บทความสุขภาพ

Knowledge

เลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน: อาการเป็นอย่างไร? รักษาได้อย่างไรบ้าง?

นพ. ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย

ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนเป็นภาวะที่พบได้บ่อย ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ภาวะนี้อาจเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่พบมากในผู้สูงอายุ เพศชาย และผู้ที่มีโรคประจำตัว การเข้าใจข้อมูลเกี่ยวกับภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน ช่วยให้คุณสามารถสังเกตอาการ ดูแลตัวเอง และเข้ารับการรักษาอย่างทันท่วงที เพราะหากปล่อยไว้จนมีเลือดออกหรือเสียเลือดไปเป็นจำนวนมาก อาจทำให้เกิดภาวะช็อกหรือเสียชีวิตจากภาวะเเทรกซ้อนจากการเสียเลือดได้


ทางเดินอาหารคืออะไร?


ระบบทางเดินอาหาร คือระบบของอวัยวะของร่างกายในการลำเลียงและย่อยอาหาร ตั้งแต่ปากไปถึงทวารหนัก โดยในระบบทางเดินอาหารจะประกอบด้วยหลาย ๆ อวัยวะที่ทำงานเกี่ยวข้องกันตั้งแต่ ปาก คอหอย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร ลำไส้เล็ก ลำไส้ใหญ่ และทวารหนัก อวัยวะเหล่านี้ทำหน้าที่ลำเลียงและบีบตัวนำพาอาหารไปผ่านกระบวนการย่อยอาหาร และการดูดซึมจากนั้นกากอาหารจะถูกทำให้กลายเป็นอุจจาระ และขับถ่ายไปยังสำไส้ตรงเเละทวารหนัก


ทางเดินอาหารส่วนบน หรือส่วนต้น


ทางเดินอาหารส่วนบนหรือส่วนต้นประกอบไปด้วย หลอดอาหาร กระเพาะอาหาร จนถึงลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งจะติดต่อกับตับอ่อนเเละท่อน้ำดี โดยตับอ่อนจะผลิตและหลั่งน้ำย่อยมาย่อยอาหารที่บริเวณลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีการย่อยอาหารมากที่สุด


ทางเดินอาหารส่วนล่าง


ทางเดินอาหารส่วนล่างประกอบไปด้วย ลำไส้เล็กส่วนกลางและส่วนปลาย ลำไส้ใหญ่ ลำไส้ตรง เเละทวารหนัก โดยลำไส้เล็กส่วนกลางและส่วนปลาย ทำหน้าที่หลักในการดูดซึมสารอาหาร เเร่ธาตุ เข้าสู่ร่างกายเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ และลำไส้ใหญ่จะทำหน้าที่ในการดูดน้ำซึมน้ำจากกากอาหารและดูดซึมวิตามินบางชนิด และผลิตอุจจาระเพื่อขับถ่ายออกจากร่างกาย


ภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบนคืออะไร?


ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน (upper gastrointestinal bleeding; UGIB) คือภาวะความผิดปกติในระบบทางเดินอาหารส่วนบน จนทำให้มีเลือดออก ซึ่งหากมีเลือดออกมากอาจทำให้ร่างกายเสียเลือดมากจนความดันตกหรือช็อกได้ และอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคร้ายต่าง ๆ


สาเหตุของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน


ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนเกิดได้จากหลายสาเหตุ ซึ่งอาจแบ่งได้ดังนี้


สาเหตุเลือดออกในหลอดอาหาร


  • ภาวะโป่งพองและเเตกของหลอดเลือดดำในหลอดอาหาร (rupture esophageal varices) จากการมีหลอดเลือดขอดในหลอดอาหาร ซึ่งมักพบในผู้ที่มีภาวะตับแข็ง (cirrhosis)
  • โรคหลอดอาหารอักเสบ (esopagitis) โดยมักมีสาเหตุสำคัญมาจากโรคกรดไหลย้อน (gastroesophageal reflux disease; GERD)
  • โรคมะเร็งในหลอดอาหาร (esophageal cancer)
  • Mallory-Weiss Syndrome ซึ่งเป็นภาวะที่มีการฉีกขาดของรอยต่อระหว่างหลอดอาหารกับกระเพาะอาหาร โดยมักพบในผู้ป่วยที่มีประวัติอาเจียนหลาย ๆ ครั้ง หรือมีภาวะอื่น ๆ ที่ทำให้ความดันในช่องท้องสูงขึ้นจนทำให้เกิดการฉีกขาดของหลอดอาหาร

สาเหตุเลือดออกในกระเพาะอาหาร


  • แผลในกระเพาะอาหาร ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
    • การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori)
    • การดื่มแอลกอฮอล์
    • การรับประทานยาลดไข้กลุ่ม แอสไพริน (aspirin) ที่ไม่เหมาะสม
    • การรับประทานยาลดอาการปวดกลุ่ม NSAIDs (non-steroidal antiinflammatory drugs) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) อย่างไม่เหมาะสม
  • ภาวะที่มีการอักเสบของกระเพาะอาหาร (gastritis)
  • ความเครียดต่าง ๆ เช่น ความเครียดจากการประสบอุบัติเหตุ ความเครียดจากการผ่าตัด
  • มะเร็งกระเพาะอาหาร (gastric cancer)

สาเหตุเลือดออกในลำไส้เล็กส่วนต้น


  • แผลในลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ ได้แก่
    • การติดเชื้อแบคทีเรีย Helicobacter pylori (H. pylori)
    • การรับประทานยาลดไข้กลุ่ม แอสไพริน (aspirin) ที่ไม่เหมาะสม
    • การรับประทานยาลดอาการปวดกลุ่ม NSAIDs (non-steroidal antiinflammatory drugs) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) อย่างไม่เหมาะสม
  • ลำไส้อักเสบจากโรคลำไส้แปรปรวน (irritable bowel syndrome; IBS)
  • มะเร็งลำไส้เล็ก

อาการของภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน


  • อาเจียนเป็นเลือด
  • คลื่นไส้
  • ปวดท้องบริเวณลิ้นปี่
  • เบื่ออาหาร
  • กลืนอาหารลำบาก
  • ถ่ายดำ หรือมีสีคล้ายยางมะตอย มีกลิ่นเหม็น
  • ปวดท้อง เเน่นท้อง โดยมีอาการคล้ายโรคลำไส้เแปรปรวน
  • รู้สึกอยากถ่ายอุจจาระบ่อยผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย
  • หัวใจเต้นเร็วและเบา
  • เป็นลม หมดสติได้
  • ความดันต่ำ และอาจช็อกได้

อาการของภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนที่ควรไปพบแพทย์อย่างเร่งด่วน


หากมีอาการเหล่านี้ควรรีบไปโรงพยาบาลทันทีเพราะหากปล่อยไว้ผู้ป่วยอาจเกิดภาวะช็อก หมดสติได้


  • หน้ามืด เป็นลม หรือหมดสติ
  • ปวดท้องรุนเเรง
  • หายใจหอบเหนื่อย หรือเหนื่อยง่ายเวลาออกเเรง
  • เหงื่อออก ใจสั่น หรือมีอาการหนาวสั่น
  • ท้องโตขึ้นมาก ปวดท้อง
  • ตัวเหลือง ตาเหลือง หรือตัวซีดผิดปกติ
  • พบจ้ำเลือดตามตัว
  • ชีพจรเต้นเบาเเละเร็วผิดปกติ
  • ความดันต่ำผิดปกติ

อาการของภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบนและส่วนล่างต่างกันอย่างไร?


ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน จะมีอาการที่พบได้บ่อยคือ อาเจียนเป็นเลือด เเละถ่ายดำมีสีคล้ายยางมะตอย เเต่ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนล่าง อุจจาระมักมีสีปกติแต่จะมีเลือดที่มีสีแดงสดปนออกอย่างชัดเจน


ทั้งนี้ยังจำเป็นต้องอาศัยการตรวจร่างกายโดยเเพทย์เเละการตรวจวินิจฉัยหลายอย่างเพื่อทำการวินิจฉัยโรคให้ชัดเจนยิ่งขึ้น


การวินิจฉัยภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน


การตรวจวินิจฉัยภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน มีดังนี้


  • แพทย์จะทำการซักประวัติ อาการต่าง ๆ ระยะเวลาที่พบอาการ การตรวจร่างกาย เเละประวัติการใช้ยา
  • การตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการเพื่อดู ปริมาณเม็ดเลือดแดง ความเข้มข้นของเลือด ค่าปริมาณเกล็ดเลือด ค่าการเเข็งตัวของเลือด รวมไปถึงตรวจดูค่าการทำงานของตับเเละไต
  • การตรวจหาเชื้อ H. pylori ในกระเพาะอาหารผ่านทางลมหายใจ
  • ตรวจอุจจาระเพื่อดูการปนเปื้อนของเม็ดเลือดแดง (stool occult blood)
  • การใส่สายสวนล้างกระเพาะอาหาร (gastric lavage) เพื่อดูความรุนเเรงของภาวะเลือดออกภายในกระเพาะ
  • การส่องกล้องทางเดินอาหารส่วนบน (esophagogastroduodenoscopy; EGD)
  • อัลตราซาวนด์ช่องท้องเพื่อตรวจดูตับอ่อน ถุงน้ำดี ท่อน้ำดี รวมไปถึงตับ
  • การตรวจลำไส้เล็กด้วยวิธีการกลืนแคปซูล (capsule endoscopy)
  • การฉีดสีเพื่อดูหลอดเลือดในทางเดินอาหาร (angiography)
  • การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ (computerized tomography; CT Scan)

การรักษาภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน


การรักษาภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบนจะรักษาตามสาเหตุเเละความรุนเเรง โดยแพทย์อาจพิจารณาการรักษาดังนี้


  1. การักษาด้วยยา: โดยเเพทย์อาจรักษาโดยการให้ยาลดการหลั่งกรดในกระเพาะควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรม
  2. รักษาโดยการให้เลือด: ในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะเลือดออกเรื้อรัง หรือเสียเลือดมาก จนมีภาวะความเข้มข้นเลือดต่ำเเละมีเกล็ดเลือดต่ำ โดยการให้เลือดจะช่วยเพิ่มปริมาณเลือดเเละเม็ดเลือดในร่างกายเเละเกล็ดเลือดเพื่อช่วยในการเเข็งตัวของเลือดให้กลับสู้ภาวะปกติ และป้องกันอาการช็อกได้
  3. การรักษาโดยการส่องกล้อง (endoscopy therapy): จะใช้เป็นการรักษาหลักในกลุ่มที่มีภาวะเลือดออกในทางเดินทางอาหารส่วนบนหรือส่วนต้น หรือความผิดปกติของหลอดเลือดในระบบทางเดินอาหารส่วนบน โดยจะมีการส่องกล้องเพื่อฉีดสารที่ช่วยให้เลือดเเข็งตัวหรือทำการรักษาแผลด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นการจี้ด้วยความร้อน
  4. การรักษาโดยหัตถการที่ใช้รังสีร่วมรักษา (interventional radiology): จะใช้การรักษานี้ในกรณีที่รักษาโดยวิธีการส่องกล้องไม่ได้ โดยจะทำการฉีดสารทึบรังสีเพื่อดูความผิดปกติของหลอดเลือดในทางเดินอาหารส่วนบน เเล้วจึงทำการแก้ไขความผิดปกติของหลอดเลือดเพื่อหยุดภาวะเลือดออก
  5. การผ่าตัด: การรักษาโดยวิธีการผ่าตัดจะใช้ในกรณีทีมีภาวะเลือดออกในขั้นวิกฤต หรือไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการอื่นได้ โดยจะทำการผ่าตัดเพื่อเย็บแผลหรือจุดที่มีเลือดออกอย่างรุนเเรง หรือทำการผ่าตัดเพื่อเเก้ไขความผิดปกติของหลอดเลือดในทางเดินอาหารส่วนบน

การป้องกันภาวะเลือดออกทางเดินอาหารส่วนบน


  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด เเละอาหารที่มีไขมันสูง
  • หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เช่น กาแฟ ชา น้ำอัดลม
  • งดการสูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
  • ใช้ยาแก้ปวดกลุ่ม NSAIDs เช่น แอสไพริน (aspirin) หรือ ไอบูโพรเฟน (ibuprofen) หรือยาประเภทสเตียรอยด์อย่างเหมาะสม โดยควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร
  • รับประทานให้ตรงต่อเวลา เเละไม่ควรรับประทานอาหารมื้อหนักก่อนนอน
  • เลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุก สะอาด ถูกหลักอนามัยเเละล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร เเละดื่มน้ำสะอาดอย่างน้อยวันละ 8 เเก้ว
  • ลดความเครียด ซึ่งอาจทำได้โดยการทำสมาธิ เเละหากิจกรรมหรืองานอดิเรกทำ
  • พักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อย 6-8 ชั่วโมงต่อวัน
  • ออกกำลังกายเป็นประจำอย่างน้อย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ หรืออย่างน้อย 150 นาทีต่อสัปดาห์
  • ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยเน้นผักเเละผลไม้ที่มีปริมาณเส้นใยเเละเเร่ธาตุสูง
  • เข้ารับการตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปีเพื่อเฝ้าระวังเเละคัดกรองโรค

สรุป


ภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารส่วนบน มีอาการสำคัญคืออาเจียนเป็นเลือด ปวดท้อง คลื่นไส้ เเละถ่ายดำสีคล้ายยางมะตอย โดยเป็นภาวะที่ต้องเข้ารับการรักษาอย่างเร่งด่วน เพราะหากปล่อยทิ้งไว้จนเสียเลือดมาก อาจทำให้ช็อกหรือเสียชีวิตได้ การรักษาต้องทำการรักษาควบคู่ไปกับการปรับพฤติกรรมเพื่อประสิทธิภาพในการรักษา การตรวจสุขภาพประจำปีจึงมีความสำคัญในการช่วยเฝ้าระวังเเละคัดกรองโรคได้


ปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญกับ Praram 9 V ปรึกษาแพทย์ได้ทุกที่ผ่านทางวิดีโอคอล (Telemedicine)


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ระพีพันธุ์  กัลยาวินัย

นพ. ระพีพันธุ์ กัลยาวินัย

ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

บอลลูนหัวใจ: แก้ปัญหาหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจหรือ PCI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบ ช่วยให้เลือดไหลเวียนได้สะดวก ลดอาการเจ็บหน้าอก และลดความเสี่ยงของหัวใจวาย เป็นการเปิดหลอดเลือดโดยไม่ต้องผ่าตัดใหญ่ ทำให้ผู้ป่วยฟื้นตัวเร็วขึ้น อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยยังคงต้องดูแลสุขภาพ หมั่นออกกำลังกาย รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ และลดปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อรักษาสุขภาพของหัวใจในระยะยาว

ลิ้นหัวใจเทียมคืออะไร? ทำไมต้องเปลี่ยน? และอะไรบ้างที่คุณควรรู้?

การผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจเทียมเป็นหนึ่งในวิธีการรักษาสำหรับผู้ป่วยที่มีปัญหาลิ้นหัวใจผิดปกติ และการผ่าตัดเปลี่ยนลินหัวใจจะช่วยฟื้นฟูการทำงานของหัวใจให้กลับมาใกล้เคียงปกติ อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาจะต้องได้รับการประเมินอย่างละเอียด เพื่อเลือกชนิดของลิ้นหัวใจที่เหมาะสม

หัวใจล้มเหลว อาการเป็นอย่างไร ป้องกันได้อย่างไรบ้าง

หัวใจล้มเหลวคือภาวะที่หัวใจไม่สามารถสูบฉีดเลือดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ร่างกายได้รับออกซิเจนและสารอาหารไม่เพียงพอ อาการสำคัญที่ควรสังเกต ได้แก่ เหนื่อยง่าย หายใจลำบาก ขาบวม และน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่มักเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือด การวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วจะช่วยลดความเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนรุนแรง

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) หมดความสงสัย วินิจฉัยได้อย่างแม่นยำ

การตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจมะเร็ง (Biopsy) คือวิธีที่นิยมในการวินิจฉัยมะเร็ง เนื่องจากความแม่นยำและละเอียดในการบ่งชี้ประเภทของมะเร็ง ทำได้อย่างไร? บทความนี้มีคำตอบ!

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital