บทความสุขภาพ

Knowledge

เมื่อการลดความอ้วน กลายเป็นเป้าหมายที่ทั่วโลกให้ความสำคัญ จนเกิดเป็นวันอ้วนโลก (World Obesity Day)

นาวาโท นพ. คมเดช ธนวชิระสิน

หากสังเกตรอบ ๆ ตัวช่วงนี้ เรามักจะเห็นการโฆษณาหรือบทความเกี่ยวกับการลดความอ้วนมากมายเต็มไปหมด ไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ สูตรอาหาร ฟิตเนส ท่าออกกำลังกาย หรือคอร์สลดน้ำหนัก


เมื่อพิจารณาผิวเผิน จะดูเหมือนว่าคนยุคนี้ให้ความสำคัญกับโรคอ้วนมากขึ้น ถ้าเป็นอย่างนั้นก็น่าจะดี แต่หากดูจากสถานการณ์จริง ๆ แล้ว พบว่าในประเทศไทย ปัญหาของภาวะอ้วนยังคงมีสถิติที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะสำหรับคนในวัยทำงาน เป็นช่วงอายุที่คนมีภาระหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบสูงขึ้น ทำให้มีเวลาพักผ่อนหรือดูแลตัวเองน้อยลง


นอกจากนี้ หลังทำงานมาทั้งวัน คนในวัยทำงานก็มีแนวโน้มที่จะตอบแทนความเหน็ดเหนื่อยของตัวเองด้วยอาหารรสชาติอร่อย สีสันน่ารับประทาน บางคนก็อาจเลือกกินร้านอาหารที่ให้ปริมาณมากในราคาที่คุ้มค่า เช่น บุฟเฟ่ต์ จึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่ง ที่ทำให้คนมีแนวโน้มจะมีน้ำหนักเกินหรือเข้าสู่ภาวะอ้วนมากขึ้น


buffet.jpg

ทำไมการลดความอ้วน จึงกลายมาเป็นวาระระดับโลก


หากมองภาพรวมในระดับโลก ประชากรในหลายประเทศมีปัญหาน้ำหนักและมีดัชนีมวลกายเฉลี่ยเกินมาตรฐาน แม้ว่าจะมาจากสาเหตุสำคัญที่แตกต่างกันบ้างก็ตาม


การที่ประชากรโลกมีน้ำหนักตัวเกิน สามารถส่งผลกระทบทั้งด้านพลังงาน อาหาร เศรษฐกิจ รวมไปถึงประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมได้มากมายเลยทีเดียว เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบระดับโลกที่จะตามมานี้ สหพันธ์โรคอ้วนจึงได้มีมติ ตั้ง “วันอ้วนโลก (World Obesity Day)” ขึ้นมา


world-obesity-day-org.jpg

credit: https://www.worldobesityday.org/


วันอ้วนโลก (World Obesity Day) คืออะไร?


วันอ้วนโลก (World Obesity Day) คือ วันสำคัญที่ถูกจัดตั้งขึ้นโดยสหพันธ์โรคอ้วน (World Obesity Federation) ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจอย่างลึกซึ้งเกี่ยวกับปัญหาและสาเหตุการเกิดโรคอ้วน โดยมีจุดประสงค์ให้ผู้คนตระหนักรู้ถึงภัยอันตรายและเข้าใจวิธีการรักษาที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรคนี้

เป้าหมายของวันอ้วนโลก

วันสำคัญดังกล่าว เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า ... “โรคอ้วน เป็นโรคอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนมากกว่า 800 ล้านคนทั่วโลก และก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมามากกว่าที่พวกเขาเคยเข้าใจ”


https://www.worldobesityday.org/

ทางสหพันธ์โรคอ้วน ต้องการนำเสนอความรู้ถึงปัญหาของโรคอ้วนและปัจจัยเชิงลึกต่าง ๆ ที่เป็นต้นตอสะสมจนก่อให้เกิดโรคอ้วน (ซึ่งหลายคนมองข้าม) เพื่อให้ทุกคนเกิดความตระหนักรู้เกี่ยวกับโรคนี้ และลุกขึ้นมาหยุดยั้งโรคนี้ให้หมดไป


หากจะสรุปให้เข้าใจได้ง่ายในมุมมองระดับบุคคลแล้ว เป้าหมายของวันอ้วนโลกก็คือ การส่งเสริมให้ผู้คนเข้าใจถึงอันตราย สามารถรักษาให้หายจากโรคนี้ได้อย่างถูกวิธี และมีสุขภาพที่ดี สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข


exercise.jpg

แต่สำหรับในมุมมองระดับโลก เป้าหมายของวันอ้วนโลก คือ การลดอัตราการเพิ่มขึ้นของคนที่เป็นโรคอ้วนให้น้อยลงและหมดไปในที่สุด ซึ่งจะส่งผลกระทบในทางบวกอย่างมากต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมเลยทีเดียว


แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า ทุกคนจะต้องรีบไปสมัครคอร์สลดน้ำหนักเร่งด่วน หรือกินอาหารลดความอ้วน โดยที่ยังไม่มีความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับสาเหตุของการเกิดโรคอ้วนให้ดีเสียก่อน เพราะนอกจากเสี่ยงที่จะทำไม่สำเร็จแล้ว ยังอาจก่อให้เกิดภาวะโยโย่ขึ้นได้อีกด้วย


มาทำให้วันอ้วนโลกเป็นวันสำคัญกันเถอะ


ในปี 2564 นี้ วันอ้วนโลก (World Obesity Day) จะตรงกับวันพฤหัสบดี ที่ 4 มีนาคม ซึ่งสำหรับใครหลายคน อาจเป็นวันธรรมดาวันหนึ่งที่กำลังจะผ่านพ้นไป แต่สำหรับใครที่อยากใช้โอกาสนี้ เพื่อเป็นหมุดหมายสำคัญของการเริ่มต้นลดความอ้วนให้ได้ผลอย่างยั่งยืน ก็ถือว่าเป็นไอเดียที่ดีมาก ๆ โดยมีข้อแนะนำเบื้องต้นดังนี้


สำรวจตัวเองก่อน ว่าเรามีภาวะโรคอ้วนหรือน้ำหนักเกินมาตรฐานหรือไม่


วิธีการสำรวจตัวเองง่าย ๆ ว่าเราเริ่มอ้วนแล้วหรือยัง คือการวัดเส้นรอบพุงผ่านสะดือ หากเป็นผู้ชาย ไม่ควรมีเส้นรอบพุงมากกว่า 90 ซม. (35 นิ้ว) หรือกรณีผู้หญิง ไม่ควรมีเส้นรอบพุงมากกว่า 80 ซม. (31.5 นิ้ว) หากวัดได้เกินนี้ แปลว่าเราเริ่มมีภาวะอ้วนลงพุง


measurement.jpg

สำหรับเรื่องน้ำหนักตัวที่เหมาะสม ในทางการแพทย์จะวัดจากการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI) ซึ่งเราสามารถคำนวณเองได้ จากการเอาน้ำหนัก (กก.) หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง (ม.) ยกตัวอย่างเช่น


หากเรามีน้ำหนักตัว 90 กก. และมีส่วนสูง 1.60 ม. เมื่อคำนวณแล้วจะได้ค่า BMI 35.15 ซึ่งถือว่ามีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐานในระดับที่เสี่ยงสูง โดยปกติแล้ว เราควรมีค่า BMI อยู่ระหว่าง 18.50 – 22.90 จึงจะถือว่าเป็นเกณฑ์ปกติ


เข้าใจเรื่องระบบเผาผลาญและฮอร์โมน


หากใครลองลดน้ำหนักมาหลายวิธีแล้วไม่สำเร็จเสียที เป็นไปได้ว่าเรากำลังมีปัญหาในเรื่องของสมดุลในระบบเผาผลาญและฮอร์โมน


เหตุผลที่เราเรียกภาวะอ้วน ว่าโรคอ้วน เนื่องจากมันความผิดปกติของร่างกายนั่นเอง หากลองสังเกตคนรอบตัวดู เราจะเห็นว่าบางคนกินอะไรก็ไม่อ้วน น้ำหนักตัวไม่ขึ้น ทั้ง ๆ ที่แทบไม่ได้ขยับตัวอะไรเลย แต่ในขณะที่บางคน แค่กินอะไรนิดหน่อยก็น้ำหนักตัวขึ้นแล้ว


ความอ้วนจึงไม่ใช่แค่เรื่องของมุมมองจากภายนอก แต่เป็นกระบวนการภายในที่ขาดสมดุล และต้องได้รับการแก้ไขให้กลับมาเป็นปกติ


eating.jpg

ร่างกายของคนเรามักถูกควบคุมหรือกระตุ้นโดยฮอร์โมนชนิดต่าง ๆ เช่น ความรู้สึกหิว มาจากการกระตุ้นโดยฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ความรู้สึกอิ่มมาจากฮอร์โมนเลปติน (Leptin) หรือเวลาที่ร่างกายเครียด ก็จะกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisol) ซึ่งไปกระตุ้นให้เราอยากกินอะไรหวาน ๆ มัน ๆ


หรือสำหรับผู้ที่เป็นผู้ใหญ่แล้ว แม้แต่ฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตของเด็กและวัยรุ่นอย่างโกรทฮอร์โมน (Growth Hormone) ก็ยังมีส่วนสำคัญต่อการฟื้นฟูและซ่อมแซมร่างกาย ไปจนถึงการกระตุ้นการเผาผลาญและดึงพลังงานมาใช้อีกด้วย


หากเรามีพฤติกรรมประจำวันที่รบกวนสมดุลการทำงานของฮอร์โมนเหล่านี้เกิดความผิดปกติไป ย่อมส่งผลต่อน้ำหนักตัวและความอ้วนของเราแน่นอน


โดยเฉพาะระบบเผาผลาญของเรา หากเสียสมดุลไปแล้ว การลดน้ำหนักจะค่อนข้างมีลำบากมาก ๆ เรื่องของพฤติกรรมและการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน จึงเป็นสาเหตุสำคัญประการหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญ


ทำความเข้าใจว่า ภาวะอ้วนคือโรคชนิดหนึ่ง แต่ไม่ควรเป็นตราบาปทางจิตใจ


strain.jpg

ด้วยค่านิยมและการตัดสินและเลือกปฏิบัติจากสังคม ทำให้โรคอ้วน ซึ่งควรจะเป็นแค่โรคชนิดหนึ่งที่ควรทำความเข้าใจสาเหตุและทำการรักษาเหมือนกับโรคชนิดอื่น แต่กลับกลายเป็นตราบาป (stigma) ทางจิตใจ


ส่งผลให้เราเริ่มต้นลดความอ้วนด้วยความรู้สึกเหมือนลงโทษตัวเองอย่างหักโหมและรีบเร่ง และอาจทำให้เราทำได้ไม่สำเร็จ


ประเด็นของตราบาปทางจิตใจหรือ stigma เป็นสาเหตุรากฐานสำคัญประการหนึ่งที่ทางสหพันธ์โรคอ้วนระบุเอาไว้ว่า เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการรักษาโรคอ้วน เนื่องจากทัศนคติเช่นนี้ จะทำให้เราฮึกเหิมแล้วเกิดอาการหมดไฟอย่างรวดเร็ว


ดังนั้น หากเรามีสภาวะอ้วน ทัศนคติที่เหมาะสมกับการการตัดสินใจเริ่มลดคือ การลดความเสี่ยงทางด้านสุขภาพ และป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับเราและคนรอบตัวในอนาคต จะเป็นทัศนคติที่มาจากการรักตัวเองและคนรอบตัว ช่วยส่งเสริมให้เราลดความอ้วนได้อย่างยั่งยืนกว่า


ทำความเข้าใจกลไกทางธรรมชาติของร่างกายให้ดีก่อน


นอกจากประเด็นด้านทัศนคติแล้ว สหพันธ์โรคอ้วน ยังได้อธิบายถึงปัจจัยรากฐานที่ทำให้คนเป็นโรคอ้วนไว้อีกหลายประการ โดย 1 ในนั้นได้แก่


ปัจจัยด้านชีววิทยา เพราะกลไกการเอาตัวรอดทางธรรมชาติของมนุษย์ เมื่อมนุษย์เริ่มอดอยากหรือขาดอาหาร ร่างกายจะค่อย ๆ ปรับตัวเพื่อลดอัตราการเผาผลาญลง มนุษย์จึงดำรงชีวิตต่อได้


หากเป็นเมื่อก่อนก็คงมีประโยชน์ในการเอาตัวรอด แต่ในปัจจุบันกลับเป็นกลไกที่เป็นอุปสรรคต่อการลดความอ้วน ดังนั้นการอดอาหารจึงใช้ได้ผลในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น หากต้องการลดน้ำหนักอย่างจริงจัง


จำเป็นต้องมีการศึกษาและควบคุมทั้งปริมาณและประเภทของสารอาหารที่กินโดยละเอียด เพื่อค่อย ๆ ปรับสภาพร่างกายไม่ให้เข้าสู่โหมดเอาตัวรอด


การเข้ารับการผ่าตัด อีก 1 ทางเลือกลดความอ้วนที่มีประสิทธิภาพ


แน่นอนว่า ปัจจัยพื้นฐานของน้ำหนักตัวและความอ้วน มาจากเรื่องของการกินอาหาร และกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา (รวมถึงการออกกำลังกายด้วย) อาจสรุปให้เข้าใจโดยง่ายคือ input ซึ่งหมายถึงการรับเข้าผ่านการกิน และ output ซึ่งหมายถึงการใช้พลังงานในร่างกาย หลักการลดน้ำหนักง่าย ๆ ก็คือ ทำให้ input น้อยกว่า output ในระยะเวลาหนึ่ง น้ำหนักก็จะค่อย ๆ ลดลง


แต่หลักการดังกล่าวนี้ ไม่ได้ปฏิบัติตามได้ง่าย ๆ เหมือนที่สรุปไว้ เพราะร่างกายเองก็มีกลไกในการปรับสมดุลป้องกันการอดอยาก หรือบางคนอาจมีน้ำหนักตัวที่ทำให้ออกกำลังกายได้ไม่สะดวก รวมถึงปัจจัยแวดล้อมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวันที่ปรับเปลี่ยนได้ยาก ก็ล้วนส่งผลกระทบให้การลดน้ำหนักไม่สำเร็จเท่าที่ควร หรืออาจได้ผลดีในระยะเวลาสั้น ๆ


การผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่น่าสนใจ และได้มาตรฐานสากลทางการแพทย์ ช่วยส่งเสริมให้การลดน้ำหนักโดยการออกกำลังกายและคุมอาหารเป็นไปได้โดยสะดวกและต่อเนื่อง โดยในช่วงแรกหลังการผ่าตัด สามารถช่วยให้ผู้ป่วยลดน้ำหนักลงได้เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-2 กิโลกรัมเลยทีเดียว


อ่านรายละเอียด: โปรแกรมผ่าตัดส่องกล้องลดขนาดกระเพาะอาหาร


ขั้นตอนการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนัก ต้องทำอย่างไรบ้าง?


การลดน้ำหนักด้วยการผ่าตัด จะมีอยู่ 2 วิธีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่


1. การผ่าลดขนาดกระเพาะ (Restrictive procedure) เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพในการลดน้ำหนักได้ดี และเป็นที่นิยมทำกันมากที่สุด แนวทางของวิธีการนี้คือ การส่องกล้องเพื่อตัดกระเพาะออกบางส่วน (Laparoscopic sleeve gastrectomy) ทำให้กระเพาะมีขนาดเล็กลง ทำให้เรากินอาหารได้น้อยลง ซึ่งเป็นการปรับสมดุลในส่วนของ input ตามที่กล่าวไว้ข้างต้น ที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในการลดน้ำหนัก


Restrictive-procedure.jpg

2. การผ่าตัดเพื่อลดการดูดซึมอาหาร (Mal-absorptive procedure) วิธีการนี้จะทำการบายพาสอาหาร ให้ไปเริ่มดูดซึมได้ที่ทางเดินอาหารส่วนล่างเลย เพื่อให้อาหารไม่ผ่านบริเวณที่มีการส่วนที่ดูดซึมอาหารได้มากนั่นเอง เช่น การผ่าตัดแกสสตริกบายพาส (Roux-en-Y gastric bypass) ซึ่งจะลดขนาดกระเพาะลงร่วมกับการบายพาสอาหาร เป็นต้น ซึ่งทั้งสองวิธีนี้ จะลดความอยากอาหารได้ด้วย


การผ่าตัดทั้ง 2 วิธีนี้ จะช่วยลดปริมาณอาหารที่รับประทาน และยังช่วยลดความอยากอาหารได้ด้วย เนื่องจากฮอร์โมนเกรลินหรือที่เรียกว่าฮอร์โมนความหิว ถูกหลั่งออกมาจากเซลล์กระเพาะอาหาร เมื่อกระเพาะอาหารมีขนาดเล็กลง ก็ทำให้ส่วนของกระเพาะอาหารที่จะหลั่งฮอร์โมนชนิดนี้ลดน้อยลงไปด้วย


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติม: เรื่องการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ


จะมีผลกระทบอะไรบ้างหรือไม่?


ด้านการกินอาหาร

ในช่วงแรกของการผ่าตัด 2 วิธีดังกล่าว จะทำให้เรากินอาหารได้น้อยลงมาก แต่จะไม่ได้รู้สึกโหย เพราะฮอร์โมนเกรลินก็ถูกหลั่งออกมาน้อยไปด้วย


แผลผ่าตัด

เนื่องจากการผ่าตัดด้วยวิธีดังกล่าวจะใช้การส่องกล้องด้วยเทคโนโลยีที่มีความแม่นยำสูง การผ่าตัดจึงมีความปลอดภัยมาก และก่อให้เกิดขนาดแผลที่เล็กมาก (ประมาณ 1 – 1.5 ซม. เพียงเท่านั้น) ผู้ป่วยจะไม่ค่อยเจ็บแผล


operation.jpg

โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนมีน้อย และสามารถฟื้นตัวได้เร็ว หลังผ่าตัดได้ประมาณ 2 วันก็สามารถเดินเหินได้ตามปกติแล้ว


รายละเอียดและข้อแนะนำเพิ่มเติมในการผ่าตัด


  • การผ่าตัดกระเพาะไม่ได้น่ากลัว มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อย
  • การผ่าตัดจะช่วยให้เราหิวน้อยลงและกินได้น้อยลง อย่างไรก็ตาม เราควรพยายามปรับพฤติกรรมการกินของเรา และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • เคสที่มีการผ่าตัดแล้วยังกลับมาอ้วนอีก มีน้อยมาก ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับการปรับพฤติกรรมของผู้ป่วยด้วยเป็นสำคัญ
  • เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดี ควรเข้ารับการรักษากับแพทย์แบบสหสาขา เช่น ศัลยแพทย์เฉพาะทางด้านการลดน้ำหนัก นักโภชนาการ และแพทย์ด้านต่อมไร้ท่อ และเป็นทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ในการดูแลรักษาโรคอ้วนอย่างครบวงจร
  • ควรเข้าปรึกษาทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อรับคำแนะนำโดยละเอียด

สรุป


อย่างที่เห็นกันแล้วว่า การลดความอ้วน และการลดน้ำหนัก เป็นเทรนด์ที่มักจะเห็นกันโดยทั่วไป แต่สถิติที่เกิดขึ้นจริงยังไม่ดีเท่าที่ควรจะเป็นและยังมีโอกาสแย่ลงอีก


หลายคนก็ยังมีปัญหาโรคอ้วนอยู่ สาเหตุมาจากการขาดความเข้าใจ ความเร่งรีบลดน้ำหนัก ทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง และขั้นตอนปฏิบัติตัวที่ไม่เหมาะสม


ในโอกาสวันสำคัญอย่าง วันอ้วนโลก (World Obesity Day) ที่กำลังมาถึงนี้ จึงขอชวนให้ทุกคนร่วมกันตระหนักถึงปัญหาและความสำคัญของโรคอ้วน และหันมาปฏิบัติตัวให้ถูกต้องเพื่อลดความเสี่ยงจากปัญหาทางสุขภาพอื่น ๆ ที่อาจพ่วงตามมา


ซึ่งการผ่าตัดเพื่อลดน้ำหนักเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพในการลดหุ่นได้ โดยสามารถติดต่อทีมแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางในด้านนี้ได้ เพื่อเข้าปรึกษาและขอคำแนะนำ


… หวังว่าวันที่ 4 มีนาคมนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีของใครหลาย ๆ คน

เกี่ยวกับผู้เขียนบทความ

นาวาโท นพ. คมเดช ธนวชิระสิน

นาวาโท นพ. คมเดช ธนวชิระสิน

ศูนย์ศัลยกรรม

บทความที่เกี่ยวข้อง (10)

ดูทั้งหมด

คำแนะนำการป้องกันมาลาเรียสำหรับนักเดินทาง

โรคมาลาเรียเป็นโรคที่เกิดจากโปรโตซัว Plasmodium นำโดยยุงก้นปล่อง มีทั้งหมด 5 สายพันธุ์ สายพันธ์ุที่รุนแรงคือ Plasmodium falciparum ซึ่งเป็นสายพันธุ์หลักในทวีปแอฟริกา ทำให้เกิดการติดเชื้อรุนแรง อวัยวะต่างๆล้มเหลว ติดเชื้อขึ้นสมอง โคม่า ชัก และเสียชีวิตได้ หากได้รับการรักษาที่ล่าช้า

ไส้เลื่อน ใครก็เป็นได้ อันตรายที่ต้องรักษาก่อนเกิดภาวะแทรกซ้อน

ไส้เลื่อน คือภาวะที่ลำไส้เลื่อนหรือดันออกมาจากช่องท้อง สามารถสังเกตเห็นก้อนนูนออกมาตามขาหนีบ หน้าท้อง สะดือ หากไม่รักษาอาจเกิดอันตรายจากอาการแทรกซ้อนได้

รู้ทันต้อหิน โรคร้ายทำลายการมองเห็น รีบรักษาก่อนสายเกินแก้

ต้อหิน (Glaucoma) คือโรคตาที่มีสาเหตุจากขั้วประสาทตาเสื่อม ผู้ป่วยจะมีอาการปวดหัวปวดตา กระจกตาขุ่น การมองเห็นแย่ลง และค่อย ๆ สูญเสียการมองเห็นไปในที่สุด

Hypothyroidism คืออะไร? รู้ทันสาเหตุ อาการ และวิธีรักษา

Hypothyroidism คือ ภาวะพร่องฮอร์โมนไทรอยด์ หรือฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานต่ำ ทำให้ระดับการเผาผลาญพลังงานลดลง และนำมาสู่การทำงานของระบบต่าง ๆ ผิดปกติ

รู้ทันอาการน้ำในหูไม่เท่ากัน ใครเวียนหัว บ้านหมุนบ่อยต้องระวัง

โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน เป็นความผิดปกติของระบบน้ำในหูชั้นใน ซึ่งสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการ เวียนหัว บ้านหมุน ทรงตัวไม่อยู่ และการได้ยินผิดปกติ

หายใจไม่อิ่ม หายใจลำบาก สัญญาณอันตรายที่คุณไม่ควรมองข้าม

หายใจไม่อิ่ม เป็นอาการที่หลายคนเผชิญ อาจมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่เต็มปอด หายใจลำบาก หัวใจเต้นเร็ว เหนื่อยง่าย บทนี้ความจะพาไปดูสาเหตุของอาการเหล่านี้กัน

ภาวะหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน อันตรายถึงชีวิตแบบไร้สัญญาณเตือน

หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลัน (Sudden Cardiac Arrest) คือ ภาวะที่หัวใจหยุดทำงานกะทันหัน ทำให้หมดสติและเสียชีวิตในไม่กี่นาที จึงเป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องรับการรักษาทันที

อาการปวดเข่าคืออะไร มีวิธีป้องกันข้อเข่ามีอะไรบ้าง?

อาการปวดเข่าเป็นอาการที่เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น ข้อเข่าเสื่อม และส่งผลต่อชีวิตประจำวันได้ การรู้ถึงสาเหตุ วิธีป้องกัน และการรักษาอาการปวดเข่าจึงเป็นเรื่องสำคัญ

EST คืออะไร? การตรวจสมรรถภาพหัวใจ Exercise Stress Test

EST (Exercise Stress Test) คือ การออกกำลังกายตรวจสมรรถภาพหัวใจ เป็นวิธีวินิจฉัยสุขภาพหัวใจเพื่อทำการรักษาต่อไป EST มีขั้นตอนอย่างไรบ้าง? บทความนี้มีคำตอบ

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออะไร รู้สาเหตุ อาการ และวิธีรักษาให้หายดี

ภาวะข้อไหล่หลุดคืออาการที่พบได้บ่อยในคนที่ใช้แรงเยอะ ๆ หรือเคยไหล่หลุดมาก่อน มาดูกันว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ไหล่หลุดได้บ้าง และจะต้องดูแลรักษาตัวอย่างไ

Copyright © 2024 All Rights Reserved | Praram 9 Hospital