บทความสุขภาพ

Knowledge

ผ่าตัดกระเพาะ ลดน้ำหนัก อีกหนึ่งทางเลือกที่ปลอดภัย เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น

นาวาโท นพ. คมเดช ธนวชิระสิน

ในปัจจุบันวิถีการดำเนินชีวิตที่เปลี่ยนไป ทำให้คนเราออกกำลังกายน้อยลง และบริโภคอาหารจำพวกแป้ง น้ำตาลมากขึ้น ส่งผลให้เกิดภาวะอ้วนโดยไม่รู้ตัว ปัญหาเรื่องการลดน้ำหนัก จึงเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนต้องเผชิญ แม้การลดน้ำหนักด้วยวิธีการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายจะเป็นวิธีที่ดีที่สุด แต่ก็มีคนอีกหลายคน ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติ ดังนั้น การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนัก จึงเป็นสิ่งที่กลายมาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกในยุคนี้


แม้ชื่อของการผ่าตัดกระเพาะอาหารจะฟังดูน่ากลัวไปบ้าง แต่ในความเป็นจริงแล้วการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เพราะมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนพอ ๆ กับการส่องกล้องผ่าตัดมดลูก หรือนิ่วในถุงน้ำดีเพียงเท่านั้นเอง แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยทีมแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ จากหลายสาขามาช่วยกันดูแล เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จได้อย่างดี และลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น


การผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) คืออะไร ?


fig_2.jpg

การผ่าตัดลดน้ำหนัก (Bariatric surgery) คือ การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดขนาดกระเพาะให้เล็กลง หรือลดการดูดซึมของกระเพาะอาหาร สามารถเรียกได้ว่าเป็นการผ่าตัดเพื่อรักษาโรคอ้วน เพราะว่าในกระเพาะอาหารของเรามีฮอร์โมนชนิดนึงที่ทำให้เกิดความอยากอาหาร เมื่อเราผ่าตัดลดขนาดกระเพาะลงก็จะตัดส่วนที่มีฮอร์โมนชนิดนี้ออกไปด้วย และเมื่อฮอร์โมนนี้ลดลง ก็จะส่งผลให้ความอยากอาหารลดลงไป


การผ่าตัดลดน้ำหนักนี้จะทำให้ทานอาหารได้น้อยลงมากในช่วงแรก แต่จะไม่ทรมาน เพราะฮอร์โมนและความอยากอาหารก็ลดลงตามไปด้วย


ใครสามารถทำการผ่าตัดลดน้ำหนักได้บ้าง?


fig_3.jpg
  • ผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
  • มี ภาวะอ้วน หรือมีดัชนีมวลกายสูงกว่า 32.5 กก./ตร.ม. ขึ้นไป
  • ผู้ที่พยายามลดน้ำหนักด้วยตัวเอง ทั้งควบคุมอาหารและออกกำลังกายมาแล้วแต่ไม่ได้ผล
  • เป็นผู้ที่ไม่ได้มีข้อห้ามในการผ่าตัด หรือผู้ที่ไม่สามารถดูแลตัวเองได้หลังผ่าตัด เช่นเป็นโรคทางจิตเวช

ภาวะอ้วน มีวิธีวัดอย่างไร ?


Webp.net-resizeimage-2.jpg

ในการประเมินภาวะอ้วนอย่างง่าย ๆ คือ การวัดเส้นรอบพุงผ่านสะดือ โดยในผู้ชายหากมีเส้นรอบพุงมากกว่า 90 เซนติเมตร (35 นิ้ว) และผู้หญิงหากมีเส้นรอบพุงมากกว่า 80 เซนติเมตร (31.5 นิ้ว) แล้วยิ่งถ้ามีเบาหวาน ความดัน หรือ มีไขมันสูงร่วมด้วยแล้วถือว่ามีความเสี่ยง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อหาวิธีการรักษาที่เหมาะสม เพราะเราเรียกภาวะนี้ว่าภาวะอ้วนลงพุงและกลุ่มอาการด้านเมตตาโบลิค (Metabolic syndrome) ซึ่งมีโอกาสเกิดทุพพลภาพและเสียชีวิตได้ค่อนข้างสูง


ส่วนในทางการแพทย์ เราใช้ค่ามาตรฐานในการวัดภาวะอ้วน คือใช้ดัชนีมวลกาย (Body Mas Index; BMI) โดยหาได้จากการนำน้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูง (เมตร) ยกกำลังสอง เช่น หนัก 90 กิโลกรัม สูง 160 เซนติเมตร ค่า IBM คำนวนได้ คือ (90 / (1.6 x 1.6)) จะได้ BMI = 35.15 กก./ตร.ม. ทั้งนี้ข้อบ่งชี้ในการรักษาในแต่ละรายเป็นไปตามตารางนี้


bmi.jpg

นั่นคือถ้า BMI มากกว่า 27.5 กก./ตร.ม. ก็ถือว่ามีโรคอ้วนแล้ว ถ้ามีความเสี่ยงสูงควรเข้ารับการปรึกษากับทีมแพทย์เฉพาะทางเรื่องการลดน้ำหนักด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การใส่ Balloon หรือฉีดยาลดน้ำหนักเป็นต้น แต่ถ้า BMI มากกว่า 32.5 กก./ตร.ม. จะถือว่าเริ่มมีข้อบ่งชี้ เริ่มมีความเสี่ยงสูง ควรจะพิจารณาเรื่องการผ่าตัดลดน้ำหนักได้แล้วนั่นเอง


เพราะเหตุใดผู้มีโรคอ้วนจึงควรต้องลดน้ำหนัก


Webp.net-resizeimage-1.jpg

แม้หลายคนอาจจะรู้สึกว่าความอ้วนนั้นเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความเป็นจริงแล้ว ความอ้วนนั้นถือเป็นภัยเงียบที่ส่งผลต่อสุขภาพและการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น เหนื่อยง่ายขึ้น ไม่คล่องตัว เคลื่อนไหวได้ลำบากจนออกกำลังกายได้ยาก พอรู้ตัวอีกทีน้ำหนักก็ขึ้นมาเรื่อย ๆ จนไม่สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติแล้ว โดยเฉพาะไขมันในช่องท้อง หรือที่เราว่าเรียกว่า “อ้วนลงพุง” ถือว่าเป็นภัยเงียบที่ก่อให้เกิดโรคแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ นอนกรน หลับไม่สนิท ประจำเดือนมาผิดปกติ ภาวะมีบุตรยาก


จากข้อมูลปัจจุบันพบว่าคนไทยพบเป็นโรคอ้วนอันดับที่ 2 ของอาเซียนรองจากมาเลเซีย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีดัชนีมวลกายเฉลี่ยขึ้นไปสูงถึง 36.4 ส่งผลให้อัตราการเสียชีวิต เพิ่มขึ้นเป็นเกือบ 2 เท่าของคนทั่วไปเลยทีเดียว


Webp.net-resizeimage-2-1.jpg

และในขณะนี้ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด 19 โรคอ้วนจัดเป็น 1 ใน 7 โรคของกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัว ที่จะนำร่องในการเข้ารับวัคซีนป้องกันโควิด 19 ก่อน เนื่องจากข้อมูลผู้เสียชีวิตที่ผ่านมาพบว่า ผู้ที่เป็นโรคอ้วนและติดเชื้อโควิด 19 มักจะมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าคนปกติ


ทำไมการลดน้ำหนักโดยวิธีทั่วไปถึงไม่ได้ผล


ในความเป็นจริงแล้วการลดน้ำหนักโดยการออกกำลังกายอย่างมีวินัยและควบคุมพฤติกรรมการกินนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่อย่างไรก็ตามจากการวิจัยพบว่าคนส่วนใหญ่จะลดน้ำหนักได้เพียงแค่ 5–10 % ของน้ำหนักตัวเท่านั้น เพราะว่าร่างกายของเราจะเริ่มปรับสภาพตัวเองให้อยู่ในสภาพเสมือนอดอาหาร ทำให้การควบคุมอาหารนั้นไม่ได้ผล


และยิ่งกว่านั้น ในจำนวนของผู้ที่ลดน้ำหนักจากการออกกำลังกาย และควบคุมอาหารนี้ พบว่ากว่า 50 % น้ำหนักก็จะกลับขึ้นมาใหม่ภายในเวลาเพียง 2 ปี และสำหรับคนที่มีน้ำหนักตัวมาก ๆ การออกกำลังกายเหมือนปกตินั้น ก็ไม่สามารถทำได้ง่ายนัก เพราะนอกจากจะเหนื่อยง่ายแล้ว การออกกำลังกายของผู้ที่มีน้ำหนักมากยังอาจเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการออกกำลังกายได้อีกด้วย


ประโยชน์จากการรักษาโรคอ้วนโดยการผ่าตัดกระเพาะอาหาร


เมื่อไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติ การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักจึงถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่มีความปลอดภัย วิธีนี้เป็นวิธีที่เป็นมาตรฐานทางการแพทย์อย่างเป็นสากล และถือเป็นจุดเริ่มต้นให้ผู้ป่วยโรคอ้วนสามารถลดน้ำหนักลงมาได้ และหลังจากการผ่าตัดแล้ว ก็จะทำให้ผู้ป่วยนั้นสามารถควบคุมน้ำหนักได้โดยง่าย ทั้งการออกกำลังกายและควบคุมการพฤติกรรมการทานอาหาร


ซึ่งโดยปกติการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะจะทำให้ผู้ป่วยจะสามารถลดน้ำหนักลงได้เฉลี่ยประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อสัปดาห์ในช่วงแรก และกลับมาออกกำลังได้ตามปกติภายใน 1 เดือน และเมื่อลดน้ำหนักลงมาแล้ว โรคประจำตัวที่มีอยู่ก็อาจจะดีขึ้นหรือหายเป็นปกติได้


aw_rama9_content2_mar2025_edit3.jpg

การผ่าตัดลดน้ำหนักนั้นมีวิธีการอย่างไร ?


การผ่าตัดลดน้ำหนักนั้น มีหลักการคือการลดปริมาณอาหารที่เข้าสู่ร่างกาย โดยลดขนาดกระเพาะลงจะส่งผลให้รับประทานอาหารได้น้อยลงและรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น รวมถึงวิธีการลดการดูดซึมอาหารและปรับฮอร์โมน โดยมีวิธีผ่าตัดที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน 2 วิธีดังนี้


14170217507483-1024x786-1.jpg
  1. การผ่าลดขนาดกระเพาะ (Restrictive procedure) เป็นการผ่าตัดเพื่อลดขนาดกระเพาะอาหารให้เล็กลง ให้เหลือกระเพาะอาหารเพียงแค่ส่วนที่จำเป็นและเพียงพอกับความต้องการของร่างกาย โดยวิธีที่นิยมทำมากที่สุด และมีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักได้อย่างดี คือการส่องกล้องตัดกระเพาะออกบางส่วน (Laparoscopic sleeve gastrectomy) ที่แพทย์จะทำการส่องกล้องเข้าไปแล้วทำการตัดกระเพาะบางส่วนออก ซึ่งส่วนที่ถูกตัดออกจะเป็นกระเพาะส่วนที่ผลิตฮอร์โมนทำให้รู้สึกหิว จึงมีผลในการควบคุมความรู้สึกหิวและการรับประทานอาหารของคนไข้ให้ลดลงหลังจากทำการผ่าตัดแล้ว
  2. การลดการดูดซึมของกระเพาะ (Mal-absorptive procedure) เช่นการทำ (Roux-en-Y gastric bypass) คือการลดการดูดซึมอาหารโดยการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะอาหารร่วมกับการบายพาส เบี่ยงเบนทางเดินอาหาร เพื่อให้ข้ามส่วนของการดูดซึมอาหารอย่างกระเพาะอาหารส่วนใหญ่และลำไส้เล็กบางส่วนที่มีการดูดซึมสูง ซึ่งอาจจะทำการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะลงร่วมกับการบายพาสทางเดินอาหาร วิธีนี้จะช่วยลดการดูดซึมอาหารและลดความอยากอาหารอีกด้วย

Bypass-update-1-1024x579-1.jpg

วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดลดน้ำหนัก


เนื่องจากการผ่าตัดลดน้ำหนักเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการรักษา แพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะคอยให้คำแนะนำวิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดลดน้ำหนัก พร้อมทั้งคอยติดตามอาการของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดอย่างใกล้ชิด และแนะนำให้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้การรักษามีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น สำหรับเรื่องอาหารนั้นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะวางแนวทางในการเลือกรับประทานอาหารในระยะแรกภายหลังจากการผ่าตัดอย่างเหมาะสม แบ่งออกเป็น 4 ระยะคือ


  • สัปดาห์ที่ 1 จะให้รับประทานอาหารเหลวใสที่รับประทานได้ง่ายเพื่อปรับสภาพกระเพาะ
  • สัปดาห์ที่ 2 จะให้รับประทานอาหารที่ข้นขึ้น เช่น ซุป
  • สัปดาห์ที่ 3 จะให้รับประทานอาหารอ่อนนุ่ม เช่น เยลลี่ คัสตาร์ด ไข่ตุ๋น
  • สัปดาห์ที่ 4 สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ

หลังจากทำการปรับกระเพาะอาหารเป็นเวลาประมาณ 4 สัปดาห์แล้ว สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ โดยเลือกรับประทานอาหารในปริมาณที่เหมาะสม เน้นโปรตีน และดื่มน้ำให้เพียงพอ ไม่ได้มีข้อห้ามเป็นพิเศษ ซึ่งผู้ที่เข้ารับการรักษาจะรับประทานอาหารได้ปริมาณน้อยลง เนื่องจากกระเพาะมีขนาดเล็กลงแล้ว


การผ่าตัดลดน้ำหนัก อันตรายไหม ?


Webp.net-resizeimage-3.jpg

ในปัจจุบันนวัตกรรมการผ่าตัดนั้นมีความทันสมัยมากขึ้น การผ่าตัดกระเพาะเพื่อการลดน้ำหนักนั้นเราสามารถใช้วิธีส่องกล้อง โดยการเจาะรูเป็นแผลเล็ก ขนาดแผลประมาณ 1- 1.5 ซม. แล้วเย็บด้วยไหมละลายหลังจากการผ่าตัด ดังนั้นคนไข้จึงฟื้นตัวได้เร็ว เจ็บแผลน้อย และหลังผ่าตัดเพียง 1-2 วันก็สามารถเดินได้ตามปกติ


และด้วยความคมชัดของเทคโนโลยี 4K-Full HD ในปัจจุบัน ทำให้ศัลยแพทย์สามารถผ่าตัดด้วยความแม่นยำมากขึ้น ส่งผลการผ่าตัดมีความปลอดภัย และมีความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย


การผ่าตัดลดขนาดกระเพาะไม่ได้น่ากลัว แต่ต้องอาศัยทีมแพทย์แฉพาะทางที่มีประสบการณ์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขามาช่วยกันดูแล เช่น ทีมศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการลดน้ำหนัก นักโภชนาการ รวมถึงแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ ซึ่งจะดูแลทั้งก่อนและหลังผ่าตัด เพื่อให้การรักษาประสบความสำเร็จ รวมทั้ง ลดภาวะแทรกซ้อนที่เกิดขึ้น และหลังจากเข้ารับการรักษาแล้ว จะต้องมีการติดตามอย่างต่อเนื่องกับทีมแพทย์ผู้รักษา


หลังจากการผ่าตัดลดน้ำหนักมีโอกาสกลับมาอ้วนได้อีกไหม ?


ภายหลังจากการผ่าตัดลดน้ำหนักแล้ว การจะกลับมาอ้วนขึ้นอีกครั้งนั้น มีโอกาสเป็นได้น้อยมาก เนื่องจากกระเพาะที่ตัดไปจะมีโอกาสน้อยที่จะกลับมามีขนาดเท่าเดิม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นพฤติกรรมของคนไข้เป็นก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะกำหนดว่าจะกลับมาอ้วนอีกครั้งหรือไม่ ดังนั้นคนไข้จึงจะต้องมีการติดตามอาการจากทีมแพทย์อย่างต่อเนื่อง เช่น เรื่องของการควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ซึ่งควรเริ่มออกกำลังกายหลังการผ่าตัดได้เป็นเวลา 1 เดือน โดยทางโรงพยาบาลของเรายังมีแผนกเฉพาะทางด้าน Fix-Fit ค่อยช่วยดูแลให้การลดน้ำหนักนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น


สรุป


Webp.net-resizeimage-4.jpg

แน่นอนว่าการลดน้ำหนักที่สำคัญที่สุดนั้น ก็หนีไม่พ้นเรื่องง่าย ๆ ที่ทุกคนรู้ดี อย่างการออกกำลังกายสม่ำเสมอ และการควบคุมอาหาร แต่การผ่าตัดกระเพาะอาหารเพื่อลดน้ำหนักนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ปลอดภัย และจำเป็นในคนไข้ที่ไม่สามารถลดน้ำหนักได้ด้วยวิธีปกติเช่นกัน แม้วิธีการผ่าตัดกระเพาะอาหารอาจจะฟังดูน่ากลัวในความรู้สึกของหลาย ๆ คน แต่ในความเป็นจริงแล้วมันถือเป็นวิธีที่ปลอดภัยและมีความเสี่ยงต่ำ


อย่างไรก็ตามการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักนั้นก็เป็นเพียงตัวช่วย เป็นดั่งก้าวแรกของสุขภาพที่ดีขึ้น หลังจากนั้น ก็จะขึ้นอยู่กับวินัยและการดูแลตัวเองของแต่ละคน ควบคู่ไปกับการปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อการลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี ให้เกิดผลลัพธ์ที่คุ้มค่าและยืนยาวมากที่สุด ดังนั้นต้องอย่าลืมว่า ก้าวแรกต้องเริ่มที่ตัวเราเสมอ


เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นาวาโท นพ. คมเดช ธนวชิระสิน

นาวาโท นพ. คมเดช ธนวชิระสิน

ศูนย์ศัลยกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital