวะเกลือแร่ผิดปกติ (Metabolic): ภาวะน้ำตาลสูงง่าย (glucose intolerance) บางรายอาจเป็นเบาหวานได้ด้วย, ภาวะไขมันสูงผิดปกติ, เกลือแร่ มักเนเซียมต่ำ, ฟอสเฟตต่ำ, ภาวะกรดคีโตนสูง (Ketoacidosis), ภาวะเป็นหมัน หรือ อัณฑะฝ่อ (hypogonadism)


6.5 โรคระบบเลือดผิดปกติ เช่นภาวะซีด เม็ดเลือดขาวต่ำ และ เกร็ดเลือดต่ำ หรือ สูง


7. การรักษาภาวะตับอักเสบจากการดื่มแอลกอฮอล์ มีอะไรบ้าง


ตอบ การรักษาที่ดีที่สุดคือ การหยุดเหล้า ในรายที่ยังไม่มีตับแข็งแบบตับวาย หลังหยุดเหล้าแล้วการอยู่รอดมีอายุยืนยาวได้เท่าคนปกติ ถ้ามีตับแข็งแบบตับวายแล้ว ก็ตาม การอยู่รอดอายุยืนยาวก็ดีขึ้นด้วยกว่ายังดื่มต่อ


7.1 มีรายงานการใช้ยากดภูมิต้านทาน (Corticosteroid) ในรายที่มีปัจจัยที่แย่มาก ๆ คือ ถ้ามีโอกาสเสียชีวิตได้สูงจากตับวายเพราะการดื่มเหล้า ให้ปรึกษากับแพทย์ถ้ากรณีที่ญาติของเรา เป็นตับวายจากแอลกอฮอล์ครับ ขณะฉับพลันยังมียาที่อาจได้ผล หรือ ป้องกันไตแทรกซ้อนได้ที่ทดลองกันมากอีกตัวคือ Pentoxifylline (Trental) 400 mg 3 เวลา อาจช่วยได้โดยผ่านลดสารอักเสบ TNF alpha (มีรายงานว่าอาจได้ผลในยา Infliximab และ MARS (molecular adsorbents recycling system) ซึ่งเป็นยาที่มีผลด้านสารนี้เช่นกัน)


7.2 ภาวะผอม หรือ อาหารในร่างกายไม่เพียงพอ (Nutrition support) ควรได้รับสารอาหารให้เพียงพอและเหมาะสมประกอบการรักษาด้านอื่น ๆ


7.3 ยาที่ใช้ในการรักษา โดยออกฤทธิ์ผ่านการลดการอักเสบ หรือ ลดพังผืดตับแข็ง ได้แก่ยา PTU, Polyunsat.Lecithin, Antioxidant ไม่ได้ผลทั้ง vitamin A และ E, SAM อาจได้ประโยชน์ มีรายงานการใช้ยาต้านอนุมูลอิสระ ( Metadoxine เป็นยาผสม ยาต้านอนุมูลอิสระ (antioxidants) 2 ตัว คือ pyridoxine และ pyrrolidone (metadoxine))


7.4 ยารักษาตับอักเสบ ผ่านทางอนุมูลอิสระที่ยังไม่ทราบผลว่าดีแน่หรือไม่อื่น ๆ ได้แก่ S-adenosylmethionine (SAM), Silymarin


7.5 กรณีที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าการรักษาปกติจะมีโอกาสรักษาได้เพียงพอ อาจต้องพิจารณาเปลี่ยนตับ (Liver tranplant) แต่มักมีปัญหาร่วมของระบบอื่น ๆ ทำให้ผ่าตัดไม่ได้


8. กรณีที่มีภาวะแทรกซ้อน โรคตับแล้ว ถ้ายังไม่หยุดเครื่องดื่มกลุ่มแอลกอฮอล์ จะเกิดปัญหาอะไร


ตอบ ในรายที่มีตับอักเสบจากแอลกอฮอล์แล้วยังกินเหล้าต่อไป พบว่าจะเป็นมากขึ้นจนเป็นตับแข็ง (cirrhosis) ได้มากกว่าคนปกติ แต่ถ้าหยุดดื่มเหล้า แม้ว่าตับจะล้มเหลวมากปล้ว ก็ยังสามารถกลับมาปกติได้ ในเวลา 12-24 เดือน แต่การหยุดเหล้า ไม่ดีขึ้นทุกราย บางรายอาจยังแย่ต่อเนื่องแม้หยุดเหล้าไปแล้วก็ตาม พบว่าโอกาสเสียชีวิตภายใน 5 ปี (Prognosis 5 ปี) กรณีหยุดดื่มเมื่อเทียบกับยังฝืนดื่มต่อเป็นดังนี้


1. กรณีอักเสบแต่ไม่มีโรคแทรกซ้อนรุนแรง (No complication) 89 เมื่อเทียบกับไม่หยุดดื่ม 68 %


2. กรณีอักเสบแต่มีโรคแทรกซ้อนแล้ว (complication) 60 เมื่อเทียบกับไม่หยุดดื่มรอดเพียง 40 %


– ทั้งนี้การอยู่รอดยังดูร่วมกับปัจจัยตับวายอื่น ๆ ถ้ามีปัจจัยเหล่านี้มากจะมีโอกาสชีวิตสั้นกว่าคนปกติมากขึ้น ได้แก่ ภาวะสับสนหรือซึมจากตับวาย (spontaneous hepatic encephalopathy), การแข็งตัวห้ามเลือดส่วนของ PT ผิดปกติ, ภาวะตัวตาเหลืองดีซ่าน, โปรตีน albumin ต่ำ, ไตวายมีค่า Cr > 2, อายุมาก, กรณีตับแข็งแล้ว (Cirrhosis) ถ้าเคยมีโรคแทรกซ้อนมาก่อน เช่น ท้องมานมีน้ำในท้อง (ascites), มีเลือดออกจากเส้นเลือดขอดในท้อง (bleeding varices), ภาวะตัวตาเหลืองดีซ่าน (jaundice)


9. การเลิกเหล้าให้ได้ผลมีอะไรบ้าง มียาช่วย หรือ แรงกระตุ้นให้เลิกเหล้าอะไรบ้าง


ตอบ แบ่งเป็นพฤติกรรมบำบัด ได้แก่การแกล้งหรือป่วยจากเหล้าซึ่งไม่แนะนำ หาเหตุว่าอะไรทำให้เราดื่มเช่นสถานที่ ความเครียด เพื่อนชวน มีที่เก็บเหล้าทำให้หยิบดื่มง่าย การหยุดพักดูหนังทีไรชอบหาอะไรเข้าปาก ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเหล้า ต้องแก้ต้นเหตุ รวมทั้งต้องประกาศวันเลิกเหล้าต่อเพื่อนหรือคนที่รัก


– รวมทั้งหลังจากที่ผมเล่าเรื่องข้อเสียของเหล้า ซึ่งบอกแล้วว่าอาจถึงแก่ชีวิตหรือโรคสมองเรื้อรัง ถ้ายังไม่รักตัวเอง ก็ควรรักครอบครัว ทำเพื่อลูก หรือผู้ที่รักเรา ดีกว่านะครับ


– ยาที่อาจช่วยในการเลิกเหล้าได้ที่ดัง ๆ มีดังนี้ ให้ยา Naltrexone อาจให้ร่วมกับ acamprosate ซึ่งเป็นยาที่ยอมรับที่สุดในปัจจุบัน


– ยา disulfiram ซึ่งเป็นยาเลิกเหล้าเก่าที่กินร่วมกับเหล้าแล้วจะเกิดอาเจียน หน้าแดง หน้ามืด ห้ามทานร่วมกับเหล้าเด็ดขาด พบว่ายังเป็นที่ถกเถียงและไม่ควรใช้แล้ว

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ระพีพันธุ์  กัลยาวินัย

นพ. ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย

ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital