บทความสุขภาพ

Knowledge

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

นพ. อนุวัตร สุขสมานพาณิชย์

โรคไส้เลื่อนเป็นภาวะที่อวัยวะภายในช่องท้องเลื่อนออกมาจากตำแหน่งปกติ มีทั้งแบบที่ยังไม่อันตราย และเป็นอันตรายรุนแรงกระทั่งต้องได้รับการผ่าตัดฉุกเฉิน มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อและเสียชีวิตได้ ไส้เลื่อนสามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย ไม่จำกัดเฉพาะเพศชายอย่างที่เข้าใจกัน หากพบว่าเป็นไส้เลื่อนแนะนำให้เข้ารับผ่าตัดเพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนอันตรายในอนาคต


Key Takeaways


  • ไส้เลื่อน คือ ภาวะที่อวัยวะภายในช่องท้องเลื่อนออกมาจากตำแหน่งปกติ อาจสัมผัสหรือมองเห็นเป็นก้อนตุงออกมาได้ สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย แต่มีโอกาสพบในเพศชายมากกว่า
  • การเกิดไส้เลื่อนอาจไม่ก่อให้เกิดอาการเจ็บปวด หรืออาจพบอาการปวดหน่วง แต่หากปล่อยไว้อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างลำไส้อุดตัน ลำไส้ขาดเลือดที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
  • การรักษาไส้เลื่อนสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัดเสริมความแข็งแรงของผนังหน้าท้อง เพื่อไม่ให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนออกมาได้อีก

ทำความเข้าใจ ไส้เลื่อน คืออะไร?


ไส้เลื่อน คือ

โรคไส้เลื่อน (Hernia) คือ ภาวะที่มีอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งในช่องท้องเคลื่อนไปจากตำแหน่งปกติ โดยเคลื่อนผ่านรูหรือดันออกไปตรงบริเวณพังผืดหรือกล้ามเนื้อที่ไม่แข็งแรง (เกิดความอ่อนแอหรือหย่อนยาน) ทำให้อวัยวะในช่องท้องดังกล่าวไปอยู่ในตำแหน่งที่ผิดปกติ พบได้ตั้งแต่บริเวณกะบังลมไปจนถึงใต้ขาหนีบ ซึ่งบริเวณนั้น ๆ จะสามารถสัมผัสหรือเห็นเป็นก้อนตุงเมื่ออยู่ในท่านั่งหรือยืน แต่เมื่อนอนราบก้อนตุงอาจยุบหายไป


โรคไส้เลื่อนจำเป็นต้องได้รับการรักษาโดยเร็ว หากปล่อยไว้อาจมีโอกาสที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรง เช่น ลำไส้อุดตัน หรือลำไส้ขาดเลือด ส่งผลให้ลำไส้ตายและเกิดการติดเชื้อในกระแสเลือดได้


ชนิดของไส้เลื่อน มีอะไรบ้าง?


เราสามารถแบ่งชนิดของไส้เลื่อนได้จากตำแหน่งที่พบ ดังนี้


  • ไส้เลื่อนขาหนีบ (Inguinal Hernias) เป็นตำแหน่งที่พบได้บ่อยที่สุด พบมากในผู้ชาย กรณีที่อาการไส้เลื่อนรุนแรงอาจทำให้เกิดการไหลลงไปยังบริเวณอัณฑะได้
  • ไส้เลื่อนข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง (Spigelian Hernias) หรือไส้เลื่อนช่องท้อง (Ventral Hernia) คือ ตำแหน่งไส้เลื่อนที่เกิดขึ้นในผู้ที่กล้ามเนื้อหน้าท้องหย่อนยานและอ่อนแอ
  • ไส้เลื่อนสะดือ (Umbilical Hernias) พบได้ในเด็ก ซึ่งเป็นภาวะที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่กำเนิดจากการที่รูผนังหน้าท้องบริเวณสะดือยังปิดไม่สนิท สามารถหายเองได้เมื่อผนังหน้าท้องแข็งแรงขึ้น
  • ไส้เลื่อนกะบังลม (Diaphragmatic Hernia) เกิดจากกะบังลมที่กั้นระหว่างช่องอกกับช่องท้องมีรูรั่ว ทำให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนขึ้นไปช่องอกได้ อาจเกิดขึ้นตั้งแต่กำเนิด ผู้ที่มีอายุมาก หรือในผู้ที่เคยบาดเจ็บบริเวณกะบังลม
  • ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด (Incisional Hernia) เกิดจากแผลใต้ผิวหนังซ่อมแซมไม่สมบูรณ์ อาจทำให้เกิดความหย่อนยาน อ่อนแอ หรือรูรั่ว จนเป็นเหตุให้อวัยวะในช่องท้องเคลื่อนออกมา
  • ไส้เลื่อนอุ้งเชิงกราน (Obturator Hernia) เป็นตำแหน่งไส้เลื่อนที่พบได้ยาก ไม่สามารถมองเห็นได้จากภายนอก และมีความอันตรายจากการทำให้เกิดภาวะลำไส้อุดตันได้ง่าย พบได้ในผู้หญิงสูงอายุ
  • ไส้เลื่อนต่ำกว่าขาหนีบ (Femoral Hernia) เป็นตำแหน่งไส้เลื่อนที่พบได้บ่อยในผู้หญิง เนื่องจากมีกระดูกเชิงกรานกว้างกว่าผู้ชาย

รู้ทันสาเหตุของไส้เลื่อน


ไส้เลื่อน สาเหตุ

สาเหตุที่เพิ่มโอกาสการเกิดโรคไส้เลื่อน ได้แก่


  • ความผิดปกติของช่องท้องมาตั้งแต่กำเนิด โดยเฉพาะในเด็กที่คลอดก่อนกำหนด
  • อายุที่เพิ่มขึ้น โดยพบมากในอายุ 40 ปีขึ้นไป
  • เคยเกิดอุบัติเหตุที่รุนแรงบริเวณหน้าท้อง
  • พฤติกรรมที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องสูง เช่น การออกแรงยกของหนัก ไอหรือจามอย่างหนักบ่อย ๆ เบ่งอุจจาระหรือปัสสาวะเป็นประจำ เป็นต้น
  • ผนังช่องท้องมีความอ่อนแอหลังการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง
  • การตั้งครรภ์
  • การสูบบุหรี่
  • โรคอ้วน
  • ผู้ชายมีความเสี่ยงมากกว่าผู้หญิง เนื่องจากผู้ชายมีช่องถุงอัณฑะซึ่งจะเป็นบริเวณที่อ่อนแรงได้ง่ายจึงมีโอกาสเกิดไส้เลื่อนได้

อาการที่เกิดขึ้นเมื่อเกิดไส้เลื่อน


อาการไส้เลื่อนในระยะเริ่มแรกผู้ป่วยมักไม่มีอาการ หรือความเจ็บปวดใด ๆ อาจสังเกตเห็นก้อนตุง ๆ นูนออกมาจากผนังหน้าท้อง ขาหนีบ หรือตำแหน่งอื่น ๆ บริเวณช่องท้อง และก้อนนี้มักใหญ่หรือชัดเจนขึ้น เมื่อสังเกตในท่านั่งหรือยืน ผู้ป่วยอาจมีอาการจุก ๆ หน่วง ๆ ที่ท้องร่วมด้วย แต่เมื่อนอนหงายก้อนที่เคยนูนออกมาอาจยุบเล็กลงหรือหายไปเอง


ในกรณีที่เป็นไส้เลื่อนกะบังลม อาจมีอาการจุกแน่น แสบร้อนกลางอก คล้ายกับกรดไหลย้อน หายใจลำบาก คลื่นไส้อาเจียน หากปล่อยทิ้งไว้ไส้เลื่อนจะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีอาการจุกและหน่วงมากขึ้น หรืออาจถึงขั้นมีอาการเจ็บปวด แน่นท้อง ปวดแสบปวดร้อน และเกิดภาวะแทรกซ้อนตามมาได้


การวินิจฉัยโรคไส้เลื่อน


วิธีการตรวจวินิจฉัยโรคไส้เลื่อนขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดไส้เลื่อน กรณีที่เป็นไส้เลื่อนในตำแหน่งที่มองเห็นจากภายนอกได้ เช่น ไส้เลื่อนข้างกล้ามเนื้อหน้าท้อง ไส้เลื่อนขาหนีบ ไส้เลื่อนแผลผ่าตัด อาจสามารถวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายโดยแพทย์

ในกรณีที่ผู้ป่วยมีผนังหน้าท้องหนา หรือไส้เลื่อนในตำแหน่งที่ไม่สามารถมองเห็นจากภายนอกได้ อาจต้องได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น อัลตราซาวนด์ หรือการทำ CT Scan


การผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน ลดความอันตรายจากอาการแทรกซ้อน


ผ่าตัดไส้เลื่อน

การรักษาไส้เลื่อนสามารถทำได้ด้วยการผ่าตัด ซึ่งวิธีผ่าตัดไส้เลื่อนมีอยู่ 2 วิธี ได้แก่ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็ก


1. การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง (Open Surgery)


การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้องเป็นวิธีผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเดิมที่ต้องเปิดแผลบนบริเวณที่เกิดไส้เลื่อน จากนั้นทำการดันอวัยวะให้กลับเข้าที่ก่อนจะเย็บปิดผนังช่องท้อง หรือเสริมความแข็งแรงด้วยตาข่ายสังเคราะห์สำหรับรักษาไส้เลื่อน เพื่อป้องกันการเกิดไส้เลื่อนซ้ำ


2. การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็ก (Minimally Invasive Surgery)


การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบผ่านกล้องแผลเล็กเป็นวิธีผ่าตัดไส้เลื่อนโดยการเจาะรูเล็ก ๆ ที่ช่องท้องเพื่อสอดกล้องและอุปกรณ์ผ่าตัดเข้าไป จากนั้นทำการซ่อมแซมผนังช่องท้องที่ทำให้เกิดไส้เลื่อน และเสริมความแข็งแรงด้วยตาข่ายสังเคราะห์สำหรับรักษาไส้เลื่อน วิธีผ่าตัดส่องกล้องเป็นวิธีที่สามารถลดการบาดเจ็บของเนื้อเยื่อรอบข้าง ให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วกว่าการผ่าตัดเปิดหน้าท้อง


วิธีการเตรียมตัวก่อนผ่าตัดไส้เลื่อน


  • ตรวจความพร้อมของร่างกายโดยแพทย์ ผู้ป่วยแจ้งประวัติสุขภาพและการรักษากับแพทย์ให้ครบถ้วน
  • งดการดื่มแอลกอฮอล์และสูบบุหรี่อย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ก่อนเข้ารับการผ่าตัด
  • งดน้ำและอาหาร 6-8 ชั่วโมงก่อนผ่าตัด
  • พักผ่อนให้เพียงพอ และทำจิตใจให้ผ่อนคลาย
  • ควรมีญาติหรือคนใกล้ชิดมาดูแลในช่วงพักฟื้นด้วย

วิธีการดูแลตัวเองหลังผ่าตัดไส้เลื่อน


  • ระวังไม่ให้แผลโดนน้ำจนกว่าแพทย์จะอนุญาต
  • ให้รับประทานยาฆ่าเชื้อให้ครบตามแพทย์สั่ง หากมีอาการปวดให้รับประทานยาแก้ปวดที่แพทย์จ่ายให้เพื่อบรรเทาอาการได้
  • ระมัดระวังการไอหรือจาม เนื่องจากอาจทำให้แผลฉีกได้
  • งดออกกำลังกายที่กระทบต่อกล้ามเนื้อหน้าท้อง และไม่ยกของหนักในช่วง 1-3 เดือนแรกหลังรับการผ่าตัด
  • หากมีอาการปวดแผลรุนแรง แผลฉีก มีเลือดหรือน้ำเหลืองซึม ให้รีบกลับมาพบแพทย์โดยเร็ว

แนวทางการป้องกันไส้เลื่อนด้วยตัวเอง


ไส้เลื่อนอาจสร้างความรำคาญใจและอาจเป็นอันตรายได้หากเกิดอาการแทรกซ้อน ดังนั้นเพื่อป้องกันการเกิดไส้เลื่อน ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเองตามวิธีปฏิบัติตนดังนี้


  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือการเบ่งอุจจาระและปัสสาวะบ่อย ๆ ที่ทำให้เกิดแรงดันในช่องท้องสูง
  • ลดอาการไอด้วยการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ไม่ติดหวัด และไม่สูบบุหรี่ เนื่องจากการไอทำให้แรงดันในช่องท้องสูง
  • รับประทานอาหารที่มีไฟเบอร์ ป้องกันการเกิดอาการท้องผูกจนต้องเบ่งอุจจาระ
  • ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์

ตรวจพบไส้เลื่อน อย่าปล่อยไว้ แก้ไขได้ด้วยการผ่าตัด เพื่อการใช้ชีวิตที่มั่นใจอีกครั้ง


ไส้เลื่อนเป็นภาวะที่อาจสร้างความกังวลใจให้กับหลายคน แต่ที่สำคัญคือการเกิดไส้เลื่อนยังเพิ่มความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนร้ายแรงถึงชีวิตได้อีกด้วย ดังนั้นหากพบปัญหาหรือสังเกตเห็นก้อนนูนผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่เหมาะสมโดยเร็ว


ศูนย์ผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็ก (MIS) โรงพยาบาลพระรามเก้า ให้บริการผ่าตัดส่องกล้องแผลเล็กด้วยเครื่องมือและเทคโนโลยีการแพทย์ที่ได้มาตรฐาน โดยแพทย์เฉพาะทางที่มีประสบการณ์ผ่าตัดส่องกล้อง การผ่าตัดส่องกล้องช่วยเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัด ลดการบาดเจ็บเนื้อเยื่อได้มากกว่า และยังช่วยลดระยะการพักฟื้น แผลหายเร็ว เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติอีกครั้งในเร็ววัน


สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม



คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับโรคไส้เลื่อน


1. โรคไส้เลื่อน อันตรายหรือไม่?


ไส้เลื่อนอาจเป็นอันตรายได้ เมื่อไส้เลื่อนไม่สามารถดันกลับเข้าไปในช่องท้องตามปกติ (Incarcerated Hernia) ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ เช่น ลำไส้อุดตัน ลำไส้ขาดเลือด ซึ่งเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาทันที


2. ใครบ้างที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยงไส้เลื่อนลงถุงอัณฑะ?


ผู้ชายอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่เป็นโรคต่อมลูกหมากโต รวมถึงผู้ที่มีอาการท้องผูกเป็นประจำ


References


Hernia. (2023, February 7). Cleveland Clinic. https://my.clevelandclinic.org/health/diseases/15757-hernia


Hernia. (2022, October 18). NHS. https://www.nhs.uk/conditions/hernia/


Hernia. (n.d.) Healthdirect. https://www.healthdirect.gov.au/hernias

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นพ. อนุวัตร สุขสมานพาณิชย์

นพ. อนุวัตร สุขสมานพาณิชย์

ศูนย์ศัลยกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

กระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? รู้จักอาการ สาเหตุ และการป้องกัน

โรคกระดูกคอเสื่อมอันตรายไหม? ชวนคุณมาทำความรู้จักกับอาการ สาเหตุ และการรักษา เพื่อป้องกันสุขภาพตัวเองไม่ให้กระดูกคอได้รับบาดเจ็บ

ผ่าตัดไส้เลื่อน วิธีรักษาไส้เลื่อนให้หายดี ลดเสี่ยงภาวะแทรกซ้อน

ผ่าตัดไส้เลื่อน เป็นวิธีรักษาไส้เลื่อนที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด โดยเฉพาะการผ่าแบบส่องกล้อง จะช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนรุนแรง และลดการเป็นซ้ำได้

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital