บทความสุขภาพ

Knowledge

รู้ทันอาการริดสีดวงทวาร กับพฤติกรรมเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง

นพ. ธนพงศ์ ว่องวิริยกุล

ปัญหาการขับถ่ายสามารถสร้างความกังวลใจและกระทบต่อสุขภาพจิตกว่าที่คิด โดยเฉพาะอาการเจ็บเวลาถ่าย ถ่ายเป็นเลือด หรือมีก้อนยื่นจากทวารหนัก ซึ่งอาจเกิดจาก ‘ริดสีดวงทวาร’ ที่หลายคนอาจรู้สึกว่าเป็นโรคที่น่าอาย และไม่กล้ามาพบแพทย์ แต่แท้จริงแล้วไม่ว่าใครก็มีโอกาสเป็นริดสีดวงทวารได้ ดังนั้นสังเกตพบอาการริดสีดวง ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว เพื่อป้องกันไม่ให้อาการริดสีดวงทวารรุนแรงขึ้น


Key Takeaways

  • ริดสีดวงทวารมีสาเหตุหลักมาจากการเพิ่มแรงดันในช่องทวารหนัก ทำให้เนื้อเยื่อหลอดเลือดในช่องทวารหนัก (Anal canal) เกิดการขยายตัวเป็นหัวริดสีดวง โดยมีปัจจัยเสี่ยง เช่น ท้องผูก และการรับประทานอาหารบางประเภท เช่น ของเผ็ด, ไฟเบอร์น้อย, การทำอาชีพที่ต้องยกของหนักเป็นประจำ หรือโรคประจำตัว
  • ริดสีดวงทวารมี 2 ประเภท ได้แก่ ริดสีดวงภายใน (Internal Hemorrhoids) และริดสีดวงภายนอก (External Hemorrhoids)
  • การรักษาริดสีดวงทำได้หลายวิธี เช่น การใช้ยา, การฉีดยา, การใช้ยางรัด และการผ่าตัด ซึ่งจะใช้วิธีไหนในการรักษาขึ้นอยู่กับลักษณะและอาการของริดสีดวงทวาร
  • ริดสีดวงทวารป้องกันและดูแลได้ด้วยการปรับพฤติกรรมการขับถ่ายและลดการรับประทานอาหารที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร คืออะไร

ริดสีดวงทวาร คือโรคที่เกิดขึ้นจากกลุ่มเนื้อเยื้อหลอดเลือดในทวารหนักเกิดการขยายตัวและยื่นนูนออกมาจากทวารหนักในลักษณะของติ่งเนื้อ เมื่อขับถ่าย แรงดันจากการเบ่งหรือก้อนอุจจาระอาจทำหลอดเลือดดำมีโอกาสที่จะแตก และเกิดเลือดออกเวลาขับถ่ายได้ หากริดสีดวงอาการรุนแรง ติ่งเนื้อที่ยื่นออกมาอาจสร้างความเจ็บปวด จนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้


ประเภทของริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวารสามารถแบ่งประเภทได้เป็น 2 ประเภทตามตำแหน่งที่เกิด ดังนี้

ริดสีดวงภายใน

ริดสีดวงภายใน (Internal Hemorrhoids) คือริดสีดวงทวารที่เกิดขึ้นภายในรูทวารหนัก (Anal canal) อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าหูรูดทวารหนัก เหนือขึ้นไปจากเส้นประสาททวารหนัก ซึ่งระยะแรก ๆ นั้นจะไม่สามารถมองเห็นหรือคลำได้พบ อีกทั้งไม่สร้างความเจ็บปวดใด ๆ และสามารถตรวจพบได้เฉพาะเวลาส่องกล้องเท่านั้น โดยการเกิดริดสีดวงภายในสามารถแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ดังนี้

  • ระยะที่ 1 ริดสีดวงมีขนาดเล็ก ไม่สามารถมองเห็นหรือคลำพบ จะมีเพียงอาการขับถ่ายมีเลือดปนเท่านั้น
  • ระยะที่ 2 ริดสีดวงมีขนาดใหญ่ขึ้นจนสามารถคลำได้พบ เมื่อเบ่งจะมีติ่งเนื้อริดสีดวงยื่นออกมาด้วย แต่เมื่อหยุดเบ่งก็สามารถหดกลับเข้าไปได้เอง
  • ระยะที่ 3 ริดสีดวงใหญ่กว่าระยะที่ 2 เมื่อเบ่ง ริดสีดวงจะโผล่ออกมาและไม่กลับเข้าไปเอง ต้องใช้นิ้วดันเข้าไป
  • ระยะที่ 4 เป็นระยะที่ริดสีดวงมีขนาดใหญ่มากและยื่นออกมานอกทวารหนัก ไม่สามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปได้อีก ในระยะนี้มักมีอาการปวด อักเสบ และไม่สามารถนั่งได้ตามปกติ

ริดสีดวงภายนอก

ริดสีดวงภายนอก (External Hemorrhoids) คือริดสีดวงทวารที่เกิดขึ้นบริเวณผิวหนังรอบทวารหนัก หรือปากทวารหนัก (Anus) ซึ่งเป็นตำแหน่งที่มีเส้นประสาทจำนวนมาก จึงสามารถสร้างความเจ็บปวด โดยลักษณะริดสีดวงทวารภายนอกนั้นจะสามารถสังเกตเห็นได้ด้วยตาเปล่า คลำพบได้ ไม่มีระยะการเบ่งเช่นเดียวกับริดสีดวงภายใน


สาเหตุของการเกิดริดสีดวงทวาร


ริดสีดวงเกิดจากอะไร

ข้อสันนิษฐานที่ได้รับการยอมรับในปัจจุบันถึงสาเหตุของริดสีดวง พบว่าเกิดจากเนื้อเยื่อ anal cushion เกิดการขยายตัว ซึ่งเนื้อเยื่อ anal cushion จะขยายตัวเมื่อมีแรงเบ่งจากการขับถ่าย และช่วยให้รูทวารปิดกลับสนิท แต่การขยายตัวที่เกิดขึ้นกับเนื้อเยื่อ anal cushion จะทำให้เกิดการเคลื่อนตัวลงมาในตำแหน่งที่ต่ำกว่าปกติและไม่สามารถกลับไปในตำแหน่งเดิมได้ ทำให้เส้นเลือดซึ่งปกติถูกค้ำจุนโดยเนื้อเยื่อเหล่านี้มีลักษณะโป่งออกมาจากเนื้อเยื่อโดยรอบด้วย เกิดเป็นก้อนนูนซึ่งก็คือริดสีดวง โดยปัจจัยที่มีผลทำให้เกิดริดสีดวงทวารมีดังนี้

  • ระบบขับถ่ายผิดปกติ เช่น ท้องผูก ท้องเสียเรื้อรัง
  • มีพฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่ดี เช่น นั่งถ่ายอุจจาระเป็นเวลานาน ๆ หรือชอบเบ่งอุจจาระแรง ๆ
  • การออกแรงยกของหนักบ่อย ๆ หรือยืนนาน ๆ
  • ภาวะน้ำหนักเกินเกณฑ์
  • การรับประทานอาหารไม่ถูกสุขลักษณะ อาทิ ไม่ทานอาหารที่มีกากใย ทานของเผ็ดบ่อย ๆ
  • การตั้งครรภ์
  • โรคแทรกซ้อน เช่น โรคตับแข็ง
  • การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก
  • การหย่อนหยานของกล้ามเนื้อเกี่ยวพันในทวารหนักจากอายุที่เพิ่มมากขึ้น

แนวทางการรักษาริดสีดวงทวาร

การรักษาริดสีดวงทวารหนักจะขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของริดสีดวงทวาร ซึ่งมีแนวทางการรักษาดังต่อไปนี้

การรักษาโดยไม่ผ่าตัด

การรักษาโดยไม่ผ่าตัดจะใช้กับผู้ป่วยริดสีดวงทวารภายในระยะที่ 1 และระยะที่ 2 ซึ่งสามารถทำได้หลากหลายวิธี

  • การปรับอาหารการกินเเละเปลี่ยนการใช้ชีวิต (Dietary and Lifestyle Modification) ไม่ว่าผู้ป่วยจะอยู่ในระยะไหนก็ควรที่จะปรับพฤติกรรมให้เหมาะสม
  • การใช้ยา ประกอบไปด้วยการใช้ยาหลายกลุ่มเพื่อช่วยลดการอักเสบและลดการเลือดออกเมื่อขับถ่าย ซึ่งมีทั้งรูปแบบยาทาภายนอกและยาเหน็บ
  • การฉีดยา ช่วยให้เส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงริดสีดวงหดตัว ทำให้หัวริดสีดวงฝ่อตัวไปในที่สุด
  • การใช้ยางรัด ทำให้ริดสีดวงขาดเลือดจนฝ่อตัวและหลุดออกไปเองตามธรรมชาติ

การรักษาโดยการผ่าตัด

การรักษาโดยการผ่าตัดจะใช้กับผู้ป่วยริดสีดวงทวารภายนอกที่มีการอักเสบ และริดสีดวงภายในระยะที่ 3 และระยะที่ 4 ซึ่งวิธีการผ่าริดสีดวงยังมีอีกหลายวิธี ดังนี้

  • การผ่าตัดแบบเลเซอร์ (Laser Hemorrhoidoplasty) เป็นวิธีการที่ใช้แสงเลเซอร์เข้าไปทำลายเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยงริดสีดวงให้ฝ่อตัวลง เหมาะกับริดสีดวงที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก
  • การผ่าตัดริดสีดวง (Excisional Hemorrhoidectomy) เป็นวิธีการตัดติ่งริดสีดวงทวารที่เป็นปัญหาออก พร้อมกับตัดเส้นเลือดที่ไปหล่อเลี้ยงริดสีดวงทวาร เหมาะกับริดสีดวงที่มีขนาดใหญ่ ซึ่งการผ่าตัดริดสีดวงสามารถใช้การผ่าตัดส่องกล้อง MIS เพื่อให้แผลผ่าตัดมีขนาดเล็ก ลดระยะเวลาพักฟื้น และช่วยให้แผลผ่าตัดหายเร็วขึ้น

การป้องกันริดสีดวงทวาร

การป้องกันริดสีดวง

การเกิดริดสีดวงทวารโดยส่วนมากมักมีปัจจัยจากพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ดังนั้นการป้องกันไม่ให้เกิดริดสีดวงทวารจึงทำได้ด้วยการปรับพฤติกรรมให้ถูกสุขลักษณะ ซึ่งสามารถปฏิบัติตามได้ดังนี้

  • ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อให้ขับถ่ายง่ายขึ้น
  • รับประทานอาหารให้ครบหมู่ และเพิ่มการรับประทานผักที่มีกากใยสูง ช่วยให้อุจจาระนิ่ม ลดอาการท้องผูกได้
  • ฝึกการขับถ่ายให้เป็นเวลา และขับถ่ายเป็นประจำทุกวัน
  • ไม่นั่งขับถ่ายนานเกินไป เลี่ยงการอ่านหนังสือหรือเล่นมือถือขณะขับถ่าย
  • ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

อย่าปล่อยให้ริดสีดวงทวารตามรังควาน รักษาได้ด้วยการผ่าตัด ฟื้นตัวเร็ว หายขาดได้ ไม่รำคาญใจอีกต่อไป

ริดสีดวงทวารเป็นปัญหาที่ส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการขับถ่ายที่ไม่เหมาะสม หากอาการรุนแรงอาจสร้างความเจ็บปวดและส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันได้

เป็นริดสีดวงทวารไม่ใช่เรื่องน่าอาย รีบรักษาอย่าปล่อยทิ้งนาน ที่โรงพยาบาลพระรามเก้า รักษาริดสีดวงทวารหนักด้วยการผ่าตัดหลายหลายรูปแบบ ลดการบาดเจ็บต่อเนื้อเยื่อ อย่างเช่นการผ่าตัดส่องกล้อง Minimally Invasive Surgery ให้แผลเล็ก หายไว ลดความเสี่ยงแผลติดเชื้อ เพื่อคืนคุณภาพชีวิตที่ดีกลับมาอีกครั้ง


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม


คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงหายเองได้ไหม?

ริดสีดวงอาจหายได้เองกรณีที่อาการไม่รุนแรง ทั้งนี้สามารถดูแลตนเองด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขับถ่ายและพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ริดสีดวงทวารมีอาการรุนแรงขึ้น

ริดสีดวงทวารสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ไหม?

ริดสีดวงทวารสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ หากยังคงไม่แก้ไขพฤติกรรมขับถ่ายและพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดริดสีดวงทวาร


References

Felman, A. (2024, January 25). What to know about hemorrhoids. MedicalNewsToday. https://www.medicalnewstoday.com/articles/73938#symptoms


Lewine, HE. (2024, March 26). Hemorrhoids and what to do about them. Harvard Health Publishing. https://www.health.harvard.edu/diseases-and-conditions/hemorrhoids_and_what_to_do_about_them


WebMD Editorial Contributors. (2023, August 16). Hemorrhoids: Symptoms, Causes, and Treatment. WebMD. https://www.webmd.com/digestive-disorders/understanding-hemorrhoids-basics

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. ธนพงศ์ ว่องวิริยกุล

นพ. ธนพงศ์ ว่องวิริยกุล

ศูนย์ศัลยกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ สัญญาณเตือนที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม

เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือภาวะที่เนื้อเยื่อในโพรงมดลูกเจริญนอกมดลูก เช่น รังไข่หรือท่อนำไข่ ทำให้เกิดการอักเสบและปวดท้องประจำเดือนรุนแรง

เนื้องอกมดลูก อันตรายใกล้ตัวของผู้หญิงที่ไม่ควรมองข้าม

เนื้องอกมดลูก มีสาเหตุมาจากเซลล์กล้ามเนื้อมดลูกเจริญผิดปกติ ผู้ป่วยส่วนมากมักไม่แสดงอาการ และผู้ป่วยบางส่วนอาจมีอาการปวดท้องน้อยรุนแรง ท้องผูก ปัสสาวะบ่อย

ต่อมลูกหมากโต (BHP) อาการเป็นอย่างไร รักษาวิธีไหนได้บ้าง?

โรคต่อมลูกหมากโต (BPH) คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้ปัสสาวะติดขัดและกระทบต่อคุณภาพชีวิต มักพบได้บ่อยในผู้ชายวัยกลางคนอายุ 50 ปีขึ้นไป

ปัสสาวะบ่อย ไม่ใช่เรื่องเล็ก เสี่ยงโรคอันตรายบั่นทอนคุณภาพชีวิต

ปัสสาวะบ่อยเกิดได้จากหลายปัจจัย ตั้งแต่การดื่มน้ำหรือของเหลวในปริมาณมาก ได้รับคาเฟอีนมาก การใช้ยา ไปจนถึงโรคที่เกี่ยวข้องกับทางเดินปัสสาวะ เรียนรู้ในบทความนี้!

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน ทางเลือกรักษาข้อเข่าเสื่อม แผลเล็ก ฟื้นตัวเร็ว

การผ่าตัดเปลี่ยนผิวข้อเข่าเทียมบางส่วน หรือ UKA เป็นการผ่าตัดรักษาโรคข้อเข่าเสื่อม โดยเอาผิวข้อเฉพาะส่วนที่สึกหรอออก และเก็บผิวข้อเข่าส่วนที่ยังมีสภาพดีไว้ ทำให้ผู้ป่วยไม่ต้องใช้เวลาปรับตัวนาน ในการกลับไปใช้ข้อเข่าได้เหมือนธรรมชาติ

คุณเป็นโรคภูมิแพ้…จริงหรือ…?

คนทั่วไปเมื่อมีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือเป็นๆ หายๆ มักจะบอกว่า เป็นโรคภูมิแพ้ หรือไม่ก็เข้าใจว่าตนเป็นหวัด หวัด เกิดจากการติดเชื้อไวรัส คนทั่วไปมักเป็นได้ปีละ 4 – 5 ครั้งก็มากเกินปกติแล้ว อาการหวัดมักเป็นอยู่ 3 – 4 วัน

โรคไข้อีดำอีแดง โรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรีย

ข้อมูลจาก สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย โรคไข้อีดำอีแดงหรือ scarlet fever เป็นโรคที่เกิดจากพิษของเชื้อแบคทีเรียชื่อ #สเตร็ปโตคอคคัสชนิดเอ ทำให้มีผื่นแดง ตามตัวร่วมกับคอหอยหรือทอนซิลอักเสบ พบบ่อยในช่วงอายุระหว่าง 5-15 ปี

วัคซีนปอดอักเสบนิวโมคอกคัสชนิดใหม่ 20 สายพันธุ์ (PCV 20)

โรคปอดอักเสบจากเชื้อนิวโมคอกคัสเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียสเตรปโตคอคคัสนิวโมเนียอี (Streptococcus pneumoniae) ส่วนใหญ่เชื้อจะพบอยู่ในโพรงจมูกและลำคอ สามารถแพร่กระจายผ่านการสัมผัสสารคัดหลั่งทางละอองฝอยทางการไอหรือจาม เป็นหนึ่งในเชื้อที่ทำให้เกิดปอดอักเสบที่พบบ่อย ทั้งในเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ

โรคแอนแทรกซ์ (Anthrax) โรคติดต่อจากสัตว์สู่คน

โรคแอนแทรกซ์ หรือชาวบ้านเรียกว่าโรคกาลี เป็นโรคที่รู้จักกันมาแต่โบราณกาล แอนแทรกซ์นับว่าเป็นโรคระบาดสำคัญโรคหนึ่งในพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2499 เป็นโรคติดต่ออันตรายร้ายแรงที่เกิดขึ้นได้ในสัตว์กินหญ้าแทบทุกชนิด ทั้งสัตว์ป่า เช่น ช้าง เก้ง กวาง และสัตว์เลี้ยง เช่น โค กระบือ แพะ แกะ แล้วติดต่อไปยังคนและสัตว์อื่น

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital